มองบ้านมองเมือง
ปริญญา ตรีน้อยใส
วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 คงเป็นโอกาสของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพราะทำให้ประชาชนคนไทยตระหนักหรือเข้าใจผังเมืองมากขึ้น อย่างน้อยก็รู้ว่าการใช้ที่ดินกับปัญหา
น้ำท่วมนั้นเกี่ยวข้องกัน หรือที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน
คงเหมือนที่หนุ่มเมืองจันท์เล่าว่า ต่อไปนี้คนกรุงเทพฯ หรือคนไทย เริ่มรู้จักสถานที่ต่างๆ อย่างเช่น คลองสามวาหรือถนนสายไหมภูมิลำเนาของเขา หรือกรณีทางน้ำผ่าน Flood ways ก็เป็นคำที่ได้ยินได้ฟังมาตลอด
ที่สำคัญเพิ่งรู้ว่า น้องน้ำที่มาจากทุ่งรังสิต จะต้องผ่านกรุงเทพฯ ไปลงอ่าวไทย (ฮา)
ก่อนวิกฤตน้ำท่วมชาวบ้านทั่วไปเห็นว่า ผังเมืองเป็นเรื่องวิชาการหรือเป็นหน้าที่ราชการของนักผังเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านแต่อย่างใด
นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เห็นผังเมืองเป็นขวากหนาม คอยขัดขวางไม่ให้เปิดโครงการต่างๆ
ข้าราชการเห็นผังเมืองเป็นเพียงภาพวาดสีสวย ใช้อ้างอิงเวลาตั้งงบประมาณหรือรายงานผู้บังคับบัญชา
ที่สำคัญทุกคนเห็นผังเมืองเป็นเพียงแผ่นกระดาษ ใครอยากทำอะไร ตรงไหน เลยทำได้ทั้งนั้น
หลังวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้คงรู้แล้วว่า ผังเมืองนั้นเป็นการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามสภาพ คล้ายกับการจัดแบ่งพื้นที่บ้าน เพื่อความสะดวกในการใช้สอย สัญจร และจัดการ
บริเวณใดเป็นที่ลุ่มน้ำขัง นักผังเมืองจะกำหนดให้ใช้ประโยชน์ทางด้าน เกษตรกรรม
แนวแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ก็กำหนดไว้ชัดเจนให้เป็นแหล่งน้ำบริโภค เป็นทางส่งน้ำหรือระบายน้ำตามฤดูกาล
คงรู้แล้วว่า โรงงานและมหาวิทยาลัยที่สร้างในที่ลุ่มต่ำ บ้านเรือนขวางทางน้ำ รุกทางน้ำ หรืออยู่ในแนวทางน้ำผ่าน ถนนและทางหลวงที่กั้นสูงขวางทางน้ำไหล
เมื่อรวมกันแล้ว จะกลายเป็นหายนะนานนับเดือน
เรื่องผังเมืองนี้เดิมทีมีปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่ผู้วางผังเมืองเป็นข้าราชการส่วนกลาง จึงไม่รู้สภาพแท้จริงของพื้นที่
ปัจจุบันการจัดทำผังเมืองรวม กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ทำโดยคนท้องถิ่นที่รู้จักสภาพพื้นที่ดีกว่าใคร
อย่างเช่น กรณีผังเมืองรวมเมืองชุมพร ฉบับล่าสุด มีการนำเอาบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง และทิศทางการไหลของน้ำหลากจากภูเขาที่จะไหลผ่านเมืองไปลงทะเล มาประกอบการวางผัง
มีการระบายสีกำหนดพื้นที่ให้เห็นชัดเจน พร้อมขอกำหนดให้ใช้ประโยชน์และห้ามใช้ประโยชน์อะไร
นับแต่นี้ต่อไป ชาวชุมพรคนใด คิดจะไปอยู่ในบริเวณดังกล่าว ก็ต้องเสี่ยงเอาเอง โทษใครไม่ได้ เพราะผังเมืองบอกไว้แล้ว
แม้แต่บริเวณริมทะเล ที่เคยประสบวาตภัยมาแล้วหลายครั้ง ผังเมืองรวมจะกำหนดไว้ชัดเจนบริเวณแนวพายุพัดผ่าน หากใครดื้อรั้นจะปลูกบ้าน สร้างโรงแรม ก็ต้องเตรียมการสร้างอาคารให้มั่นคงและสูงพ้นน้ำ
เหมือนกับผังเมืองรวมแม่สะเรียง ที่ผู้วางผังเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเมืองปาย ที่เกือบล่มสลาย เมื่อน้ำจากดอยหลากท่วมแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จึงกำหนดพื้นที่
สองฝั่งแม่น้ำเมย ที่จะได้รับผลกระทบเวลาน้ำป่าหลากลงมาเช่นกัน เป็นพื้นที่ควบคุมการใช้ประโยชน์และการก่อสร้างอาคาร
คนกรุงเทพฯ น่าจะอิจฉาคนแม่สะเรียง ที่นอนหลับสนิทได้แม้ยามที่ฝนฟ้าแปรปรวน
กลับมาที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ก็ได้กำหนดพื้นที่ทางฝั่งพระนคร คือ คลองสามวาและมีนบุรี เป็นสีเขียวอ่อน สำหรับการใช้ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และหนองจอกและลาดกระบัง เป็นสีเขียวเข้ม สำหรับการใช้ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ส่วนทางฝั่งธนบุรี คือ ตลิ่งชันและบางแค เป็นสีเหลืองเขียว สำหรับการใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยแบบชนบทและเกษตรกรรมเท่านั้น
ปัญหาอุทกภัยคราวนี้ คงให้บทเรียนชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่เขตผู้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ผิดประเภทหรือสร้างอาคารผิดแบบ คณะกรรมการจัดสรรที่ดิน คณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีไอเอ ผู้อนุญาตโครงการบ้านจัดสรร รวมทั้งผู้บริหาร กทม. ที่ปล่อยปละละเลย จนเกิดความเสียหาย
ถ้าวิกฤตคือโอกาส วารีพิโรธคราวนี้ คงทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของผังเมือง และเข้าใจหน้าที่ว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น