วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แม่ชีเป็นฆราวาสหรือนักบวช

 

ดร.พระมหาโชว์   ทัสสนีโย
รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

           แม่ชีหรืออุบาสิกา เป็นผู้หญิงที่เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมทางด้านพระพุทธศาสนา ตั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา สละออกจากเรือนสังกัดอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ช่วยงานพระพุทธศาสนานานัปการ แต่สังคมหรือแม้แต่ตัวของแม่ชีเองก็ยังมีความสับสนกับสถานะของแม่ชีหรืออุบาสิกาในประเทศไทยจนหาข้อสรุปไม่ได้ มีความเห็นที่หลากหลายว่าแม่ชีเป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส ซึ่งในความเห็นเหล่านี้มีทั้งในวงการพระพุทธศาสนาและนอกวงการพระพุทธศาสนาวิพากษ์ไปคนละทิศคนละทางในบรรดากลุ่มเหล่านั้นคือ

          กลุ่มที่เห็นว่าแม่ชีเป็นอุบาสิกาหรือฆราวาส

           ในกลุ่มเหล่านี้ประกอบด้วย กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (เดิม)  กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุขไม่ถือว่าแม่ชีเป็นนักบวช ถือเป็นเพียงอุบาสิกาคือฆราวาสเท่านั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ไม่ได้รับการสงเคราะห์ ส่งเสริม ดูแลในฐานะนักบวชเหมือนพระสงฆ์หรือสามเณร การเดินทางจะขึ้นโดยสารรถเมล์ไม่ต้องเสียเงินหรือถ้าเสียก็อาจจะได้สิทธิ์เสียครึ่งหนึ่ง ค่ารักษาพยาบาลก็ได้รับการลดหย่อนเป็นต้น และจุดสำคัญตามมติของมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๘/๒๕๒๕  ความว่า แม่ชีเป็นเพียงอุบาสิกาคือฆราวาสเท่านั้นไม่ถือว่าเป็นนักบวช 

           กลุ่มที่เห็นว่าแม่ชีเป็นนักบวช 

           ๑.พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๒๕ เสนอคำนิยามของ "ชี" ไว้ว่า "ชี" น. นักบวช  

              เช่นชีปะขาว เรียกหญิงที่นุ่งขาว ห่มขาว โกนคิ้ว โกนผม ถือศีลว่า แม่ชี"        
           ๒.กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย  ถือว่าแม่ชีเป็นนักบวชประเภทหนึ่งตามกฎหมาย ดังนั้น   

              นักบวชจึงไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง 
           ๓.คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า แม่ชีเป็นนักบวช ดังปรากฏในหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุดที่ นร.๐๖๐๑/๔๕๐ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๒ ความว่า  "ชี"หมายถึง หญิงที่นุ่งห่มขาว โกนคิ้วโกนผมและถือศีล มีความหมายรวมอยู่ในคำว่า "นักบวช" ตามมาตรา ๙๓ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑" และปรากฏในหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุดที่ นร.๐๖๐๑/๒๔๘ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ความว่า "ชี" ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๔๐)มีความหมายอยู่ในคำว่า"นักบวช"ด้วย
           ๔.ในรัฐธรรมนูญฉบับราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ ใน มาตรา ๑๐๖ ได้กล่าวถึงบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีลักษณะดังนี้คือ ๑) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ๒) เป็นภิกษุสามเณร และนักบวชหรือ นักพรต ๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เท่ากับเป็นการตอกย้ำความสับสนในสถานะของแม่ชีที่ถูกกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมัดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ยากที่จะแก้ปมความสับสนนั้นได้

           ความสับสนในสถานภาพแม่ชี

           เรื่องเดียวกันแต่ตีความไปคนละทิศ ในองค์กรของรัฐที่ตีความสถานะแม่ชีเป็น "นักบวช" มีหลายองค์กรเช่น การบัญญัติศัพท์เรียกใช้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ ก็บัญญัติสถานะของแม่ชีว่าเป็นนักบวชก็ถือว่าไม่ถูกต้อง คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความหลายครั้งก็ตีความตามพจนานุกรมให้แม่ชีมีสถานะเป็นนักบวชก็ไม่ถูกต้อง และซ้ำร้ายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในมาตรา ๑๐๖ ในกลุ่มบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้เลือกตั้งก็ตีความสถานะแม่ชีให้อยู่ในกลุ่มนักบวชก็ไม่ถูกต้อง กลับผิดตามกันอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่น่าให้อภัย ไม่มีการสอบถามคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดในประเทศว่าข้อเท็จจริงนั้นคืออะไรจะได้บัญญัติและใช้ได้อย่างถูกต้อง

           ในกลุ่มองค์กรรัฐที่ตีความสถานะแม่ชีว่าเป็น "ฆราวาส" คือ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข องค์กรเหล่านี้ตีความสถานะแม่ชีว่าเป็นฆราวาส ไม่ต้องมีการบริการความสะดวกเหมือนนักบวชทั่วไปที่เป็นพระสงฆ์สามเณรในทางพระพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนก็ต้องเสียค่าเล่าเรียนเหมือนประชาชนธรรมดาทั่วไป เดินทางโดยรถไฟ รถยนต์ก็เสียค่าเดินทาง โดยไม่มีการให้สิทธิ์ลดครึ่งราคา หรือบริการความสะดวกเหมือนนักบวชทั่วไป  รักษาพยาบาลก็เสียค่าพยาบาลเต็มราคา ไม่มีสิทธิในฐานะนักบวชแต่ประการใด

           ในปัจจุบันนี้มีความสับสนในสถานภาพของแม่ชีในทำนองนี้ ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพราะไม่มีทางบรรจบกัน ไม่มีการประสานเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริง กลุ่มที่พอจะมีหน้าที่บ้างก็กลับไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง หรือกลุ่มองค์กรพอจะมีโอกาสได้ดำเนินการบ้างก็ไม่ปรึกษาหารือหน่วยงานที่ดูแลแม่ชีโดยตรง ทำไปเฉพาะลำพังของตนเองโดยคิดว่าตนทำถูกต้องแล้ว ตัดสินใจเองตีความเอง  พวกองค์เหล่านี้คือกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ที่ตีความว่าแม่ชีเป็น "ฆราวาส" จัดการวิเคราะห์เองตัดสิทธิของแม่ชีเอง โดยไม่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นเช่น ราชบัณฑิตยสถานที่จัดทำพจนานุกรม คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความสถานะแม่ชีไปเรียบร้อยแล้วไปอีกทาง และไม่ประสานสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่ตรากฎหมายไปอีกทาง

            ปัจจุบันนี้มีผู้หญิงไทยจำนวนมิใช่น้อย จำนวนประมาณ  ๔๕,๐๐๐ คน อาศัยอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ  แม่ชีเป็นภูมิปัญญาของคนไทยสมัยโบราณที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมทางศาสนามากยิ่งขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยยุคปัจจุบันไม่ได้พัฒนาการสานต่อเรื่องสิทธิและโอกาสให้แก่แม่ชีอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้บิณฑบาต,ไม่ได้บังสุกุลเหมือนพระสงฆ์ ไม่มีรายได้อื่นใด ไม่มีงบสนับสนุนจากรัฐบาล และองค์กรใด แต่แม่ชีหรืออุบาสิกาได้ทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาด้วยการ เป็นครูสอนธรรมบ้าง อบรมเด็กและเยาวชนบ้าง ช่วยเผยแผ่ธรรม ช่วยดูแลความสะอาดวัดวาอารามต่าง ๆ ตลอดจนงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายประการ

           ถ้าแม่ชีมีสถานะเป็นฆราวาสเหมือนอย่างที่ กรมการศาสนา กระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขตีความ ก็ควรจะมีสิทธิในการเลือกตั้งได้ แต่เมื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งห้ามว่าเลือกตั้งไม่ได้เพราะแม่ชีเป็นนักบวช เมื่อเข้าใจว่าเป็นนักบวช ตามพจนานุกรม,ตามกฤษฎีกา,และสภาผู้แทนราษฎรตีความก็สามารถใช้สิทธิของนักบวชได้ กล่าวคือเวลาเดินทาง เวลาไปรักษาสุขภาพ หรือแม้แต่เดินทางต่างประเทศ แต่ก็กลับไม่ได้รับสิทธิของนักบวชอย่างที่ว่านั้น โดยกลุ่มนี้กลับตีความสถานะของแม่ชีไปอีกว่าแม่ชี "เป็นฆราวาส" จะใช้สิทธิ์ของการเป็นนักบวชไม่ได้ ซึม..

           รัฐบาล คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน จึงควรลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลแม่ชีหรืออุบาสิกากันอย่างแท้จริง ถ้าไม่ใช่นักบวชจะมีวิธีช่วยสนับสนุนส่งเสริมอย่างไร ถ้าตีความว่าเป็นนักบวชจะมีวิธีการช่วยสนับสนุนส่งเสริมอย่างไร ไม่ใช่ให้มีหน้าที่ล้างจาน ปัดกวาดวิหารลานเจดีย์ ทำกับข้าว ฯลฯ ในวัดอย่างไร้ยถากรรม ไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่อย่างที่เป็น

http://newweb.bpct.org/content/view/497/33/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น