วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รายได้จัดเก็บ-คุมหนี้รายจ่าย ปัญหาใหญ่





altประเด็น การก่อหนี้โดยภาครัฐเพื่อนำมาใช้จ่ายและลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยนับ ตั้งแต่การเข้ามาบริหารของรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ได้นำไปสู่ข้อกังขาว่า รัฐจะแบกภาระหนี้ในอนาคตอย่างไร และการคลังรัฐจะอยู่ในสถานะขาดดุลกี่ปี   จะกระทบต่องบรายจ่ายด้านลงทุนในอนาคตหรือไม่  ด้วยข้อจำกัดด้านรายได้จัดเก็บที่มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเพียง 17% ของจีดีพี  โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตในระดับ 5% ขึ้น
                     ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.)กระทรวงการคลัง  โดยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี ได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างปลัดกระทรวงการคลัง นายสถิตย์  ลิ่มพงศ์พันธุ์   กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นางสาววลัยรัตน์  ศรีอรุณ   เพื่อวางกรอบการจัดทำงบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี
*วางปลัดคลังเชื่อมภาคการเมือง-ขรก.  
                  นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง (เซ็นสัญญาเอ็มโอยู ) ดังกล่าว  เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพทางการคลัง สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะมีเม็ดเงินดูแลทุกนโยบายที่ได้จัดทำขึ้น อย่างเพียงพอ และสามารถกำหนดความยั่งยืนทางการคลังเพื่อทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้
                   โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้เพื่อป้องกัน มิให้เป้าหมายเปลี่ยนแปลง  ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง, ที่ปรึกษารมว.กระทรวงการคลังเพื่อประสานระหว่างภาคราชการและการเมือง    ซึ่งแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ต่อเนื่อง   การจัดทำงบสมดุลใน 5 ปี (ปี 2557) ก็ยังขับเคลื่อนต่อได้โดยไม่สะดุด
    "กลไกสำคัญคือ จะต้องมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นตัวยืน และเพื่อยืนยันว่าจะต้องเชื่อมโยงกับภาคการเมือง    ซึ่งจะทำให้ทั้งส่วนของภาคการเมือง  และภาคราชการไทยสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ตามเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่ได้ บันทึกร่วมกัน"
*สมมติฐานศก.ต้องโต 4.5% อัพ
*รายได้รัฐเพิ่มเฉลี่ย 8.25% ต่อปี
   สำหรับการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2557 นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานหลัก คือเศรษฐกิจปี  2553  ต้องขยายไม่น้อยกว่า 6.5%  อัตราเงินเฟ้อ 3% และปี 2554 จะต้องขยายตัวไม่น้อยกว่า 4.5%   ที่อัตราเงินเฟ้อ 2% ซึ่งสมมติฐานอัตราการขยายตัวที่ 4.5% เป็นสมมติฐานที่จะใช้ตั้งแต่ปี 2555  ไปจนถึงปี 2565   โดยมีอัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีสุดท้ายที่ 3% 
    ขณะที่สมมติฐานในส่วนของรายได้ปีงบประมาณ 2553 คาดการไว้ตามเอกสารงบประมาณที่ 1.35 ล้านล้านบาท  แต่คาดว่าสุดท้ายแล้วจะมีรายได้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท  หรือสูงกว่าประมาณ 315,000 ล้านบาท   โดยสูงกว่าประมาณการ 23.5-24%  ขณะที่ปีงบประมาณ  2554 ประมาณการรายได้ในเอกสารงบประมาณ พิจารณาในวาระสุดท้ายในสัปดาห์หน้าที่ 1.65 ล้านล้านบาท  ซึ่ง ณ วันนี้คาดว่าน่าจะทำได้จริง 1.7 ล้านล้านบาท หรืออาจจะสูงกว่าเล็กน้อย  
   ส่วนในปีงบประมาณ 2555-2565  สมมติฐานรายได้จะต้องขยายตัวเฉลี่ย 8.25% ต่อปี  บนการเติบโตของจีดีพีพื้นฐาน (รวมอัตราเงินเฟ้อ) ที่ 7.5% และอัตราส่วนการขยายรายได้เมื่อเทียบกับจีดีพีที่ 1.1 เท่า 
     กล่าวก็คือหากเศรษฐกิจขยายเพิ่ม 1% รายได้จะเพิ่มขึ้น 1.1% เป็นต้น  โดยสมมติฐานทั้งหมดดังกล่าวเป็นสมมติฐานที่มีการอ้างอิงกับสิ่งที่เกิดขึ้น จริงในอดีต  และคาดว่าน่าจะเป็นประมาณการใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ณ วันนี้ 
*ลงทุนโครงการใหม่ปีละแสนล้าน  
   สำหรับประมาณการรายจ่าย สมมติฐานในปีงบประมาณ 2554 จะใช้รายจ่ายตามเอกสารงบประมาณ  ส่วนงบปี 2555-2561 จะมีอัตราเพิ่มขึ้นในอัตราปกติ  และมีโครงการใหม่ๆ ประมาณ 1% ของจีดีพี  โดยจะมีการเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายเฉลี่ยต่อปี 5.3%   หรือกล่าวคือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในขณะนี้ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท  เฉลี่ยแต่ละปีจะมีโครงการใหม่เกิดขึ้นมูลค่า 100,000 ล้านบาท (ราคา ณ วันนี้)  แต่หากเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น 1% ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต  สมมติฐานหลักดังกล่าวเป็นการประมาณการฐานะการคลังในระยะปานกลาง
"ประมาณการขาดดุลงบ เป็นการประมาณการโดยไม่รวมภาระดอกเบี้ยจ่าย  โดยจะมีการขาดดุลในปี 2554 ที่ 143,000 ล้านบาท  ขณะที่ในปี 2555 อยู่ที่ 105,000 ล้านบาท  ส่วนในปี 2556 อยู่ที่ 43,000 ล้านบาท  โดยจะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยในปี 2557"
   รมว.การคลัง กล่าวต่อว่า  สาเหตุที่แยกดอกเบี้ยจ่ายออก    ก็เพราะมองว่าเป้าหมายวัตถุประสงค์หลักในการทำข้อตกลงดังกล่าว  ก็เพื่อให้นำไปสู่การควบคุมรายจ่ายที่เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จ่ายตามนโยบาย  และการลงทุน  ซึ่งเมื่อกำหนดเป้างบสมดุลภายใน 5 ปี  ก็คาดว่าน่าที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้นได้
 "ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะรวมดอกเบี้ยจ่ายก็คาดว่าจะนำไปสู่เป้าหมายการจัดทำงบ สมดุลโดยรวมได้ในปี 2560-2561 ใน 7-8 ปีข้างหน้า โดยที่ภาระหนี้ต่องบประมาณยังอยู่ในสัดส่วน 12% ตลอด จากกรอบวินัยทางการคลังที่ 15%"
*เร่งคุมรายจ่ายบานเยอะหนี้กองทุนฟื้นฟู  
นายกรณ์ยังได้กล่าวว่า การที่เชื่อว่าฐานะการคลังจะสู่สมดุลใน 5 ปี ส่วนสำคัญยังเป็นผลจากการควบคุมงบรายจ่าย ดังจากที่ภาครัฐได้ตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อน ในหลายส่วน  โดยส่วนหนึ่งจะเข้าไปดูว่าจะลดรายจ่ายส่วนไหนได้บ้าง อาทิ ในส่วนของระบบราชการโดยรวม ที่ใช้งบจัดซื้อคอมพิวเตอร์สูงถึง 120,000 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะมีการจัดซื้อกันไป  โดยที่บางหน่วยงานอาจจะขาดความเชี่ยวชาญ  หรือความรู้ในรายละเอียดในแง่ของความเหมาะสม  และราคาของคอมพิวเตอร์
  รวมไปถึงภาระหนี้ดอกเบี้ยจ่าย ที่เป็นหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน   ซึ่งต้องเข้าไปศึกษา, ค่ารักษาพยาบาล  ตลอดจนส่วนของรายได้ก็เช่นเดียวกัน  คณะกรรมการขับเคลื่อนจะต้องเข้าไปดูว่าจะไปขยายฐานรายได้ได้อย่างไร  และการจัดเก็บในแต่ละประเภท  หรือว่าแต่ละกรมมีแนววิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร
*สมดุล 5 ปีแยกดอกเบี้ยจ่าย1.8แสนล้าน/ปี
นายกรณ์ แจงต่อว่า การที่คลังได้ตั้งตุ๊กตาไว้ในส่วนของการจัดงบสมดุลภายใน 5 ปีนั้น  ได้แยกภาระดอกเบี้ยจ่ายซึ่งเฉลี่ยปีละ180,000 ล้านบาทต่อปี ณ ปัจจุบันออกไปแต่ไม่ได้หมายความว่าคลังจะไม่จ่ายดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรก ยังเป็นการจ่ายตามปกติ  แต่หากใช้วิธีการนี้จะเป็นตัววัดระดับความสมดุลที่มีนัยสำคัญมากกว่า  คือรายจ่ายประจำกับการลงทุนเมื่อเทียบกับรายได้ 
    สำหรับการขาดดุลงบปี 2553   ประมาณ 350,000 ล้านบาท  ตาม พ.ร.บ. งบประมาณ และจะลดลงเหลือ 320,000-330,000 ล้านบาทในปี 2555, เหลือ 290,000 ล้านบาท ในปี 2556  ขณะที่ในปี 2557 จะเหลือ 240,000 ล้านบาท  ส่วนในปี 2558 จะเหลือประมาณ 180,000 ล้านบาท  และเหลือ 150,000 ล้านบาทในปี 2559   ส่วนในปี 2560 จะเหลือประมาณ 93,000 บาท  และจะเป็นบวกประมาณ 15,000 ล้านบาทในปี 2561  โดยทั้งหมดคำนวณจากรายได้จริงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นได้  เมื่อเทียบกับรายจ่ายจริงที่จะเกิดขึ้น 
  ในส่วนของหนี้สาธารณะโดยรวมเมื่อคิดคำนวณตามเป้าหมายดังกล่าวแล้ว  จะเห็นว่ามีการปรับลดหนี้สาธารณะเมื่อคำนวณเปรียบเทียบกับจีดีพี  โดยลดลงจากตัวเลขเดิมจากทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เคยรายงานไว้  ซึ่งจะเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 ของปีนี้จากระดับตัวเลขที่ 61% ต่อจีดีพี  โดยได้มีการปรับลดประมาณการลงหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัว  ส่งผลให้รัฐบาลสามารถยกเลิกการกู้ยืมตาม พ.ร.บ. 400,000 ล้านบาท ประมาณการหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจึงปรับลดลงมาสูงสุดที่ 51%
    ล่าสุดครั้งนี้ได้มีการทบทวนใหม่ หลังประมาณการรายได้รัฐเพิ่มผนวกกับเป้าหมายการบริหารรายจ่ายให้อยู่ในกรอบ ของงบสมดุลภายใน 5-8 ปี โดยคาดว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีว่าจะขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดที่ 48% ในปี 2557 หลังจากนั้นก็จะเริ่มปรับลดลงมาสู่ระดับ ณ ปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 42-43% 
"การปรับลดดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นว่าในส่วนของเสถียรภาพและผลต่อความมั่นคง ต่อเศรษฐกิจของเรามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  และจะนำไปสู่การพัฒนาที่มีความยั่งยืน  ไม่มีความเสี่ยงต่อการเสียหายในประเทศชาติ  และประชาชน  ขณะเดียวกันก็มั่นใจได้ว่าจะมีเม็ดเงินเพียงพอต่อการดูแลประชาชนทุกภาคส่วน ตามนโยบายของรัฐบาลและเป้าหมายการให้บริการรัฐสวัสดิการภายใน 6 ปีของนายกฯได้"
อย่างไรก็ดีแม้รัฐจะวางกรอบยุทธศาสตร์จัดทำงบสมดุล เพื่อตอบสังคม แต่ทว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 5-8 ปีตามที่วางไว้หรือไม่ โดยเฉพาะฝั่งรายได้ที่ยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่ารัฐจะปฏิรูปโครงสร้างการจัด เก็บภาษีอย่างไร และหากเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามเป้าการเติบโตเฉลี่ย 4.5% ปี รวมไปถึงปัญหาภาระดอกเบี้ยจ่ายของหนี้กองทุนฟื้นฟู จะผ่าตัดบริหารกันอย่างไร   เพราะหาไม่แล้วเสถียรภาพทางการคลังก็เพียง  "ตัวเลขทางบัญชี" ที่ดูดีเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,556  12-14  สิงหาคม พ.ศ. 2553

http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=38479:2010-08-11-02-33-04&catid=101:2009-02-08-11-30-52&Itemid=440

--
 




--
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น