วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เกมกทช.ทวนกระแส 'เสรี'





altถูกตั้งคำถามกระหึ่มขึ้นมาทันที เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มีมติออก (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคน ต่างด้าว พ.ศ. ..... เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดให้มีการประชาพิจารณ์อีกครั้งในวันที่ 20 สิงหาคมที่จะถึงนี้
 คำถามก็คือว่า ทำไม? กทช.ถึงได้ออกร่างประกาศดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีกลุ่มทุนข้ามชาติ 2 ราย คือ สิงคโปร์เทเลคอม และ เทเลนอร์เอเชีย พีทีเอ  ที่ควักเงินรายละกว่าหมื่นล้านบาทเข้ามาลงทุน
อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กทช.ออกเดินสายโรดโชว์ ดึงนักลงทุนข้ามชาติเข้ามาประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ในย่านความถี่ 2.1 เมกะเฮิรตซ์ แต่ร่างประกาศดังกล่าวกลับเพิ่มเงื่อนไขกีดกันนักลงทุนต่างชาติไม่ให้นั่ง ตำแหน่งบริหารระดับสูง
ไม่เพียงเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ทางฝั่งนักวิชาการได้ออกมาคัดค้านร่างประกาศนี้ โดยชี้ว่า เป็นการบล็อกต่างชาติไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ทั้งที่รัฐบาลประกาศแผนแม่บทเดินหน้าสู่การเปิดเสรีการแข่งขันให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น

***ผ่าร่างครอบงำกิจการ
   ที่มาที่ไปของ (ร่าง)ประกาศฉบับนี้ สืบเนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549  ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของคนต่างด้าว ในกิจการโทรคมนาคม และให้อำนาจคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในการกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการบางลักษณะหรือบางประเภท ที่เป็นนิติบุคคล จะต้องกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวได้
 ประกอบ อำนาจตามความในมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 และกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในบางมาตรา บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังนั้น คณะกรรมการ กทช.ได้จัดทำร่างประกาศกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการ โดยคนต่างด้าวดังกล่าวขึ้น
***บังคับเฉพาะใบอนุญาตแบบ2 และ 3
 สำหรับร่างประกาศฉบับนี้ ใช้บังคับกับผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตแบบที่สอง และผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตแบบที่สาม ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549
 ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากสุด  คือ ผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างด้าว ผู้แทน หรือตัวแทนมีอำนาจในการคัดเลือกว่าจ้างงาน หรือกำหนดตำแหน่งสำคัญในนิติบุคคลที่เป็นผู้รับใบอนุญาต เช่น ประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หัวหน้าผู้บริหารด้านจัดซื้อ หรือ หัวหน้าผู้บริหารด้านการเงิน เป็นต้น          
***"นที"แจงผ่านทวิตเตอร์
 แรงต่อต้านที่เกิดขึ้น ทำให้พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. และประธานคณะกรรมการ 3.9 G ได้ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ @Drnatte39G ว่า ตามกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้ กทช.สามารถออกกฎเกณฑ์ว่าด้วยการครอบงำโดยต่างด้าวในกิจการนี้ได้ ตั้งแต่เข้ามาเป็น กทช. ก็เห็นร่างประกาศฉบับนี้อยู่ในวาระการประชุม กทช. มาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมกทช. นอกจากนี้ร่างประกาศฉบับนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เคยไปสู่การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตามลำดับ
ในการไปเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย ก็มีคำถามเกี่ยวกับร่างประกาศฉบับนี้แทบทุกครั้ง สิ่งที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่างประเทศกังวลใจมิใช่การมีประกาศฉบับนี้ แต่กังวลใจถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เขาลงทุนแล้ว การนำร่างประกาศฉบับนี้มาสู่การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม คือ การกำจัดความไม่แน่นอนที่ทุกคนกังวลใจ ว่าจะเกิดขึ้นตามระยะเวลาและกระบวนการที่เกิดขึ้น
alt "ผม คิดว่าการดำเนินการในส่วนของร่างประกาศฉบับนี้ แยกออกจากกระบวนการออกใบอนุญาต 3G อย่างชัดเจนยังมีการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะประกาศในราชกิจจาฯ เพื่อมีผลบังคับใช้ จึงไม่น่าส่งผลต่อการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล 3G แต่การดำเนินการตามร่างประกาศ จะเป็นไปในลักษณะของการเยียวยาและแก้ไขการถูกครอบงำโดยต่างด้าว ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตเข้าข่ายดังกล่าว นอกจากนี้จะเป็นการดำเนินการโดยทั่วไป เพราะเป็นประกาศที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2 และ 3 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองจะต้องปฏิบัติ คิดว่าประกาศฉบับนี้จะสร้างความสมดุลระหว่างการให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศ ไทย กับการประกันความมั่นคงของชาติในทุกด้าน"
***นักวิชาการค้าน
  ทางด้านนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารและสารสนเทศ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  ไม่เห็นด้วยที่ กทช. จะออกประกาศดังกล่าว และการกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ถือหุ้นต่างชาติ นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก
 อาจขัดต่อข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบ General Agreement on Trade in Services (GATs) ดังนั้น จึงมั่นใจว่าร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าว จะไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวยังขัดแย้งกับข้อกำหนดของ GATS ที่ห้ามบริษัทไม่ให้มีผู้บริหารเป็นต่างชาติ เพราะข้อตกลงได้ระบุเอาไว้ว่า ห้ามเลือกปฏิบัติกับนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยจะต้องปฏิบัติกับนักลงทุนในประเทศ และต่างชาติด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน
ขณะที่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ระบุชัดเจนว่า ให้ต่างชาติมีสิทธิถือหุ้นครองหุ้นได้ 49% ฉะนั้น การจำกัดให้มีผู้บริหาร และจำกัดการออกเสียงได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากกว่า
"ปัญหาที่ตามมาจะส่งผลต่อภาพลักษณ์การลงทุน ทำให้นักลงทุนต่างชาติ ขาดความเชื่อมั่น และมีความลังเล ร่าง นี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่เสียเปรียบในการเข้าประมูล 3 จี ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่มีไม่มีผู้บริหารเป็นคนต่างชาติเลย" 
 สอดคล้องกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบัน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ร่างฉบับดังกล่าวเท่ากับว่าเป็นการกีดกันไม่ให้มีการแข่งขันเสรี และยิ่งเกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าเป็นการยึดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่า นั้น
***สะเทือน "เอไอเอส-ดีแทค"
 แน่นอน หากร่างฉบับดังกล่าวถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา นั้นหมายความว่าสองกลุ่มทุนสื่อสารยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ถือหุ้นโดยสิงคโปร์เทเลคอม และปัจจุบันมีผู้บริหารต่างชาติเข้ามานั่งตำแหน่งฝ่ายบริหาร คือ นายอึ้ง ชิง-วาห์ กรรมการและกรรมการบริหาร และ นายฮุย เวง ชอง นั่งตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ (COO)
 ขณะที่ เทเลนอร์ เอเชีย พีทีเอ ได้เข้ามาซื้อกิจการใน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ต่อจากครอบครัวเบญจรงคกุล ปัจจุบันมีนายทอเร่ จอห์นเซ่น นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายเทอเรีย โบการ์ด รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบัญชีและการเงิน  ดังนั้นทั้ง เอไอเอส และ ดีแทค จะได้รับผลกระทบต่อร่างฉบับนี้โดยตรง
 มีแต่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ลอยตัว เพราะเป็นกิจการที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100% และไม่มีคนต่างด้าวนั่งเก้าอี้ระดับบริหาร
อีกทั้งประเด็นการคุ้มครองผู้ประกอบการไทยนั้น  ครั้งหนึ่งนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ร่างข้อสรุปข้อเสนอการจัดสรรคลื่นความถี่ ไอเอ็มที หรือ 3G and beyond เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 กรณีเรื่องสัญชาติ ที่ ทรู ซึ่งเป็นบริษัทไทย ต้องแข่งขันกับบริษัทที่มีรัฐวิสาหกิจต่างชาติถือหุ้นใหญ่
 อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว นายซิคเว่ เบรกเก้ รองประธานกรรมการบริหารเทเลนอร์ กรุ๊ป ดูแลภูมิภาคเอเชีย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ดีแทค ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างประกาศห้ามการครอบงำกิจการโทรคมนาคมจากคนต่างด้าว ของคณะกรรมการ กทช.  ว่า ได้เห็นร่างประกาศดังกล่าวที่ตีพิมพ์ลงบนเว็บไซต์ของ กทช.แล้ว ทางเทเลนอร์และดีแทค กำลังศึกษาในรายละเอียดของร่างอย่างจริงจัง และแน่นอนว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญในการถกเถียงของบอร์ด ซึ่งกำลังจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าประมูล 3 จีในไทยที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย.นี้
หาก กทช. ออกกฎเหล็กสกัดต่างด้าวครอบงำกิจการ จึงเท่ากับว่าเป็นการปิดประตูต่างชาติที่จะเข้าประมูล 3G และน่าเสียดายโอกาส ที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ และประธานคณะทำงาน 3.9 ใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาทไปโรดโชว์ เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และ มาเลเซีย เข้ามาร่วมประมูลใบอนุญาตในเมืองไทย
         การออกร่างประกาศฉบับดังกล่าวเชื่อได้ว่า ในวันประชาพิจารณ์ 20 สิงหาคมที่จะถึงนี้ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ เอไอเอส และ ดีแทค รวมไปถึงนักวิชาการ เตรียมออกมา "ฉะ" ในเรื่องนี้หนักหน่วงแน่  เพราะโลกเปิดเสรีแล้วแต่บ้านเราจะถอยหลัง และเป็นอีกหลุมขวากบนเส้นทางเปิดประมูล 3 จี ที่สะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า  เชื่อว่ากรณีนี้คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ กทช.อย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,556  12-14  สิงหาคม พ.ศ. 2553

 

 
 




--
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น