โลกออนไลน์ร้องระงม มะกันเข็น กม.เซ็นเซอร์ออนไลน์
วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:02:52 น.
Share
| ต่างประเทศ
ตื่นตระหนกกันไปทั่วโลกธุรกิจออนไลน์ เมื่อรัฐบาลสหรัฐ เสนอกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ โดยเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ
คือ กฎหมายคุ้มครองไอพี (โพรเท็กต์ ไอพี แอกต์ หรือ พีพา-PIPA) กับ กฎหมายหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (สต็อพ ออนไลน์ ไพรเวซี แอ็กต์ หรือ โซพา-SOPA) เพื่อจัดการกับบรรดาเว็บไซต์ที่นำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง ทำให้บรรดายักษ์ใหญ่แห่งโลกออนไลน์ทั้งหลาย ต่างพากันออกมาประท้วงในรูปแบบต่างๆ กันวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล วิกิพีเดีย มอซซิลลา ฟลิกเกอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต่างไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่ว่ากันว่า เป็นกฎหมายเหมือนกับที่ใช้เซ็นเซอร์เว็บไซต์ต่างๆ ในจีน มาเลเซีย และอิหร่าน เลยทีเดียว โดยเจ้าแรกที่ประกาศประท้วงร่างกฎหมายทั้งสอง และที่เป็นข่าวคราวใหญ่โตขึ้นมาคือ วิกิพีเดีย เว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปร่วมกันเขียนสารานุกรมออนไลน์ขึ้น และน่าจะเป็นเว็บที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจัดการมากที่สุดในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยวิกิพีเดียประท้วงด้วยการปิดเว็บไซต์วิกิพีเดียภาคภาษาอังกฤษเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเต็ม ในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมข้อความประท้วงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของร่างกฎหมายดังกล่าว
การปิดบริการชั่วคราวของวิกิพีเดีย ทำเอาหลายคนปวดหัวไปตามๆ กัน เพราะหาข้อมูลที่ต้องการไม่ได้จากเว็บไซต์ที่คุ้นเคย แต่ก็กลับมาใช้งานได้ตามปกติหลังจากนั้น ขณะที่เว็บไซต์กูเกิล เสิร์ชเอ็นจิ้นยอดฮิตเอง ก็มีข้อความเรียกร้องให้ประชาชนร่วมรณรงค์ต่อต้านร่างกฎหมายเซ็นเซอร์ออนไลน์ดังกล่าว
เช่นเดียวกับทวิตเตอร์ ยาฮู และอีกหลายบริษัท ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่นำเสนอครั้งนี้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เพราะบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงทั้งหลาย ทั้งผู้ผลิตภาพยนตร์และเพลงต่างสนับสนุนให้เกิดกฎหมายดังกล่าว เพื่อปราบปรามบรรดาผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีแรงต่อต้านออกมาจำนวนมาก ปรากฏว่า สภาสหรัฐ ได้เลื่อนการออกกฎหมายทั้งสองฉบับออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของกฎหมายทั้งสองฉบับอีกครั้ง ว่า เป็นการละเมิดเสรีภาพบนโลกออนไลน์จริงหรือไม่
มาทำความรู้จักกับกฎหมายทั้งสองฉบับกันดีกว่า โดยโซพา และพีพา เกิดขึ้นจากความพยายามของบรรดาองค์กรภาคอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงทั้งหลาย ที่เรียกร้องให้ภาครัฐหาทางยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่อย่างมากมายบนโลกออนไลน์ และ "พีพา" ได้ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถูกนำขึ้นเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงไอทีได้เริ่มการต่อต้านอย่างหนัก ขณะที่โซพายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาอยู่ หากร่างกฎหมายทั้งสองผ่านเรียบร้อย ก็เท่ากับเป็นการให้อำนาจแก่กระทรวงยุติธรรมในการปิดบล็อกหรือเว็บไซต์ใดๆ ได้ตามใจชอบ ในขณะที่กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและรัฐบาลสหรัฐจะต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออำนาจในการสั่งปิดเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ร่างกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับจึงเหมือนกับการให้อำนาจแก่ผู้ปกครองในการสั่งปิดเว็บไซต์โดยไม่ต้องขอความเห็นจากใคร
แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจว่า ร่างกฎหมายเซ็นเซอร์ออนไลน์ทั้งสองจะเลื่อนออกไปแล้ว เพราะยังมีร่างกฎหมายอีกฉบับที่อยู่ระหว่างถูกเสนออยู่ในขณะนี้ในวุฒิสภาสหรัฐ เป็นร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองออนไลน์และการบังคับใช้การค้าดิจิตอล หรือโอเพน ที่เพิ่งจะเสนอไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม วันเดียวกับที่วิกิพีเดียปิดบริการชั่วคราวไป ความแตกต่างของโอเพนกับกฎหมายอีก 2 ฉบับที่เป็นปัญหาคือ โอเพน จะให้ความคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์กว้างออกไป เพราะจะอนุญาตให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์จากเว็บไซต์ต่างชาติได้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของโอเพน ที่จะจัดการกับเว็บไซต์ต่างชาติที่ขโมยผลงานของศิลปินหรือนักประดิษฐ์ของชาวอเมริกันไป แต่ดูเหมือนร่างกฎหมายโอเพนจะไม่ค่อยถูกใจบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์เสียเท่าไหร่ เพราะมีขอบเขตอำนาจที่แคบเกินไป แถมยังไม่ได้จัดการใดๆ กับบรรดาเสิร์ชเอ็นจิ้น และยังไม่เป็นได้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ หากแต่รัฐบาลสหรัฐก็ยังยืนยันว่า เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์จากเว็บไซต์ต่างชาตินั้นยังเป็นปัญหาร้ายแรงที่ต้องนำกฎหมายเข้ามาแก้ไข ส่วนเรื่องของพีพา หรือโซพา นั้น รอให้หาข้อยุติให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาว่ากันต่อไป
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327739019&grpid=no&catid=50&subcatid=5000 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น