ความขัดแย้งของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่นับวันดูจะยิ่งทวีความรุนแรงแผ่กว้างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็น "ความขัดแย้งทางความคิด" การถกเถียงด้วยอารมณ์ ความรู้สึก จากโต๊ะสภากาแฟในตลาด ลุกลามไปยังสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้ง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์และอื่นๆ
กลายเป็นสังคม "สาดโคลน" ที่แทบมองไม่เห็นการพูดคุย และการรับฟังกันอย่างเปิดใจ...
ทว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาเล็กๆ เวทีหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "โครงการสันติประชาธิปไตย" หรือ "อึด : ฮึด : ฟัง" ซึ่งจัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือและสนับสนุนของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) และ USAID ภายใต้หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่ชื่อ ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
เวที อึด : ฮึด : ฟัง นับเป็นก้าวแรกสู่ ความสันติ เนื่องจากได้ชักชวน รวบรวมกลุ่มคน ที่ยุคสมัยนี้เรียกว่าอยู่คนละฝ่าย มานั่งพูดคุยถึงประเด็นที่ขัดแย้ง-เห็นต่างอย่างใช้เหตุผล โดยใช้หลักการของการ สานเสวนา หรือ Dialogue
"สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติได้ทำการศึกษา และมีความสนใจเรื่องปัญหาความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยมาโดยตลอด และพบว่า ความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มชอบทักษิณ" และ "กลุ่มชังทักษิณ" หรือฝั่งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ทั้ง 2 ฝ่ายก็ต่างเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่มีฝ่ายไหนไม่เอาประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกัน วิธีการ ดำเนินการกลับนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น นับตั้งแต่การชุมนุม การรัฐประหาร ที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน" อาจารย์โคทม ค่อยๆ เริ่มต้นบอกถึงที่มาที่ไปของโครงการ ให้กับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ฟัง
สานเสวนา ในแบบ อึด : ฮึด : ฟัง
นักสันติวิธีท่านนี้ เล่าต่อว่า โครงการสันติประชาธิปไตย มาจากแง่คิดที่อยากให้สังคมประเทศไทยเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีสันติสุข ซึ่ง"ประชาธิปไตย" โดยเนื้อแท้ คือ การแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ โดยวิธีการพูดคุยกัน และหากมีการเห็นต่าง ก็ต้องยึดหลักฟังเสียงข้างมาก แต่เคารพสิทธิเสียงข้างน้อย และยึดหลักนิติธรรมตัวบทกฎหมาย ก่อนจะตัดสินใจ
อย่างในแง่ความขัดแย้งทางการเมือง ที่แต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผล มีคำอธิบาย และแบ่งวาทกรรมชุดความคิด ออกเป็น 2 แท่ง
อีกทั้ง มีการพูดคุยและรับฟังแต่ความเห็นของฝ่ายตน เป็นการตอกย้ำชุดความทั้ง 2 แท่ง
สังคมเวลานี้ จึงไม่มีพื้นที่เหลือพอให้อีกฝ่ายหนึ่ง
แต่การสานเสวนา นับเป็นกระบวนการเปิดพื้นที่การพูดคุย สื่อความหมายจากใจถึงใจ อย่างจริงใจ ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไรก็ต้องไม่ไปตัดสินคนอื่น เพื่อเข้าใจเขา และเข้าใจเรา และเกิดการ "เคลื่อนตัว อย่าง เห็นต่าง" แต่ยอมรับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เกลียดหรือกลัวกัน
การสานเสวนา เป็นการตั้งใจฟัง และพูดอย่างมีสติ โดยอาศัยเครื่องมือ 3 ประการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะ และแนวทางการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ที่เรียกว่า สันติประชาธิปไตย ได้แก่
1.ความอดทน หรือ "อึด" ที่จะไม่หนีหน้า ไม่ใช้อารมณ์ความรุนแรงกับคนที่ไม่ชอบหน้ากัน
2.ความตั้งใจ รวมกำลังใจ หนักแน่น หรือ "ฮึด"
และ 3.การฟัง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด
แต่วิธีการสื่อสารของสังคมไทยขณะนี้ อาจารย์โคทม เห็นว่า ไม่เน้นเรื่องการฟัง โดยเฉพาะในทางการเมือง จะมีผู้เสนอวาทกรรม ยกเหตุผลมากมาย แต่ไม่รับฟังซึ่งกันและกันเลย
เปิดพื้นที่ในใจรับฟังกลุ่ม "เห็นต่าง" -ขยายวงการพูดคุย
แม้แรกเริ่มเวทีสานเสวนาจะไม่ได้กำหนดกรอบประเด็นและวิธีการขับเคลื่อนไว้ชัดเจนมากนัก แต่เมื่อเปิดเวทีพูดคุยรอบแรกใน 24 เวที จาก 6 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง, ภาคอีสานตอนบน-ตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน-ตอนล่าง ก็ได้ประเด็นยอดนิยมค่อนข้างหลากหลาย
จนสรุปออกมาได้ 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
1.ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2.การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง
3.การมีส่วนร่วมถกแถลงรัฐธรรมนูญ
4.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
เมื่อได้กรอบประเด็นแล้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี อธิบายว่า จะมีการแตกเป็นเวทีย่อยๆ
โดยเลือกประเด็นตามความสนใจ ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละภาค
เช่น ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ - จ.พิษณุโลก เน้นประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช-จ.นราธิวาส เน้นประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากนั้นในแต่ละจังหวัดจะนำประเด็นและผลจากการพูดคุยไปขับเคลื่อนต่อในเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อให้สังคมก้าวหน้าสืบไป
ส่วนเวทีสานเสวนาในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีย่อยที่สนใจประเด็นความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จัดมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง ที่จะสามารถขับเคลื่อนให้คนไทยเข้าใจและสนใจเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้ง เสรีภาพในการแสดงออก และการแสดงความเกลียดชัง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญๆ อย่าง เสรีภาพในการแสดงออกและมาตรา 112
เวทีเมืองหลวงนี้ ดร.โคทม สามารถรวบรวมกลุ่มคนทั้งที่ยอมรับและไม่ยอมรับ ในประเด็นดังกล่าว อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท มาเปิดพื้นที่ในใจให้ว่าง
และนั่ง อึด : ฮึด : ฟัง ล้อมวง ร่วมพูดคุยในวงเดียวกันได้
ฟังคนเห็นต่าง-คิดอย่างไตร่ตรอง-สังคมคืบหน้า
จากการเข้าไปสังเกตุการณ์ เวทีสานเสวนา ซึ่งมีอาจารย์โคทม เป็นผู้ดำเนินการเปิดประเด็นในช่วงแรก จากนั้นชี้แจงถึงการพูดคุยในเวทีนี้ว่า จะไม่มีการบันทึกเสียง และเผยแพร่สู่สาธารณะ
กระทั่งถึงขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนเสนอความเห็น แลกเปลี่ยน ยกเหตุผลสนับสนุนและเปิดประเด็นใหม่ ตลอด 4 ชั่วโมงในการพูดคุย ปรากฎว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งจริงจัง ให้ความรู้ ถกเถียงและโต้แย้งในบางความคิดและข้อเสนอที่รับไม่ได้ บ้างเล่นมุกขบขันปนหยอกล้อ กับความเห็นต่าง
เช่น แนวทางการแก้ปัญหา มาตรา 112 และการหาคำตอบว่าสังคมไทยควรวางสถาบันกษัตริย์ไว้ในที่ทางตำแหน่งใด แต่ทั้งหมดก็อยู่ในกรอบของการ"รับฟัง" กันได้
"การแสดงความคิดเห็นทุกวันนี้เกือบจะเป็นขอบๆ ของเสรีภาพในการแสดงออก และหากเลยไปอีกนิด ก็จะกลายเป็นการแสดงความเกลียดชังเพื่อยุยงให้ใช้ความรุนแรง
แต่หากตั้งใจฟังอีกนิด เราจะไม่กล่าวโทษเจตนา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย และหากเป็นเช่นนั้นได้ สังคมจะอ่อนตัวลง ความขัดข้อง อึดอัด ไม่เข้าใจกันจะลดลง และสังคมจะดีขึ้นได้"ดร.โคทม บอก ก่อนจะเน้นว่า การพูดคุยกันในประเด็นที่มีความขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติที่จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย เพราะหากให้คนคิดเหมือนกันมานั่งคุยกัน แม้จะคุยสนุก แต่ไม่ประเทืองปัญญา
ตรงกันข้ามหากได้นั่งฟังคนที่เห็นต่าง อย่างเคารพความคิดกัน แล้วนำความคิดนั้นไปไตร่ตรอง เขาบอกว่า นี่ต่างหาก ที่จะทำให้สังคมมีความ "คืบหน้า"และเป็นสัญญาณที่ดีในการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง
สันติเสวนา ผลอยู่ที่กระบวนการ "อึด : ฮึด : ฟัง"
ท้ายที่สุด หากหนีไม่พ้นที่สังคมจะต้องมีคำถามว่า ผลการพูดคุยเป็นอย่างไร และนำไปทำอะไรต่อได้...
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ลดความขัดแย้ง ตอบทันทีว่า ในภาพรวมคงจะหวัง "ผลเลิศ" คงไม่ได้!!
"ความไม่เข้าใจกันในสังคมขณะนี้มีมาก ต้องค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย อาศัยสื่อ จัดทำเอกสาร และสารคดีประกอบ รวมทั้งจัดเวทีย่อยในภาคต่างๆ เพิ่มเติม จากนั้นจะจัดทำข้อคิดเห็น ที่ประมวลและสังเคราะห์จากการพูดคุยมานำเสนอในเวทีใหญ่ซึ่งจะจัดเร็วๆ นี้"
อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้คงไม่อยู่ที่ข้อคิดเห็น หรือเอกสารที่จัดทำขึ้น หากแต่อยู่ที่กระบวนการพูดคุย ที่จะสามารถทำให้สังคมเริ่ม "สนใจ" การสานเสวนา หรือ อึด : ฮึด : ฟัง และจุดประกายให้กระบวนการดังกล่าวนี้กระเพื่อมออกไปในวงกว้างขึ้น หากยังไม่ได้ผล ก็จะเพิ่มความพยายามเข้าไปอีก
แม้ตลอดช่วงเวลาที่ลงพื้นที่ตามภาคต่างๆ ดร.โคทม สรุปผลประการแรกได้ว่า "การฟัง" เป็นปัญหาหลักของการพูดคุยในทุกวงเสวนาก็ตาม แต่เขาก็ย้ำว่า ยังมีความจำเป็นที่ "ต้องฟัง" คนที่ "เห็นต่าง" ด้วยความอดทนและความตั้งใจ
เพราะ ที่สุดแล้ว สังคมจะต้องคืบหน้าไปให้ได้ แม้จะมีความขัดแย้ง แค่รู้จักฟังกัน ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น