วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สื่อนอก ส่อง ชานเมือง"มิดน้ำ" กับศูนย์กลาง"แห้งขอด" ความต่างทางชนชั้นท่ามกลาง"น้ำท่วม"

สื่อนอก ส่อง ชานเมือง"มิดน้ำ" กับศูนย์กลาง"แห้งขอด" ความต่างทางชนชั้นท่ามกลาง"น้ำท่วม"

วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:30 น.

Share4




2 พ.ย. - เอมิลี่ บอตโตลลิเย่ร์ เดอปัวส์ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีได้เขียนรายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

 

 


สายสุณี สนทนา (Saisunee Sontana)กำลังยืนอยู่ท่ามกลางน้ำสกปรกสีน้ำตาลความสูงระดับเอวที่หน้าบ้านของเธอ เธอกำลังขาดแคลนเสบียงอาหาร ทั้งๆที่บ้านของเธอตั้งอยู่ไม่ไกลจากภัตตาคารหรูเท่าไรนัก


พลันที่มวลน้ำค่อยๆไหลมาจากทางตอนเหนือ เข้าสู่กรุงเทพมหานครแห่งนี้ ความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดก็ได้ก่อตัวขึ้นในหมู่ประชาชน 12 ล้านคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบชานเมืองซึ่งมิดน้ำ กับใจกลางเมืองที่ยังคงแห้งขอด


ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาร้องเรียนว่า พวกเขาจำต้องเสียสละบ้านเรือนของตนเพื่อปกป้องห้างสรรพสินค้าสุดหรู โรงแรม และบ้านเรือนของชนชั้นนำผู้ร่ำรวย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพ


บ้านของสายสุณีตั้งอยู่ในเขตบางพลัด ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นหนึ่งในหลายๆพื้นที่ในกรุงเทพที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากอุทกภัย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 400 ราย


"ความช่วยเหลือมาไม่ถึงเรา เพราะบ้านของเราตั้งอยู่ไกลเกินกว่าที่รถบรรทุกจะเข้าถึง" สายสุณีกล่าว "ข้าวสารที่เรามีกำลังจะหมดภายในอีกสองสามวัน และฉันก็ไม่รู้ว่าจะไปหาอาหารได้ที่ไหน"


รถบรรทุกมาส่งเสบียงอาหารและถุงยังชีพทุกวัน ณ จุดจอดรถตรงสะพานแห่งหนึ่ง ทว่า การจะเข้าถึงความช่วยเหลือดังกล่าวซึ่งมีช่วงเวลาในการมาส่งไม่แน่นอนในแต่ละวัน ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำสกปรกที่มีทั้งเศษขยะลอยและซากปลาเน่า ทั้งหมดนี้เป็นระยะทางหลายร้อยเมตร


ปราเมท ดีรัตน์ (Pramet Deerad) ชายวัย 47 ปีซึ่งอยู่ในเสื้อชูชีพสีส้มกล่าวว่า ความเป็นอยู่ของผู้คนในเขตบางพลัดนั้นเข้าขั้น "ย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ"


"พวกคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสะพานต่างอยู่กันอย่างมีความสุข ขณะที่พวกเราต้องเผชิญอยู่ในความลำบาก เราอยากให้ทางการรับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของเรา" เขากล่าวพร้อมเรียกร้องให้ทางการหาทางกำจัดขยะที่กำลังลอยอยู่ในน้ำ


ขณะเดียวกัน ในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ความ "ไม่สะดวกสบาย "ขั้นสูงสุดของชาวเมืองใจกลางกรุงก็คือ การที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีน้ำดื่มบรรจุขวดขาย  หลังจากที่ความตื่นตระหนกทำให้พวกเขาพากันซื้อสินค้ามากักตุนไว้


เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอ้างว่า ด้วยงบประมาณและจำนวนเรือ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่จำกัด ทำให้ทางการไม่สามารถนำความช่วยเหลือเข้าไปถึงคนทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมได้


มันเป็น "ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้" ที่จะส่งอาหารและน้ำดื่มวันละสามเวลาให้แก่ประชาชนที่ปฏิเสธที่จะไปอยู่ในศูนย์อพยพ เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกของกรุงเทพมหานครกล่าว


เจตน์กล่าวว่า ความพยายามปกป้องพื้นที่ใจกลางของกรุงเทพซึ่งเป็น "หัวใจ" ของระบบเศรษฐกิจและการเมือง ด้วยการผันน้ำไปยังพื้นที่นอกเมืองและยอมเสียสละบ้านเรือนบางหลังเพื่อช่วยให้บ้านหลังอื่นๆแห้งนั้น เป็นสิ่งจำเป็น


"คุณจำเป็นต้องเลือกที่จะตัดมือข้างใดข้างหนึ่งออก เพื่อที่จะรักษาหัวใจไว้" เขากล่าว


ความตึงเครียดดังกล่าวชวนให้หวนนึกถึงความแตกแยกที่กำลังดำรงอยู่ในสังคมไทย คนประมาณ 90 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว จากการที่พวกเขาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และความเสมอภาค


คนเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่ภักดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด และในปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรผู้เป็นน้องสาวของเขาก็ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

ช่างฟังดูย้อนแย้ง ที่ผู้คนที่ออกเสียงเลือกพรรคเพื่อไทยกลับเป็นคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอุทกภัยในครั้งนี้มากที่สุด


ภัยพิบัติครั้งนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างทางชนชั้นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการที่ "พื้นที่ของอภิสิทธิ์ชนได้รับการปกป้อง ทั้งนี้ด้วยต้นทุนของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ตามชานเมือง" ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว


แต่ทั้งนี้ ฐิตินันท์กล่าวว่า รัฐบาลก็ไม่ได้ละเลยผู้คนในเขตชานเมืองไปเสียทั้งหมด

 

เพียงแต่ระบบการบริหารราชการที่ "เชื่องช้าและไม่มีประสิทธิภาพ" ของไทยก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การให้ความช่วยเหลือไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1320220365&grpid=01&catid=19&subcatid=1904

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น