(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2555)
|
เมื่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยขยายตัวมากขึ้น พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการก็ยิ่งไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คน ที่ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจบังคับของรัฐ เช่น บรรจุลงในหลักสูตรการศึกษา หรือราชพิธีและรัฐพิธีต่างๆ แต่สังคมไทยก็ไม่ได้ปล่อยให้พระพุทธศาสนาไร้ความหมายลงไปโดยไม่ทำอะไรเลย มีความพยายามของทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในการให้หรือฟื้นความหมาย ที่มีนัยยะต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบันอยู่หลายครั้งและหลายอย่าง จะขอพูดถึงที่ค่อนข้างจะรู้กันดีอยู่แล้วดังนี้
คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุทำให้เป้าหมายทางโลกุตรธรรม ซึ่งพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการละเลย กลับมามีความสำคัญใหม่ นิพพานเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำให้แจ้งแก่ตนได้ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" นัยยะก็คือ ปลดปล่อยพระพุทธศาสนาออกจากวัด เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้จำกัดความหมายให้เหลือเพียงการเป็นพระภิกษุเท่านั้น
ฆราวาสอีกมาก ทั้งที่คิดอย่างเดียวกันมา หรือได้รับอิทธิพลของท่านพุทธทาส พากันเผยแพร่พุทธธรรมด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับองค์กรปกครองคณะสงฆ์ หรือรัฐ ในระยะหนึ่งทั้งองค์กรคณะสงฆ์และรัฐก็ออกจะระแวงความเคลื่อนไหวนี้ แต่ในที่สุดก็ใช้วิธีตีกิน (coopt) กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ แทนการปราบปราม ถึงอย่างไรกลุ่มเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่ได้ท้าทายแบบปฏิบัติที่เป็นทางการ (orthopraxie) ของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการอยู่แล้ว
ผลอย่างหนึ่งของการเผยแพร่คำสอนของท่านพุทธทาส ก็คือ การโต้เถียงอภิปรายเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ในหมู่นักคิดชาวพุทธอย่างกว้างขวาง มีการพิมพ์หนังสือออกตอบโต้กันอยู่เสมอ อาจถือได้ว่าเป็นความพยายามในการ "ปฏิรูป" (ในความหมายฆราวาส ไม่ใช่ทางศาสนา) พระพุทธศาสนาที่น่าสนใจที่สุดในเมืองไทย เพราะไปพ้นจากแบบปฏิบัติ เช่น ประเพณีการบวช หรือการครองผ้า แต่เข้าไปทำความเข้าใจกับโลกุตรธรรมโดยตรง ทั้งยังเชื่อมโยงโลกุตรธรรมนั้นให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนปัจจุบันด้วย
ในแง่หนึ่ง การขยายตัวของการทำสมาธิ (ที่เรียกว่า "ปฏิบัติธรรม") ทั้งในเชิงพาณิชย์ และในเชิงเผยแพร่ ซึ่งปรากฏในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการ "ปฏิรูป" ในครั้งนั้น
นี่เป็นตัวอย่างของ "การอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา" ที่ฉลาดและสุขุม ไม่มีอำนาจรัฐ หรือกฎหมายลิดรอนเสรีภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และบังคับให้องค์กรคณะสงฆ์ต้องปรับตัวบ้าง หากเหมือนบางประเทศที่มีรัฐฆราวาสวิสัยอย่างแท้จริง องค์กรคณะสงฆ์อาจต้องปรับตัวมากกว่านี้อีกมาก เพื่อเผชิญการแข่งขันของนัก "ปฏิรูป" (ซึ่งคงแยกตัวออกไปจากองค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นทางการ)
กระแสการ "ปฏิรูป" ในครั้งนั้น ยังเป็นผลให้มีความพยายามจะปรับเปลี่ยนวิถีพุทธให้เข้ากับโลกปัจจุบันอีกหลายอย่างตามมา ความเคลื่อนไหวของธรรมกาย, สันติอโศก, ของพระพยอม กัลยาโณ, หรือแม้แต่การเผยแพร่ไสยศาสตร์ในวัด ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะให้ความหมายใหม่แก่องค์กรศาสนาที่มีมาแต่โบราณ เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนปัจจุบัน
ดังที่กล่าวแล้วว่า พระพุทธศาสนาสำนวนที่เป็นพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยนั้น เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง ของผู้ปกครองรัฐซึ่งพยายามจะรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางในช่วงหนึ่งเมื่อร้อยปีมาแล้ว นับวันก็ยิ่งไร้ความหมายแก่สังคมไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากนั้นอย่างสุดขั้วแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการจะตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ แม้มีอำนาจรัฐหนุนอย่างเต็มที่ รัฐเองก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ความเสื่อมโทรมในวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ และความไม่ใส่ใจต่อหลักธรรมคำสอนจึงเห็นได้อยู่ทั่วไป ทั้งในหมู่พระและฆราวาส
เวลานี้สภาพของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องต่างคนต่างอยู่ พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการรับผิดชอบในด้านรัฐประเพณีและราชประเพณีต่างๆ ซึ่งได้ออกสื่อทั่วประเทศ
ในขณะที่ชาวพุทธต่างพยายามหาความหมายของพุทธธรรมให้แก่ชีวิตของตนเองไปตามถนัด บางคนนั่งสมาธิทุกวันหยุด บางคนถือศีล บางคนล่าพระเครื่องดังๆ บางคนไหว้พระเก้าวัด บางคนใช้ชีวิตไปตามปกติโดยไม่เคยนึกถึงศาสนาเลย ไม่มีใครเข้าวัดเพื่อแสวงหาคำตอบอีกแล้ว และบางคนหันไปนับถือศาสนาอื่น
ในที่นี้จะยกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ไม่สนใจจะให้คำตอบแก่สังคมสมัยใหม่ และชีวิตสมัยใหม่อย่างไรบ้าง
แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่กล่าวหมิ่นพระนิพพานอย่างเปิดเผย ดังผู้นำพุทธศาสนาที่เป็นทางการเมื่อร้อยปีที่แล้ว แต่พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ก็ไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่า เราจะสามารถบรรลุพระนิพพานได้อย่างไร และท่าทีแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดเช่นนั้น จะช่วยการดำเนินชีวิตของคนในโลกปัจจุบันอย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โลกุตรธรรมและโลกียธรรมในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการก็ยังแยกขาดจากกันเหมือนเดิม ในขณะที่คุณคำผกาท้าทายว่า
ศีลส่วนโลกียธรรมนั้นมีกฎหมายบังคับอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และก็มีในศาสนาอื่นๆ คล้ายกัน
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการตอบสนองต่อการท้าทายอื่นๆ ซึ่งมีมาจากภายนอก เช่น พระนิพพานแบบเถรวาทนั้น เป็นสภาวะที่ไม่อาจดำรงอยู่อย่างถาวรได้ เกิด-ดับอยู่ในบุคคลตลอดเวลา เพราะลึกลงไปคือความเห็นแก่ตัว เนื่องจากต้องการความหลุดพ้นแก่ตนเองเท่านั้น ในขณะที่ผู้บำเพ็ญโพธิสัตวบารมี มุ่งจะช่วยคนอื่นจนหมดสิ้นซึ่งตัวตนไปเลย นิพพานอย่างนั้นต่างหาก จึงเป็นสภาวะที่อยู่คงทนตลอดไปได้ ยังมีการท้าทายหลักธรรมของเถรวาทอีกหลายอย่าง ซึ่งพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่เคยสนใจ และไม่คิดสร้างสมรรถภาพในการให้คำอธิบายแข่ง
แต่ในโลกการสื่อสารของปัจจุบัน แนวคิดที่ท้าทายเหล่านี้ไม่อาจปิดกั้นจากสังคมไทย หรือนำเสนออย่างบิดเบือนได้อีกแล้ว การโหมโฆษณาความประเสริฐเลิศสุดในโลกของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ปิดตาใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง
พระพุทธศาสนาที่ถูกขังอยู่ในวัด อาจไม่มีคำตอบอะไรแก่สังคมสมัยใหม่เลย ศีลห้าซึ่งพระสงฆ์ให้แก่อุบาสกอุบาสิกาทุกวันพระนั้น มีความหมายอย่างไรกันแน่ในสภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน
การถือหุ้นในบริษัทค้าอาวุธคือปาณาติบาตกรรมอย่างหนึ่ง หรือมิใช่ การใช้ก๊าซหุงต้มในรถยนต์ส่วนตัวและโรงงานส่วนตัวคือการขโมยอย่างหนึ่ง หรือมิใช่ การเที่ยวหญิงโสเภณีเป็นการประพฤติผิดในกามหรือไม่ ในโลกนี้มีการดื่มสุราเมรัยและมัชชะที่ไม่ประมาทหรือไม่ ฯลฯ
ศีลห้าที่มีนัยยะสำคัญแก่สังคมปัจจุบัน ต้องเป็นข้อห้ามทางศีลธรรมที่อยู่เหนือข้อห้ามของกฎหมาย มิฉะนั้นจะรับศีลไปทำไม ในเมื่อทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น
รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากขึ้นอย่างที่ไม่มีรัฐโบราณอะไรเทียบได้ พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการจะมีส่วนในการยับยั้งอำนาจรัฐนั้น มิให้รังควานประชาชนได้อย่างไร เช่น รัฐต้องไม่ฆ่า การชุมนุมโดยผิดกฎหมายจะต้องจัดการอย่างไรก็ตาม แต่ต้องไม่ฆ่า เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้อำนาจรัฐถูกกำกับจากศีลธรรมไปส่วนหนึ่ง พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการสร้างขึ้นโดยรัฐ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เคยมีประวัติการถ่วงอำนาจรัฐเลยสักครั้งเดียว
ในสงครามทุกครั้ง พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ประพรมน้ำมนตร์ให้ทหารที่กำลังจะออกไปทำการฆ่าทุกที และบางครั้งก็เขียนหรือเทศน์ส่งเสริมสงครามเสียอีก
ประชาธิปไตยเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะคอยกำกับอำนาจอันมากล้นของรัฐสมัยใหม่ แต่พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยไม่เคยแสดงท่าทีอันชัดเจนต่อประชาธิปไตย ขัดขวางประชาธิปไตย หากรัฐสั่งให้ขัดขวาง เงียบเฉยหรือทัดทานโดยทีต่อการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน เป็นไปได้หรือในสังคมปัจจุบันทั่วโลก ที่ศาสนาจะไม่มีจุดยืนอะไรสักอย่างเดียวกับประชาธิปไตยได้เช่นนี้ ในขณะที่ประชาธิปไตยกลายเป็นคำถามสำคัญในชีวิตคนส่วนใหญ่ของสังคมไปแล้ว
ทำนองเดียวกับประชาธิปไตย พุทธศาสนาที่เป็นทางการเคยมีท่าทีอย่างไรต่อปัญหาสำคัญยิ่งของโลกปัจจุบัน รัฐฆราวาสวิสัยควรเป็นอย่างไร, สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง, การอนุรักษ์ธรรมชาติหรือการดัดแปลงธรรมชาติ, โลกาภิวัตน์ ฯลฯ
พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ไม่เคยชี้ความไม่เป็นธรรมนานาชนิดที่เกิดในสังคมไทย แต่กลับร่วมมือกับรัฐในการทำลายอำนาจ (อย่างน้อยก็อำนาจทางวัฒนธรรม) ของท้องถิ่นและชาติพันธุ์ต่างๆ การแย่งชิงทรัพยากรที่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้คนจำนวนมาก เช่น กรณีเขื่อนต่างๆ และเหมืองแร่โพแทส การบังคับใช้ ม.112 อย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ เป็นต้น
นี่คือพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ซึ่งรัฐสภากำลังจะออกกฎหมายมาอนุรักษ์และคุ้มครองกระนั้นหรือ เพื่ออะไร และเพื่อใคร
แต่พระศาสนายังมีพลังและคุณค่าแก่สังคมไทยอย่างแน่นอน ดังที่กล่าวแล้วว่ามีความพยายามของหลายฝ่ายตลอดมาที่จะฟื้นฟูพระศาสนา ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตคนไทยสมัยปัจจุบัน ฉะนั้น หากจะอุปถัมภ์และคุ้มครองพระศาสนา ก็ต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองความเคลื่อนไหวทางศาสนาของทุกฝ่าย รวมทั้งองค์กรคณะสงฆ์ของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการด้วย
แต่จะเอาอำนาจรัฐมาคุ้มตัวโดยไม่ทำอะไรเลย หรือเอางบประมาณมาบำเรอการไม่ทำอะไรเลยนั้น ไม่ควรอนุญาต เพราะจะยิ่งทำให้พระศาสนาไร้ความหมายในชีวิตผู้คนมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น