ประเมินผลการทำงาน 1 ปี กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
Siam Intelligence Unit
บทความนี้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ "1 ปี กสทช. กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย" วันที่ 24 ธันวาคม 2555 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค จัดโดยสำนักงาน กสทช. โดยผู้เขียนร่วมอภิปรายในส่วนของกิจการด้านโทรคมนาคม และมีผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ร่วมอภิปรายในหัวข้ออื่นๆ อีกมาก
ผู้เขียนทำงานกับ กสทช. ในฐานะ "อนุกรรมการ" ที่เป็นบุคคลภายนอก จำนวน 2 คณะ คือ
- คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ GHzเพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced
- คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ระบบเซลลูล่า Digital PCN (Personal Communication Network) 1800 MHz
มุมมองทั้งหมดของการประเมินผลการทำงาน กสทช. อยู่ในฐานะ "บุคคลภายนอก" ที่เคยทำงานร่วมกับสำนักงาน กสทช. และมีจุดประสงค์เพื่อแนะแนวทางการทำงานของ กสทช. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสำคัญ
กรอบการประเมิน
ผู้เขียนใช้กรอบการประเมินผลงานของ กสทช. โดยอิงกับ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) (ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา) ที่ประกาศโดย กสทช. เอง ในแผนการนี้แบ่งภาระงานของ กสทช. ฝั่งโทรคมนาคม ออกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด 6 ข้อ (หัวข้อ 3 พันธกิจ ในแผนงาน) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าครอบคลุมเพียงพอ และสามารถใช้เป็นกรอบในการประเมิน กสทช. ตามหมวดงานเหล่านี้ได้ ถึงแม้แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมจะเป็นแผนงานในระยะยาว (5 ปี) และใช้ตัวชี้วัดรวมสำหรับแผนงานระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาต่างไปจากการประเมินผลงาน 1 ปีแรก แต่ผู้เขียนประเมินจาก "แนวทาง" เป็นหลักมากกว่ายึดตัวเลขชี้วัดอย่างตายตัว
หมวดงานทั้ง 6 ประเภท ได้แก่
- การอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ
- การกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการ
- การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
- การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
- การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมให้ได้ใช้บริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม และได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ
- การเตรียมความพร้อมในกิจการโทรคมนาคมให้สามารถแข่งขันในระดับสากล
และผู้เขียนได้เพิ่มหัวข้อการประเมินที่ 7. เรื่อง "ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กสทช." เข้ามาอีกหนึ่งข้อด้วย
1. การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- เพิ่มระดับการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคม
- ลดอัตราค่าบริการโทรคมนาคม
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นเรื่องระดับการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม
ในแง่ "ระดับการแข่งขัน" ของกิจการโทรคมนาคม ยังมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 3 รายเท่าเดิม แต่ในประเด็นนี้คงโทษ กสทช. อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของทุน โอกาสธุรกิจ และสภาพของตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยเองด้วย ซึ่งด้วยโครงสร้างของตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นถือว่าเป็นตลาดที่อิ่มตัว (saturated) มากแล้ว การจะหาผู้เล่นรายใหญ่รายใหม่เข้ามาเป็นเรื่องยากมาก และ กสทช. ควรไปส่งเสริมการแข่งขันในระดับของผู้ให้บริการรายย่อยที่ไม่มีโครงข่ายเอง (MVNO หรือ mobile virtual network operator) มากกว่า
กสทช. มีความพยายามผลักดัน MVNO โดยระบุไว้ในกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 2.1GHz อยู่แล้ว เพียงแต่การประมูลเพิ่งสิ้นสุดและเพิ่งอนุมัติใบอนุญาต ก็ต้องรอดูสถานการณ์ของการแข่งขันในตลาด MVNO ต่อไปในปี 2556
ในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเดิม 3 ราย ยังมีมิติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- การใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงข่ายร่วมกัน (infrastructure sharing) ทาง กสทช. มีความพยายามเรื่องนี้โดยออกประกาศแล้ว แต่ในทางปฏิบัติต้องรอดูว่าผู้ประกอบการปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน และอาจมีข้ออ้างที่นอกเหนือจากในประกาศเพื่อกีดกันคู่แข่งมาใช้สาธารณูปโภคร่วม เช่น ไฟฟ้าไม่พอ เสารับน้ำหนักไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ กสทช. ในการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติต่อไป
- การย้ายเครือข่ายของผู้บริโภคด้วย MNP หรือ mobile number portability (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ถึงแม้จะทำได้จริง แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ผู้ให้บริการพยายามกีดกันการย้ายค่ายของลูกค้า ด้วยการจำกัดจำนวนเบอร์ที่สามารถย้ายได้ต่อวัน ซึ่ง กสทช. เองต้องลงมาแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยยังมีลักษณะพิเศษเรื่อง "สัมปทาน" ระหว่างเอกชนกับรัฐวิสหากิจ 2 ราย ซึ่งมีประเด็นที่น่าจับตา 2 เรื่อง
- ถึงแม้สัญญาระหว่าง CAT กับ TRUE ในกรณี TrueMove H ยังไม่ได้ข้อยุติ (ประเด็นนี้มีองค์กรเกี่ยวข้องหลายองค์กร ไม่ใช่เฉพาะ กสทช. เพียงรายเดียว)
- การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz ระหว่าง CAT กับ TrueMove และ GSM1800 ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการคืนคลื่น และการเยียวยาผู้บริโภค
ประเด็นเรื่องการลดค่าบริการโทรคมนาคม
- อัตราค่าบริการโทรคมนาคมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2G/3G บนคลื่นเดิม แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- กสทช. มีความพยายามลดเพดานราคาของค่าบริการบนคลื่น 2.1GHz แต่ยังไม่เห็นผล เนื่องจากการประมูล-ออกใบอนุญาตเพิ่งได้ข้อยุติ
- บรอดแบนด์แบบมีสาย (ADSL) ยังแข่งกันที่ระดับความเร็ว แต่ไม่ลดราคาขั้นต่ำ 590 บาทต่อเดือนลง ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึง กสทช. ควรลงมากระตุ้นตลาดให้เอกชนจัดแพกเกจบริการที่ราคาถูกลงกว่าเดิม แต่อาจได้ความเร็วไม่สูงนักแทน
2. การออกใบอนุญาต-จัดสรรคลื่นความถี่
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- จำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม
- มีประเภทของบริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น
- มีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมมากขึ้น
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นเรื่องจำนวนผู้ประกอบการ และพื้นฐานการแข่งขันที่เท่าเทียม เขียนไปบางส่วนแล้วในหัวข้อที่ 1. เรื่องระดับการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจขององค์กรต่างด้าว ซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการจากภายนอกประเทศอีกด้วย
ในแง่ "ประเภทของบริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ" อาจถือว่าการประมูลคลื่น 2.1GHz สำหรับบริการ 3G พอเป็น "เทคโนโลยีใหม่ๆ" ได้
ในแง่ของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มากขึ้น ถือว่าการประมูลคลื่น 2.1GHz เข้าข่ายนี้ ถึงแม้ว่า กสทช. จะประสบปัญหาและกระแสคัดค้านอย่างมากมายระหว่างการประมูล แต่สุดท้ายก็สามารถฝ่าด่านต่างๆ และจัดสรรคลื่นได้สำเร็จ ซึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายหนึ่งที่วางแผนไว้
3. การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง
- มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นร่วมกันสำหรับผู้ประกอบกิจการมากขึ้น
- มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการโทรคมนาคม
- มีแผนหรือมาตรการร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ถือว่าการออก "ใบอนุญาต" โทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2.1GHz ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลง เนื่องจากต้องหักส่วนแบ่งรายได้ส่ง กสทช. น้อยลงกว่าระบบสัญญาสัมปทานเดิมมาก ในแง่นี้ถือว่าประสบความสำเร็จ
ประเด็นเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เขียนไปแล้วในหัวข้อที่ 1.
ประเด็นเรื่องการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งาน
- เราอาจถือว่า 3G เป็นเทคโนโลยีใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยได้
- โครงการอื่นๆ ที่ริเริ่มไว้ในสมัย กทช. เช่น Broadband Wireless Access (BWA) ยังไม่เห็นผลงาน
- โครงการที่ควรผลักดันอย่าง Fiber Optics ยังไม่เห็นความชัดเจน
ประเด็นเรื่องแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน-ภัยพิบัติ ยังไม่เห็นผลงาน
- โครงการหมายเลขสายด่วนกลางสำหรับเหตุฉุกเฉิน (เหมือน 911 ในต่างประเทศ) ยังไม่มีความคืบหน้า
- แนวคิดการแชร์โครงข่ายโทรศัพท์ในช่วงเกิดภัยพิบัติ ยังไม่เห็นความชัดเจน
- แนวคิดเรื่องคลื่นความถี่สำหรับสาธารณภัย ยังไม่เห็นความชัดเจน
4. บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช. (รอบ 5 ปี)
- มีแผนการบริการ USO (universal service obligation) ภายใน 1 ปี (นับจากแผนแม่บทประกาศใช้ ไม่ใช่นับจากอายุการทำงานของ กสทช.)
- บริการเสียง ครอบคลุม 95% ของประชากร
- บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2Mbps ครอบคลุม 80% ของประชากร
ผลงาน 1 ปีแรก
การประเมินผลในเชิงตัวเลขอาจยังทำไม่ได้ในขณะนี้ แต่ในภาพรวมแล้ว กิจกรรมด้าน universal service obligation ของ กสทช. ยังถือว่าอยู่ในเชิงตั้งรับ เน้นการ "ให้ทุน" จากกองทุน USO ที่มีเงินจำนวนมหาศาลเป็นหลัก เช่น การให้เงินสนับสนุนโครงการ Wi-Fi ฟรีของกระทรวงไอซีที มูลค่า 950 ล้านบาท เป็นต้น
การให้ทุนสนับสนุนโครงการ USO เพื่อขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเรื่องที่ดี แต่ กสทช. ควรระวังเรื่องยุทธศาสตร์นี้ในระยะยาวว่าจะกลายเป็นเพียง "องค์กรให้ทุน" แหล่งใหม่หรือไม่ และ กสทช. เองน่าจะมีโครงการสนับสนุน USO ในเชิงรุกมากขึ้น นอกเหนือไปจากการให้ทุนองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ เว็บไซต์งานด้าน USO ของ กสทช. ยังขาดการปรับปรุงและไม่ค่อยอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากนัก
5. การคุ้มครองผู้บริโภค
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- จัดทำหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เสร็จภายใน 2 ปี
- จัดทำหลักเกณฑ์การควบคุมคุณภาพบริการประเภทข้อมูลให้เสร็จภายใน 2 ปี
- ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
ผลงาน 1 ปีแรก
ตัวชี้วัดในเรื่องแผนกำหนดระยะเวลา 2 ปี จึงประเมินได้ลำบากในขณะนี้ ส่วนการประเมินความตระหนักรู้ของผู้บริโภคก็ทำได้ยากเช่นกัน ในหัวข้อนี้จึงใช้การประเมินจากสถานการณ์ของผู้บริโภคในรอบปีแทน
สถานการณ์ด้านผู้บริโภคในปี 2555 เกิดปัญหาเครือข่ายล่มบ่อยครั้ง (โดยเฉพาะจาก DTAC) ซึ่ง กสทช. เองก็ทำหน้าที่ไม่ได้มากนักนอกจากสั่งปรับตามฐานความผิด ส่วนประเด็นปัญหาด้านผู้บริโภคก็ยังเต็มไปด้วยปัญหาเดิมๆ เช่น SMS ขยะ, คิดเงินผิด, roaming เน็ตรั่วต่างประเทศ, คุณภาพสัญญาณ, การจำกัดจำนวน number portability, บัตรเติมเงินหมดอายุ, ตู้เติมเงินคิดค่าบริการสูง ฯลฯ ในภาพรวมแล้ว กสทช. ยังไม่สามารถนำปัญหาซ้ำซากเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นการแก้ไขเชิงนโยบายได้เลย ทำให้ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดซ้ำซากอยู่ตลอด
ส่วนการรับเรื่องร้องเรียน-ระงับข้อพิพาทก็ยังล่าช้าและเต็มไปด้วยกระบวนการเอกสาร ซึ่งปัญหาด้านผู้บริโภคนี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องปรับปรุงอย่างมากในปีหน้า
ข้อมูลเพิ่มเติม ความเคลื่อนไหวของ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในเดือนธันวาคม 2555
- 7 ธ.ค. 2555 - กทค.ได้ฤกษ์ปลดชนวนกติการับเรื่องร้องเรียนมือถือ หวังกำหนดบทบาท"อนุคุ้มครองผู้บริโภค"เข้าร่องเข้ารอย
- 20 ธ.ค. 2555 - "สุทธิพล" เปิดเกมรุกคุ้มครองผู้บริโภครับปีใหม่ในยุค 3G จับมือศาลยุติธรรมผลิตบุคลากรด้านไกล่เกลี่ยเพื่อรับข้อพิพาทมือถือพุ่ง
- 25 ธ.ค. 2555 – กทค.เผยแนวคิดเชิงรุกต้อนรับ"ปีงูเล็ก"เร่งสังคายนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคมือถือ
เว็บไซต์ กสทช. ด้านอาเซียน
6. อาเซียน-ความร่วมมือระหว่างประเทศ
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- มีมาตรการรองรับด้านกิจการโทรคมนาคม สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
- พัฒนา ปรับปรุง ออกกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นด้านกฎระเบียบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ผู้เขียนไม่มีข้อมูลด้านนี้ จึงไม่ขอประเมิน
ส่วนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ยังไม่เห็นความชัดเจนนอกจากการจัดสัมมนา ศักยภาพและความพร้อมของกิจการโทรคมนาคมไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และเปิดเว็บไซต์ด้านอาเซียน เท่านั้น
ผู้เขียนมีข้อเสนอ 2 ประการเพื่อยกระดับกิจการโทรคมนาคมของไทยในมิติของอาเซียน ดังนี้
- ปรับปรุงและแก้ไขอุปสรรคของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ต่อการเข้าทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น กฎเกณฑ์ต่างด้าว หรือ เอกสารบนเว็บไซต์ กสทช. ควรมีภาษาอังกฤษกำกับให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- กสทช. ควรจับมือกับหน่วยงานด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในอาเซียน ผลักดันค่าบริการโรมมิ่งในอาเซียน (ASEAN Roaming) ให้ถูกลง เพื่อเพิ่มระดับการใช้งานบริการโทรคมนาคมระหว่างการค้าขายในอาเซียน
7. ประสิทธิภาพในการทำงานของ กสทช.
ผู้เขียนขอแบ่งประเด็นออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
การเข้าถึงประชาชน
- กระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศ (public hearing) ที่ผ่านมายังมีลักษณะเป็นการ "ทำเพื่อให้ครบกระบวนการของกฎหมาย" มากกว่าการรับฟังความเห็นจริงๆ เพราะ กสทช. ไม่มีกระบวนการรวบรวมข้อมูล เปิดเผย และอธิบายประเด็นว่าจุดไหนรับฟังและแก้ไข-จุดไหนไม่แก้ไข อย่างเปิดเผยและเข้าถึงได้มากนัก การออกประกาศถือเป็นงานสำคัญของ กสทช. และควรให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก
- กสทช. ยังขาดฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่มีความแม่นยำและทันสมัย
- การประชาสัมพันธ์ของ กสทช. ในมิติด้านผู้บริโภคยังน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังมีเฉพาะการประชาสัมพันธ์ "ภาพลักษณ์องค์กร" ของ กสทช. เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากนัก
- เว็บไซต์ กสทช. เอง ก็เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ยาก ถึงแม้จะมีการปรับปรุงระบบมาแล้ว 1 ครั้ง
งบประมาณ-บุคลากร
- งบประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมของ กสทช. มากเกินไปหรือไม่?
- จำนวนบุคลากรของ กสทช. ต่อผลลัพธ์ของงานที่ออกมา มีสัดส่วนมากเกินไปหรือไม่? (เจ้าหน้าที่ประมาณ 1,000 คน ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2554)
- ประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการประเมินอย่างไร?
- จำนวนคณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้ง มีมากเกินไปหรือไม่ และมีการเรียกประชุมบ่อยครั้งเพียงใด?
ข้อมูลประกอบ
รายจ่ายของ กสทช. ประจำปี 2555 (นับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน) ใช้ตัวเลขโดยประมาณ (ที่มา กสทช.)
- รายจ่ายบุคลากร 960 ล้านบาท
- รายจ่ายดำเนินงาน 1,416 ล้านบาท
- รายจ่ายสิ่งก่อสร้าง-ครุภัณฑ์ 93 ล้านบาท
- เงินสมทบกองทุนฯ 175 ล้านบาท
- รวม 2,690 ล้านบาท
ข้อมูลจาก รายงานประจำปี กสทช. 2554
สรุป
การดำเนินงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ในปี 2555 มีความเคลื่อนไหวพอสมควร โดยเฉพาะการประมูลคลื่น 2.1GHz ที่สามารถดำเนินไปได้ลุล่วงตามแผน มีการออกประกาศที่สำคัญในหลายเรื่อง แต่ กสทช. ยังไม่ค่อยมีผลงานในมิติด้านอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า "สอบตก" ในปี 2555 และงานด้าน USO (บริการโทรคมนาคมทั่วถึง) ที่ไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น
ในภาพรวมแล้ว กสทช. ยังสมควรถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และงบประมาณที่ใช้ไปตลอดปี โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์การประมูล 3G และกิจกรรมบางประเภทที่อาจไม่คุ้มค่างบประมาณมากนัก
ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
ข้อเสนอเร่งด่วนสำหรับปี 2556
- กสทช. ต้องรีบเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาคลื่น 1.8GHz หมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556
- กสทช. ต้องรีบกำกับดูแลบริการประเภทข้อมูล (data service) ทั้งในแง่ราคาและคุณภาพการให้บริการ ทั้งบนคลื่น 2.1GHz และคลื่นความถี่เดิม
- กสทช. ต้องเร่งแก้ปัญหาด้านผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและจริงจัง
- กสทช. ต้องใช้นโยบายเชิงรุกกับโครงการด้าน USO แทนนโยบายเชิงรับอย่างที่ทำอยู่
- ควรเจรจาทำระบบ ASEAN Roaming ที่ราคาถูกทั่วทั้งภูมิภาค
- ปรับปรุงเว็บไซต์ กสทช. ให้ใช้งานได้ง่าย มีข้อมูลทันสมัยตลอดเวลา
ข้อเสนอระยะยาว
- กสทช. ควรจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจทางนโยบาย และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
- ประเมิน ตรวจสอบ ปรับปรุง ประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงาน กสทช. ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว ฉับไว มากขึ้น
- ใช้งบประมาณกับการประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาด ไม่เน้นไปที่การจัดกิจกรรมระยะสั้นหรือการซื้อพื้นที่สื่ออย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
- ปรับปรุงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (public hearing) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เอกสารประกอบการบรรยายจากงานเสวนา
ข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อ
- ไทยรัฐ – นักวิชาการโทรคมฯ สับ1ปีกสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภคไม่ได้
- ไทยโพสต์ – กสทช.สอบตกดูแลผู้บริโภคเหลว
- ASTV ผู้จัดการ – นักธุรกิจประเมินผลงาน 1 ปี กสทช.มีปัญหาเครือข่ายล่ม-ค่าบริการแพง
- บ้านเมือง – นักวิชาการชี้ผลงาน กสทช.สอบตก
- สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
- แนวหน้า – กสทช.ชูภาระกิจยุค3G ระงับข้อพิพาท "ผู้บริโภค-บ.มือถือ"
- The Nation – Consumer groups, scholars not impressed with NBTC's first year, seminar hears
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น