วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อีกด้านหนึ่งของ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ในมุมมองของราชสำนัก (3)

อีกด้านหนึ่งของ "ก.ศ.ร.กุหลาบ" ในมุมมองของราชสำนัก (3)

วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17:43:55 น.

Share8













 ไกรฤกษ์ นานา 

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์

 

ความผิดของนายกุหลาบ
ตามทัศนะของราชสำนัก

คดีเกี่ยวกับการแต่งเติมพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) นี้มิใช่คดีความทางโลกแบบธรรมดา แต่เป็นการตัดสินเพื่อความถูกต้องและจริยธรรมด้านจิตใจ ต้องใช้สติสัมปชัญญะในการสืบสวน และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในการตีความ คณะผู้พิพากษาจึงมิใช่ทีมลูกขุนแบบนักกฎหมายทั่วไป แต่เป็นคนนอกผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้เคารพนับถือของคนทั้งหลายทั้งองค์ประธานทางโลกและทางธรรม บุคคลที่ได้รับคัดเลือกประกอบด้วย  

๑. กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ  เป็นประธานฝ่ายธรรมะ ผู้ทรงคุณวุฒิทางสังฆการีกรรม


๒. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้านเรศร์วรฤทธิ์ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล  ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มือกฎหมายทางโลกมีหน้าที่ดูแลความสงบสุขของสังคม


๓. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นปรมาจารย์ด้านการศึกษาแห่งรัตนโกสินทร์ และครูใหญ่โรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง ผู้แต่งแบบเรียนภาษาไทยชุดแรก รวม ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ เป็นอาจารย์ใหญ่ด้านวิชาการที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕(๔)


กระบวนการไต่สวนนายกุหลาบของผู้พิพากษาพิเศษคณะนี้มีความพิสดารกว่าคดีทั่วๆ ไป สำนวนการพิจารณาคดีและคำตัดสินตามทัศนะของราชสำนักระบุอยู่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ มีไปมากับคณะผู้พิพากษา พร้อมบทสรุปชี้มูลความผิดของจำเลย ดังนี้

เรื่องไต่สวน ก.ศ.ร.กุหลาบ
(ฉบับที่ ๑๖๒)


            พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ที่ ๒๘/๑๔๓๙      วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙


ด้วยนายกุหลาบได้นำหนังสือพิมพ์เปนเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราชมาให้ ๒๐๐๐ เล่ม มีความประสงค์จะให้แจกในงานเมรุ เห็นว่าหนังสือที่นายกุหลาบเรียบเรียงแต่งชิ้นนี้  ไม่ควรจะแจกแก่ศิษย์หาทั้งปวง หรือคนอื่นๆ ทั่วไป เพราะเปนถ้อยคำอันไม่น่าเชื่อ จะหาให้คนทั้งปวงลุ่มหลงไปในถ้อยคำอันนายกุหลาบกล่าวเท็จปนจริงเช่นนี้ สมเด็จ
พระสังฆราชก็นับว่าเปนหลักเปนประธานเปนที่นับถือของคนเปนอันมาก จึงเห็นควรจะไต่สวนเรื่องประวัตินี้ ให้ได้ความว่านายกุหลาบกล่าวเท็จเพียงไร กล่าวจริงเพียงไร ขอให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ พระยาศรีสุนทรโวหารพร้อมกันไต่สวน แลให้มีอำนาจที่จะเรียกตัวนายกุหลาบกับทั้งเรื่องราวทั้งปวงมาไต่สวนได้จนตลอด แล้วให้ทำรายงานบอกมาให้ทราบ


สยามินทร(๓)

(ฉบับที่ ๑๖๓)

 


                                                                  พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
ที่ ๙/๔๙๑                                                              วันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙


ทูล กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงทราบ
ขอให้ทรงสังเกตความหน้าด้านของอ้ายกุหลาบ สยามประเภท วันพระแรม ๑๕ ค่ำ  เดือน ๔ มีเรื่องพระราชทานน้ำศพเจ้าวังน่า กล่าวคือกรมขุนนรานุชิต ตรงกับที่รับสั่งว่ามันลืมว่ากรมขุนนรานุชิตสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระปิ่นเกล้า มันไปนึกอ้อขึ้นมาจึงเอามาลงพิมพ์เปนที่ว่ารู้แล้ว ยังซ้ำปดแถมว่าเปนต้นเหตุ คือแปลว่า เปนครั้งแรก แต่อันที่จริงก็เห็นจะไม่ใช่มุสาวาท เพราะมันไม่รู้มันหมายว่าครั้งแรกจริงๆ นับแต่ที่หม่อมฉันจำได้ ยกพระองค์ใหญ่ประชุมวงษแลกรมขุนธิเบศร์เสีย เจ้าฟ้าอิศราพงษก็เสด็จ มันโกหกฤาโง่หาที่สุดมิได้เช่นนี้ จะโปรดอย่างไร
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สยามินทร(๓)

 (ฉบับที่ ๑๖๕)
                                                                          วัดบวรนิเวศวิหาร
                                                                          วันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙
ขอถวายพระพร


ตามกระแสพระบรมราชโองการที่ ๒๘/๑๔๓๙  ทรงพระกรุณาโปรดให้อาตมภาพ  กับกรมหลวงนเรศวรฤทธิ พระยาศรีสุนทรโวหาร พร้อมกันไต่สวนประวัติสมเดจพระสังฆราช ซึ่งนายกุหลาบพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่องานพระเมรุสมเดจพระสังฆราชนั้น อาตมภาพได้พร้อมด้วยกรมหลวงนเรศวรฤทธิ แลพระยาศรีสุนทรโวหาร เข้ากันเปนกรรมการตรวจสอบประวัติของสมเดจพระสังฆราช ในสมุดที่นายกุหลาบพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวาย  กับในสยามประเภทเล่ม ๔ ตอนที่ ๑๐ ตั้งแต่น่า ๓๓๖ ถึงน่า ๓๖๗ ได้พบข้อความมากๆ น้อยๆ กว่ากัน ทั้งสำนวนก็ไม่เปนอันเดียวกัน แต่ก็อ้างว่าเปนหนังสือที่ได้เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายทั้งสองแห่ง เมื่อพบข้อความในหนังสือสองฉบับนั้น มากน้อยกว่ากันเช่นนั้น จึงได้เก็บข้อความในหนังสือสองฉบับนั้นรวมเข้าด้วยกันปันเปน สองหมวดหัวข้อ คือ เรื่องสมเดจพระสังฆราชหมวด ๑ กึ่งความนอกจากเรื่องสรรพหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แลสืบสวนความเข้าประกอบได้ความว่านายกุหลาบผู้เรียบเรียงประวัตินั้น ประกอบด้วยโทษไม่ควรเปนที่เชื่อฟัง ๗ ประการ คือ


๑. เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้เขาเชื่อถือ เช่น อวดอ้างตำราซึ่งไม่มีจริง
๒.  เปนผู้ปั้นความที่ไม่มีจริงขึ้นลวงให้คนเชื่อถือผิดๆ เช่น แต่งข้อความไม่มีมูลขึ้น
แล้ว อ้างว่าเก็บมาจากตำราชื่อนั้นชื่อนี้ ซึ่งไม่มีจริงบ้าง แซมเข้าไว้ในหนังสือที่ผู้อื่นแต่งบ้าง
๓. เปนผู้ทำลายความจริงซึ่งได้เปนไปแล้ว เช่น กล่าวเปิดเผยข้อความที่เปน 
ปฏิปักษ์แก่เหตุหรือข้อความซึ่งมีผู้กล่าวหรือแต่งไว้ในหนังสือซึ่งเปนจริงให้กลายเปนที่  สนเท่ห์
๔. เปนผู้รักษาหนังสือไม่ดี บันดาหนังสือที่นายกุหลาบมีอยู่ล้วนเปนของไม่คง
ตามเดิมทั้งนั้น
๕. เปนผู้เดาเอาง่ายๆ ซึ่งข้อความที่ตนไม่รู้ เช่น กล่าวถึงเรื่องสมเดจพระสังฆราช
สิ้นพระชนม์ เปนแต่เห็นพระสงฆ์ถือขวดน้ำไป ก็เดาว่าพระสงฆ์สรงพระศพต่อข้าราชการ
๖. เปนผู้เสิมข้อความที่เปนจริงให้มากไปกว่าเหตุ เช่น ข้อที่กล่าวว่าพระยาศรี
สุนทรโวหาร (ฟัก) แต่ครั้งยังบวชเปนพระศรีวิสุทธิวงษ์เปนพระกรรมวาจาจารย์ของสมเดจพระสังฆราชเมื่ออุปสมบทครั้งที่ ๒ ก็เปนความจริงที่รับรองกันอยู่ทั่วแล้ว แต่นายกุหลาบเสิมว่า มีในจดหมายเหตุโบราณ
๗. เปนผู้มักง่ายในการใช้ถ้อยคำสำนวน เช่น กรมหมื่นบวรรังสี สุริยพันธุ์  
เรียกเปน กรมหมื่นบวรรังษีสุพันธุวงส์ หาได้ไตร่ตรองให้ถ่องแท้ก่อนไม่
แลประวัติสมเดจพระสังฆราชทั้งสองฉบับนั้น เปนเรื่องประกอบด้วยโทษไม่ควรเปนที่เชื่อถือ ๓ ประการ ปนคละกันอยู่แทบทั้งนั้นไป คือ
๑. เท็จไม่มีมูลทีเดียว เช่น กล่าววงษ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เปนต้น
๒. เท็จปนจริง คือ เค้าความเท็จ แต่กึ่งความจริง เช่นกล่าววงษ์สมเดจ
พระสังฆราชโยงเข้าเปนเชื้อสายของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เปนต้น


๓. จริงปนเท็จ คือ เค้าความจริง แต่กึ่งความเท็จ เช่น กล่าวเรื่องสมเดจ
พระสังฆราชแปลพระปริยัติธรรมได้ ๙ ประโยคแต่ครั้งยังเปนสามเณร ข้อนี้เปนความจริงที่รู้กันอยู่ แต่ข้อที่กล่าวว่า พระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลูบหลังเปนต้นนั้น เปนความเท็จ


นอกจากนี้ยังมีข้อที่กล่าวไม่สมต้นสมปลาย ซึ่งส่อความเท็จของผู้เรียบเรียงอีก เช่นกล่าวถึงเรื่องอาจารย์อ่อนพาสมเดจพระสังฆราชไปหาพระครูศีลปาโมกข์ แลถวายตัวแด่พระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางแห่งก็ว่าที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางแห่งก็ว่าที่วัดราชาธิวาศ


แลเหตุชักนำให้นายกุหลาบกล้าลงทุนพิมพ์หนังสือนี้แลกล้านำทูลเกล้าฯ ถวายก็แลเห็นชัดอยู่ว่า ถ้าหนังสือนี้ได้แจกในงานพระเมรุก็ดี หรือแม้ไม่ได้แจกแต่เก็บเงียบอยู่ก็ดี หนังสือนี้ก็ได้ชื่อว่าได้รับความรับรองว่าเปนจริงหรือไม่ปรากฏว่าเปนเท็จ นายกุหลาบจะได้ถือเอาโอกาสอันนี้ไว้เปนชื่อเสียงของตน แล้วแลเปิดเผยเรื่องนั้นๆ อันประกอบด้วยโทษไม่ควรเชื่อฟังในหนังสือพิมพ์ลวงให้มหาชนเชื่อถือ เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัว ดังการณ์ที่เปนมาแล้วในหนหลังแลยังกำลังเปนอยู่ในบัดนี้


เมื่อไต่สวนได้ความชัดฉะนี้แล้ว จึงพร้อมกันวินิจฉัยว่า ประวัติสมเดจพระสังฆราช ทั้งในสมุดพิมพ์ที่นายกุหลาบทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งในสยามประเภทเล่ม ๔ ตอนที่ ๑๐ นั้น ไม่ควรเปนที่เชื่อฟังของคนทั้งปวง มีข้อความพิสดารแจ้งในคำวินิจฉัยของกรรมการ พร้อมทั้งคำพยานแลรายงานสืบสวนที่ถวายมาพร้อมกันนี้ แลนายกุหลาบกล้าทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือแสดงเรื่องที่ตนรู้อยู่เต็มใจว่าประกอบไปด้วยความเท็จฉบับหนึ่ง แลจงใจกล่าวเท็จเปิดเผยในสยามประเภทฉบับนั้น แสดงอาการให้คนทั้งหลายเข้าใจไปว่า ตนได้ทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องที่พิมพ์ไว้ในนั้น ซึ่งประกอบด้วยความเท็จดุจกันอีกฉบับหนึ่งด้วย เช่นนี้ได้ชื่อว่าหมิ่นต่อพระบรมเดชานุภาพ เปนความผิดใหญ่ของนายกุหลาบอีกส่วนหนึ่ง ข้อนี้ต้องอาไศรยพระมหากรุณาเปนที่ตั้ง จะควรสถานไรสุดแต่จะทรงพระมหากรุณา


ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ขอถวายพระพร


(ลงพระนาม) ขอถวายพระพร กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
(ลงพระนาม) ข้าพระพุทธเจ้า นเรศวรฤทธิ์
(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า พระยาศรีสุนทรโวหาร(๓)

 

 

(ฉบับที่ ๑๖๔)


                                                                            วัดบวรนิเวศวิหาร
ที่ ๑๖๓         วันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙


ขอถวายพระพร


พอได้รับความในพระราชหัตถเลขาที่ ๙/๔๙๑ ก็ให้ไปตามเอามาอ่านเก็บเอาไปจากนี่เปนแท้ เมื่อกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ซักนายกุหลาบจะให้อ้างออธอธิติในเรื่องเทียนฉันทะ นายกุหลาบโลเล อาตมภาพจึงว่าต่อหน้านายกุหลาบว่านายกุหลาบเดาเอาเช่นนั้นๆ จึงกล่าวถึงกรมขุนนรานุชิตว่าเข้าพระเมรุพระปิ่นเกล้า จำได้อยู่แลพูดต่อไปว่าถึงกรมหมื่นอุดมก็เหมือนกัน แรกที่จะได้พระนามกรมหมื่นอุดมก็เมื่อสิ้นพระชนม์ เมื่อมีผู้ไปกราบทูล  ทูลกระหม่อมกำลังเสดจอยู่ที่วังน่า แล้วก็เสดจกลับมาพระบรมมหาราชวัง นัยว่าจะเสดจพระราชทานน้ำสรงพระศพกรมหมื่นอุดม นายกุหลาบคงเก็บเอาคำที่พูดกับกรมหลวงนเรศรไปแต่งขึ้น แต่ถูกสกัดไว้แล้วจึงไม่กล้าออกเรื่องต้นเหตุพระศพเจ้าวังน่าได้
เข้าพระเมรุท้องสนามหลวง เรื่องเสดจลอดประตูช่องกุฏิก็คงเกิดขึ้นเพราะได้ยินเล่าเรื่องกรมหมื่นอุดมสิ้นพระชนม์ เรื่องพระรูปสมเดจพระสังฆราชวัดราชสิทธิก็เดาประจบเอาอีก


ขอพระราชทานพรรณนาลักษณโทษที่ไม่ควรเชื่อฟังของนายกุหลาบมาพลางมี ๗ ประการ
๑.  เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้คนเชื่อถือ
๒. เปนผู้ปั้นความที่ไม่จริงขึ้นลวงให้คนเชื่อถือผิดๆ
๓. เปนผู้ทำลายความจริงซึ่งได้มีมาแล้ว
๔. เปนผู้รักษาหนังสือไม่ดี คงมีปลอมจนได้
๕. เปนผู้เดาประจบเอาง่ายๆ
๖. เปนผู้เสิมข้อความที่เปนจริงให้มากไปกว่าเหตุ
๗. เปนผู้มักง่ายในการใช้ถ้อยคำสำนวน
ลองตั้งเกณฑ์ไว้สำหรับวางบทปรับเท็จนายกุหลาบว่าจะต้องด้วยมาตราไหนของ


เรื่องต้นเหตุพระราชทานน้ำสรงพระศพเจ้าวังน่านั้น ต้องด้วยมาตรา ๕ เพราะไม่ตั้งใจจะกล่าวเท็จ เปนแต่เดาประจบด้วยเข้าใจว่าเปนอย่างนั้น เรื่องเสดจพระราชทานน้ำสรงพระศพกรมหมื่นอุดมนั้น ต้องด้วยมาตรา ๖ เมื่อพรรณนากึ่งลักษณะในตัวก็ได้เปนยอดข้างชั่วหลายประการ
๑. ยอดขี้ปด
๒. ยอดไม่มีอาย
๓. ยอดโง่
๔. ยอดไม่ตขิดตขวง
หวังว่าคำวินิจฉัยในเรื่องประวัติสมเดจพระสังฆราช จะอธิบายลักษณะของนาย
กุหลาบว่าเปนอย่างไรได้ชัดเจน
ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ขอถวายพระพร
กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (๓)

ภายหลังสำนวนการไต่สวนนายกุหลาบกรณีปลอมแปลงพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ถูกทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบแล้ว ก็ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเป็นฉบับสุดท้าย ดังนี้

 

 (ฉบับที่ ๑๖๖)


                                                                        พลับพลาสวนดุสิต
ที่ ๕/๓๗      วันที่ ๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐


ถึงกรรมการไต่สวนเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราชที่นายกุหลาบแต่ง


ด้วยได้ส่งรายงานที่ได้ไต่สวนนายกุหลาบกับหนังสือต่างๆ ที่ประกอบกับรายงานมานั้น ได้ตรวจดูตลอดแล้ว เห็นว่ากรรมการได้ไต่สวนโดยความสอดส่องรอบคอบได้ความเลอียดชัดเจนดี เปนที่พอใจเปนอันมาก ขอขอบใจกรรมการที่ได้ทำการโดยความอุตสาหเปนอันมาก


สยามินทร(๓)

 

แต่ด้วยพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ด้วยเห็นว่านายกุหลาบเป็นคนชรามีอายุมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ภาคทัณฑ์โทษจำคุกไว้ก่อน และได้ทรงห้ามมิให้ใครเชื่อถือเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราชที่นายกุหลาบนำความเท็จมาพิมพ์เผยแพร่นั้น (๒)


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323082498&grpid=no&catid=&subcatid=


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น