วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“ 80 ปี กับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ” โดย ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน

  " 80 ปี กับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย "
โดย ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน 
ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)
อดีตประธานรัฐสภา ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2535

นับแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปีพุทธศักราช 2475 เป็นต้นมาจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมาย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าสังคมแบบวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามแบบนานาอารยประเทศนั้น ยังมิได้ฝังหยั่งลึกในสังคมของประเทศไทยเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุทำให้ในหลายครั้งบ้านเมืองต้องเกิดภาวะวิกฤติ สังคมมีความแตกแยกและมิอาจที่จะนำหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองได้

เนื่องจากตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการทางการเมืองอย่างล่าช้า ถึงแม้ในช่วงประมาณ 15 ปีแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางของประชาธิปไตยเป็นลำดับ แต่ก็มาสะดุดเอาเมื่อมีการทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 และนับแต่นั้นเป็นต้นมาอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแทบจะไม่ได้ตกมาอยู่ในมือหรือเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเหตุที่มักจะมีกระบวนการที่พยายามสกัดกั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เรื่อยมา และส่งผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วงจรการทำรัฐประหาร การยึดอำนาจ ฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสุดท้ายก็มีการยึดอำนาจ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ตลอดระยะเวลา 80 ปี นั้น ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยมเป็นระยะเวลานาน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1) เกิดการรัฐประหาร จำนวน 11 ครั้ง เกิดกบฏ จำนวน 11 ครั้ง 
2) เกิดพรรคการเมืองมาแล้วมากกว่า 300 ชื่อ
3) มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จำนวน 28 คน 
4) จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วจำนวน 60 ชุด 
5) มีผู้นำทหารที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร ตั้งแต่ จอมพล ป. 

พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอก สุจินดา คราประยูร รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี "นอมินี" ฝ่ายพลเรือนหรือบุคคลภายนอกที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น เช่น นายควง อภัยวงศ์, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, นายอานันท์ ปันยารชุน และพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมแล้วสามารถอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า 50 ปี 

6) ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถอยู่ในตำแหน่งรวมกันไม่ถึง 30 ปี
7) มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 25 ครั้ง 
8) มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา รวม 28 คน มีสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 24 ชุด 
9) มีสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภานิติบัญญัติมาแล้ว จำนวนกว่า 11,100 คน โดยแบ่งเป็น
- ส.ส. จำนวน 7,973 คน
- ส.ว. จำนวน 1,700 คน โดยแบ่งเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 556 คน และมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 1,149 คน และ
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 1,500 คน

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น อาจกล่าวได้ว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จ คือ การที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น วิธีการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุด คือการยอมรับกันในหลักการเบื้องต้นก่อนว่า "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจะต้องเป็นของประชาชน" หากประชาชนตัดสินใจอย่างใด ต้องยอมรับในการตัดสินใจนั้น ตามหลักการที่ว่าเป็น "การปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน" และการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล โดยไม่ควรมีการพิจารณาโดยศาลเดียว และผู้พิพากษาตุลาการทุกคนต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระ และวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจโดยมีสูตรสำเร็จคือรัฐบาลบริหารประเทศโดยมีการทุจริตที่ยอมรับไม่ได้จึงทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสะดุดหรือหยุดชะงักลง สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปได้ไม่ไกล ข้อสำคัญบุคคลสำคัญของฝ่ายที่ยึดอำนาจกลับถูกกล่าวหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจนถูกยึดทรัพย์หลายคน

หลังจากที่ประเทศไทยต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองหลายครั้ง เกิดเหตุการณ์รัฐประหารและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง เกิดการไร้เสถียรภาพในการบริหารงานของรัฐบาล และมีการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ในที่สุดจึงได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการวางรากฐานธรรมาภิบาลของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่เป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รวมถึงขานรับแนวคิดเรื่อง " ธรรมาภิบาล " (Good Governance) โดยสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ได้มีเป้าหมายสำคัญที่จะวางรากฐานของสังคมให้เข้มแข็ง ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ โดยจัดตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ วางโครงสร้างทางการเมืองของไทยให้เข้มแข็ง โดยให้การจัดตั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพ พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ไปจนถึงการวางรากฐานธรรมาภิบาลการบริหารจัดการประเทศ และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งในประเทศไทยใหม่ โดยได้นำ "ระบบผสม" มาใช้ กล่าวคือ ใช้ระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วน โดยพรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอต่อประชาชนในวันสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเลือกพรรคการเมือง โดยถือหลัก " พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค " ผสมกับระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียว โดยแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเขตเล็ก มีผู้แทนได้เขตละหนึ่งคน ซึ่งระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วนนี้ผู้เขียนได้นำเสนอต่อสาธารณชนตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2530 และได้มีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เหตุผลสำคัญของระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วนหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์เนื่องจากต้องการป้องกันการทุจริตซื้อเสียง เพราะกำหนดให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งใหญ่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 42 ล้านเสียง จึงยากต่อการซื้อเสียง เหตุผลสำคัญประการที่สองได้แก่การบังคับให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมเสนอต่อประชาชน ถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ประชาชนจะเลือกพรรคอื่นเข้ามาแทน เหตุผลประการที่สามได้แก่โอกาสที่พรรคการเมืองจะมีความมั่นคง มีโอกาสบริหารงานอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาของประชาธิปไตยของไทยต้องสะดุดหยุดลงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยได้เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งอ้างสาเหตุความแตกแยกทางการเมืองในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารครั้งนี้ก็มิสามารถหยุดยั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองได้ แต่ได้ไปสร้างเงื่อนไขใหม่ให้กับการเมืองในประเทศไทย จนส่งผลกระทบไปถึงสถาบันการเมืองอื่น ๆ โดยเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 แล้ว มีจุดอ่อนหรือข้อด้อยหลายประการ เช่น ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากตัวแทนของประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 มุ่งแต่ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองและรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จนลืมหลักวิชาการและหลักกฎหมาย และที่สำคัญคือไม่ไว้วางใจในตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาโดยอ้างว่าได้เป็นผู้แทนเพราะการซื้อเสียงและดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ก็ได้กำหนดรายละเอียดไว้มาก จนทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปมีภารกิจและข้อผูกมัดว่าจะต้องทำอะไรมากมายทั้งที่เป็นแนวนโยบายที่กำหนดโดยคณะบุคคลบางคนไม่ได้กำหนดโดยประชาชน จึงทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานน้อย นอกจากนี้ การนำเอาฝ่ายตุลาการมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ โดยอำนาจ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ตามหลักการปกครองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเสียดุลและเอียงข้างฝ่ายตุลาการมากเกินไป

ทั้งนี้ เพราะหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องตีความเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างเคร่งครัด คือ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เปรียบเสมือนถนน 3 เลนที่ให้รถแต่ละคันต้องไม่วิ่งข้ามเลน ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเกี่ยวพันกันโดยความเห็นชอบจากเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำถูกหรือผิด ในระบบประชาธิปไตยผู้ที่จะตัดสินลงโทษ ยกย่อง หรือชมเชย คือประชาชน เราจะไปดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้ไม่ได้ เราจะต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ส่วนใหญ่ไม่เคยนั่งในสภา และไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง จึงมีแนวโน้มที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างสูง กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห ใช้คนไม่รู้จริงมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่รู้จริงแล้วยังไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ และขาดประสบการณ์ ที่สำคัญคือมีอคติกับนักการเมืองและประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองหลายครั้งก็ตาม ก็อยากให้ประชาชนชาวไทยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในกระแสโลกปัจจุบัน เพราะเป็นการปกครองที่มีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อการคุ้มครองและรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมบ้านเมืองอย่างสงบสุข มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีการยอมรับในความแตกต่างทางความคิด โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ยุติธรรม และสันติธรรม และการที่ประเทศไทยในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศ และได้รับการยอมรับนับถือจากนานาประเทศ ก็ด้วยผลจากการที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคณะผู้บริหารประเทศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถึงแม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ปรากฏว่าประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวหน้าโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งการพัฒนาบ้านเมืองล้าหลังกว่าประเทศไทย 30-50 ปี ทั้งๆ ที่การปกครองประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ จึงกล่าวได้ว่าข้อยกเว้นนี้เพราะประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านไม่มี แต่วิธีการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ เช่น นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมายหรือองค์กรที่มีอยู่ เป็นต้น มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ

การที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ดีได้ จะต้องมุ่งเน้นให้ผู้แทน ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเลือกโดยประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ จะต้องทำหน้าที่โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง หรือกลุ่มที่สนับสนุนตนเองแต่เพียงเท่านั้น การที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งในการเลือกผู้แทนที่ดี และการตรวจสอบติดตามการทำงานของตัวแทนที่เลือกไปให้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์
ส่วนรวมรวมถึงการถอดถอนตัวแทนหรือผู้ปกครองที่ไม่ดีออกไปด้วย โดยองค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระซื่อสัตย์สุจริต และปราศจากอคติทั้งปวง

ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นโดยกฎหมายปรองดองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสาระสำคัญที่บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยได้ก็เพราะทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักกฎหมายเดียวกัน โดยกฎและกติกาที่ใช้บังคับต้องเป็นกฎและกติกาที่ยุติธรรม ผู้ใช้กฎหมายต้องใช้กฎหมายโดยปราศจากอคติทั้งปวง และการใช้กฎหมายต้องประกอบด้วยหลักเมตตาธรรม 

ประชาธิปไตยเริ่มต้นปี ที่ 81 ขอให้ยึดมั่นในหลักที่ว่า

- ความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด
- เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

วันที่ 24 มิถุนายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น