วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สิทธิเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ

 

สิทธิเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ

ข้อมูลสื่อ
File Name : 
268-010
วารสารคลินิก เล่ม : 
268
เดือน-ปี : 
04/2550
นักเขียนรับเชิญ : 
นพ.คทาวุธ ดีปรีชา
นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ

อากาศร้อนอบอ้าวในเดือนเมษายนทวีความร้อนมากขึ้นทุกปีตามความรุนแรงที่สิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยน้ำมือมนุษย์. อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีชีวิตรอดปลอดภัยจากการบาดเจ็บบนท้องถนนและมีความสุขสดชื่นด้วยความเย็นและความหอมของน้ำอบไทย แป้งดินสอพองและดอกมะลิ.

อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์สามฉบับแรกของปี ได้นำเสนอประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยชายไทยคนหนึ่งซึ่งกว่าจะได้รับการวินิจฉัยและดูแลอย่างเหมาะสมก็ต้องเสียเวลาไปถึง 6 ปีกว่า เนื่องจากผู้ให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีขาดการจัดการผลตรวจที่ผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยซึ่งตรวจพบว่ามีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติครั้งแรก ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2542 ไม่ได้รับทราบผลตรวจของตนเองและไม่ได้รับการจัดการเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย รวมไปถึงการตรวจพบว่ามีตะกั่วในเลือดสูงในปีต่อๆ มา จนในที่สุด ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องรุนแรงด้วยพิษตะกั่วเฉียบพลัน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549. 

เหตุการณ์นี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นกรณีที่ตรงกันข้ามกับกรณีการเจ็บป่วยทางจิตเวชของนายแพทย์ประกิตเผ่า1ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าวคือ ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้รับการเปิดเผย แม้แต่กับตัวผู้ป่วยเอง ขณะที่ข้อมูลของคุณหมอนั้นมีการเปิดเผยอย่างละเอียดต่อสาธารณะ จนทำให้เกิดคำถามว่า "สิทธิ" เกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพนั้นควร เป็นอย่างไร.

ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์อีกท่านหนึ่งได้เขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายการตรวจสุขภาพ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพลูกจ้างที่ได้รับการตรวจสุขภาพ จึงขอนำมาลงเผยแพร่ พร้อมให้ความเห็นในตอนท้าย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินใจว่าควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป.

กฎหมายการตรวจสุขภาพ 
งานอาชีวเวชศาสตร์หรืองานอาชีวอนามัยในภาพใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ที่ประกอบอาชีพทุกสาขาอาชีพ รวมไปถึงการทำให้คนทำงานได้ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และธำรงรักษาสุขภาพให้ดี การดำเนินการทางด้านอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ข้างต้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการอาชีวอนามัย จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นกับปัจจัยสำคัญสองประการ ได้แก่ องค์ประกอบทางด้านบุคลากรในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องอาศัย "ไตรภาคี" ซึ่งประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐ มาดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมด้วยกัน. นอกจากนี้ การคุ้มครองและดูแลสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายเพื่อที่จะบังคับ กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติในสิ่งที่สมควร. 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทยที่เป็นแม่บทสำหรับการดำเนินการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีบทบัญญัติในหมวด 8 (มาตรา 100-107) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 107 ซึ่งระบุว่า

"ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจดังกล่าวแก่พนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง".
 
จากบทบัญญัติในมาตรา 107 เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน มีบุคคลซึ่งจะเกี่ยวข้องและประเด็นที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 

1. บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง พนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ให้คำนิยามของบุคคลดังกล่าว ตามมาตรา 5 ดังนี้

นายจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งได้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง 
1. ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนนายจ้าง
2. ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย
3. ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหา ลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย

ลูกจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

พนักงานตรวจแรงงาน หมายถึง ผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ อำนาจหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.นี้ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 14 มาตรา 139-142

2. การกระทำ ได้แก่ การจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และการส่งผลการตรวจแก่พนักงาน ตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจัดให้มีการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง 

ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2547 ได้มีการประกาศกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจ สุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2548 โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน ดังนี้

1. หลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพ ข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ได้บัญญัติไว้ว่า

"การตรวจสุขภาพ หมายความว่า การตรวจร่างกายและสภาวะจิตใจตามวิธีการทางการแพทย์เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างอันเกิดจากการทำงาน"

จากบทบัญญัติข้างต้น เห็นได้ว่า การตรวจสุขภาพ จะต้องประกอบด้วยการตรวจร่างกายและการตรวจสภาวะจิตใจ ตามวิธีทางการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมและผลกระทบของลูกจ้างอันเกิดจากการทำงาน โดยแยกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ การตรวจเพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมของลูกจ้างในการทำงาน ซึ่งเป็นการตรวจว่าลูกจ้างผู้นั้น มีสภาพร่างกายหรือจิตใจเหมาะสมกับงานนั้นหรือไม่ หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า ลูกจ้างผู้นั้น fit for work หรือไม่ อันเป็นหลักการของการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน (pre-place-ment examination). อีกส่วนหนึ่งได้แก่ การตรวจสุขภาพของลูกจ้างเพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างอันเกิดจากการทำงานนั้น ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปีของลูกจ้างตามความเสี่ยงตามลักษณะงาน ถือเป็นการป้องกันโรคจากการทำงานให้แก่ลูกจ้าง.

ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้รับการเปิดเผย แม้แต่กับตัวผู้ป่วยเอง ขณะที่ข้อมูลของคุณหมอนั้นมีการเปิดเผยอย่างละเอียด ต่อสาธารณะจนทำให้เกิดคำถามว่า "สิทธิ" เกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพนั้นควรเป็นอย่างไร

2. วิธีการตรวจสุขภาพ ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงนี้ได้บัญญัติไว้ว่า "ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 

ในกรณีที่ลักษณะงานหรือสภาพของงานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงนั้น มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระยะเวลาอื่น ให้นายจ้าง จัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างตามระยะเวลานั้น
ในกรณีนายจ้างเปลี่ยนงานของลูกจ้างที่มีอันตรายแตกต่างไปจากเดิม ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างทุกครั้งให้เสร็จ สิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เปลี่ยนงาน"


ตามบทบัญญัติในข้อนี้ จะเห็นว่าองค์ประกอบของวิธีการตรวจสุขภาพได้แก่ นายจ้างเป็นผู้จัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ต้องทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ใน 3 กรณี ได้แก่

1. การตรวจสุขภาพครั้งแรกภายใน 30 วันนับจากวันที่รับลูกจ้างเข้าทำงานครั้งแรก คำว่า วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงานครั้งแรก ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 5 ได้ให้คำนิยาม คำว่า "วันทำงาน หมายถึง วันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ" สำหรับการรับเข้าทำงานครั้งแรก จะกระทำเมื่อสัญญาจ้างมีผลและนายจ้างได้กำหนดให้วันใดวันหนึ่งของลูกจ้างเป็นวันทำงานวันแรก ดังนั้นหากจะนับวันที่นายจ้างจะต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างครั้งแรกควรจะเริ่มมีการนับตั้งแต่วันที่ ลูกจ้างมาทำงานวันแรก ถือว่าเป็นวันที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานครั้งแรก มิใช่วันที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะรับเข้าทำงาน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการตรวจภายใน 30 วันแรกนั้น เป็นไปเพื่อเป็นการประเมินสุขภาพของลูกจ้างว่าเหมาะสมกับงานนั้นหรือไม่
2. การตรวจสุขภาพประจำปี 
3. การตรวจสุขภาพภายหลังจากการเปลี่ยนงาน

นอกจากนี้ข้อ 4 ของกฎกระทรวงยังบัญญัติให้ "นายจ้างอาจจะจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจนต้องหยุดงานเกิน 3 วัน โดยอาจขอความเห็นจากแพทย์ผู้รักษาหรือแพทย์ประจำสถานประกอบการก่อนที่ลูกจ้างจะกลับเข้ามาทำงานอีกก็ได้"

ส่วนที่ยังคงเป็นปัญหาด้านการปฏิบัติและจริยธรรม ได้แก่ ข้อ 8 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างแจ้งผลการตรวจสุขภาพแก่ลูกจ้าง ซึ่งจะมีปัญหาในด้านของการรักษาความลับของผู้ป่วย

โดยงานที่นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างได้ตรวจสุขภาพ ได้แก่ งานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง อันบัญญัติไว้ในข้อ 2 ของกฎกระทรวงนี้ "งานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงให้หมายถึง งานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับ 
1. สารเคมีอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
2. จุลชีวันอันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือสารชีวภาพอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
3. กัมมันตภาพรังสี
4. ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตราย ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"

จากบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่า งานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงยังไม่ครอบคลุมถึงงานที่ต้องยกของหนัก หรืองานที่ก่อความเครียดและสิ่งคุกคาม

สุขภาพอื่นๆ ซึ่งนับเป็นช่องโหว่และอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะตามกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้บัญญัติไว้ว่า การตรวจสุขภาพให้ตรวจสภาวะจิตใจร่วมด้วย แต่สภาพแวดล้อมทางด้านการยศาสตร์ หรือจิตสังคมซึ่งก่อผลต่อสภาวะจิตใจ ไม่นับเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง. แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงควรพิจารณาว่า ควรจะตรวจในประเด็นนี้อย่างไร สำหรับในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่า สิ่งแวดล้อมทางด้านการยศาสตร์ และจิตสังคม ควรถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในงานด้วย เพื่อให้การตรวจสุขภาพของลูกจ้างมีความสมบูรณ์มากที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง. 

สำหรับผู้ที่มีอำนาจในการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง ประกอบด้วย
1. แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หมายถึง แพทย์ผู้ซึ่งได้รับวุฒิบัตร และ/หรืออนุมัติบัตร สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ จากแพทยสภา.
2. แพทย์ที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หมายถึงแพทย์ที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ ด้วยหลักสูตร 8 สัปดาห์ของกระทรวงสาธารณสุข.
3. แพทย์อื่นๆ ตามที่อธิบดี (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ประกาศกำหนด. 

อำนาจหน้าที่ของแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพลูกจ้างตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 5 ได้แก่ การบันทึกผล และให้ความเห็นถึงสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือลักษณะงานที่ ได้รับมอบหมายของลูกจ้าง. อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ยังคงเป็นปัญหาด้านการปฏิบัติและจริยธรรม ได้แก่ ข้อ 8 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างแจ้งผลการตรวจสุขภาพแก่ลูกจ้าง ซึ่งจะมีปัญหาในด้านของการรักษาความลับของผู้ป่วย. 

ในกรณีนี้ ผู้เขียนเห็นว่า แพทย์ตามกฎกระทรวงฉบับนี้มีหน้าที่ในการตรวจสุขภาพ และบันทึกผลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงตามลักษณะงาน รวมถึงการลงลายมือชื่อในการให้ความเห็นในการตรวจสุขภาพ และเมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้วจะพบว่า ตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พ.ศ. 2526 หมวด 3 ข้อ 9 กล่าวว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วยซึ่งตนได้ทราบมา เนื่องจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้ป่วย หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่" จากบทบัญญัติข้างต้นจะพบว่า การแจ้งผลการตรวจสุขภาพแก่นายจ้างของแพทย์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่กฎกระทรวงฉบับนี้ จึงไม่ถือเป็นการผิดจริยธรรม นอกจากนี้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า "สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวไขหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใด ไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน" จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่า การเปิดเผยผลการตรวจร่างกายที่ผิดปกติเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง โดยแพทย์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันลูกจ้างรายอื่นเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน และปลอดจากโรคจากการประกอบอาชีพ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงสามารถทำได้. 

สำหรับการบันทึกผลการตรวจสุขภาพในสมุดสุขภาพเป็นหน้าที่ของนายจ้าง ตามผลการตรวจของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้นายจ้างยังมีหน้าที่ในการเก็บผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและพร้อมรับการตรวจจากพนักงานตรวจแรงงาน รวมถึงการแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง การแจ้งผลอาจแจ้งด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้. นอกจากนี้หากนายจ้างพบความผิดปกติของการตรวจสุขภาพเนื่อง จากการทำงาน ให้นายจ้างมีหน้าที่ในการจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที รวมถึงทำการตรวจสอบสาเหตุของความผิดปกติ และรายงานต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบผลผิดปกตินั้น และนายจ้างยังมีหน้าที่ในการเปลี่ยนงานให้กับลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างมีเอกสารทางการแพทย์จากสถานพยาบาลของราชการหรือที่ราชการยอมรับ แสดงว่าไม่อาจทำหน้าที่เดิมได้ ให้นายจ้างเปลี่ยนงานแก่ลูกจ้างผู้นั้นตามสมควร และมอบสมุดสุขภาพแก่ลูกจ้างในกรณีเลิกจ้าง แต่นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 579.

ความเห็นเพิ่มเติม
ข้อเขียนและความเห็นของร้อยเอกคทาวุธ ดีปรีชา ได้ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นมาระดับหนึ่งว่า แพทย์ผู้ทำการตรวจสุขภาพพนักงานสามารถเปิดเผยข้อมูลการตรวจสุขภาพได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวง รัฐธรรมนูญและจริยธรรมของแพทยสภา ซึ่งถ้าพิจารณาในลักษณะนี้แล้ว ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นพิษตะกั่วเฉียบพลันน่าจะพิจารณาบทบาทหน้าที่ของตนให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น แม้จะไม่มีความผิดทางแพ่งหรืออาญาในการไม่แจ้งผลตรวจ แต่ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบข้อมูลเพื่อไปดำเนินการป้องกันการเจ็บป่วย. 

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงนี้ ระบุว่าให้นายจ้างเป็นผู้แจ้งข้อมูลให้กับพนักงาน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่อาจก่อปัญหา เนื่องจากนายจ้างบางราย ถือเป็นโอกาสในการเลิกจ้างพนักงานได้ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับกรณีคุณหมอประกิตเผ่า ถ้าคุณหมอเป็นลูกจ้างสถาบันกวดวิชา เมื่อได้รับข้อสรุปจากจิตแพทย์ว่าคุณหมอป่วยทางจิต นายจ้างของคุณหมอซึ่งได้รับทราบผลตรวจนี้ก่อนคุณหมอก็คงพิจารณาเลิกจ้างงานพร้อมกับการแจ้งผลให้คุณหมอทราบ.

การปฏิบัติที่จะช่วยปกป้องสิทธิของพนักงานมากกว่าที่กฎกระทรวงนี้ได้กำหนด คือ แพทย์ผู้ตรวจควรจัดทำรายงานผลการตรวจเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นการแจ้งผลการตรวจสุขภาพรายบุคคลให้พนักงานทราบเพียงคนเดียวเท่านั้น และชุดที่สองเป็นการแจ้งผลภาพรวมให้กับนายจ้างว่าพบพนักงานมีผลผิดปกติจำนวนกี่คน โดยไม่ระบุชื่อของพนักงาน ทั้งนี้ อาจระบุแผนกงานได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับสภาพแวดล้อมและลักษณะการทำงาน นำไปสู่การป้องกันการเจ็บป่วยของทั้งของพนักงานที่มีผลผิดปกติและเพื่อนพนักงานทุกคนในแผนก. 

โดยสรุปแล้ว ถ้าบุคลากรด้านกฎหมายแรงงานในประเทศไทย จะไม่พิจารณาบทบัญญัติเพิ่มเติมจากกฎกระทรวงเพื่อเอื้อให้แพทย์สามารถแจ้งข้อมูลให้กับพนักงานโดยตรงดังกล่าวแล้ว แพทย์ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์หรือสาขาใดๆ คงต้องใช้ดุลพินิจของตนเองในการพิทักษ์สิทธิของพนักงาน เฉกเช่นที่จิตแพทย์กำลังทบทวน มาตรการและดุลพินิจในการรักษาความลับ ผู้ป่วยจิตเวชในขณะนี้. 
 
คทาวุธ ดีปรีชา พ.บ., วท.ม. (อาชีวเวชศาสตร์), ร้อยเอก
โรงพยาบาลค่ายอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.
DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม,
กรมควบคุมโรค,กระทรวงสาธารณสุข
E-mail address : cpadungt@yahoo.com

http://www.doctor.or.th/node/7306

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น