′สน′ ต้นเดียวที่ ริกุเซนทากาตะ
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:07:14 น.
Share71
| โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com
| ริกุเซนทากาตะ เป็นเมืองประมงเล็กๆ ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็เป็นเมืองหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ เมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หนักหน่วงที่สุด รุนแรงที่สุดในบรรดาเมืองหลายๆ เมืองในแถบนั้น ตามแนวชายฝั่งของ ริกุเซนทากาตะ มีเขื่อนกันกระแสน้ำสูง 5.40 เมตร ถัดจากแนวกำแพงคอนกรีตดังกล่าว เป็นป่าสน เรียกว่า ทากาตะ ทสึบาระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชายหาดชื่อเดียวกันของเมือง
ป่าสนร่มรื่น ชายหาดสงบเย็น อยู่เคียงคู่กับตัวเมืองมายาวนาน กว่า 200 ปี สนใหญ่น้อย หยัดยืนอยู่ไล่ระดับกันไปไม่น้อยกว่า 70,000 ต้น เมื่อสึนามิมาเยือน ไม่เพียงชาวเมือง 2,300 คน จากทั้งหมด 23,000 คน ต้องสังเวยชีวิตเท่านั้น ส่วนใหญ่ของสิ่งที่เคยเป็นใจกลางเมือง ย่านธุรกิจและแม้แต่ศาลาประชาคมก็เสียหายยับเยินไปกับวินาศภัย
แนวคอนกรีตกันคลื่นยักษ์เกือบตลอดแนวถูกสึนามิที่ทะยานโลดขึ้นถึง 13-14 เมตร กวาดทำลายจนหมด เช่นเดียวกันกับสนใหญ่น้อยทั้งหลายบนชายหาด ทากาตะ ทสึบาระ ที่กลายเป็นลานโล่งเลี่ยนเตียนดูแปลกตา ยกเว้นเพียงต้นเดียว สนเพียงต้นเดียวจากจำนวน 70,000 ต้น โดยประมาณ ยืนลำต้นท้าทายมหาวิบัติภัยมาได้อย่างเหลือเชื่อ
ต้นสนสูงราว 30 เมตร อายุราว 260 ปี ลำต้นเรียวยาวตั้งเกือบตรงถูกคลื่นพลังมหาศาลถาโถม เข้าใส่ ลิดทั้งกิ่งทั้งใบด้านล่าง ฉีกกระชากออกไปจากลำต้นจนเหี้ยน แต่ยอดสูงและเรียวกิ่งด้านบนยังโยกไหวสะบัดใบเขียวขจีไปตามสายลม ชาวริกุเซนทาตากะที่เหลือรอดมาจากมหันตภัย ครั้งนั้น มองไปที่มันอย่างอัศจรรย์ใจ บางคนเชื่อว่า เป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้สนต้นเดียวต้นนี้เหลือรอดมาได้
หลงเหลือมาเพื่อเป็นกำลังใจ เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงการต่อสู้ดิ้นรนให้รอดพ้นจากความยากลำบากชนิดเป็นตายเท่ากัน เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่า หลังจากความเลวร้ายถึงขีดสุดที่พวกเขาพานพบ ริกุเซนทากาตะจะสามารถยืนหยัดอยู่ต่อไปได้ พวกเขาเริ่มเรียกขานมันว่า "สนเดียวดาย-เดอะ โลน ไพน์" แล้วมันก็กลายเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง กลายเป็นภาพบนเข็มกลัดเสื้อ กลายเป็นสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์
แล้วก็กลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง ริกุเซนทากาตะ ไปในที่สุด
วิถีแห่ง ฟุโตชิ โทบะ นายกเทศมนตรีวัย 46 ปี ก็คล้ายๆ กับ "สนเดียวดาย" ต้นนั้น
ไม่เพียงเมืองทั้งเมืองที่อยู่ในความรับผิดชอบเสียหายยับเยิน ชนิดพร้อมที่จะ "ตาย" หายสาบสูญไปจากแผนที่ได้ทุกเมื่อเท่านั้น ชีวิตส่วนตัวยังถูกสึนามิทำลายสาหัสด้วยเช่นกัน เขาสูญเสียที่ทำงาน สำนักงานนายกเทศมนตรี เทศบาลเมือง ริกุเซนทากาตะ ไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับอำนวยประโยชน์ใดๆ ได้ หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น บ้านพักของตัวเองสูญหายไปกับกระแสคลื่นคลั่ง พร้อมๆ กับบ้านอีกหลายหลังในตัวเมือง |
เขาสูญเสียภรรยาที่น่ารักและขยันทุ่มเทไปกับวินาศภัยหนนั้น กว่าจะพบร่างของเธอก็ต้องรอจนกระทั่งถึงวันที่ 5 เมษายน เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งพบศพของเธอหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วกว่า 3 สัปดาห์
สิ่งที่หลงเหลือนอกจากตัวเองแล้ว ก็มีเพียงลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทั้งสองคน ทาอิกะ วัย 13 ปี และ คานาโตะ วัยเพียง 11 ขวบ เขาหอบลูกชายทั้งสองไปอยู่กับบ้านพี่ชายชั่วคราว หวังว่า ญาติมิตรที่รายล้อมอาจช่วยปลอบประโลมการสูญเสียให้กับเด็กๆ ได้อยู่บ้าง
กระนั้น ตอนที่เขาบอกเรื่องราวของผู้เป็นแม่กับลูกๆ ทั้งสอง ทาอิกะดูเหมือนจะคาดเดาหลายๆ อย่างเอาไว้ล่วงหน้า และยอมรับกับความสูญเสียได้ แต่คานาโตะ ไม่เป็นอย่างนั้น เจ้าหนูรับฟังแล้วร่ำไห้ติดต่อกันแบบไม่หยุดหย่อนนาน 2 วัน 2 คืนเต็มๆ หลังจากนั้นอีกนานนับสัปดาห์ เด็กชายยังคงหลบเร้นไปอยู่เพียงลำพังแล้วร่ำไห้ถึงมารดา
หลายครั้งที่ โทบะรู้สึกตัวเองเหมือนสนเดียวดายที่ถูกลิดกิ่งก้านต้นนั้น หลายครั้งก่อนหน้านี้ เขาถูกสิงสู่ด้วยการต่อสู้ทางความคิดว่าจะปลีกตัวออกค้นหาภรรยาที่สูญหาย หรือจะใช้เวลาทำหน้าที่นายกเทศมนตรี เพื่อ นำทีมช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้รอดชีวิตให้มากที่สุด เขาเลือกเอาอย่างหลัง
ไม่นานนัก มีผู้มาตอกย้ำความเป็นจริงให้รับทราบว่า "สนเดียวดาย" ต้นนั้น ไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้นานอย่างที่ทุกคนอยากเห็น
ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ในท้องถิ่น บอกว่ามันกำลังจะตาย สนต้นเดียวอาจตายได้ แต่เขาไม่ โทบะจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ ริกุเซนทากาตะ จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป
ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อลูกๆ ทั้งสอง แต่ยังเพื่อเด็กๆ อีกเป็นจำนวนมากที่จะเติบใหญ่ขึ้นมาในเมืองนี้ในอนาคต
ชาวเมืองริกุเซนทากาตะ พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษา "สนเดียวดาย" ของพวกเขาเอาไว้ให้ได้
ไม่เพียงสวดภาวนา พวกเขายังระดมสรรพกำลังเข้ามาทำทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อรักษาให้ "เดอะ โลน ไพน์" ต้นนี้อยู่รอด เริ่มตั้งแต่การเยียวยาโคนต้นพยายามรักษาบาดแผลรอยฉีกขาด จนยางสนผุดขึ้นมาโดยรอบรอยกระชาก ด้วยการใช้พลาสติกสีเขียวพันโดยรอบ เรื่อยไปจนกระทั่งถึงการปักแผ่นเหล็ก "ชีตไพล์" ลงโดยรอบโคนต้น แล้วเจาะบ่อเพื่อใช้ปั๊มไฟฟ้าดูดน้ำเค็มออกจากพื้นดินโดยรอบ ให้น้ำจืดเข้าไปทดแทนที่น้ำเค็มกร่อยที่จะทำอันตรายต่อต้นไม้ที่หลงเหลือเพียงลำพังในหาดทั้งหาดต้นนี้ ขณะที่ความพยายามยื้อชีวิตสนเดียวดายดำเนินไป ความพยายามเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะยังชีวิตใหม่ให้กับริกุเซนทากาตะ ของ ฟุโตชิ โทบะ ก็ดำเนินไปไม่หยุดยั้ง หนักหน่วงกินแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สำนักงานของเขาประเมินความเสียหายของทั้งเมืองไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ นั่นเป็นตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้ที่จะหามาจากภายในท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้าวินาศภัยยังถึงกับเป็นหนี้อยู่ถึงราว 100 ล้านดอลลาร์ แต่การพึ่งพาโตเกียว หมายความว่า โทบะต้องเผชิญกับระบบราชการที่แข็งทื่อตายตัว เนิ่นนานล่าช้า ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เขาพบ ก็คือ การเดินทางมาถึงของ นาโอโตะ คัง อดีตนายกรัฐมนตรี แต่แล้ว ทุกอย่างก็เงียบกริบ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ อีก หรือแผนการสร้างศูนย์กลางเมืองขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ที่ถูกตีกลับมา โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่สามารถนำไปพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ตามกฎหมาย
ทั้งๆ ที่ นี่คืออาณาบริเวณวิบัติภัยที่ควรได้รับการยกเว้น และยืดหยุ่นจากกฎหมายก็ตาม ในเวลาเดียวกันนั้น ผู้รอดชีวิตมากกว่า 1,100 คน ตัดสินใจหันหลังให้กับเมือง เขาจำเป็นต้องตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อรักษาเมืองนี้เอาไว้ให้ได้ก่อนที่จะสายเกินไป
ธุรกิจมากกว่า 604 กิจการในตัวเมือง สามารถกลับมาดำเนินกิจการของตัวเองได้อีกครั้งเพียง 89 กิจการเท่านั้น ไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน เมืองก็ไม่น่าอยู่ และไม่น่าอยู่รอดอีกต่อไป
11 มิถุนายน หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมรำลึกถึงวาระครบรอบ 3 เดือน ของวินาศภัยหนนี้ ที่บริเวณหน้าศาลกลางใหม่ชั่วคราว ฟุโตชิ โทบะ ก็ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ริกุเซนทากาตะ จะต้องก้าวข้ามจากการบรรเทาทุกข์ เยียวยา ไปสู่การก่อร่างสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ นอกจากบ้านที่เสียหายโดยสิ้นเชิงจากสึนามิแล้ว ยังมีอาคารบ้านเรือนอีกไม่น้อยกว่า 30 หลัง รวมทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลต้องรื้อทำลาย เพราะใช้ประโยชน์ไม่ได้อีกต่อไป โทบะ เริ่มจากบ้านของตนเองเป็นลำดับแรก
เขาร้องขอให้รัฐบาลถอนกำลังทหารออกไป-นับแต่นี้ต่อไป เมืองต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ต้องยืมจมูกผู้อื่นมาหายใจอยู่ตลอดเวลา ผังเมืองใหม่ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างชัดเจนและดีกว่าเดิม
เมืองใหม่จะมีโรงพยาบาล อาคารศาลากลาง ห้องสมุด และโรงเรียน อยู่ด้วยกันบนที่สูง เพื่อทำให้การบริหารจัดการและการบริการของทางการรวมศูนย์อยู่ที่นั่น และช่วยให้ชาวเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้โดยง่าย แต่ก่อนอื่น กำแพงคอนกรีตกั้นคลื่นยักษ์ที่ต้องสร้างใหม่เกือบทั้งหมดให้สูงอย่างน้อยก็ให้สามารถรองรับคลื่นขนาดที่ถล่มเข้ามาครั้งล่าสุดนี้ ให้ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทางการโตเกียวก่อนอื่น พวกเขาจำเป็นต้องได้รับรู้ว่าในอนาคตพวกเขาจะได้รับการปกป้อง ก่อนที่จะตัดสินใจก่อสร้างอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป เขากราดเกรี้ยวกับความอืดอาดในการอนุมัติเงินเพื่อการฟื้นฟูจากทางโตเกียว แต่ไม่ยอมงอมืองอเท้า โทบะประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัยหลุดรอดจากการใช้ชีวิตอยู่ในเต็นท์ฉุกเฉิน ไปอยู่ในบ้านพักชั่วคราวที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้น ร้านชำร้านแรกเปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา และผู้ประกอบการจากโตเกียวรายหนึ่งสัญญาจะโยกกิจการ คอลเซนเตอร์ มายังที่นี่ เพื่อช่วยสร้างงาน 100 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น แทนที่จะนั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลโตเกียว โทบะเดินทางไปที่นั่นเพื่อพบกับเอกอัครราชทูตของสิงคโปร์ อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติ
เขากลับมาพร้อมกับคำสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือ ในรูปของห้องสมุดเคลื่อนที่ และเงินบริจาคจำนวน 9 ล้านดอลลาร์ จากชาวสิงคโปร์ สำหรับการสร้างหอประชุมเมือง เขาใช้สื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เพื่อต่อสู้กับกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่น จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสร้างเมืองใหม่ตามแผนได้
ทากาชิ คูโบตะ รองนายกเทศมนตรี บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่าบางครั้ง โทบะพูดมากเกินไป "แต่หลายหน เขาก็ถูก บางทีเราก็ต้องพูดออกมาบ้าง"
ปลายเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ความเห็นชอบกับงบประมาณฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย 155,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งในจำนวนนั้นจะเป็นของ ริกุเซนทากาตะ ที่พร้อมแล้วจะยื่นแผนงบประมาณเพื่อการนี้ แต่ปลายตุลาคมก่อนหน้านั้น โยชิฮิสะ ซูซูกิ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติท้องถิ่นใน ริกุเซนทากาตะ ประกาศออกมาว่า "สนเดียวดาย" ของพวกเขากำลังจะตายลงในอีกไม่ช้าไม่นาน หลังจากพยายามฉีดน้ำจืดและดูดน้ำเค็มออกมาอย่างต่อเนื่องนานหลายเดือน นักพฤกษศาสตร์เพิ่งตรวจพบว่า รากของสนเดียวดายกลับไม่สามารถทำงานดูดซึมน้ำและอาหารอย่างที่มันควรทำได้อีกต่อไป
มันแช่อยู่ในน้ำเค็มนานเกินไป นานเกินกว่าที่รากทั้งน้อยใหญ่จะทานรับได้ การที่มันคงอยู่มาจนถึงเวลานี้ ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์มากแล้ว หากคำนึงถึงในแง่วิชาการที่ว่า การจมอยู่ใต้น้ำทะเลเพียงไม่กี่วันจะสามารถทำให้มันตายได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ซูซูกิเชื่อว่า การที่มันเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของริกุเซน ทากาตะ ทำให้การสูญเสียครั้งนี้ใหญ่หลวงไม่น้อย แต่สำหรับ คูนิโอะ ทากิ หัวหน้าศูนย์พัฒนาการและการวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งญี่ปุ่นเชื่อว่า ทุกคนคงยอมรับได้ เพราะมันได้ทำหน้าที่สุดท้ายของมันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่ริกุเซนทากาตะก้าวต่อไปข้างหน้า ในห้วงเวลาที่ยากเข็ญลำเค็ญที่สุดในชีวิต
ฟุโตชิ โทบะ กลับมีแผนรองรับเพื่อการนี้เอาไว้แล้ว เขาไม่เพียงจะสร้างทากาตะ ทสึบาระ ขึ้นมาใหม่ "สนเดียวดาย" ก็อาจถูกรักษาบางส่วนที่หลงเหลือเอาไว้อย่างนั้น ในขณะที่สนอีกเป็นจำนวนหมื่นๆ กำลังเริ่มต้นระบัดยอดเล็กๆ ของมันขึ้นมาในพื้นที่ นับแต่นี้ต่อไปที่ริกุเซนทากาตะ สนโบราณจะยืนหยัดขึ้นมาอีกครั้ง
และจะไม่เดียวดายอีกต่อไป! .................... (ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ธ.ค.2554)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1324220781&grpid=&catid=02&subcatid=0202 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น