วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อีกด้านหนึ่งของ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ในมุมมองของราชสำนัก (4)

อีกด้านหนึ่งของ "ก.ศ.ร.กุหลาบ" ในมุมมองของราชสำนัก (4)

วันที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17:11:16 น.

Share68













 ไกรฤกษ์ นานา 

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์

 

ความผิดครั้งสุดท้าย

ส่งนายกุหลาบเข้า รพ.บ้า

แต่นายกุหลาบก็ยังไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและได้ปลอมแปลงประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เขาเข้าปิ้งจนได้

ความผิดครั้งที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นนายกุหลาบมีอายุได้ ๗๒ ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่หลาบจำต่อความผิดที่ได้กระทำมา เขาได้เขียนประวัติศาสตร์ฉบับพิสดารขึ้น แล้วตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามประเภท อ้างว่าในสมัยกรุงสุโขทัยมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระปิ่นเกษ มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระจุลปิ่นเกษ รัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรแล้วก็ทรงกริ้ว ทรงตระหนักว่าเป็นการบังอาจแต่งพงศาวดารขึ้นเองโดยมีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเป็นการแปลงพระนามของพระองค์ไปเกี่ยวข้องกับการเสียบ้านเมือง(๕)

 

จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบสวนนายกุหลาบอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดก็พิสูจน์ว่ามีความผิดจริง เขาถูกจับส่งเข้าไปสงบสติอารมณ์ในโรงพยาบาลบ้าเสีย ๓๓ วัน แล้วจึงปล่อยตัวไป อนึ่ง ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่านายกุหลาบถูกคุมขังอยู่ใน รพ.บ้า เพียง ๗ วัน แต่ คุณอเนก นาวิกมูล อ้างข้อมูลใหม่จากหลักฐานเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่าถูกคุมขังอยู่นานถึง ๓๓ วัน(๖)  และ(๘)

 

 

 

สรุป 

เป็นที่รู้กันทั่วไปในแวดวงนักเขียนและวงวรรณกรรมว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นนักวิชาการและนักเขียนอิสระผู้ทำให้หลักฐานอันแท้จริงทางประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อนเสียหายไปมิใช่น้อยด้วยการสร้างหลักฐานเท็จ มีเจตนาดัดแปลงเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ขึ้นจากเอกสารของทางราชการ แล้วพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นประโยชน์ในการสร้างผลกำไรทางธุรกิจให้ตนเอง

 

ถึงแม้ ก.ศ.ร.กุหลาบ จะเป็นคนใจกว้างและเปิดเผย จากการเปิดประเด็นความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งยังเป็นนักบุญพิมพ์หนังสือแจกเป็นวิทยาทานถึง ๒,๐๐๐ ฉบับ ถวายรัชกาลที่ ๕ แต่ในอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อต้องการยืนยันจุดยืนของตนเอง คือ ขี้โอ่ อวดดี และทะนงตัว แสดงถึงภาวะโรคจิตอ่อนๆ ที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นการที่ทางการลงโทษนายกุหลาบด้วยการส่งตัวไปสงบสติอารมณ์ใน รพ. คนเสียจริต (รพ.บ้า) ๓๓ วัน  ถือเป็นการลงโทษเชิงสัญลักษณ์ให้สำนึกผิดทั้งที่รู้ว่าไม่อาจรักษานายกุหลาบให้หายขาดจากความผิดปกติทางจิตได้ แต่เป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ว่าเขาเป็นบุคคลน่าเฝ้าระวัง

 

ข้อสังเกตที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้หากมองในแง่จิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์ การที่นายกุหลาบรู้เรื่องราวทางโบราณคดีมากเกินไป และเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นของต้องห้าม อาจทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน จึงผุดความคิดที่จะประชดเจ้านายฝ่ายใน ประชดสังคม เลยประชดนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า ด้วยการสร้างข้อคิดขึ้นมาใหม่โดยเบี่ยงเบนความจริง จะได้แหกกฎเกณฑ์อันล้าสมัยและงมงายของคนโบราณ

 

โชคดีที่วันนี้เรามีกระทรวงไอซีที มีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองนักประพันธ์ นักค้นคว้า และนักวิชาการให้มี

ลิขสิทธิ์ในผลงานที่ตนเองเป็นผู้สร้างสรรค์ริเริ่มขึ้นมาด้วยสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะโดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น แสดงว่ากฎหมายสมัยปัจจุบันก็ตระหนักถึงพิษภัยของพวกละเมิดลิขสิทธิ์ดังเช่นที่นายกุหลาบได้เริ่มต้นไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

 

อย่างไรก็ดีสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ความผิดของนายกุหลาบ  มีข้อพึงสังเกตว่าคดีของนายกุหลาบได้หมดอายุความไปนานกว่าร้อยปีแล้ว เราจึงไม่ควรหยิบยกทฤษฎีของนายกุหลาบมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในสมัยปัจจุบัน แล้วตัดสินกันเองว่านายกุหลาบทำไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมแล้ว

 

นักประวัติศาสตร์ไม่ควรตัดสินความถูกผิดของคนในอดีตว่าเป็นอย่างไร  เรารู้แค่ไหนเราก็ควรบอกกล่าวแค่นั้น โดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว

 

รสนิยมแห่งการรักชาติต้องมี แต่ไม่ใช่ชาตินิยมอย่างขาดเหตุผล เราจะใช้เหตุผลของคนในยุคหนึ่งมาตัดสินคนในอีกยุคหนึ่งไม่ได้ และเราจะใช้กฎระเบียบของสังคมหนึ่งมาใช้กับอีกสังคมหนึ่งก็ไม่ได้ด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น เราไม่ควรตัดสินคนในประวัติศาสตร์ ไม่ควรคิดแทน ก.ศ.ร.กุหลาบ ว่าเขาคิดอย่างไร เพราะเราไม่รู้ข้อเท็จจริงและไม่มีหน้าที่ให้ความยุติธรรมหรือชี้แนะการตัดสินใจของบรรพบุรุษ แต่ควรศึกษาพฤติกรรมของท่านเหล่านั้นแล้วแยกแยะความชั่วดีออกจากกัน เพื่อใช้เป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า

 

หากมองสังคมไทยว่าเป็นสังคมแสวงหาผลกำไรก็ไม่ควรแสวงหากำไรแม้แต่กับประวัติศาสตร์ ไม่ควรใช้เรื่องราวของบุคคลในอดีตมาเชื่อมโยงกับเหตุผลทางการเมืองสมัยใหม่ เพื่อชี้นำสังคมจนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่น่าเลียนแบบตามวัฒนธรรมเลียนแบบแบบ ไทยๆ เรื่องของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการยกอุทาหรณ์ที่ผิดกาละเทศะ และไม่ใช่แบบฉบับที่ดีไม่ว่ายุคใดสมัยใด

 

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณ คุณเอนก นาวิกมูล ที่อนุญาตให้ใช้รูปภาพประกอบและข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "เรื่องประหลาดเมืองไทย"

 

เอกสารประกอบการค้นคว้า

(๑) ธงชัย วินิจจะกูล. "ความผิดของ  ก.ศ.ร.กุหลาบ," ใน วารสารอ่าน. ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๔).

(๒) นนทพร อยู่มั่งมี. พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว). กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๔.

(๓) พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีไปมากับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พิมพ์ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลตรงกับวันเสด็จสวรรคต ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๒.

(๔) สงวน อั้นคง. "วันครู," ใน สิ่งแรกในเมืองไทย . กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๑๔.

(๕) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "หนังสือหอหลวง," ใน นิทานโบราณคดี . ๒๕๔๑.

(๖) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๙.

(๗) เสลา เรขะรุจิ. ๑ ศตวรรษหนังสือพิมพ์ไทย. พระนคร : รวมสาส์น, ๒๕๑๐.

(๘) เอนก นาวิกมูล. "หนังสือประหลาดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ," ใน เรื่องประหลาดเมืองไทย. กรุงเทพฯ : แสงแดด, ๒๕๓๘.

 

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323425617&grpid=no&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น