วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

"ความเป็นอนิจจังของสังคม" อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

 

"ความเป็นอนิจจังของสังคม" อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18:45:00 น.

Share




โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ 

"ความเป็นอนิจจังของสังคม" อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แด่ Hyper Royalists และชนชั้นกลางวัฒนธรรม


อ่านที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ใน "โฉมหน้าศักดินาไทย" ตอนหนึ่งว่า


การศึกษาของศักดินาเป็นการศึกษาที่สอนให้คน "ยอมรับ" (accept) กล่าวคือ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศิษย์คิดเสียก่อน เมื่อเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ หากสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้เพื่อปิดทางความคิดริเริ่มทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความหายนะแห่งชนชั้นศักดินา


...แต่เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง และประกอบกับชนชั้นกลางมีท่าทีประนีประนอม ศักดินาจึงสามารถแทรกแซงเข้าไปในสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางได้อย่างลอยชาย ศักดินาซากเดนยังคงกำเอาหลักสูตรและการหันเหจุดหมายปลายทางแห่งการศึกษาไว้ได้ในกำมือ วิชาประวัติศาสตร์ก็ยังคงตกอยู่ในกำมือและในอิทธิพลของชนชั้นศักดินาต่อไป (หน้า 65-66)


จนบัดนี้การศึกษาไทยยังคงเป็นการสอนให้ "ยอมรับ" อยู่เหมือนเดิม "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ก็ยังมีท่าทีประนีประนอมกับศักดินาอยู่เหมือนเดิม หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเมื่อมองจากปรากฏการณ์ของ "ลัทธิ เจ้านิยมล้นเกิน" (Hyper Royalism) ที่มีพวก Hyper Royalists ออกมาตั้งคำถามกับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนท่องตามกันมาว่า "คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า" หรือ "เห็นว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม ไม่เสมอภาค ก็ออกจากประเทศไทยไปเลย ไปอยู่ต่างประเทศได้เลย"


แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ที่พูดถึง "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ข้างล่างนี้ บรรดา Hyper Royalists ควรนำมาเป็น "ข้อคิด" ทบทวนพฤติกรรมของตนเองเท่าที่เป็นมาในปีนี้บ้าง คือ


ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกทั้งระบบ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่า หรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง


แต่สิ่งลวงตาเช่นนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า "สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ" ...แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง และระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้น ก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกัน โดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆ ต่อไป ดังที่ปรากฏตามรูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสกลโลก (หน้า 32-33)


การเบียดเบียนกันและข่มเหงกันย่อมไม่คงอยู่กับที่ คือจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด โดยการต่อสู้ของสมาชิกส่วนมากแห่งสังคม ซึ่งอาจเป็นวิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ "วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์" สังคมก็จะได้กำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปในทางปริมาณทีละน้อยๆ ถ้าสมาชิกในสังคมมีทางประนีประนอมกันได้ ในที่สุดสมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะ เพราะประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก (หน้า 85)


สำหรับพวก Hyper Royalists ในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักอ้างธรรมะอ้างพุทธศาสนาเพื่อรับรองการปกป้อง "ระบบเก่า" ของพวกตนว่าถูกต้องชอบธรรม ในแง่ว่าพวกตนกตัญญูรู้คุณสถาบันและประณามฝ่ายที่คิดต่างว่าอกตัญญูเป็นต้น ผมอยากชวนให้ทบทวนอย่างน้อย 2 ประการ ต่อไปนี้


1. พุทธศาสนาสอน "หลักกาลามสูตร" ซึ่งเป็นหลักเสรีภาพทางความคิดที่เรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นจากทุกแหล่งที่มา ตั้งแต่เรื่องเล่า ตำรา การคาดเดา ระบบตรรกะนิรนัย/อุปนัย กระทั่งครูที่เราเคารพ ซึ่งหมายความว่า ตามหลักการของพุทธศาสนานั้น นอกจาก "ไม่มีการบังคับความเชื่อ" แล้ว ยังเรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อทุกแหล่งความรู้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นหลักการที่ให้ "เสรีภาพทางความคิด" อย่างยิ่ง


เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาแบบครอบงำทางความคิดตามที่จิตรเขียนไว้ ซึ่งยังดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน ย่อมเป็นระบบการศึกษาที่ขัดแย้งกับหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง และยิ่งสังคมนี้มีกฎหมายที่ปิดกั้น free speech ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ในสิ่งที่พวกเขาควรมีสิทธิสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ


ฉะนั้น Hyper Royalists ที่มักอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดต่อหลักการสำคัญของพุทธศาสนา คือหลักเสรีภาพทางความคิดและการแสวงหาความจริงได้อย่างไร เพราะการที่หลักกาลามสูตรเรียกร้องให้เราสงสัยทุกแหล่งความรู้ก็เพื่อให้เราตรวจสอบทุกแหล่งความรู้เพื่อให้สามารถค้นพบ "ความจริงที่เชื่อถือได้" มากที่สุดนั่นเอง


หลักกาลามสูตรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแสวงหา "ความจริง" ในบรรยากาศของการมีเสรีภาพ หากชาวพุทธ Hyper Royalists ที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนามีความเชื่อ หรือศรัทธาในสิ่งที่พวกตนกล่าวอ้างจริง การออกมาปฏิเสธ กล่าวหา ใส่ร้าย ประณามฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ว่าล้มเจ้าและอื่นๆ ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักธรรมะ หรือหลักการของพุทธศาสนาที่พวกตนชอบกล่าวอ้างนั่นเอง เพราะข้อเรียกร้องของฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 (เป็นต้น) คือข้อเรียกร้องให้สังคมนี้มีเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสวงหาความจริงนั่นเอง


2. ที่สำคัญคือ พุทธศาสนาสอนหลักอนิจจังว่า "สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่" และ "ความเป็นอนิจจังทางสังคม" ย่อมเป็นไปตามที่ปรีดีเขียนไว้ การขัดขวางความเปลี่ยนแปลงย่อมไม่อาจสำเร็จได้ รัฐประหาร 19 กันยา และการสลายการชุมนุมปี 2553 คือตัวอย่างของความรุนแรงและความล้มเหลวของการต่อต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่คล้อยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งให้คุณค่าสูงต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย


เมื่อคนจำนวนมากตาสว่างแล้ว เราจะปิดตาให้เขาลืมสิ่งที่เขาได้มองเห็นแล้วได้อย่างไร เมื่อเขาเห็นชัดแจ้งแล้วว่าอะไรคือปัญหา จะปิดปากไม่ให้เขาพูดถึง "ความจริงของปัญหา" เพื่อหาทางแก้ให้ถูกจุดได้อย่างไร


มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยคือ วิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ "วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์" ตามที่ปรีดีเสนอไว้เท่านั้น จึงจะเป็นทางออกที่ไม่รุนแรงนองเลือด และเป็นประโยชน์ทั้งแก่สถาบันเก่าแก่ และประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง


สำหรับ "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ผมขอฝากข้อเขียนของปรีดี (ในหนังสือเล่มเดียวกัน) เป็นการสรุปท้าย ดังนี้


…มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่า "สภาวะเก่าเป็นของถาวร" และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า...ฉะนั้น จึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลอง...แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังก็ต้องประจักษ์ขึ้น (หน้า 34)


บังเอิญว่าข้อเขียนของจิตรและปรีดี ตามที่ยกมา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 เช่นเดียวกัน จนบัดนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ยังคงเหมาะกับยุคปัจจุบันที่ควรนำมาเป็น "อนุสติ" ส่งท้ายปีเก่า 2554 เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในปีใหม่ 2555 ได้เป็นอย่างดี


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325331177&grpid=no&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น