วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 
สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์ 


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร 
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 
ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า "วัดมหาธาตุ" 
เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดสลัก" หรือ "วัดฉลัก" 

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี 
ได้สร้างพระนครขึ้นทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 
วัดสลักอยู่ในพระนครด้านฝั่งตะวันออก 
จึงเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่พำนัก
ของพระราชาคณะมาตลอดสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 
ได้ย้ายพระนครข้ามฟากมาตั้งฝั่งตะวันออกฝ่ายเดียว 
พระราชวังที่สร้างใหม่มีวัดอยู่ใกล้ชิด ๒ วัด คือ วัดโพธาราม 
หรือวัดพระเชตุพนในปัจจุบัน อยู่ชิดพระบรมมหาราชวัง
ทางทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคล 
(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
ได้สถาปนาวัดสลักขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ และได้ขนานนามว่า "วัดนิพพานาราม"
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช 
ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม 
เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับวังหน้า 
สะดวกในการเสด็จทั้ง ๒ พระองค์ แต่ก่อนจะถึงกำหนดการทำสังคายนา 
ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า "วัดพระศรีสรรเพชญดาราม" 

อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดพระศรีสรรเพชญาดารามครั้งนั้น 
นับว่าเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 
ได้ปรารภเหตุที่คัมภีร์พระไตรปิฎกที่สร้างขึ้นเป็นฉบับหลวง 
ยังวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอันมาก 
เนื่องจากหนังสือที่หามาเป็นต้นฉบับ เป็นหนังสือที่สร้างขึ้นตามหัวเมืองไม่ได้ฉบับดี 
สมควรประชุมสงฆ์ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่ได้สร้างไว้แล้วนั้นถูกต้อง 

การสังคายนา เริ่มเมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๓๑ ถึงกลางเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๓๒ 
เป็นเวลา ๕ เดือน จึงสำเร็จ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง 
ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธาน 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภก 

ครั้นสังคายนาเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกจำลองไว้เป็น
พระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า "ฉบับทองทึบ" หรือ "ฉบับทองใหญ่" 
เก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานในหอพระพระมนเฑียรธรรม
วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงปัจจุบัน

รูปภาพ
พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 


ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๖ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้สวรรคต 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ 
ให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร
ที่วัดพระศรีสรรเพชรญดาราม 
ในโอกาสนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ขึ้นอีกครั้งเป็น "วัดมหาธาตุ" 

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
ทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์อันเป็นส่วนของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ 
ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ
ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นแล้ว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อนามวัด 
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้นว่า 
"วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์" ซึ่งใช้มาตราบจนทุกวันนี้

วัดมหาธาตุฯ นั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่องค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
ถัดมาจากสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗
เป็นลำดับมาถึงรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๔ พระองค์ คือ

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๒
สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๓
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๔
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๕ 


รูปภาพ
พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ 
ณ พระมณฑป วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 



นอกจากนี้ วัดมหาธาตุยังเคยเป็นที่ประทับและศึกษาพระธรรมวินัย
ของสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชในอดีต เมื่อทรงผนวช 
คือ ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
แล้วเสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ๗ เดือน จึงทรงลาผนวช 

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระชันษาครบอุปสมบท 
จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ 
โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ 
หลังจากประทับแรมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑ คืนแล้ว 
จึงได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เป็นเวลา ๑ ปี 
แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุอีก ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๓๗๒

:b8: :b8: :b8: 

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) 
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑. 
http://www.dharma-gateway.com/ 
http://mahamakuta.inet.co.th/ 
http://www.watsrakesa.com/


กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13297

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น