วันที่: 17 พฤษภาคม 2555, 16:46
หัวเรื่อง: : Bogota Colombo เมืองต้นแบบที่ผู่ว่าเมืองใช้นโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเปิดเส้นทางจักรยานเชื่อมต่อเมืองแทนถนน
ถึง:
ขออภัยถ้าบทความนี้รบกวนท่าน บังเอิญได้อ่านบทความที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองกรุงเทพ จาก icomos อาทิ เช่นการสร้างรถไฟฟ้าบนพื้นที่ย่านเก่าและเห็นว่ามีประโยชน์จึงส่งมาเพื่อพิจารณาคะ
การวางเส้นทางรถใต้ดินเพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเป็นที่ปารีส สถานีขึ้นลงที่ผ่านในย่านเก่า เขาจะทำขนาดเล็ก เพื่อให้กระทบกระเทือนภาพลักษณ์ย่านเก่าน้อยที่สุด และเวนคืนน้อยที่สุด เพราะเสน่ห์ของพื้นที่ก็คือความเก่า พูดง่ายว่าขายคุณค่าของกาลเวลา แต่การพัฒนาแบบไทยๆมักจะไม่ค่อยคำนึงเรื่องเหล่านี้ คือเน้น hardware แต่ไม่ให้คุณค่า software สถานีเราจึงเป็นอาคารสมัยใหม่ที่ขัดแย้งเพิกเฉยกับอัตลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมย่านเก่าต้องมีขนาดใหญ่ๆเพื่องบก่อสร้างจะได้สูงๆผลประโยชน์จะได้มากๆ
บทความจากชาวชุมชนในไชน่าทาวน์ : กรณีเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้า
ความไม่โปร่งใส และ ผลกระทบของการพัฒนาต่อชุมชนประวัติศาสตร์รอบสถานีวัดมังกรกมลาวาส
พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ และป้อมปราบศัตรูพ่าย มีประวัติการพัฒนาพื้นที่ และตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน การตั้งถิ่นฐานของคนจีนในพื้นทีนี้นับย้อนไปได้ถึงสมัยตั้งกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง ชุมชนจีนถูกย้ายจากพื้นที่สร้างพระบรมมหาราชวังมาอยู่บริเวณสำเพ็ง จึงนับได้ว่าประวัติการตั้งถิ่นฐานอยู่ในยุคเดียวกับพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์
ถนนเจริญกรุงเป็นถนนสมัยใหม่เส้นแรกของกรุงเทพฯ โดย รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างในปี 2405 ต่อมามีการสร้างถนนเยาวราชในสมัยรัชกาลที่ 5 ในด้านประวัติศาสตร์พื้นที่นี้ไม่ได้มีคุณค่าด้อยกว่าพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์แต่ประการใด นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าอาคารตึกแถวเก่าจำนวนมากในพื้นที่มีอายุกว่า100ปีแล้ว ถือได้ว่ามีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอย่างสูง และควรได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ นอกจากนี้ยังควรได้รับการกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในผังเมืองรวมด้วย ปัจจุบันพื้นที่แทบทั้งหมดถูกกำหนดเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมทำให้เกิดปัญหาการพัฒนาทีอาจส่งผลกระทบต่อมรดกวัฒนธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ทำโรงแรมข้างวัดมังกรกมลาวาส
นับตั้งแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเดือนมกราคม 2552 ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาโดยการนำของกลุ่มทุนและกลุ่มการเมือง กับชาวชุมชนซึ่งเป็นผู้รักษามรดกวัฒนธรรม ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ภายหลังการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรฯ ทางมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นประธานก็หยุดต่อสัญญาเช่าให้แก่คนในชุมชนเจริญไชย ส่วนทางสำนักงานทรัพย์สินฯก็หยุดต่อสัญญาเช่าให้แก่ชาวแปลงนามและในตลาดกรมภูธเรศ ทำให้คนเหล่านี้อยู่อย่างหวาดระแวงมาตลอดหลายปี ผู้สูงอายุหลายรายได้รับแรงกดดันจนล้มป่วย บางรายจากไปก่อนเวลาอันควร
ต่อมามีการกำหนดพื้นที่อาคารที่จะต้องถูกรื้อถอน รวม 26 ราย ในเดือนกรกฎาคม 2553 มีการลงนามระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเจ้าของที่ดิน คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เรื่องการส่งมอบพื้นที่ที่จะถูกรื้อถอนอาคารเพื่อใช้ในการก่อสร้าง มีการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างเจ้าของที่ดินทั้งสองชื่อ บริษัท ไชน่าทาวน์ คอมมิวนิตี้ ดิเวลอปเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นผู้ดูแลการพัฒนาทีดิน
มีข้อน่าสังเกต คือ มีการเจรจาให้การก่อสร้างสถานีเตรียม "จุดเชื่อมต่อใต้ดิน" กับที่ดินของทั้งสองเจ้าของข้างต้น เพื่อเตรียมสำหรับการก่อสร้างพืนที่การค้าในที่ดินของทั้งสองราย ตอนนี้มีแบบก่อสร้างออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว มีชื่อสถาปนิกผู้ออกแบบคือนายปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา บุตรชายของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา
นี่เป็นสาเหตุให้ต้องมีการไล่รื้อ อย่าง เร่งด่วน ให้ทันกับการก่อสร้างสถานี และให้ทันวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯหรือไม่ ?
ชาวชุมชนไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของย่านไชน่าทาวน์ นับได้ว่าเป็นแหล่งเดียวที่ขายอุปกรณ์เครื่องใช้ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมของชาวจีนตั้งแต่เกิดจนตาย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนเจริญไชยและบริเวณใกล้เคียงได้พยายามแสดงให้สังคมได้เห็นถึงคุณค่าของชุมชนในฐานะที่เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ มีการรื้อฟื้นประเพณีจีนหลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดงานไหว้พระจันทร์ มีการปรับปรุงทาสีอาคารด้วยเงินของตนเอง มีการเปิดบ้านเก่าเล่าเรื่องที่เป็นห้องกิจกรรมและพิพิธภัณฑ์ทีทำโดยชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวในเยาวราช มีการช่วยกันคิดข้อเสนอในการพัฒนาเพื่อรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมนี้ให้เป็นจุดสนใจ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของพื้นที่ไชน่าทาวน์ทั้งหมด อย่างไรก็ตามความพยายามของชุมชนที่มีฐานะเป็นเพียงผู้เช่า ดูจะไม่ได้รับความสนใจจากทางเจ้าของที่ดินเลย
ในเดือน มีนาคม 2554 กรุงเทพมหานคร โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีมติสร้าง "ตลาดอุโมงค์ใต้ดิน" ใช้ งบประมาณในการก่อสร้าง 5,565 ล้านบาท ไม่มีกระบวนการการสอบถามความเห็นคนในพื้นที่แต่อย่างใด
ต่อมาเดือน ตุลาคม 2554 กรุงเทพมหานคร จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการทำ "ตลาดใต้ดิน เยาวราช-โบ๊เบ๊" ไม่มีการสอบถามความเห็นคนในพื้นที่เช่นกัน
ต่อมาเดือน มีนาคม 2555 เจ้าหน้าที่มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ โทรศัพท์มาแจ้งว่ามูลนิธิฯต้องการขอพื้นที่ "บ้านเก่าเล่าเรื่อง" คืน หลังจากข่าวแพร่ออกไปและมีการคัดค้านของบุคคลภายนอกชุมชนผ่านสือมวลชน ทำให้กรรมการมูลนิธิฯลงมาชี้แจงกับชุมชนว่าเป็นเรื่อง "เข้าใจผิด"
ต่อมา เดือน พฤษภาคม 2555 กรุงเทพมหานครมีแนวคิดสร้าง "อุโมงค์" บริเวณถนนเจริญกรุง หน้าวัดมังกรกมลาวาส รูปแบบคล้ายอุโมงค์รัชดาฯ และจะพัฒนาพื้นที่ด้านบนเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้พักผ่อน ซึ่งได้ขอพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินฯและมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์แล้ว...ผู้ว่าฯกรุงเทพฯลงนามคำสั่ง "ด่วนที่สุด" แต่งตั้งคณะกรรมการ วันที่ 3 พฤษภาคม ให้เร่งศึกษาเพื่อให้สามารถก่อสร้างไปพร้อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยมี ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิฯเป็นผู้ออกแบบ ไม่มีการสอบถามความเห็นคนในพื้นที่อีกเช่นกัน
ต่อมาอีกสองวัน (15 พฤษภาคม 2555) ผู้ว่าฯ ได้ออกมาให้ข่าวเองว่าจะ "เร่งรื้อตึกเก่าในที่ดินของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ย่านไชน่าทาวน์หลังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของรฟม.เริ่มก่อสร้างแล้ว ยันเพื่อความปลอดภัยเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวถี่ยิบ...แม้ว่าจะมีบางส่วนถูกรื้อถอนเพือก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ก็มีบางส่วนอาจต้องรื้อไปพร้อม ๆ กัน"
แล้วทำไมเฉพาะเจาะจงต้องมารื้ออาคารในที่ดินของตัวเอง อาคารตึกแถวเก่าในยุคเดียวกันมีเป็นพันๆอาคาร ท่านไม่สนใจเลยหรือ หรือหาเหตุผลที่ดีกว่านี้มาอ้างไม่ได้
เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความพยายามที่จะกดดันชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ในท้ายที่สุดถึงกับพยายามใช้กฎหมายเวนคืนที่ดินเพื่อไล่ชุมชนออกไปจากพื้นที่ ในขณะที่ค่าเวนคืนก็จะตกอยู่กับเจ้าของที่ดิน ตามระเบียบในการจ่ายค่าชดเชย
ในส่วนของความพยายามล่าสุดในการสร้างอุโมงค์ ถือเป็นปัญหาที่สังคมไทยน่าจะได้ร่วมกันติดตามอย่างใกล้ชิด ประเด็นแรก คือ ทำไมจะต้องสร้างอุโมงค์จุดนี้ ถนนมีเพียง 4 ช่อง สี่แยกถัดไปมีการสร้างอุโมงค์ด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีการสร้างอุโมงค์เพียงแห่งเดียวก็ไม่น่าช่วยแก้ปัญหาจราจรอะไรได้เลย เพราะรถติดทุกแยกอยู่แล้ว
ประเด็นที่สองคือ ทำไมต้องสร้างเวลานี้ เกี่ยวข้องกับการที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะเป็นผู้ว่าฯอีกเพียงปีเดียวหรือไม่ จึงทำให้ต้องรีบอนุมัติให้เกิดการเวนคืนขึ้นโดยเร็ว เกี่ยวข้องกับ จุดเชื่อมต่อใต้ดิน ที่กล่าวถึงข้างต้นหรือไม่
ประเด็นที่สามคือ ที่ดินบริเวณที่จะทำเป็นของมูลนิธิฯซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธาน และสำนักงานทรัพย์สินฯซึ่งทั้งคู่เป็นบริษัทร่วมทุนกันในการพัฒนาพื้นที่ของตน เท่ากับเป็นการทำโครงการของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ในที่ดินของตนหรือไม่
โปรดช่วยกันส่งเสียงเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง กรมศิลปากร เจ้าของที่ดิน ฯลฯ ตระหนักและเห็นคุณค่าของอาคารและชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่ก่อเกิดมานานนับร้อยปี เพราะหากเราไม่ช่วยกัน จะเกิดการไล่รื้ออาคารเก่าแก่และทำลายวิถีทางวัฒนธรรมของชุมชนเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เยาวราชจะหมดเสน่ห์ แล้วใครจะมาไชน่าทาวน์เยาวราช???
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น