วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

'ติช นัท ฮันห์' ผู้นำพุทธศาสนามหายาน นิกายเซน กำหนดเดินทางจาริกธรรมในประเทศไทย 25 มี.ค.-1 พ.ค. มุ่งเน้นงานภาวนาเผยแผ่คำสอนอย่างมีสติ สู่วงการการศึกษา

 


 

 

'ติช นัท ฮันห์' ผู้นำพุทธศาสนามหายาน นิกายเซน กำหนดเดินทางจาริกธรรมในประเทศไทย 25 มี.ค.-1 พ.ค. มุ่งเน้นงานภาวนาเผยแผ่คำสอนอย่างมีสติ สู่วงการการศึกษา
              11ม.ค.2555 พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระองค์ผู้นำแห่งพุทธศาสนามหายาน นิกายเซนของโลก มีกำหนดเดินทางมาจาริกธรรมเพื่อนำภาวนาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม-1 พฤษภาคม 2556 โดยมีกิจกรรมระหว่างการจาริกธรรมมากมาย
 
              การจาริกธรรมในปีนี้ จะมีงานภาวนาที่ถือเป็นงานสำคัญที่พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ประสงค์จะให้เป็นนโยบายในระดับประเทศ คือ การเผยแผ่คำสอนอย่างมีมติ สืบเนื่องจากประเทศไทยในวันนี้มีจุดอ่อนค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีความต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่เน้นไปในวงการการศึกษา คือ งานภาวนาสำหรับครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน ภายใต้ชื่อ Applied Ethics Retreat ซึ่งจะเป็นงานภาวนาที่นำไปสู่การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่งดงามให้เกิดขึ้นแก่เด็กๆ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
 
              กำหนดการเดินทางจาริกธรรมในประเทศไทยของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ จะมาถึงประเทศไทยวันที่ 25 มีนาคม จากนั้นวันที่ 4-8 เมษายน จะเป็นงานภาวนาสำหรับครู (Applied Ethics Retreat) นำโดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ และพระธรรมาจารย์จากสังฆะหมู่บ้านพลัม นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการพู่กัน โดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ที่จะแสดงลายพู่กันพร้อมกับคำสอนของท่าน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
              จากนั้นวันที่ 9 เมษายน เวลา 17.30-21.00 น. จะเป็นการแสดงปาฐกถาธรรม (Public Talk) ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ
 
              นอกจากนี้วันที่ 13-17 เมษายน จะจัดงานภาวนา 5 วัน เพื่อฝึกการเจริญสติในชีวิตประจำวัน นำโดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ และพระธรรมาจารย์จากสังฆะหมู่บ้านพลัม ที่วังรี รีสอร์ท จ.นครนายก ส่วนวันที่ 28 เมษายน จะจัดทอดผ้าป่า ระดมทุนสร้างหอปฏิบัติธรรม (Fund Raising for Big Meditation Hall) ที่สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติ หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย จ.นครราชสีมา
              ด้านพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร  กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายนนี้ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส จะเดินทางมาประเทศไทยอีกครั้ง และจะมีการบรรยายธรรม และการนำปฏิบัติธรรม ที่ มจร ตามโครงการพุทธวิปัสสนานานาชาติ ที่ มจรได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 2 ปี
              อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ จะเดินทางจาริกธรรมครั้งนี้ ทางมูลนิธิหมู่บ้านพลัมได้กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารข้อมูล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีขึ้นระหว่างการจาริกธรรมข้างต้น พร้อมกับเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรม "Day of Love : วันแห่งรัก" เพื่อร่วมภาวนาแลกเปลี่ยนข่าวสารกันด้วยความรัก และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ตามแนวทางของหมู่บ้านพลัม ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00-15.00 น. ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญจทัศน์ เขตจตุจักร โดยกิจกรรมประกอบด้วย การภาวนาด้วยบทเพลงเพื่อรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข การรับประทานอาหารอย่างมีสติ การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ด้วยการนอนสมาธิ และการภาวนากับการดื่มชา
 
              ประวัติของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้นำเสนอความคิด พุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรม เป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตยุคปัจจุบันได้ เป็นที่รู้จักในฐานะพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระอาจารย์เซน พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายาน ผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา เป็นกวี นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ
 
              พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ กำเนิดเมื่อปี 2469 (ค.ศ.1926) ในจังหวัดกวางสี ภาคกลางของเวียดนาม มีนามเดิมว่า เหงียน ซวน เป๋า ในปี 2485 (ค.ศ.1938) บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาเมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์ และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช
 
              ปี 2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซง่อน เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา และเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น
 
              ปี 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปศึกษายังประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม โดยก่อตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม เยียวยาความเสียหายจากสงคราม และพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอน และนำเสนอข้อเขียนต่อสถาบันพุทธศาสนาชั้นสูงด้วยคติว่า การกระทำและปัญญา ต้องไปด้วยกัน (Tiep Hien) หรือ คณะดั่งกันและกัน (The Order of Interbeing) โดยปฏิบัติตามสิกขาบท 14 ประการ ซึ่งเลือกเฟ้นมาจากแก่นคำสอนในพระพุทธศาสนา
 
              ขณะเดียวกัน พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ยังรณรงค์เพื่อสันติภาพ โดยช่วงนั้นเป็นช่วงที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม และพระอาจารย์ได้ตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยรณรงค์ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ รณรงค์ให้หยุดการสนับสนุนสงความโดยเฉพาะการแทรกแซงของสหรัฐ มุ่งเน้นสันติภาพ ปลูกจิตสำนึกผู้คนทั่วโลก จนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เสนอชื่อ ติช นัท ฮันห์ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเวียดนามจึงปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน แม้ว่าภายหลังจะมีการรวมประเทศก็ตาม
 
              เมื่อเวียดนามปฏิเสธการกลับเข้าประเทศ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ จึงต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมนอกเมืองปารีส เพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชสมุนไพร ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงานเพื่อสันติภาพ และเพื่อผู้ลี้ภัยอย่างสม่ำเสมอ การได้ร่วมทุกข์กับเพื่อนผู้ลี้ภัย ทำให้ท่านพบเห็นชะตากรรมของผู้ตกทุกข์ได้ยากมากมาย และมีวิธีการช่วยเหลือได้หลายช่องทาง หลายวิธีการ
 
              จึงถือเป็นจุดกำเนิดของหมู่บ้านพลัม ซึ่งพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง "สังฆะ" ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี 2518 ชื่อว่า อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้
 
              ปัจจุบันมีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทย โดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ "สังฆะ" เกือบ 1,000 กลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก
              ความเป็นมาของหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยนั้น ในปี 2518 พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เดินทางมาประเทศไทยครั้งแรก เพื่อร่วมประชุมอาศรมแปซิฟิก ที่วัดผาลาด จ.เชียงใหม่
 
              ปี 2519 หนังสือ "The Miracle of Being Awake" ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเล่มแรก ในชื่อ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" กล่าวถึงการฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วยภาษาเรียบง่ายและใช้ได้จริง เป็นที่ประทับใจนักอ่านและนักปฏิบัติชาวไทย จึงมีการแปลและเผยแพร่หนังสือเล่มอื่นๆ ของท่านในเวลาต่อมา
 
              ปี 2545 จัดกิจกรรมภาวนาตามแนวทางหมู่บ้านพลัมครั้งแรก โดยมีพระภิกษุณีจีน่า และพระภิกษุณีนิรามิสา เป็นผู้นำภาวนา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 40 คน (พระภิกษุณีนิรามิสาเป็นชาวไทยคนแรกที่บวชกับพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ในประเทศฝรั่งเศส)
 
              ปี 2550 พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เดินทางมานำภาวนาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในชื่อหัวข้อ "สู่ศานติสมานฉันท์" หลังจากนั้นจึงมีการจัดภาวนาตามแนวทางหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ปี ปีละ 2 ครั้ง โดยนิมนต์พระธรรมาจารย์จากหมู่บ้านพลัมประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฮ่องกง เวียดนาม ฯลฯ เพื่อมานำการภาวนา กลุ่มสังฆะหมู่บ้านพลัมในประทศไทยค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการรวมตัวของมิตรสหายทางธรรมที่เคยเข้าร่วมงานภาวนาตามแนวหมู่บ้านพลัม และมีความปรารถนาจะสืบเนื่องการปฏิบัติปัจจุบัน
 
              ทั้งนี้ สถานปฏิบัติธรรมชั่วคราว หมู่บ้านพลัมแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขต ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยวัดของพระภิกษุชื่อว่า อาวาสฟ้าใส : Xom Troi Quang (ซ้อม เจร่ย กวาง) และวัดของพระภิกษุณีชื่อว่า อาวาสจันทร์สว่าง : Xom Trang To (ซ้อม จรัง ต๋อ) มีคณะนักบวชประมาณ 180 รูป พำนักอยู่ มีการจัดกิจกรรม "วันแห่งสติ" ทุกวันอาทิตย์ โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการฝึกปฏิบัติด้วย
 
              ล่าสุด เมื่อปี 2553 กลุ่มพี่น้องทางธรรม และผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันจัดพิธีทอดผ้าป่าเพื่อจัดระดมทุนซื้อที่ดินเตรียมสร้างสถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัมนานาชาติ ณ บ้านสระน้ำใส ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น