วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไร และอย่างไร (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไร และอย่างไร (1)

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.

Share3




(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2555)



ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, พรรครัฐบาล และ ปชป.กำลังจะเข้าสภา ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสามฉบับล้วนมีโทษทางอาญาประกอบอยู่ด้วย และล้วนเป็นโทษที่ค่อนข้างหนักทั้งสิ้น

ข้อกำหนดเหล่านี้ละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง กำลังเป็นที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่ทั่วไปอยู่เวลานี้ ผมจะไม่ขอนำมาพูดอีกในที่นี้ แต่ใคร่จะตั้งคำถามว่าพระพุทธศาสนาที่นักการเมืองและข้าราชการในสำนักงาน กำลังอยากจะอุปถัมภ์และคุ้มครองนั้น คืออะไร? และวิธีอุปถัมภ์คุ้มครองแบบนั้น จะส่งผลอย่างไรต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ที่เรียกว่า "พระพุทธศาสนา" - ไม่ว่าคนอื่นเรียกหรือศาสนิกเรียกเองก็ตาม - ทั้งในเมืองไทยและในโลกนี้มีความหลากหลายมาก ผมไม่ได้หมายความเพียงเถรวาทและมหายานซึ่งมีหลายนิกายเท่านั้น ว่าเฉพาะในเมืองไทย พระพุทธศาสนาก็มีหลายกระแสความเชื่อและการปฏิบัติมาแต่โบราณ พระพุทธศาสนาที่เราเรียนในโรงเรียนนั้น เป็นเพียงกระแสเดียว แม้เป็นกระแสเดียวที่มีอำนาจรัฐหนุนหลัง แต่ก็เป็นกระแสเดียวเท่านั้น และขอเรียกว่าพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ

พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการนี้มาจากไหน หรือถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

คำตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เพิ่งเกิดขึ้นในสมัย ร.5 นี้เอง ด้วยเป้าประสงค์ที่จะใช้พระพุทธศาสนา - โดยเฉพาะพระสงฆ์ - ในการขยายอำนาจของราชบัลลังก์ และป้องกันมิให้พระภิกษุนำการแข็งข้อ หรือใช้อุดมการณ์ของพระศาสนาในการแข็งข้อต่อส่วนกลาง

วิธีการและผลพวงแห่งวิธีการเหล่านั้นคืออะไร

1/ บังคับให้ภิกษุทั่วประเทศมาอยู่ภายใต้องค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการออก พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใน พ.ศ.2445 โดยอาศัย พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐได้สร้างองค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระมหากษัตริย์

บางท่านอาจคิดว่า องค์กรปกครองเช่นนี้มีมาแต่โบราณแล้ว ที่จริงในสมัยโบราณมีแต่ทำเนียบสมณศักดิ์ คือพระมหากษัตริย์อาจทรงยกย่องพระภิกษุบางรูปให้มียศ และได้ราชูปถัมภ์บางประการเป็นพิเศษเท่านั้น ส่วนอำนาจปกครองก็มีจำกัดเฉพาะบางวัด ซึ่ง "ขึ้น" อยู่กับวัดหลวงที่พระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเดียวกับการปกครองโดยผ่านสำนักอาจารย์ที่เคยมีในคณะสงฆ์มาแต่โบราณแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น อำนาจปกครองกำกับดูแลพระสงฆ์ของรัฐนั้น ถึงจะมีก็จำกัดอยู่เฉพาะเขตใกล้พระนครและหัวเมืองเท่านั้น

สมณศักดิ์ในสมัยโบราณถูกเปรียบกับ "ยศช้าง" มีความหมายแก่เชือกที่ได้รับยศ แต่ไม่มีความหมายอย่างไรแก่ช้างเชือกอื่น

พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ 2445 จึงสร้างองค์กรคณะสงฆ์สยามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (อย่างน้อยตามทฤษฎี) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศนี้



อํ านาจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐที่มากับ พ.ร.บ.นี้ก็คือ รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้แต่งตั้งพระภิกษุขึ้นเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ได้ ในสมัยก่อนพระที่มีคุณสมบัติต้องตามพระวินัยคือเป็นพระเถระ (บวชมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี) ก็อาจเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ทุกรูป แต่ในทางปฏิบัติ พระที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือทั้งของพระภิกษุเองและชาวบ้านเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่อุปัชฌาย์ โดยมีวัดบริวารขึ้นอยู่กับวัดของท่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่งคนมาบวชกับพระอาจารย์ที่ "หัววัด" ทุกปี การกำกับดูแลภิกษุในวัดบริวาร จึงอยู่ภายใต้พระอาจารย์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเครือข่ายของสำนักอาจารย์หนึ่งๆ นั่นแหละ เป็นโครงสร้างหลักของการปกครองคณะสงฆ์ เพราะภิกษุทุกรูปในเครือข่ายล้วนเป็น "ศิษย์" ของท่านทั้งสิ้น รัฐไม่เกี่ยว หรือแทบจะไม่เกี่ยวอะไรเลย

การกำกับดูแล และให้การศึกษาแก่พระสงฆ์สามเณรโดยผ่านสำนักอาจารย์และเครือข่ายเช่นนี้ มีประสิทธิภาพกว่าการกำกับดูแลและให้การศึกษาโดยอาศัยอำนาจของส่วนกลางเพียงอย่างเดียว วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณรที่ถูกติฉินนินทากันทั่วไปในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการรวมศูนย์ที่เริ่มเกิดขึ้นในครั้งนั้นนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นการกำกับดูแลภายใต้ระบบสำนักอาจารย์และเครือข่าย ยังทำให้เกิดความยืดหยุ่นไปตามสภาพท้องถิ่น อันเป็นผลให้วัดไม่แปลกแยกจากชาวบ้าน (เช่น พระในอีสาน มักช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ... แล้วไปปลงอาบัติเองภายหลัง)

ด้วยเหตุที่ระบบปกครองพระสงฆ์สมัยโบราณอาศัยเครือข่ายของสำนักอาจารย์เช่นนี้เอง พระพุทธศาสนาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน จึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ทั้งในแง่พิธีกรรม, แบบปฏิบัติ (เช่นทำนองการสวด), หรือแม้แต่หลักคำสอน (อย่างน้อยก็เน้นหลักธรรมต่างกัน) นี่คือเหตุผลที่พระพุทธศาสนาของไทยมีพลังในการผสมกลมกลืนกับศาสนาท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนได้สูง ทำให้พระพุทธศาสนาแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนได้มาก โดยไม่มีใครจำเป็นต้องประกาศตนเป็นชาวพุทธ

อำนาจของ พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ 2445 อีกอย่างหนึ่งก็คือ กลไกราชการแบบใหม่ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น ทำให้ข้าราชการปกครองสามารถกลั่นแกล้งรังแกภิกษุที่ไม่ยอมอยู่ในปกครองของรัฐส่วนกลางได้ง่าย โดยเฉพาะพระที่เรียกกันว่า "พระป่า" (ซึ่งไม่ได้มีแต่สายธรรมยุติของพระอาจารย์มั่นเท่านั้น)

2/นิยามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เซื่องลง และอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐอย่างรัดกุม

หลักคำสอนใหม่นี้ขจัดความเชื่อที่ถือว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติออกไปทั้งหมด แม้แต่ที่ปรากฏในคัมภีร์มาแต่เดิมก็ถือว่าเป็นเพียง "บุคลาธิษฐาน" หรือความเปรียบเท่านั้น ชาดกซึ่งเป็นแก่นสารสำคัญในการเทศน์แต่เดิมมา จึงถูกลดความสำคัญลงเป็นเพียงเหมือนนิทานอีสป

ในด้านหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา ก็เน้นแต่ธรรมะของผู้ครองเรือนและพระวินัย มีความระแวงกับทุกมิติของด้านปฏิบัติ นับตั้งแต่การเจริญสมาธิภาวนา ไปจนถึงการจัดองค์กรของภิกษุและฆราวาสของผู้ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่คำสอนระดับโลกุตรธรรม ก็เห็นกันว่าเกินจำเป็น



หนึ่งในรูปของการ "ปฏิรูป" หลักธรรมคำสอนก็คือ การเน้นคุณค่าของรัฐราชาธิปไตย การอุปถัมภ์ของกษัตริย์กับการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนากลายเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ภิกษุในบังคับขององค์กรสงฆ์แห่งชาติ จึงต้องรับใช้อุดมการณ์และนโยบายของรัฐ แม้เมื่อรัฐไทยได้เปลี่ยนไปจากรัฐราชาธิปไตยแล้วก็ตาม พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยจึงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐเต็มตัว สามารถรับใช้รัฐได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรัฐทรราช, ราชาธิปไตย, เผด็จการทหาร, หรือระบอบเลือกตั้ง จะหาคณะสงฆ์ของศาสนาใดที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองยิ่งไปกว่าคณะสงฆ์ไทยได้ยาก

ความเคร่งครัดในแบบพิธีมีความสำคัญมากกว่าความเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน องค์กรคณะสงฆ์ภายใต้บังคับของรัฐในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ระแวดระวังกับความเคร่งครัดตามการตีความพระวินัยของตน แต่ไม่สู้จะใส่ใจกับการตีความพระธรรมเท่าไรนัก (orthopraxie v.s. orthodoxy)

เหตุผลนั้นเห็นได้ชัด จะควบคุมมิให้พระภิกษุกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ แบบปฏิบัติของพระภิกษุ (เช่นการบวช, การตั้งสำนักสงฆ์, การฉันภัตตาหาร ฯลฯ) จึงมีความสำคัญกว่าการตีความหลักธรรมคำสอน ในแง่หนึ่งก็เท่ากับเปิดให้ความหลากหลายของพระพุทธศาสนายังมีต่อไปในด้านหลักธรรมคำสอน

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้องค์กรคณะสงฆ์แห่งชาติ ไม่ต้องเผชิญกับการท้าทายด้านหลักธรรมคำสอน ซึ่งเป็นแก่นสารสำคัญที่สุดของศาสนา (ก่อนจะมาถึงหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอน) ในอีกแง่หนึ่ง ตัวหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเอง ก็อาจทำให้บุคคลเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองด้วย

การเน้นให้พระภิกษุเป็นหลักในการเผยแผ่คำสอน ทำให้บุคคลอีกมากซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ร่วมด้วยมาแต่อดีตหมดความสำคัญลง เช่น ชีปะขาว, หนานหรือทิด, ฤๅษี, และกลุ่มฆราวาสซึ่งปฏิบัติธรรม ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนอยู่นอกการบังคับบัญชาขององค์กรคณะสงฆ์ส่วนกลาง ผลก็คือทำให้พระพุทธศาสนาถูกขังอยู่ในวัด (อันเป็นอาณาบริเวณที่อยู่ใต้อำนาจรัฐอย่างเด็ดขาด) นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระพุทธศาสนาห่างไกลจากวิถีชีวิตของผู้คน 

ยิ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนจนทำให้ "เวลา" ของวัดกับ "เวลา" ของชาวบ้านไม่ตรงกัน (เช่นเมื่อกลองเพลดังขึ้น จำนวนมากของชาวบ้านติดอยู่ที่ที่ทำงาน ไม่อาจนำภัตตาหารไปถวายและปรนนิบัติพระได้) หลักธรรมคำสอนของพระศาสนายิ่งอยู่ห่างไกลจากชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น



นี่คือเนื้อหาหลักของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ซึ่งเกิดและดำรงอยู่ในช่วงหนึ่งของการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคมของไทย เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไป พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการก็ไร้ความหมายลงทุกที เพราะไม่ได้ตอบสนองต่ออะไรสักอย่างเดียว แม้แต่ปัญหาของรัฐตามสายตาของชนชั้นนำเอง ยังไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดกับชีวิตคนส่วนใหญ่ภายใต้การแย่งชิงทรัพยากรของกระแสโลกาภิวัตน์

ดังนั้น ก่อนจะออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ขอให้นักการเมืองมีความเข้าใจที่ชัดเจนก่อนว่า "พระพุทธศาสนา" ที่ต้องการจะอุปถัมภ์และคุ้มครองนั้น คือพระพุทธศาสนาอะไร สมควรหรือไม่ที่จะสังเวยทั้งทรัพยากรของชาติ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครอง

เมื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองด้วยมาตรการรุนแรงดังปรากฏในร่าง พ.ร.บ.แล้ว พระพุทธศาสนาเช่นนั้น จะมิยิ่งกลายเป็นฟอสซิลหนักขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ละหรือ เราควรทำอะไรที่ฉลาดและสุขุมได้อีกบ้างในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาว และจะขอคุยถึงอีกในครั้งหน้า
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น