วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ราโชมอน 2540

 

ราโชมอน 2540

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:06 น.

Share21




โดย สรกล อดุลยานนท์ 

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2554) 


ถือเป็นการโยน "ระเบิด" ลูกใหญ่ใส่ธนาคารแห่งประเทศไทย 

เมื่อรัฐบาลประกาศจะโอนหนี้จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านบาท ให้กับแบงก์ชาติเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาลลง 

จากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 30 ของจีดีพี

เปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงินมาฟื้นฟูและซ่อมสร้างเศรษฐกิจภายหลังอุทกภัยครั้งใหญ่

แน่นอน คนที่ไม่พอใจก็คือ แบงก์ชาติ

เพราะต้องรับหนี้ก้อนใหญ่เป็นของตัวเอง

แต่ฟังคำอธิบายของ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการแบงก์ชาติแล้ว นึกถึงนิยายเรื่อง "ราโชมอน" ขึ้นมาทันที

เรื่องเดียวกัน แต่มองคนละมุม และเล่าคนละเรื่อง

"ประสาร" อธิบายที่มาของหนี้ก้อนนี้ว่ามาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

รัฐบาลรับประกันหนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบ ทั้งเงินฝากและเจ้าหนี้ ทำให้ต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมารับภาระหนี้

สังเกตไหมครับว่า "ที่มา" ของปัญหาในมุมของแบงก์ชาติ คือ นโยบายรัฐบาลที่รับประกันหนี้

แต่ "ประสาร" ไม่พูดถึงการตัดสินใจต่อสู้ค่าเงินบาทของ "แบงก์ชาติ" จนทำประเทศล้มละลาย

ต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากความผิดพลาดของแบงก์ชาติครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดสถาบันการเงิน 

และตั้งกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมา

"ราโชมอน" ของแบงก์ชาติเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของแบงก์ชาติที่รัฐบาลเป็นคนตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ

และประกาศรับประกันทั้งเงินฝากและเจ้าหนี้

รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ

"ประสาร" เลือกที่จะเริ่มต้นจุดนี้ เพราะรู้ดีว่าถ้าย้อนต่อไปอีกนิดว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาจากไหน

"แบงก์ชาติ" จะเป็น "ผู้ร้าย" ทันที

ถ้าใครได้อ่านหนังสือ "เล่าเรื่องสมมุติในอดีต" ของ "อำนวย วีรวรรณ"

หรือ "บันทึกลับ 2540" ของ "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" แกนนำพันธมิตร ซึ่งเคยเป็นรองโฆษกพรรคความหวังใหม่

หรือ "โลกสีขาว" ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

จะรู้เลยว่า "ความอิสระ" ของแบงก์ชาตินั้นน่ากลัวเพียงใด

ขนาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่รู้เลยว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้นเป็น "ภาพลวงตา"

คนที่กระซิบบอก พล.อ.ชวลิต ให้ยืนยันว่าจะไม่ลดค่าเงินบาท คือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ทั้งที่รู้ว่าสู้ไม่ไหวแล้ว ต้องลอยตัวค่าเงินบาท

แต่ก็ยังหลอกคนเป็น "นายกรัฐมนตรี"

ยิ่งอ่านรายงานของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ หรือ ศปร.ที่ตั้งขึ้นมาสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ยิ่งชัดเจน

ครับ ถ้าแบงก์ชาติมีความรู้สึกรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้สักนิด

เราคงไม่เห็นตัวเลขการชำระเงินต้นที่เป็นหน้าที่ของ "แบงก์ชาติ" ในช่วงเวลา 14 ปี เพียง 300 ล้านบาท

ในขณะที่รัฐบาลชำระ "ดอกเบี้ย" ไปแล้ว 840,000 ล้านบาท

เมื่อไม่รู้จักแสดงความรับผิดชอบ

การใช้ "ดาบ" ก็จำเป็น !!!


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325314579&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น