วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักข่าวเริ่มมีปัญหากับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลออนไลน์

 

นักข่าวเริ่มมีปัญหากับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลออนไลน์

ผลการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสื่อใน 16 ประเทศ พบว่านักข่าวเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลในสังคมออนไลน์ และเริ่มหันกลับไปให้ความสำคัญกับวิธีการหาข่าวแบบเดิมๆก่อนที่สังคมออนไลน์จะเกิดขึ้น นั่นคือการออกไปสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นแหล่งข่าวมากขึ้น

การสำรวจครั้งนี้ Oriella PR Networkที่มีเครือข่ายสมาชิกอยู่ใน 23 ประเทศ เป็นผู้จัดทำขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใช้วิธีสัมภาษณ์ทางออนไลน์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ บล็อกเกอร์ จำนวน 613 คนใน16 ประเทศ คือ บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมณี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สเปน สวีเดน ไทย เวียดนาม อังกฤษ และอเมริกาโดยแต่ละประเทศจะมีนักข่าว 38 คนเป็นตัวแทนให้ข้อมูล

คำตอบของนักข่าวจากการสำรวจครั้งนี้ แตกต่างไปจากผลสำรวจปีที่แล้ว (2011)ที่พบว่าข้อมูลจำนวนมากที่ปรากฏบนสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะจากทวิตเตอร์เฟซบุ๊ค ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆถูกนักข่าวหยิบฉวยไปเป็นประเด็นในการประชุมกองบรรณาธิการ และบ่อยครั้งถูกนำไปขยายต่อเป็นรายงานข่าวของวันรุ่งขึ้น โดยแทบจะไม่มีการตรวจสอบใดๆ

ปี2012นี้ แม้นักข่าวมากกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าพวกเขายังคงใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาข้อมูลด้วย แต่ก็มีการอธิบายขยายความว่าพวกเขาจะพึ่งพิงสังคมออนไลน์เพียงในเรื่องของการมองหามุมใหม่ๆในการนำเสนอข่าว และจะใช้ข้อมูลจากบุคคลที่พวกเขารู้จักเป็นอย่างดีและน่าเชื่อถือเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักข่าวบอกว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธข้อมูลจากบุคคลที่ไม่รู้จักโดยสิ้นเชิง เพียงแต่จะเลือกใช้ประโยชน์ในกรณีที่บุคคลเหล่านี้อ้างอิงถึงบุคคลหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ขณะที่คนทำข่าวเริ่มระมัดระวังการใช้แหล่งข้อมูลจากสังคมออนไลน์มากขึ้นนั้น นักข่าวก็เลือกใช้สังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ค, micro-blogging เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานและสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองด้วย

ผลสำรวจพบว่านักข่าวที่สร้างตัวตนบนสังคมออนไลน์ด้วยการเป็นบล็อกเกอร์ (blogger) ไปด้วยนั้นมีมากที่สุดในรัสเซีย (72%) และอเมริกา (69%)

เรื่องการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์นี้ การสำรวจนี้พบว่าทางต้นสังกัดมักจะไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามใดๆสำหรับนักข่าว แต่ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างตัวนักข่าวเองกับต้นสังกัด เพราะนักข่าวที่มีแฟนคลับคอยติดตามเยอะๆนั้นทำให้ต้นสังกัดได้รับความสนใจไปด้วย

เมื่อถูกถามถึงผลกระทบโดยรวมทั้งในแง่บวกและแง่ลบของสื่อดิจิตอลต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน นักข่าวที่ตอบคำถามนี้ส่วนใหญ่จะมองในแง่บวกมากกว่า โดยเฉพาะนักข่าวในภูมิภาคเอเชีย คือนักข่าวไทย (58%) และนักข่าวเวียดนาม (82%) เชื่ออย่างยิ่งว่าการเติบโตของสื่อดิจิตอลทำให้การทำงานของพวกเขาพัฒนาขึ้น

ในด้านการแข่งขันเพื่อก้าวให้ทันโลกของการสื่อสารยุคดิจิตอล ซึ่งสำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องแข่งขันกันเปิดฉบับออนไลน์ แต่นักข่าวที่ให้ข้อมูลกับ Oriella PR Networkในแต่ละปีรวมทั้งการสำรวจปีล่าสุดนี้ยอมรับว่าเนื้อหาในฉบับออนไลน์ที่แตกต่างไปจากฉบับพิมพ์นั้น มีน้อยกว่า 20%

ทั้งนี้นักข่าวในบางประเทศ เช่นนักข่าวในประเทศนิวซีแลนด์ยังเชื่อว่าผู้อ่านกลุ่มใหญ่ของพวกเขาเป็นพวกที่ไม่ได้อยู่บนสังคมออนไลน์

เมื่อมีการถามถึงความเชื่อมั่นในการดำรงอยู่ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในสภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน พบว่าปี 2012 นี้ นักข่าวมีความหวังกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น โดยนักข่าวในเอเชียบราซิล และรัสเซีย มีความหวังต่ออนาคตขององค์กรมากกว่านักข่าวในยุโรปตะวันตก (ฝรั่งเศส เยอรมณี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน อังกฤษ) และอเมริกาเหนือ

ขณะที่ปีที่แล้ว (2011) มีนักข่าวเพียง 21 % ที่เชื่อว่าองค์กรที่ตัวเองสังกัดอาจจะต้องล้มเลิกกิจการไป แต่ปีนี้ นักข่าวเพียง 12% ที่เชื่อเช่นนั้น โดยนักข่าวที่มองสถานการณ์ทางธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์เลวร้ายสุดคือนักข่าวในยุโรป

ทั้งนักข่าวและธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดูจะคึกคักสุดอยู่ที่รัสเซีย จากผลการสำรวจพบว่านักข่าวในรัสเซียบอกว่าทั้งรายได้ของธุรกิจสื่อ ทั้งกลุ่มผู้อ่าน และกองบรรณาธิการมีขนาดใหญ่ขึ้น

ในการสำรวจครั้งนี้ มีคำตอบหนึ่งของนักข่าวที่อาจทำให้แวดวงประชาสัมพันธ์ต้องรีบปรับตัวขนานใหญ่ คือ คำตอบที่ว่าข้อมูลประเภทใบแถลงข่าวและอีเมล์จากกลุ่ม องค์กร บริษัทต่างๆนั้นกำลังจะตกยุคหลุดไปจากความสนใจของสื่อ นักข่าวยุคสื่อดิจิตอลต้องการข้อมูลที่มีสีสันมากไปกว่านี้ เช่น ข้อมูลในรูปของวีดีโอ, รูปภาพ, อินโฟกราฟิก ฯลฯ

สุภัตรา ภูมิประภาส
เรียบเรียงจาก HOW NEWS IS SOURCED AND MANAGED AROUND THE WORLD
http://www.oriellaprnetwork.com/research

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น