วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“ประภัสร์” ข้องใจ กทม.รีบเซ็นต่อสัญญาบีทีเอส ยาว 30 ปี ท้วงขอมหาดไทยหรือยัง ลั่นบีทีเอสไม่ใช่ของพรรคการเมือง

"ประภัสร์" ข้องใจ กทม.รีบเซ็นต่อสัญญาบีทีเอส ยาว 30 ปี ท้วงขอมหาดไทยหรือยัง ลั่นบีทีเอสไม่ใช่ของพรรคการเมือง 
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่า เหตุใด กทม.จะต้องรีบเซ็นสัญญาจ้างบีทีเอสในขณะนี้ 
ทั้งที่โครงสร้างสัญญาสัมปทานยังเหลือเวลาอีก 17 ปี ซึ่งเท่ากับว่า บีทีเอสได้ต่อสัญญาออกไปอีก 13 ปี เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หากจะมีการจ้างเฉพาะส่วนต่อขยายอื่น ให้ครบเท่าเวลาสัมปทานของส่วนแรกที่เหลืออยู่ และเมื่อครบปีที่ 18 กทม.ก็เปิดให้ยื่นข้อเสนอจ้างเดินรถทุกโครงข่ายของ กทม.เป็นสัญญาเดียว ซึ่งมีผู้เดินรถที่มีอยู่หลายราย ซึ่งจะมีการแข่งขันและจะได้ราคาที่ถูกกว่านี้ ซึ่ง กทม.จะรู้ได้อย่างไรว่าในตอนนั้นจะไม่มีใครเสนอราคาที่ถูกกว่าที่จ้างบีทีเอสตอนนี้ และรถไฟฟ้าไม่ได้มีแค่นี้จะมีสายสีม่วง สีชมพู สีน้ำเงิน และที่สำคัญ ตั้งแต่เริ่มมีการให้สัมปทานบีทีเอส ตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง กทม.ทำสัญญากับบีทีเอสโดยรับมอบอำนาจจากกระทรวงมหาดไทย การลงนามครั้งนี้ กทม.ได้หารือกับมหาดไทยแล้วหรือยัง นอกจากนี้ ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อปี 34 หรือ 35 ระบบรถไฟฟ้าที่ กทม.รับผิดชอบทั้งหมดจะต้องมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 

กทม.ยืดสัญญาบีทีเอสอ่อนนุช 13 ปี ส่วนต่อขยาย"แบริ่ง-สีลม"ให้ 30 ปี

วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:19:33 น.

Share





เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 3 พฤษภาคม ที่โรงแรมอีสติน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามสัญญาการใช้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และบริษัทกรุงเทพธนาคม โดยมีนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภา กทม. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารบีทีเอสซีเข้าร่วมงาน 


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ เป็นการลงนามสัญญาโดยบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม. ในการว่าจ้างบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในการจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางส่วนต่อขยาย คือสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง และสายสีลม จากสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะเวลา 30 ปี และในอนาคตจะครอบคลุมถึงสถานีบางหว้า ซึ่งวันที่ 5 ธันวาคม จะเปิดได้ 2 สถานี และว่าจ้างเดินรถในเส้นทางปกติภายหลังหมดสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสซีไปอีก 13 ปี ซึ่งขณะนี้เหลือระยะเวลาในสัญญาสัมปทาน 17 ปี โดยสัญญาว่าจ้างเดินรถจะสิ้นสุดพร้อมกันในทุกเส้นทางปี 2585


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวต่อว่า การดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชน กทม. และบีทีเอสซี  ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขยายสัมปทานแต่เป็นการใช้สิทธิที่จะได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินภายหลังสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งจะทำให้ กทม.มีรายได้ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท รวม 30 ปี จะมีรายได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท ทั้งนี้กทม.ยังสามารถกำหนดค่าโดยสารได้เอง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนมากที่สุด ส่วนบีทีเอสซีสามารถลงทุนในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อการสร้างสถานีบางหว้าแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คนต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มรายได้มากขึ้นอีก กทม.จะประหยัดภาษีได้กว่า 20,000 ล้านบาท


"เมื่อหมดสัมปทาน ทรัพย์สินที่เราได้จะมีแค่โครงสร้างคือตอม่อกับราง ส่วนขบวนรถต้องว่าจ้างให้บีทีเอสซีมาวิ่ง ซึ่งตามสัญญาสัมปทานก่อนหมดสัญญา 5 ปี บีทีเอสซีต้องขยายขบวนรถให้ 60 ขบวน ขณะนี้มี 23 ขบวน ดังนั้นการว่าจ้างระยะยาว จะทำให้ผู้รับจ้างวางใจในการลงทุน และถูกกว่าว่าจ้างบริษัทรายใหม่ ที่ยังไม่มีขบวนรถ" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว


นายธีระชนกล่าวว่า ในสัญญา 30 ปี กทม.จะมีรายได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท หักค่าว่าจ้างให้บีทีเอสซี 190,000 ล้านบาท กทม.จะเหลือรายได้ 110,000 ล้านบาท ซึ่งการเซ็นสัญญาในวันนี้จะทำให้ กทม.ว่าจ้างได้ถูกกว่าเซ็นสัญญาในอีก 17 ปีข้างหน้าแน่นอน

 

(ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 พ.ค.2555)


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336104442&grpid=03&catid=05

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น