วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้โดยสารได้เฮ อาจได้ใช้แท็บเล็ต แทนระบบ IFE บนเครื่อง

 

ผู้โดยสารได้เฮ อาจได้ใช้แท็บเล็ต แทนระบบ IFE บนเครื่อง

ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน เผยบทวิเคราะห์ชี้ ผู้โดยสารบนเครื่องบินมีเฮ อาจได้ใช้แท็บเล็ต และไวไฟบนเครื่องแทนระบบสารบันเทิง (IFC) เดิม หลังพบช่วยลดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาถึง 1.2 พันล้านต่อปี โดยสายการบินในเมืองไทย แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส และไทยสมายล์ เป็นตัวเก็งให้บริการ...

ปัจจุบัน อุปกรณ์แท็บเล็ตกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และถูกมองว่าน่าจะมีการนำมาให้ความบันเทิงแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบินแทนระบบสารบันเทิงเดิม หรือระบบ IFE: In Flight Entertainment  ที่ต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาเป็นอย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้วอุตสาหกรรมการบินมีค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

แนวความคิดของการนำแท็บเล็ตมาให้ความบันเทิงแก่ผู้โดยสารนั้น มีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีมากขึ้นของผู้โดยสารโดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ ในเดือนธันวาคม ปี 2554 ที่ผ่านมา สายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ได้ประกาศว่าจะใช้เครื่อง Samsung Galaxy Tab เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสาร บนสายการบินชั้นธุรกิจและเฟิร์สคลาส

ในบางเส้นทางบิน  และอเมริกัน แอร์ไลน์ ยังมีแผนที่จะนำระบบไวไฟบนเครื่องบินมาให้บริการผู้โดยสารที่ใช้แท็บ

เล็ตอีกด้วย โดยการพัฒนาดังกล่าวจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ ระบบ NFC และระบบซัพพอร์ตต่างๆ นอกจากนี้ สำหรับสายการบินอื่นๆ อาทิ อลาสก้า แอร์ไลน์ และ แควนตัส แอร์เวย์ ก็กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองการนำระบบ IFE มาบริการให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบินเช่นกัน 

นายบัณฑร เสาวรรณ นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมการบิน บริษัท ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า สำหรับประเทศไทย สายการบินที่น่าจะมีการพัฒนาในเทคโนโลยีนี้คือ ไทยแอร์เอเชีย เนื่องจากเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ และเป็นผู้นำในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำระยะไกลทั้งในระดับโลกและประเทศไทย การเปลี่ยนจากสายการบินต้นทุนต่ำมาเป็นสายการบินต้นทุนต่ำระยะไกลนั้นจะทำให้ไทยแอร์เอเชียหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในอนาคตอย่างแน่นอน  

นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมการบิน บ.ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การบินไทย น่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ในแผนแม่บทของตน แต่ในตอนนี้ ควรจะมีการศึกษาความเป็นไปได้และการคำนวณต้นทุนที่จะเกิดขึ้นก่อน เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ค่อนข้างกินระยะเวลานานพอสมควร เป็นไปได้ว่า ในช่วงแรกจะมีการทดลองให้บริการแท็บเล็ตกับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาส และชั้นธุรกิจก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเก้าอี้ชั้นดังกล่าวอาจสูงถึง 10 ล้านบาท ไม่รวมค่าซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสของการบินไทย เพราะนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันให้การสนับสนุน แท็บเล็ตเป็นอย่างมาก 

นายบัณฑร กล่าวด้วยว่า เกี่ยวกับสายการบินอื่นในภูมิภาคที่มีการบินครั้งละเกิน 2 ชั่วโมง อย่างสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ว่า การนำแท็บเล็ตมาให้บริการผู้โดยสารจะช่วยให้สายการบินสามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ การเปิดตัวของสายการบินไทยสไมล์ในปีนี้ด้วยเครื่องบิน แอร์บัส A-320 จะเป็นความท้าทายใหม่ของการบินไทยในการเริ่มนำแท็บเล็ตมาใช้กับเส้นทางการบินระหว่างประเทศของไทยสไมล์ซึ่งน่าจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

 

โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์

5 พฤษภาคม 2555, 07:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น