วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

กรุงธนบุรี ยุทธศาสตร์สำคัญของพื้นที่บางกอก

ภูมิบ้าน ภูมิเมือง ประจำวันที่ 30 มกราคม 2554

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2554 01:53:12 น.
กรุงธนบุรี ยุทธศาสตร์สำคัญของพื้นที่บางกอก

แผ่นดินที่เรียกว่า "บางกอก" นั้นถือเป็นภูมิบ้านภูมิเมืองสำคัญของบริเวณปากอ่าวไทย โดยมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลคดเคี้ยวไปมา วกวนจนเกิดพื้นที่สวนที่มีแม่น้ำล้อมอยู่หลายแห่งดูคล้ายเกาะ สรุปแล้วก็คือ บางกอกมีพื้นดินที่คอดกิ่วจนเดินข้ามได้ไปยังแม่น้ำสายเดียวกันอีกฝากหนึ่งได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีสวนของพื้นที่บางกอกปลูกผลไม้อยู่หนาแน่น พ่อค้าชาวยุโรปชาวจีนที่เดินเรือเข้ามายังอยุธยาจึงรู้จัก บางกอก (BANGKOK) มากกว่าชื่อกรุงเทพ ที่ตั้งขึ้นภายหลังเมื่อพ.ศ.๒๓๒๕ ส่วนแม่น้ำที่บันทึกไว้ว่า แม่น้ำริเวอร์ (MEANAM RIVER) นั้นก็ชื่อ บางเจ้าพญา ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช จากบทกวี"ต้นฝรั่งเศส"ที่พบใหม่

เมื่อพื้นที่สวนบางกอกถูกตัดให้แม่น้ำเดินสายตรงในสมัยอยุธยา ความสำคัญของเมืองธนบุรีที่เคยเป็นราชธานีในแผ่นดินพระเจ้าตากสิน จึงเปลี่ยนภูมิบ้านภูมิเมืองไปอยู่บางกอกฝั่งตะวันออก ส่วนบางกอกฝั่งตะวันตกนั้นมี พระราชวังเดิมเป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นจุดสำคัญในการป้องกันทางน้ำก่อนเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เพราะมีภูมิสถานที่สามารถสังเกตเรือสินค้า-เรือรบเข้าออกได้ในระยะไกล โดยเฉพาะเป็นเส้นทางที่สะดวกในการใช้เป็นเส้นทางเดินทัพทั้งทางบกและทางน้ำด้วย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้สร้างพระราชวังเดิมนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากที่ทรงนำกำลังเข้ากู้แผ่นดินให้ชาติไทย สถาปนาเมืองธนบุรีศรีสมุทร ซึ่งเป็นเมืองด่านสำคัญในสมัยอยุธยานั้นเป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยาที่ถูกทำลายย่อยยับ พระองค์ทรงประทับและใช้ว่าราชการงานแผ่นดินจนสามารถรวบประเทศเป็นอาณาจักรใหญ่ พร้อมกับได้ปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งก็ยังปรากฏให้เห็นความเป็นกรุงธนบุรีถึงทุกวันนี้

กรุงธนบุรีแห่งนี้มีอาณาเขตของพระราชวัง ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาถึงคลองนครบาล ซึ่งอยู่เหนือวัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม) โดยรวมวัดแจ้ง และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปอยู่ในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ (ทองด้วง)เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประทับและว่าราชการบริหารบ้านเมืองใหม่ในชื่อ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ อันมีกษัตริย์ราชวงค์จักรีครองแผ่นดินสืบไปนั้น

พระราชวังของพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเรียกว่า "พระราชวังเดิม" ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ ทรงกำหนดเขตพระราชวังเดิมให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองคือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดนั้นอยู่นอกเขตพระราชวังเดิม และยังได้โปรดให้แต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับที่พระราชวังเดิม ด้วยเหตุที่ภูมิสถานของเมืองธนบุรีศรีสมุทรนี้มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์การป้องกันทางทะเล ดังนั้นกรุงธนบุรีจึงมีเจ้านายหลายพระองค์ประทับอยู่ดูแลมาทุกรัชกาล ได้แก่ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์ พระโอรสในกรมพระเทพสุดาวดี ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร วังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ประทับอยู่จนได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๓๕๒ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสในกรมพระศรีสุดารักษ์ ได้ประทับอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ ในรัชกาลที่๒ จนกระทั่งได้ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑามณี พระอนุชา สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ประทับอยู่จนกระทั่งได้มีพิธีบวรราชาภิเษก และเสด็จไปประทับที่วังหน้าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ ๔ ต่อมากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้ประทับอยู่ตั้งแต่ประสูติ จนเสด็จไปประทับยังวังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ประทับอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้ประทับอยู่ขณะทรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๔ จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ หลังสุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระราชวังเดิมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจากนายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ เมื่อโรงเรียนนายเรือได้ย้ายออกไปอยู่สัตหีบ และย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการแล้ว กองทัพเรือจึงใช้ พระราชวังเดิมแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือมาจนทุกวันนี้

ความสำคัญของเมืองธนบุรีศรีสมุทรหรือ กรุงธนบุรีที่เหลือพื้นที่พระราชวังเดิมแห่งนี้ ถือเป็นภูมิบ้านภูมืเมืองของการป้องกันแผ่นดินทางทะเลที่ได้รับใช้แผ่นดินมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว...

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น