วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

[ถาม-ตอบ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจาก แคลิฟอร์เนีย ว้าว แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง]

[ถาม-ตอบ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจาก แคลิฟอร์เนีย ว้าว แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง]
===============================
ชวนคุณมาร้องเรียนตั้งแต่วันนี้ จนถีง วันที่ 31 สิงหาคม 2555 
ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น.และ 13.00-17.00 น. (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์)

ร้องเรียนการใช้บริการ "แคลิฟอร์เนีย ว้าว"
สามารถร้องเรียนได้อีก 3 ช่องทางค่ะนั่นคือ

1. ทางโทรศัพท์ 02 – 248 3737
2.ทางเว็บไซต์ www.consumerthai.org ส่วน ร้องทุกข์ Online กับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ลงทะเบียนร้องทุกข์ ออนไลน์

3. ร้องเรียนทางอีเมลล์ค่ะ โดยส่งรายละเอียดมาที่ complaint@consumerthai.org

เพื่อความรวดเร็วในการร้องเรียน ผู้ร้องควรให้ข้อมูลดังนี้ค่ะ
1. ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์
2. ลักษณะของสมาชิก (แบบรายปี,ตลอดชีพ) สมัครสมาชิกตั้งแต่เมื่อไร
3. เอกสารสัญญาที่ทำไว้กับทางฟิตเนส ,บัตรสมาชิก เอกสารการชำระเงิน
4. สำเนาจดหมายบอกเลิกสัญญาทางฟิตเนส (กรณีมีใบตอบรับกลับมาแนบสำเนามาด้วย)

===================================

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับสถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2555 จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2555 นับแต่แถลงข่าวพบว่า มีทั้งสิ้นจำนวน 295 ราย ลักษณะปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด คือ ปิดบริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า รองลงมาเป็น เรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม/บอกเลิกสัญญาไม่ได้ และเรื่องมาตรฐานบริการ ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รวบรวมปัญหาและแนวทางการแก้ไขดังต่อไปนี้

ดาวโหลดตัวอย่างหนังสือ บอกเลิกสัญญา
http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=article&id=2439%3A2012-08-24-05-30-34&catid=254%3A2012-08-20-05-23-48&Itemid=305 

Q- ถาม สมัครสมาชิกกับสถานออกกำลังกายไว้แล้วไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ 
แถมยังถูกหักเงินจากบัตรเครดิตอยู่ จะทำอย่างไรได้บ้าง

A- ตอบ ผู้บริโภคต้องทำการบอกเลิกสัญญาด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
1.ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาการขอใช้บริการไปยังบริษัทฟิตเนสพร้อมส่งเอกสารสำเนาบัตรสมาชิกคืนไปด้วย โดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอาจชี้แจงเหตุในการเลิกสัญญา คือ 
สถานบริการปิด ไม่สามารถใช้บริการได้
ตัวอย่างจดหมายบอกเลิกสัญญาฟิตเนส

- เมื่อเลิกสัญญาแล้วต่างฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เหมือนก่อนที่จะมาทำสัญญากัน
- เงินที่ต้องจ่ายตามระยะเวลาที่คงเหลืออยู่ตามสัญญา ก็ไม่ควรต้องจ่ายเพราะเราไม่ได้เข้าไปใช้บริการ
- ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้ว หากเป็นกรณีที่เราไม่ได้ไปใช้บริการเลย บริษัทฯควรต้องคืนให้เรา แต่หากว่าเราเคยไปใช้บริการบ้าง ก็คิดหักกันไปตามส่วน และหากบริษัทฯ เห็นว่ามีความเสียหายก็ให้เรียกร้องค่าเสียหายมา

2.ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิตให้ระงับการหักบัญชีพร้อมแนบสำเนาหนังสือตามข้อ 1. ไปด้วย โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
ตัวอย่างจดหมายบอกเลิกการชำระบัตรเครดิต


3.หากยังถูกหักเงินจากบัญชีอีก ให้นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.
- แนะนำว่าผู้บริโภคต้องทำการยกเลิกสัญญาโดยทำจดหมายแจ้งไปที่กรรมการผู้จัดการของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต เพื่อขอความอนุเคราะห์ระงับการจ่ายเนื่องจากไม่สามารถใช้บริการสถานออกกำลังกายดังกล่าวได้ ผู้บริโภคมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา เมื่อไม่สามารถใช้บริการได้ตามเงินที่ชำระไป เพราะสัญญาบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ด้วย แต่ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร และลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับด้วย

-----------------------------------------------------------------------

Q- ถาม มีการเรียกเก็บค่ารักษาสมาชิกเพิ่มจากปีละ 100 บาท เป็น 700 บาท ต้องจ่ายหรือไม่

A - ตอบ ไม่ต้องจ่าย เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ในปัจจุบันสถานออกกำลังกายนี้กำลังมีปัญหาของการประกอบกิจการ รวมทั้งสถานภาพก็อยู่ในช่วงของการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมของผู้บริโภคในการที่จะเข้าทำสัญญา หรือสูญเสียค่าใช้จ่ายที่เกินควร จึงไม่ควรจ่ายเงินดังกล่าว

2.เนื่องจากบริษัท ยังอยู่ในช่วงของการขอยื่นฟื้นฟูกิจการ จึงไม่สามารถทำนิติกรรม หรือธุรกรรม ใดๆได้ รวมทั้งการปรับค่าสมาชิกเพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินดังกล่าว

-------------------------------------------------------------------------
Q- ถาม ถ้าไม่จ่ายเงินค่าบริการต่อครั้งที่เรียกเก็บ ก็จะไม่สามารถเข้าใช้บริการในสาขาที่เปิดได้ ผู้บริโภคต้องทำอย่างไรดี

A - ตอบ ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกเก็บเพิ่มเติม

เพราะเงื่อนไขข้อสัญญาการใช้บริการนั้น ผู้บริโภคก็ต้องยึดเงื่อนไขในข้อสัญญาเดิม คือสัญญาที่ทำกันในตอนสมัครครั้งแรก การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในภายหลัง ถึงแม้ว่าจะมีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบโดยการแปะประกาศ การแจ้งด้วยวาจาจากพนักงานที่หน้าเค้าท์เตอร์ ก็ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ผู้บริโภคต้องทำตาม และหากต้องการเข้าไปใช้บริการออกกำลังกาย ก็สามารถดินเข้าไปได้เลย หากพนักงานไม่ยอมสถานบริการนี้ก็เข้าข่ายผิดสัญญากับผู้บริโภคโดยปริยาย สามารถบอกเลิกสัญญา และขอเงินค่าสมาชิกคืนได้

----------------------------------------------------------------------------
Q- ถาม หากยังมีของมีค่า หรือทรัพย์สินอื่นๆ อยู่ในล๊อคเกอร์ แต่ไม่สามารถเข้าไปเอาคืนได้ เพราะสาขานั้นปิดไปแล้ว หรือ ยังเปิดอยู่ แต่พนักงานไม่อนุญาตให้เข้าไป จะทำอย่างไรได้บ้าง

A - ตอบ ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้
1. สำหรับสาขาที่ปิดไปแล้ว ไม่สามารถเข้าไปในสถานบริการได้ ผู้บริโภคต้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ เพื่อแจ้งรายละเอียดว่ามีทรัพย์สินใดบ้าง เพื่อใช้เป็นหลักฐานต่อการเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ประกอบการต่อไป

2. สำหรับสาขาที่ยังเปิดให้บริการอยู่ หากไม่สามารถเข้าไปได้เพราะพนักงานอ้างว่าหากจะเข้าต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อครั้ง ให้ผู้บริโภคไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ อีกเช่นกัน เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่พามารับทรัพย์สินที่ติดค้างไว้คืน ไม่ควรดื้อดึงบุกรุกเข้าไป เพราะอาจถูกแจ้งข้อหาบุกรุกได้

3. หากตำรวจท้องที่ไม่รับแจ้งความ หรือช่วยดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ท่าน สามารถแจ้งไปยัง ตำรวจ ปคบ. หรือ ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ตู้ ปณ.459 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 โทร 02-513 7111 หรือสายด่วน 1135
-------------------------------------------------------------------------
Q- ถาม ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะช่วยอะไรได้บ้าง

A - ตอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้
1. ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะ รวบรวม รายชื่อ ผู้เดือดร้อน จากเหตุการณ์ดังกล่าว จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 เพื่อหาทางดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้กับผู้บริโภคต่อไป

2. ติดตามการทำงานของทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา ให้รวดเร็วที่สุด

3. ให้คำปรึกษา ตลอดจนช่วยเหลือผู้บริโภคในการเรียกร้องทางกฎหมาย คือให้คำแนะนำในการยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่ง โดยใช้ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

มาตราที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551

มาตรา 12

ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม

มาตรา 42

ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด


มาตรา 44

ในคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภคหรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และให้มีอำนาจพิพากษาให้บุคคลเช่นว่านั้นร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว หรือในกรณีของผู้รับมอบทรัพย์สินนั้นจากนิติบุคคลจะต้องพิสูจน์ได้ว่าตนได้รับทรัพย์สินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

ผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ร่วมรับผิดไม่เกินทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้รับจากนิติบุคคลนั้น

---------------------------------------------------------------------------
Q - ถาม ปัจจุบันระหว่างที่รอให้บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว อยู่ในขั้นตอน ขอฟื้นฟูกิจการ ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง

A - ตอบ ผู้บริโภคควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.ในระหว่างบริษัทยื่นแผนขอฟื้นฟูกิจการและรอคำสั่งจากศาลล้มละลายจะมีข้อยกเว้นคือ ห้ามฟ้องคดีต่อศาล แต่ ผู้บริโภคต้องมีความระมัดระวังในการเข้าทำสัญญาและจ่ายเงิน เช่น

- หากมีพนักงานมาบอกให้จ่ายเงินค่ารักษาสมาชิก โดยให้เหตุผลกับท่านว่าถ้าไม่จ่ายจะสิ้นสภาพการเป็นสมาชิก ก็ไม่ต้องจ่ายเงินกับเขาเพราะทางบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอมาทาง สคบ. เพื่อขยายระยะเวลาให้สมาชิกเพิ่ม 1 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น


2. หลังจากทราบผลการพิจารณาจากศาลแล้ว ซึ่งมีอยู่ 2 ทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก คือ
- ยื่นขอรับชำระหนี้กับทางผู้ประกอบการรายใหม่ที่ทำแผนฟื้นฟูกิจการ หากไม่ประสงค์เป็นสมาชิกต่อไป
- ยื่นฟ้องศาลเพื่อเป็นเจ้าหนี้ โดยใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค ถ้าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ
---------------------------------------------------------------------------
Q-ถาม ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องอะไรกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้บ้าง หากฟ้องคดี

A - ตอบ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องได้ดังต่อไปนี้
1. ค่าสมัครสมาชิกตามจำนวนเงินที่เสียไป
2. ค่าจ้างในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าเทรนเนอร์ หรือโปรแกรมต่างๆ ที่ได้จ่ายไปแล้ว
3. ค่าอุปกรณ์ ค่าเช่าล๊อกเกอร์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น