| จาก 7 "กทช." สู่ "11-กสทช." จากองค์กรอิสระกำกับดูแลธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เพิ่มเนื้องานอีกพะเรอเกวียนคุมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทั้งคนทั้งเนื้องานเพิ่มขึ้นมาก แต่รายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากค่าใบอนุญาตฟากกิจการสื่อสารเหมือนเดิม เฉลี่ยปีละ 3-4 พันล้านบาทไม่น้อยเลย
รายได้ไม่น้อย ค่าใช้จ่ายย่อมไม่น้อยตามไปด้วย จึงเป็นธรรมดาที่การใช้จ่ายจะได้รับความสนใจจากสาธารณะ ยิ่งอยู่ในฐานะองค์กรอิสระด้วยแล้ว ความโปร่งใสจึงสำคัญมาก ทั้งรายรับและการใช้จ่ายเงิน โดย "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่สำนักงาน กทช.ตั้งขึ้นในปี 2547 กระทั่งเป็น กสทช.ในปี 2554 รวมรายรับทั้งหมด 24,068 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่าย 12,572 ล้านบาท และได้ส่งรายได้เข้าคลังเป็นเงิน 11,493 ล้านบาท รายได้ของ กสทช.มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม (4% ของรายได้), ค่าธรรมเนียบเลขหมาย (2 บาทต่อเดือน) และค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่
"การใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบอร์ด กสทช.จะเทียบสิทธิ์ตามระเบียบราชการทั้งหมด การใช้เงินงบประมาณได้ผ่านการรับรองของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียบร้อย โดย กสทช.จะประกาศการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ผ่านเว็บไซต์ทั้งหมด" กรณีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ ตั๋วเครื่องบินที่ใช้เดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงรถประจำตำแหน่งของ "กสทช." จะดำเนินการตามระเบียบราชการของสำนักงบประมาณทั้งหมด โดยตำแหน่งประธาน กสทช.เทียบเท่าตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีรถประจำตำแหน่งในวงเงิน 4.5 ล้านบาท กรรมการ กสทช.ได้สิทธิประโยชน์เทียบเท่า "รัฐมนตรี" มีสิทธิ์ใช้รถประจำตำแหน่งในราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ส่วนเลขาธิการ กสทช.ได้สิทธิ์เท่าปลัดกระทรวง ใช้รถประจำตำแหน่งได้ในราคาประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่ง กสทช.ใช้วิธีเช่าแทนการซื้อ
สำหรับเงินเดือน กสทช.ยังใช้อัตราเดิมของ กทช. เนื่องจากต้องรอรัฐบาลยังไม่ตอบกลับว่าจะให้อัตราเงินเดือนเท่าใด จึงยังไม่สามารถตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราเงินเดือน กสทช.ได้ โดย กสทช.จะได้รับเงินเดือน 100,000 บาท เงินตอบแทนพิเศษอีก 250,000-300,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท การตั้งคณะที่ปรึกษา กสทช. แต่งตั้งได้คนละ 3 คน ยกเว้นประธาน กสทช.มีที่ปรึกษาได้ 5 คน เงินเดือนที่ปรึกษาไม่เกิน 120,000 บาท รวมแล้วทั้ง 11 กสทช.มีที่ปรึกษาได้ 35 คน เฉพาะเงินค่าจ้างที่ปรึกษารวม ๆ กันถึงเดือนละ 4.2 ล้านบาท หรือ 50.4 ล้านบาทต่อปี โดยในเดือน ก.พ.นี้จะมีการประกาศใช้อัตราค่าเบี้ยประชุม ค่าใช้จ่าย และค่าตอบแทนพิเศษของ กสทช.
ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ "กสทช." ชุดปัจจุบันรับตำแหน่ง (7 ต.ค. 2554) จนถึงขณะนี้ (ม.ค. 2555) มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ไปแล้วถึง 30 ชุด ตามข้อกำหนดกรรมการแต่ละคนจะมีสิทธิ์เป็นอนุกรรมการได้ไม่เกิน 3 ชุด และรับเบี้ยประชุมได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อเดือน อัตราค่าเบี้ยประชุม 5,000 บาทต่อครั้ง หรือเดือนละไม่เกิน 20,000 บาท (ปีละไม่เกิน 240,000 บาท) ยกเว้นประธานคณะอนุกรรมการได้เบี้ยประชุมครั้งละ 8,000 บาท หรือ 32,000 บาทต่อเดือน (ปีละ 384,000 บาท) รวมค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุมในขณะนี้เป็นเงิน 2.96 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับปี 2555 มีการประมาณการรายรับไว้ที่ 4,000 ล้านบาท จากกิจการโทรคมนาคมเป็นหลัก เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และค่าใบอนุญาตวิทยุโทรคมนาคม เนื่องจากฝั่งกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์จะยังไม่มีรายได้จนกว่าจะเริ่มออกใบอนุญาต "ฐากร" อธิบายเพิ่มเติมว่า งบประมาณรายจ่ายในปี 2555 ยังไม่ได้กำหนดกรอบ แต่ทุกปีตั้งแบบเกินดุลคือ รับมากกว่าจ่าย โดยในปีที่ผ่านมา (2554) มีรายรับ 3,900 ล้านบาท รายจ่ายประมาณ 2,600 ล้านบาท และส่งเข้ารัฐ 1,700 ล้านบาท "เลขาธิการ กสทช." กล่าวด้วยว่า บอร์ด กสทช.มีมติตั้งอนุกรรมการพิจารณางบประมาณรายได้ปี 2555 เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองงบประมาณก่อนเข้าบอร์ด กสทช.ปลายเดือน ก.พ.นี้ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช ประธานอนุกรรมการ นายพหล จินดากุล, พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ, พล.อ.อ.สัณฑพงศ์ รื่นรมย์, นายอนุโพธ บุนนาค, นายประสิทธิ์ จันทร์ประทีปฉาย, นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ งบประมาณมี 4 ส่วน งบฯสำหรับกรรมการ กสทช. งบฯด้านโทรคมนาคม ด้านกระจายเสียง และงบฯสำนักงาน กสทช. ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดจะต้องรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้ง โดยวุฒิสภา มี 5 คน ได้ค่าตอบแทน 100,000 บาทต่อคนต่อเดือน ประธานคณะกรรมการ 120,000 บาทต่อเดือน แว่วมาว่า วุฒิสมาชิกกำลังอลหม่านเป็นอย่างยิ่งในการตั้งซูเปอร์บอร์ดทั้ง 5
สำหรับปี 2554 ข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็บไซต์ กสทช.ระบุว่า รายได้รวมของสำนักงาน กสทช.อยู่ที่ 4,577 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ 4,541 ล้านบาท รายได้จากทรัพย์สินสำนักงาน กสทช. 36 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายแบ่งเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานของกรรมการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. แยกเป็นรายจ่ายบุคลากร กรรมการ กสทช. 3.47 ล้านบาท รายจ่ายบุคลากรสำนักงาน 624 ล้านบาท รายจ่ายจากการดำเนินงานของกรรมการ กสทช. 12.4 ล้านบาท
รายจ่ายจากการดำเนินงานของสำนักงาน 1,358.2 ล้านบาท รายจ่ายสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ 106.4 ล้านบาท และอื่น ๆ 513.88 ล้านบาท แบ่งเงินสมทบกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคม 125 ล้านบาท สมทบกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 25 ล้านบาท รวมรายจ่ายทั้งสิ้น 2,750.5 ล้านบาท อีกภารกิจคือการส่งรายได้เข้าคลัง โดยปี 2548 เป็นเงิน 158 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 839 ล้านบาท และ 795 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 2,445 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 3,887 ล้านบาทในปี 2552 แต่ในปี 2553 ลดลงเหลือ 1,654 ล้านบาท และปี 2554 เป็นเงิน 1,700 ล้านบาท เชื่อว่า การดำเนินงานของ กสทช.ทั้งในแง่การใช้จ่ายเงินและการจัดการภารกิจสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G และอื่น ๆ ไม่มีวันหายไปจากความสนใจ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น