วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ชงร่างพ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ปฏิรูประบบโปร่งใส เสนอแก้ไขวิธีสรรหา ให้กรรมการสรรหาได้โดยตรง

ชงร่างพ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ปฏิรูประบบโปร่งใส

เสนอแก้ไขวิธีสรรหา ให้กรรมการสรรหาได้โดยตรง

 

นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)พิจารณา โดยที่ประชุมคปก.มีมติเห็นชอบและส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า มีความเห็นและข้อเสนอแนะ 2 ประเด็นคือ 1.ประเด็นเกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีความเห็นว่า  การให้ประธาน กกต. เป็นประธานกรรมการสรรหา มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางและสามารถป้องกันการเกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกันได้  ขณะเดียวกันคปก.เห็นว่าควรกำหนดให้เฉพาะปลัดกระทรวงในกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมี 4 กระทรวงเท่านั้น ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นกรรมการสรรหาโดยตำแหน่งแทนการประชุมคัดเลือกกันเอง เพื่อลดขั้นตอนและทำให้เกิดหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้เห็นว่า ควรลดสัดส่วนกรรมการสรรหาในส่วนของอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาให้เหลือตัวแทนเพียง 2คน ได้แก่ อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนทุกแห่งคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน  เพื่อให้เกิดความกะทัดรัดและคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ และควรกำหนดให้ใช้วิธีการเลือกกันเองเพื่อให้ได้เป็นกรรมการสรรหาในทุกกลุ่ม           ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มตัวแทนปลัดกระทรวง กลุ่มตัวแทนอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มตัวแทนประธานสหภาพแรงงาน กลุ่มตัวแทนประธานสภาองค์กรลูกจ้าง กลุ่มตัวแทนสภาองค์กรนายจ้าง กลุ่มตัวแทนองค์กรเอกชน และกลุ่มตัวแทนองค์กรสื่อมวลชน ให้เป็นไปในวิธีเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยการประชุมเพื่อเลือกกันเอง การเลือกทางไปรษณีย์ หรือวิธีการอื่นใดตามที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะกำหนด

 

2.ประเด็นเกี่ยวกับวิธีการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเนื่องจากกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ    ตามกฎหมายปัจจุบัน มีประเด็นในเรื่องการที่สมาชิกแต่ละคนลงคะแนนเหมือนกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ (block vote) และจากการรับฟังความคิดเห็นพบว่า ในการเลือกตัวแทนแต่ละกลุ่มมีการให้อามิสสินจ้างตอบแทนเพื่อให้เลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น กระบวนการสรรหาที่ผ่านมาจึงไม่โปร่งใสและไม่สุจริต จึงควรแก้ไขวิธีการสรรหา โดยการกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้โดยตรง จำนวน 99 คน

 

"อย่างไรก็ตามหากการดำเนินการกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ไม่สามารถตราเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทันการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดต่อไปได้ คปก.เห็นว่าควร ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเร่งรัดการตราพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว โดยให้มีช่วงระยะเวลาดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายใหม่ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนวาระการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลง เพื่อให้สมาชิกที่จะได้รับแต่งตั้งใหม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง"

 

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะดำเนินการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยเกี่ยวกับองค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 http://www.lrct.go.th/?p=2345


--
สุวิมล เชื้อชาญวงศ์ : 
Suwimol Chuachanwong
ICT for ALL Club
โทร 08 3986 8084 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น