วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเมินผลการทำงาน 1 ปี กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม

http://www.siamintelligence.com/nbtc-1-year-evaluation/

ประเมินผลการทำงาน 1 ปี กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
Siam Intelligence Unit

บทความนี้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ "1 ปี กสทช. กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย"  วันที่ 24 ธันวาคม 2555 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค จัดโดยสำนักงาน กสทช. โดยผู้เขียนร่วมอภิปรายในส่วนของกิจการด้านโทรคมนาคม และมีผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ร่วมอภิปรายในหัวข้ออื่นๆ อีกมาก

ผู้เขียนทำงานกับ กสทช. ในฐานะ "อนุกรรมการ" ที่เป็นบุคคลภายนอก จำนวน 2 คณะ คือ

  • คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ GHzเพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced
  • คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ระบบเซลลูล่า Digital PCN (Personal Communication Network) 1800 MHz

มุมมองทั้งหมดของการประเมินผลการทำงาน กสทช. อยู่ในฐานะ "บุคคลภายนอก" ที่เคยทำงานร่วมกับสำนักงาน กสทช. และมีจุดประสงค์เพื่อแนะแนวทางการทำงานของ กสทช. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสำคัญ

nbtc กสทช

กรอบการประเมิน

ผู้เขียนใช้กรอบการประเมินผลงานของ กสทช. โดยอิงกับ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) (ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา) ที่ประกาศโดย กสทช. เอง ในแผนการนี้แบ่งภาระงานของ กสทช. ฝั่งโทรคมนาคม ออกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด 6 ข้อ (หัวข้อ 3 พันธกิจ ในแผนงาน) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าครอบคลุมเพียงพอ และสามารถใช้เป็นกรอบในการประเมิน กสทช. ตามหมวดงานเหล่านี้ได้ ถึงแม้แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมจะเป็นแผนงานในระยะยาว (5 ปี) และใช้ตัวชี้วัดรวมสำหรับแผนงานระยะยาว  ซึ่งมีระยะเวลาต่างไปจากการประเมินผลงาน 1 ปีแรก แต่ผู้เขียนประเมินจาก "แนวทาง" เป็นหลักมากกว่ายึดตัวเลขชี้วัดอย่างตายตัว

หมวดงานทั้ง 6 ประเภท ได้แก่

  1. การอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ
  2. การกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการ
  3. การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
  4. การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
  5. การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมให้ได้ใช้บริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม และได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ
  6. การเตรียมความพร้อมในกิจการโทรคมนาคมให้สามารถแข่งขันในระดับสากล

และผู้เขียนได้เพิ่มหัวข้อการประเมินที่ 7. เรื่อง "ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กสทช." เข้ามาอีกหนึ่งข้อด้วย

1. การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.

  • เพิ่มระดับการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคม
  • ลดอัตราค่าบริการโทรคมนาคม

ผลงาน 1 ปีแรก

ประเด็นเรื่องระดับการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม

ในแง่ "ระดับการแข่งขัน" ของกิจการโทรคมนาคม ยังมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 3 รายเท่าเดิม แต่ในประเด็นนี้คงโทษ กสทช. อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของทุน โอกาสธุรกิจ และสภาพของตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยเองด้วย ซึ่งด้วยโครงสร้างของตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นถือว่าเป็นตลาดที่อิ่มตัว (saturated) มากแล้ว การจะหาผู้เล่นรายใหญ่รายใหม่เข้ามาเป็นเรื่องยากมาก และ กสทช. ควรไปส่งเสริมการแข่งขันในระดับของผู้ให้บริการรายย่อยที่ไม่มีโครงข่ายเอง (MVNO หรือ mobile virtual network operator) มากกว่า

กสทช. มีความพยายามผลักดัน MVNO โดยระบุไว้ในกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 2.1GHz อยู่แล้ว เพียงแต่การประมูลเพิ่งสิ้นสุดและเพิ่งอนุมัติใบอนุญาต ก็ต้องรอดูสถานการณ์ของการแข่งขันในตลาด MVNO ต่อไปในปี 2556

ในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเดิม 3 ราย ยังมีมิติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงข่ายร่วมกัน (infrastructure sharing) ทาง กสทช. มีความพยายามเรื่องนี้โดยออกประกาศแล้ว แต่ในทางปฏิบัติต้องรอดูว่าผู้ประกอบการปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน และอาจมีข้ออ้างที่นอกเหนือจากในประกาศเพื่อกีดกันคู่แข่งมาใช้สาธารณูปโภคร่วม เช่น ไฟฟ้าไม่พอ เสารับน้ำหนักไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ กสทช. ในการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติต่อไป
  • การย้ายเครือข่ายของผู้บริโภคด้วย MNP หรือ mobile number portability (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ถึงแม้จะทำได้จริง แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ผู้ให้บริการพยายามกีดกันการย้ายค่ายของลูกค้า ด้วยการจำกัดจำนวนเบอร์ที่สามารถย้ายได้ต่อวัน ซึ่ง กสทช. เองต้องลงมาแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยยังมีลักษณะพิเศษเรื่อง "สัมปทาน" ระหว่างเอกชนกับรัฐวิสหากิจ 2 ราย ซึ่งมีประเด็นที่น่าจับตา 2 เรื่อง

  • ถึงแม้สัญญาระหว่าง CAT กับ TRUE ในกรณี TrueMove H ยังไม่ได้ข้อยุติ (ประเด็นนี้มีองค์กรเกี่ยวข้องหลายองค์กร ไม่ใช่เฉพาะ กสทช. เพียงรายเดียว)
  • การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz ระหว่าง CAT กับ TrueMove และ GSM1800 ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการคืนคลื่น และการเยียวยาผู้บริโภค

ประเด็นเรื่องการลดค่าบริการโทรคมนาคม

  • อัตราค่าบริการโทรคมนาคมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2G/3G บนคลื่นเดิม แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • กสทช. มีความพยายามลดเพดานราคาของค่าบริการบนคลื่น 2.1GHz แต่ยังไม่เห็นผล เนื่องจากการประมูล-ออกใบอนุญาตเพิ่งได้ข้อยุติ
  • บรอดแบนด์แบบมีสาย (ADSL) ยังแข่งกันที่ระดับความเร็ว แต่ไม่ลดราคาขั้นต่ำ 590 บาทต่อเดือนลง ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึง กสทช. ควรลงมากระตุ้นตลาดให้เอกชนจัดแพกเกจบริการที่ราคาถูกลงกว่าเดิม แต่อาจได้ความเร็วไม่สูงนักแทน

2. การออกใบอนุญาต-จัดสรรคลื่นความถี่

เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.

  • จำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม
  • มีประเภทของบริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น
  • มีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมมากขึ้น

ผลงาน 1 ปีแรก

ประเด็นเรื่องจำนวนผู้ประกอบการ และพื้นฐานการแข่งขันที่เท่าเทียม เขียนไปบางส่วนแล้วในหัวข้อที่ 1. เรื่องระดับการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจขององค์กรต่างด้าว ซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการจากภายนอกประเทศอีกด้วย

ในแง่ "ประเภทของบริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ" อาจถือว่าการประมูลคลื่น 2.1GHz สำหรับบริการ 3G พอเป็น "เทคโนโลยีใหม่ๆ" ได้

ในแง่ของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มากขึ้น ถือว่าการประมูลคลื่น 2.1GHz เข้าข่ายนี้ ถึงแม้ว่า กสทช. จะประสบปัญหาและกระแสคัดค้านอย่างมากมายระหว่างการประมูล แต่สุดท้ายก็สามารถฝ่าด่านต่างๆ และจัดสรรคลื่นได้สำเร็จ ซึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายหนึ่งที่วางแผนไว้

3. การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.

  • ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง
  • มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นร่วมกันสำหรับผู้ประกอบกิจการมากขึ้น
  • มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการโทรคมนาคม
  • มีแผนหรือมาตรการร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ

ผลงาน 1 ปีแรก

ประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ถือว่าการออก "ใบอนุญาต" โทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2.1GHz ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลง เนื่องจากต้องหักส่วนแบ่งรายได้ส่ง กสทช. น้อยลงกว่าระบบสัญญาสัมปทานเดิมมาก ในแง่นี้ถือว่าประสบความสำเร็จ

ประเด็นเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เขียนไปแล้วในหัวข้อที่ 1.

ประเด็นเรื่องการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งาน

  • เราอาจถือว่า 3G เป็นเทคโนโลยีใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยได้
  • โครงการอื่นๆ ที่ริเริ่มไว้ในสมัย กทช. เช่น Broadband Wireless Access (BWA) ยังไม่เห็นผลงาน
  • โครงการที่ควรผลักดันอย่าง Fiber Optics ยังไม่เห็นความชัดเจน

ประเด็นเรื่องแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน-ภัยพิบัติ ยังไม่เห็นผลงาน

  • โครงการหมายเลขสายด่วนกลางสำหรับเหตุฉุกเฉิน (เหมือน 911 ในต่างประเทศ) ยังไม่มีความคืบหน้า
  • แนวคิดการแชร์โครงข่ายโทรศัพท์ในช่วงเกิดภัยพิบัติ ยังไม่เห็นความชัดเจน
  • แนวคิดเรื่องคลื่นความถี่สำหรับสาธารณภัย ยังไม่เห็นความชัดเจน

4. บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง

เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช. (รอบ 5 ปี)

  • มีแผนการบริการ USO (universal service obligation) ภายใน 1 ปี (นับจากแผนแม่บทประกาศใช้ ไม่ใช่นับจากอายุการทำงานของ กสทช.)
  • บริการเสียง ครอบคลุม 95% ของประชากร
  • บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2Mbps ครอบคลุม 80% ของประชากร

ผลงาน 1 ปีแรก

การประเมินผลในเชิงตัวเลขอาจยังทำไม่ได้ในขณะนี้ แต่ในภาพรวมแล้ว กิจกรรมด้าน universal service obligation ของ กสทช. ยังถือว่าอยู่ในเชิงตั้งรับ เน้นการ "ให้ทุน" จากกองทุน USO ที่มีเงินจำนวนมหาศาลเป็นหลัก เช่น การให้เงินสนับสนุนโครงการ Wi-Fi ฟรีของกระทรวงไอซีที มูลค่า 950 ล้านบาท เป็นต้น

การให้ทุนสนับสนุนโครงการ USO เพื่อขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเรื่องที่ดี แต่ กสทช. ควรระวังเรื่องยุทธศาสตร์นี้ในระยะยาวว่าจะกลายเป็นเพียง "องค์กรให้ทุน" แหล่งใหม่หรือไม่ และ กสทช. เองน่าจะมีโครงการสนับสนุน USO ในเชิงรุกมากขึ้น นอกเหนือไปจากการให้ทุนองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เว็บไซต์งานด้าน USO ของ กสทช. ยังขาดการปรับปรุงและไม่ค่อยอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากนัก

5. การคุ้มครองผู้บริโภค

เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.

  • จัดทำหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เสร็จภายใน 2 ปี
  • จัดทำหลักเกณฑ์การควบคุมคุณภาพบริการประเภทข้อมูลให้เสร็จภายใน 2 ปี
  • ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม

ผลงาน 1 ปีแรก

ตัวชี้วัดในเรื่องแผนกำหนดระยะเวลา 2 ปี จึงประเมินได้ลำบากในขณะนี้ ส่วนการประเมินความตระหนักรู้ของผู้บริโภคก็ทำได้ยากเช่นกัน ในหัวข้อนี้จึงใช้การประเมินจากสถานการณ์ของผู้บริโภคในรอบปีแทน

สถานการณ์ด้านผู้บริโภคในปี 2555 เกิดปัญหาเครือข่ายล่มบ่อยครั้ง (โดยเฉพาะจาก DTAC) ซึ่ง กสทช. เองก็ทำหน้าที่ไม่ได้มากนักนอกจากสั่งปรับตามฐานความผิด ส่วนประเด็นปัญหาด้านผู้บริโภคก็ยังเต็มไปด้วยปัญหาเดิมๆ เช่น SMS ขยะ, คิดเงินผิด, roaming เน็ตรั่วต่างประเทศ, คุณภาพสัญญาณ, การจำกัดจำนวน number portability, บัตรเติมเงินหมดอายุ, ตู้เติมเงินคิดค่าบริการสูง ฯลฯ ในภาพรวมแล้ว กสทช. ยังไม่สามารถนำปัญหาซ้ำซากเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นการแก้ไขเชิงนโยบายได้เลย ทำให้ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดซ้ำซากอยู่ตลอด

ส่วนการรับเรื่องร้องเรียน-ระงับข้อพิพาทก็ยังล่าช้าและเต็มไปด้วยกระบวนการเอกสาร ซึ่งปัญหาด้านผู้บริโภคนี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องปรับปรุงอย่างมากในปีหน้า

ข้อมูลเพิ่มเติม ความเคลื่อนไหวของ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในเดือนธันวาคม 2555

NBTC ASEAN

เว็บไซต์ กสทช. ด้านอาเซียน

6. อาเซียน-ความร่วมมือระหว่างประเทศ

เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.

  • มีมาตรการรองรับด้านกิจการโทรคมนาคม สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
  • พัฒนา ปรับปรุง ออกกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

ผลงาน 1 ปีแรก

ประเด็นด้านกฎระเบียบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ผู้เขียนไม่มีข้อมูลด้านนี้ จึงไม่ขอประเมิน

ส่วนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ยังไม่เห็นความชัดเจนนอกจากการจัดสัมมนา ศักยภาพและความพร้อมของกิจการโทรคมนาคมไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และเปิดเว็บไซต์ด้านอาเซียน เท่านั้น

ผู้เขียนมีข้อเสนอ 2 ประการเพื่อยกระดับกิจการโทรคมนาคมของไทยในมิติของอาเซียน ดังนี้

  • ปรับปรุงและแก้ไขอุปสรรคของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ต่อการเข้าทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น กฎเกณฑ์ต่างด้าว หรือ เอกสารบนเว็บไซต์ กสทช. ควรมีภาษาอังกฤษกำกับให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  • กสทช. ควรจับมือกับหน่วยงานด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในอาเซียน ผลักดันค่าบริการโรมมิ่งในอาเซียน (ASEAN Roaming) ให้ถูกลง เพื่อเพิ่มระดับการใช้งานบริการโทรคมนาคมระหว่างการค้าขายในอาเซียน

7. ประสิทธิภาพในการทำงานของ กสทช.

ผู้เขียนขอแบ่งประเด็นออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

การเข้าถึงประชาชน

  • กระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศ (public hearing) ที่ผ่านมายังมีลักษณะเป็นการ "ทำเพื่อให้ครบกระบวนการของกฎหมาย" มากกว่าการรับฟังความเห็นจริงๆ เพราะ กสทช. ไม่มีกระบวนการรวบรวมข้อมูล เปิดเผย และอธิบายประเด็นว่าจุดไหนรับฟังและแก้ไข-จุดไหนไม่แก้ไข อย่างเปิดเผยและเข้าถึงได้มากนัก การออกประกาศถือเป็นงานสำคัญของ กสทช. และควรให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก
  • กสทช. ยังขาดฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่มีความแม่นยำและทันสมัย
  • การประชาสัมพันธ์ของ กสทช. ในมิติด้านผู้บริโภคยังน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังมีเฉพาะการประชาสัมพันธ์ "ภาพลักษณ์องค์กร" ของ กสทช. เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากนัก
  • เว็บไซต์ กสทช. เอง ก็เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ยาก ถึงแม้จะมีการปรับปรุงระบบมาแล้ว 1 ครั้ง

งบประมาณ-บุคลากร

  • งบประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมของ กสทช. มากเกินไปหรือไม่?
  • จำนวนบุคลากรของ กสทช. ต่อผลลัพธ์ของงานที่ออกมา มีสัดส่วนมากเกินไปหรือไม่? (เจ้าหน้าที่ประมาณ 1,000 คน ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2554)
  • ประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการประเมินอย่างไร?
  • จำนวนคณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้ง มีมากเกินไปหรือไม่ และมีการเรียกประชุมบ่อยครั้งเพียงใด?

ข้อมูลประกอบ

รายจ่ายของ กสทช. ประจำปี 2555 (นับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน) ใช้ตัวเลขโดยประมาณ (ที่มา กสทช.)

  • รายจ่ายบุคลากร 960 ล้านบาท
  • รายจ่ายดำเนินงาน 1,416 ล้านบาท
  • รายจ่ายสิ่งก่อสร้าง-ครุภัณฑ์ 93 ล้านบาท
  • เงินสมทบกองทุนฯ 175 ล้านบาท
  • รวม 2,690 ล้านบาท

งบประมาณ กสทช. 2554

ข้อมูลจาก รายงานประจำปี กสทช. 2554

สรุป

การดำเนินงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ในปี 2555 มีความเคลื่อนไหวพอสมควร โดยเฉพาะการประมูลคลื่น 2.1GHz ที่สามารถดำเนินไปได้ลุล่วงตามแผน มีการออกประกาศที่สำคัญในหลายเรื่อง แต่ กสทช. ยังไม่ค่อยมีผลงานในมิติด้านอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า "สอบตก" ในปี 2555 และงานด้าน USO (บริการโทรคมนาคมทั่วถึง) ที่ไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น

ในภาพรวมแล้ว กสทช. ยังสมควรถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และงบประมาณที่ใช้ไปตลอดปี โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์การประมูล 3G และกิจกรรมบางประเภทที่อาจไม่คุ้มค่างบประมาณมากนัก

ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.

ข้อเสนอเร่งด่วนสำหรับปี 2556

  • กสทช. ต้องรีบเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาคลื่น 1.8GHz หมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556
  • กสทช. ต้องรีบกำกับดูแลบริการประเภทข้อมูล (data service) ทั้งในแง่ราคาและคุณภาพการให้บริการ ทั้งบนคลื่น 2.1GHz และคลื่นความถี่เดิม
  • กสทช. ต้องเร่งแก้ปัญหาด้านผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและจริงจัง
  • กสทช. ต้องใช้นโยบายเชิงรุกกับโครงการด้าน USO แทนนโยบายเชิงรับอย่างที่ทำอยู่
  • ควรเจรจาทำระบบ ASEAN Roaming ที่ราคาถูกทั่วทั้งภูมิภาค
  • ปรับปรุงเว็บไซต์ กสทช. ให้ใช้งานได้ง่าย มีข้อมูลทันสมัยตลอดเวลา

ข้อเสนอระยะยาว

  • กสทช. ควรจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจทางนโยบาย และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
  • ประเมิน ตรวจสอบ ปรับปรุง ประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงาน กสทช. ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว ฉับไว มากขึ้น
  • ใช้งบประมาณกับการประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาด ไม่เน้นไปที่การจัดกิจกรรมระยะสั้นหรือการซื้อพื้นที่สื่ออย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
  • ปรับปรุงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (public hearing) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เอกสารประกอบการบรรยายจากงานเสวนา

ข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อ


 

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. ยื่นหนังสือสภาทนายความ เดินหน้าฟ้อง "แคลิฟอร์เนียว้าวฟิตเนส" หลังคดีไม่คืบ

http://goo.gl/wTZlw 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าว

 

"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจับมือสภาทนายความเดินหน้าฟ้องคดี  บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ พร้อมเรียกร้องหน่วยงานรีบดำเนินคดีอาญา""

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาผู้ที่ประสบปัญหาจากการที่บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ ปิดสาขาบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า รวมทั้งไม่มีมาตรการชดเชยความเสียหายให้กับสมาชิก

เข้ายื่นหนังสือและให้ข้อมูลกับ สภาทนายความ     เพื่อดำเนินการฟ้องคดี  กับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ

อย่างเร่งด่วน !!!!

 

วันพุธที่ 26 ธันวาคม 2555 เวลา 9.30

ณ สภาทนายความ 7/89 อาคาร 10 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

 

ติดต่อประสานงาน

นางรัสนา  ฐิติวงษา  // นางสาวนฤมล  เมฆบริสุทธิ์ 

โทร  089-788-9152  // 084-652-4607 หรือ 02-248-3737

 



 
ขอแรงร่วมเชียร์ "กฎหมายชูกำลัง เสริมพลังผู้บริโภค"
พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ ม.61
ขอ ครม. มีมติเห็นชอบ ด่วน!!!!

 
 นฤมล เมฆบริสุทธิ์
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท

เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02-248-3734-7 โทรสาร 02-248-3733
วันทำการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
www.consumerthai.org

อยากช่วยงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อ่าน ฉลาดซื้อ สมัครสมาชิกฉลาดซื้อ ดูรูปเล่มและรายละเอียดเพิ่มเติม คลิ๊ก www.ฉลาดซื้อ.com



 

H B Y 2013

 


 
 

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ขอเชิญบริจาคหนังสือแก่เด็กชาวดอยครับ

 
จาก: ICOMOS Thailand <admin@icomosthai.org>
วันที่: 24 ธันวาคม 2555, 9:43
หัวเรื่อง: ขอเชิญบริจาคหนังสือแก่เด็กชาวดอยครับ
ถึง: ICOMOS Thailand <admin@icomosthai.org>


สวัสดีครับ
 
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสอ่านอนุสาร อสท ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2555 และได้อ่านบทสัมภาษณ์ครูสุภาพ พุมเรียงป่า ในคอลัมน์ "ดอกไม้งามบนดอยอมพาย" หน้าที่ 55 ทำให้ผมได้รู้ว่าครูครูสุภาพอยากมีห้องสมุดเล็กๆ ที่โรงเรียนของครู คือ โรงเรียนบ้านแม่และ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58120

ดังนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความตั้งใจของครูเป็นจริง ผมจึงได้ส่งหนังสือใหม่จำนวน 20 เล่มไปให้ครูสุภาพ เป็นหนังสือการ์ตูนสร้างสรรค์ หนังสือสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและความรู้ทั่วไป (ไม่ใช่ตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ) ที่เหมาะสมกับสำหรับเด็กนักเรียน ป.1 – ป.6 อย่างน้อยเด็กของครูสุภาพก็จะได้มีหนังสืออ่านในขณะที่รอห้องสมุดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ถ้าพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ท่านใดสนใจทำบุญปีใหม่กับเด็กด้อยโอกาสในป่าเขาก็ช่วยกันได้ครับ ผมยินดีเป็นตัวกลางส่งหนังสือไปให้ด้วยตัวเองครับ ผมหวังว่าหนังสือเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้นักเรียนของครูสุภาพได้พัฒนาความรู้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าการให้ความรู้แก่เด็กๆ ในทิศทางที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะน้องๆ เหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นคนดีของประเทศเราครับ

ปริญญา ชูแก้ว
เลขานุการและกรรมการสมาคมอิโคโมสไทย
-- 
ICOMOS Thailand Association
81/1, Si Ayutthaya Rd.,
Dusit, Bangkok, THAILAND 10300
Tel./Fax. +66 2 2801770


 

Merry Christmas & Happy New Year 2013




               

E-Newsletter


Chula Global network



Merry Christmas and Happy New Year 2013


Merry Christmas and Happy New Year. Hope the season finds you in good cheer.

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖

Sawasdee Pee Mai 2556

From

Chula Global Network,

ASEAN Studies Center,

Indian Studies Center

Chulalongkorn University




Public Lecture


"Asia Production Networks and Trade Policy in Turbulent Times"

 by Dr. Ganeshan Wignaraja

11 January 2013

13.30 – 15.30 hrs.

Saranites Conference Room, Main Auditorium, 2nd Floor
Chulalongkorn University

Registration Online

Registration Form     Invitation Letter (Thai)   Invitation Letter (English)


Chula Global Network (CGN) and the Centre for International Economics, Faculty of Economics, Chulalongkorn University are very pleased to invite you to the Public Lecture entitled "Asia Production Networks and Trade Policy in Turbulent Times", by Dr. Ganeshan Wignaraja, Director Research, Asian Development Bank Institute (ADB). The event will be held on Friday, 11th January 2013, 13.30-15.30 hrs. at Saranites Conference Room, Main Auditorium, Chulalongkorn University. 

The objective of this special lecture is to serve as a platform for the exchange of information, insight, knowledge and ideas on the future of Asia's production networks and trade policy in turbulent times. The lecture could also address important issues on the changing dynamics of production networks, the link between production networks and trade policy and policy options and possible scenarios for linking TPP and RCEP.

In this regard, we would be very honored if your schedule permits to attend the event. Please submit the attached reply form to Chula Global Network by Wednesday, 9th January 2013. Should you require further information, please feel free to contact Mr Warawudh Sangaram, CGN Academic Networking Coordination Officer at tel. 02-218-3932-3 fax. 02-218-3934 email: chulaglobal@chula.ac.th. We look forward to welcoming you to this special event.

 

Chula Global Network
254 Chulalongkorn University Vidhayapattana Building, 3rd Fl., Phyathai Road, Bangkok 10330

Tel: +66 2 218 3932-3 Fax:+66 2 218 3934

Website: www.chula.ac.th/chulaglobal

 


 

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โสเภณีกับพระพุทธศาสนา โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

 รูปภาพ
โสเภณีกับพระพุทธศาสนา 
โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก 

โสเภณี ย่อมาจากคำเต็มว่า นครโสเภณี ซึ่งดีทั้งทางความหมายและเกียรติยศ

นครโสเภณี แปลว่า สตรีที่ยังนครให้งาม หรือสตรีงามเมือง ชื่อนี้เป็นตำแหน่งที่พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเชียวนะครับ ไม่ใช่ย่อยๆ คนที่ได้รับตำแหน่งนี้ต้องเป็นสตรีที่งามเลิศจริงๆ ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่แพ้ประกวดนางสาวจักรวาลเชียวแหละ

ธรรมเนียมการแต่งตั้งหญิงนครโสเภณี ดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่เมืองไพศาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชีก่อน แคว้นนี้มีความคิดก้าวหน้าในด้านต่างๆ มาก ทางการปกครองก็นำเอาระบบรีพับลิก หรือสาธารณรัฐมาใช้ ผู้ปกครองเมืองต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่กันเป็นเทอม หมดเทอมก็ออกเลือกตั้งผู้ปกครองใหม่ขึ้นมาแทน

วัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งสตรีงามเมือง เพื่อดึงดูดใจเงินตราต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ

กษัตริย์ และพวกพ่อค้าวาณิชต่างเมือง เมื่อรู้ว่าเมืองไหนมีหญิงงามเมืองเลอโฉม ก็พากันไปเที่ยวหาความสำราญ ขนเงินขนทองไปให้คราวละมากๆ เธอจึงเสมือนแม่เหล็กดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างมหาศาล เจ้าของประเทศไม่ต้องทำอะไร นั่งนับเงินมือเป็นหวัดทีเดียว

นับว่าพวกวัชชีนี้หัวแหลมจริงๆ

นางนครโสเภณีของเมืองไพศาลีคนหนึ่ง ที่เดินเข้ามาในประวัติพุทธศาสนา จนผมต้องนำมาจั่วหัวเรื่องว่า "โสเภณีกับพระพุทธศาสนา" นั้นชื่อว่า อัมพปาลี พูดถึงความงามก็คงไม่แพ้นางสาวโลกนางสาวจักรวาลสมัยนี้แน่ เท่าที่ทราบจากหลักฐานที่จารึกไว้เธอเป็นตัวเงินตัวทองดึงดูดเงินตราเข้า ประเทศอย่างมหาศาล

ขนาด พระเจ้าพิมพิสาร อยู่ถึงเมืองราชคฤห์ ก็เทียวไล้เทียวขื่อเป็น "ขาประจำ" ของเธออย่างสม่ำเสมอ

กษัตริย์องค์นี้ ตำราศาสนาว่า เป็นโสดาบันเสียด้วยซ้ำ

ไม่ทราบว่า ตอนที่เข้าออก "ซ่อง" อยู่ทุกบ่อยนี้เป็นโสดาบันหรือยัง หรือว่ามาบรรลุธรรมเอาทีหลัง ตำรามิได้บอกไว้ แต่ถ้าเป็นอย่างแรกก็แสดงว่านางอัมพปาลีนี่มีเสน่ห์มิใช่ย่อยเอาทีเดียว

ขนาดพระโสดาบันยังหลง ว่างั้นเถอะ

พิเคราะห์ดูตามประวัติ กษัตริย์พิมพิสารคงเป็นชายหนุ่มเจ้าสำราญเอาการอยู่ ไม่ว่าเมืองไหนมีนางงามเมือง ไปเที่ยวหมด อย่างเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี อยู่ห่างเมืองราชคฤห์ตั้งหลายร้อยโยชน์ ท้าวเธอยังไปย่ำมาซะโชกโชน เผลอไผลลืมใส่ "มีชัย" หรือไงไม่ทราบ (สมัยนั้นมีหรือยังตำราไม่ได้บอกไว้) ไปไข่ทิ้งไว้ให้ นางปทุมวดี นางงามเมืองผู้เลอโฉมของอุชเชนี เข้าจนได้ 

พอคลอดออกมาแม่ก็เลยส่งลูกชายมาให้กษัตริย์พิมพิสารเลี้ยงไว้ในวังเมืองราชคฤห์ ลูกชายคนนี้ชื่อ เจ้าอภัยราชกุมาร ผู้เป็นพ่อเลี้ยงหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งผมจะเล่าทีหลัง

ระยะที่พิมพิสารไปมาหาสู่นางอัมพปาลีอยู่นั้นเอง นางก็ตั้งครรภ์ขึ้นด้วยความประมาท คลอดออกมาเป็นชาย ตั้งชื่อให้ว่า วิมล ว่ากันว่าเจ้าหนูน้อยวิมลคนนี้ก็เป็นผลงานของพิมพิสารกษัตริย์โสดาบันเจ้าสำราญเหมือนกัน ดีที่แม่เธอไม่ส่งให้ไปเลี้ยงไว้อีก ไม่งั้นราชสำนักเมืองราชคฤห์คงเต็มไปด้วยลูกนางโสเภณี

หลังจากขนเงินไปทิ้งให้ประเทศเพื่อนบ้านมากแล้ว พิมพิสารก็ได้คิดว่าตนเองน่าจะหาทางดูดเงินกลับคืนมาบ้าง จึงสั่งให้ประกวดสาวงามทั่วกรุงเพื่อแต่งตั้งเป็นนางนครโสเภณี ผลการประกวดปรากฏว่าสตรีแน่งน้อยนาม สาลวดี ชนะที่ ๑ และได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งที่เชิดชูตาของนครราชคฤห์

ไม่ต้องสงสัย พิมพิสารย่อมเป็นคน "เบิกฤกษ์" เป็นคนแรกและเทียวไล้เทียวขื่อมิได้ขาด จนกระทั่งได้ลูกชายด้วยความเผลอมาคนหนึ่ง บังเอิญเด็กคนนี้กลายเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในคราวต่อมา จึงขอเล่าเรื่องโดยละเอียด ณ ที่นี้ซะเลย

พอรู้ว่าตั้งครรภ์ สาลวดีเธอก็งดรับแขก ใครมาหาเธอก็สั่งให้บอกว่าไม่สบาย ไม่พร้อมที่จะรับแขก จนกระทั่งคลอดลูกเป็นชาย เธอตัดสินใจสั่งให้เอาไปทิ้ง ใครจะว่าใจยักษ์ใจมารก็ช่างเถอะ ถ้าใครๆ รู้ว่าเธอมีลูก ราคาเธอคงจะตกฮวบฮาบ หรือไม่อาจถูก "ปลด" ออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรติก็ได้ (อย่าลืมนะครับ สมัยโน้นโสเภณีมีเกียรติมาก มิได้เป็นกันง่ายๆ อย่างสมัยนี้) เธอสั่งให้นำลูกไปทิ้งในที่ที่จะมีคนเดินไปพบ เผื่อบุญวาสนาส่งลูกชายเธออาจมีผู้มีอันจะกินนำไปอุปการะก็ได้

นับว่าเธอคาดการณ์ไม่ผิด หรือชะรอยจะเป็นบุญของเด็กน้อยก็มิทราบ เช้าวันนั้น อภัยราชกุมารโอรสกษัตริย์พิมพิสาร ออกมอร์นิ่งวอล์กแต่เช้าพร้อมกับข้าราชบริพาร ได้เห็นกาฝูงหนึ่งร้องเซ็งแซ่อยู่ข้างหน้า จึงรับสั่งให้มหาดเล็กวิ่งไปดูว่าฝูงกามันรุมล้อมอะไร

มหาดเล็กกลับมาทูลว่า เด็กน้อยคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครนำมาทิ้งไว้

รับสั่งถามว่า มีชีวิตอยู่หรือเปล่า

"มีชีวิตอยู่พ่ะย่ะค่ะ" (ตรงนี้ภาษาบาลีว่า ชีวโก = ยังมีชีวิตอยู่)

ได้ยินคำกราบทูลของมหาดเล็ก อภัยราชกุมารทรงสาวพระบาทไปใกล้ ทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นกระแด่วๆๆ อย่างน่าสงสาร จึงสั่งให้นำเข้าวัง เลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมรับไว้เป็นโอรสบุญธรรมต่อมา

อาศัยคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวโก) จึงทรงตั้งชื่อบุตรบุญธรรมว่า ชีวกโกมารภัจจ์

ต่อมาเมื่อโตขึ้น ชีวกถูกพวกเด็กๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะจึงหนีพ่อเลี้ยงไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลา

วิชาที่เจ้าหนูชีวกเรียนคือ วิชาแพทย์ หนีพ่อไป ไม่ได้นำเงินติดตัวไปไม่มีค่าเล่าเรียนให้อาจารย์ เลยอาสาอยู่รับใช้อาจารย์สารพัดแล้วแต่อาจารย์จะใช้ อาศัยเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์เป็นอย่างดี จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ มีศิลปวิทยาเท่าไรอาจารย์ได้ถ่ายทอดให้หมดไม่ปิดบังอำพราง




ชีวกเรียนหมออยู่ ๗ ปี ชักคิดถึงพ่อ คิดถึงบ้าน จึงเข้าไปเรียนถามอาจารย์ว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบหลักสูตรซะที ตนอยากกลับบ้านเต็มทีแล้ว

อาจารย์บอกว่า วิชาการแพทย์เรียนเท่าไรไม่รู้จบ แต่ถ้าเธอจะกลับบ้านก็ต้องทดสอบก่อนว่าเธอมีความรู้พอที่จะไปรักษาคนหรือยัง

ว่าแล้วอาจารย์ก็บอกให้ชีวกออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เข้าป่าไปสำรวจดูว่าต้นไม้ต้นไหนที่เปลือกรากหรือใบใช้ทำยาไม่ได้ ให้เอาตัวอย่างกลับมาให้อาจารย์ กำหนดระยะเวลาสำรวจ ๗ วัน

นับว่าเป็นข้อสอบไล่ที่ทันสมัยเอาการ

ครบ ๗ วัน ชีวกเดินตัวเปล่ากลับมา เรียนอาจารย์ว่าต้นไม้ใบหญ้าทุกชนิดที่เขาพบไม่มีอย่างไหนที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย

อาจารย์เอื้อมมือมาลูบศีรษะเขาเบาๆ กล่าวว่า

"ชีวก เธอเรียนจบหลักสูตรแล้ว กลับไปทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์เถิด"

เขาเดินทางจากตักสิลา มุ่งหน้ามายังนครราชคฤห์ เสบียงเดินทางหมดระหว่างทางที่เมืองสาเกตรับอาสารักษาเศรษฐีคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคปวดศีรษะมาเป็นเวลานาน จนหายสนิท ได้รับเงินค่ารักษาเป็นจำนวนมาก

ว่ากันว่าหมอชีวกได้ใช้วิธีศัลยกรรมผ่าตัดกะโหลกศีรษะ ทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเหมือนอย่างสมัยนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าพอเขารักษาเศรษฐีหายจากโรค ชื่อเสียงเขาก็ขจรขจายไปทั่วเมือง ถึงกับลือว่าเขาเป็นหมอเทวดาเอาทีเดียว

กลับมาถึงบ้านได้ข่าวว่าเสด็จปู่พิมพิสาร (ความจริงก็ "พ่อ" ของชีวกนั่นเอง) ป่วยเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีเรียกว่า ภคัณฑลา มีอาการโลหิตไหลหนองไหลออกมาเปื้อนภูษาทรงน่ารังเกียจ

ผู้รู้ท่านว่าโรคริดสีดวงทวาร แต่ผมสงสัยว่าพี่แกน่าจะเป็นโรคอย่างว่ามากกว่า

ก็เห็นสำส่อนเหลือเกินนี่ครับ

หมอชีวกรับอาสารักษาให้จนหายสนิท จึงเป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับแต่งตั้งให้เป็น หมอหลวง พร้อมได้รับพระราชทานสวนมะม่วงนอกเมืองให้เป็นสมบัติอีกด้วย

สวนมะม่วงหรืออัมพวัน นี่เองที่เขาได้ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในกาลต่อมา หลังจากที่เขาได้ถวายพระโอสถแด่พระศาสดา เมื่อคราวพระองค์ทรงประชวร

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถูกพระเทวทัตคิดร้าย กลิ้งก้อนหินหมายทับพระองค์ แต่ก้อนหินพลาดสะเก็ดหินแตกมากระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต พระสงฆ์ช่วยกันหามพระองค์มาพักที่สวนมะม่วงนี่เหมือนกัน

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นประมาณ ๘ ปีก่อนปรินิพพาน หมอชีวกทราบข่าววิ่งกระหืดกระหอบไปถวายการรักษาพยาบาล

ครับ ! นี่คือประโยชน์มหาศาลอย่างหนึ่งที่โสเภณีสร้างไว้แก่พระพุทธศาสนา เธอได้ให้กำเนิดแก่ทารกชื่อ ชีวกโกมารภัจจ์ ผู้ซึ่งทำประโยชน์มากมายแก่พระศาสนาและประชาชนทั่วไปในกาลต่อมา แม้ว่าจะให้กำเนิด "อย่างเสียไม่ได้" ก็ตามที

เธอไม่ทำแท้งซะก็นับว่าบุญหนักหนาแล้วละครับ

โสเภณีอีกคนหนึ่งที่ทำคุณแก่พระศาสนาที่ควรทราบก็คือ...เสียดาย ตำนานมิได้จารึกชื่อเธอไว้ โสเภณีนิรนาม ผู้นี้โคจรมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์หลังจากตรัสรู้ไม่นาน

พระองค์เสด็จไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แล้วโปรดยสกุมารพร้อมบริวาร ๕๐ คน เมื่อได้สาวกจำนวน ๖๐ องค์แล้วได้ส่งพวกเธอจาริกไปสั่งสอนประชาชนตามรัฐต่างๆ

พระองค์เสด็จมุ่งหน้ามายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้อง นักบวชเกล้าผมที่ประชาชนชาวมคธศรัทธาเลื่อมใส ระหว่างทางทรงพบเด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน

เด็กหนุ่มพวกนี้ได้พากันมาปิกนิกพร้อมภริยาของตน หนึ่งในสามสิบนั้นไม่มีภริยา จึงนำโสเภณีคู่ขาคนหนึ่งมาร่วมงานด้วย ขณะที่ทั้งหมดกำลังเล่นสนุกสนานกันอยู่ โสเภณีนิรนามเธอฉวยโอกาส "ยกเค้า" ทรัพย์สินของพวกเขาหลบหนีไป พวกเขาจึงยกขบวนติดตามมาพบพระพุทธองค์ จึงเข้าไปถาม

"สมณะ เห็นอิสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม"

แทนที่จะตอบว่าเห็นหรือไม่เห็น ทรงย้อนถามว่า

"พวกเธอแสวงหาตัวเองจะมิดีกว่าแสวงหาอิสตรีหรือ"

วาทะคมคายแฝงด้วยความคิดปรัชญาประโยคเดียวนี้แท้ๆ กระทบความรู้สึกภายในของเด็กหนุ่มเจ้าสำราญพวกนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จริงสินะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาได้ "วิ่งไล่" ความสุขในเนื้อหนังอันจอมปลอม ยิ่งวิ่งไล่ก็ดูเหมือนว่ายิ่งห่างไกลความสุขที่แท้จริงออกไปทุกที มีแต่ได้รับทุกข์ถนัดอย่างที่เป็นอยู่ หากหยุดไล่หันมามองที่ตัวเองบ้างบางทีอาจได้พบความสุขที่ตนกำลังไขว่คว้าหาก็เป็นได้

คิดได้ดังนี้จึงนั่งลงสนทนากับพระองค์ท่าน พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดพวกเขา จนได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด

เพราะโสเภณีนิรนามขโมยของแท้ๆ เด็กหนุ่มเหล่านี้จึงได้ไล่ติดตามพบพระพุทธองค์ และกลายเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่สุด

อย่างนี้ไม่เรียกว่าโสเภณีทำคุณประโยชน์ให้แก่ศาสนาได้อย่างไร

โสเภณีอีกคนที่ผมจะพูดถึง ชื่อ สิริมา ชื่อเพราะเสียด้วย สิริมาเธอเป็นน้องสาวของหมอชีวก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหญิงนครโสเภณีต่อจากสาลวดี มารดาของเธอ เรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว หรือลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

ว่ากันว่าค่าตัวเธอประตูละพันกหาปณะเชียวแหละ กหาปณะหนึ่งคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว ๔ บาท พันกหาปณะก็ ๔,๐๐๐ บาท ชายหนุ่มระดับกระจอกๆ ไม่มีปัญญาได้เป็น "แขก" เธอหรอก นอกจากเศรษฐีเงินถุงเงินถัง

วิถีชีวิตของหญิงโสเภณีไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัดวาศาสนาเพราะอาชีพสวนทางกัน แต่นางสิริมากลับกลายเป็นสาวิกาผู้ใจบุญ อุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสดาจนตลอดอายุขัย

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งนางได้รับจ้างให้ไปเป็น "เมียเช่า" ของเศรษฐีคนหนึ่ง นัยว่าเมียอีตาคนนี้เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ถือศีลอุโบสถ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ แต่อีตาเศรษฐีสามีแกไม่ถือศีลด้วย คอยสะกิดสีข้างทุกคืน เมียแกจึงไปว่าจ้างโสเภณีสิริมาทำหน้าที่ภรรยาแทนตน สามีก็ไม่ขัดข้อง ชอบเสียอีกที่ได้เปลี่ยนรสเปลี่ยนชาติ

อยู่กับสามีคนอื่นนานเข้า สิริมาเธอนึกอยากจะเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คิดกำจัดภรรยาเขาฮุบเอาสมบัติ แต่ทำยังไงๆ อุบาสิกาผู้เคร่งศีลก็ไม่โกรธ จนสิริมาแกรู้สำนึกในความผิดของตนในภายหลังจึงขอขมา อุบาสิกาแกยกโทษให้พร้อมแนะนำให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

หลังจากพบพระพุทธเจ้าแล้ว สิริมาเธอมีความเลื่อมใสในพระศาสนา บำเพ็ญตนเป็นสาวิกาที่ดี ทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์วันละ ๘ องค์ทุกวัน

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งไปบิณฑบาตบ้านนางสิริมาแล้วไปคุยถึงความงามของนางให้อีกรูปหนึ่งฟัง พระหนุ่มรูปนั้นได้ฟังก็หูผึ่ง "นางสิริมานี่งามจริงๆ หรือ"

"หยาดฟ้ามาดินเชียวแหละคุณเอ๊ย ตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ ผู้หญิงอะไรงามไปหมดทั่วสรรพางค์"

"งามเท่าอาภัสรามั้ย"

"ต่อให้อาภัสราบวกอรัญญา บวกเออร์เนล่า มูติ บวกฟาร์ราห์ ฟอร์เซ็ต ก็งามสู้เธอไม่ได้" (หมายเหตุ-บุคคลเหล่านี้มีชีวิตอยู่สมัยพระพุทธเจ้านะเออ อย่าสับสนกับคนสมัยนี้)

ได้ยินเกียรติคุณแห่งความงามของนาง พระหนุ่มอยากพบหน้าเธอเป็นกำลัง ตื่นเช้าขึ้นคว้าบาตรได้เดินลิ่วตรงไปยังบ้านเธอทันที บังเอิญ วันนั้นหลังจากใส่บาตรแล้วเธอป่วยกะทันหัน รุ่งเช้าขึ้นเธอให้คนพยุงออกมาใส่บาตร พระหนุ่มก็เห็นหน้าเธอเท่านั้น รำพึงในใจว่า

"โอ้โฮ ! ขณะไม่สบายเธอยังสวยงามถึงเพียงนี้ ถ้าไม่ป่วยไข้เธอจะงามขนาดไหนหนอ"

กลับถึงวัดข้าวปลาไม่ยอมฉัน เอาจีวรคลุมศีรษะนอนครางหงิงๆ อยู่คนเดียว

มิไยพระเพื่อนพ้องจะปลอบโยนยังไงก็ไม่ฟัง

กามเทพแกเล่นพิลึกแผลงศรปักหัวใจพระหนุ่มเข้าแล้วละครับ

นอนซมด้วยไข้ใจถึง ๓ วัน ๓ คืน ไม่แตะต้องข้าวปลาอาหาร โดยไม่รู้ว่านางสิริมาผู้เลอโฉมถึงแก่กรรมลงในคืนวันที่ตนไปรับบาตรนั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับสาวกหนุ่มของพระองค์ พอได้ข่าวนางสิริมาตายจึงรับสั่งไปยังพระเจ้าพิมพิสารว่าอย่าเพิ่งเผานางสิริมา ขอให้นำศพเธอไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าผีดิบสัก ๓ วัน พอครบ ๓ วันพระองค์รับสั่งให้บอกเหล่าพระสงฆ์สาวกว่าวันนี้ให้พระทั้งหมดไปดูนางสิริมา

พระหนุ่มผู้ต้องศรกามเทพพอได้ยินคำว่าสิริมาก็ผลุดลุกขึ้นคว้าจีวรห่มแล้วกระโดดลงกุฏิแจ้นไปทันที

พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ในหลวงประกาศแก่คนทั่วไปว่า ใครอยากได้นางสิริมาไปนอนด้วยให้จ่ายค่าตัวพันกหาปณะ สิ้นเสียงประกาศมีแต่ความเงียบวังเวง ไม่มีใครรับข้อเสนอ

"ใครจ่ายห้าร้อยรับเอาเธอไป"

"สองร้อย"

"หนึ่งร้อย"

"ห้าสิบ"

"สิบ"

"หนึ่งกหาปณะ"

"หนึ่งมาสก"

"หนึ่งกากณิก"

"ถ้าอย่างนั้นใครอยากได้เปล่าๆ เอาไปเลย"

เงียบ !

พระศาสดาทรงหันมาตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า

"ดูเอาเถิดภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนใครอยากจะอยู่ร่วมกับเธอ เพียงครู่เดียวต้องจ่ายเงินถึงพันกหาปณะ บัดนี้ยกให้ใครเปล่าๆ ก็ไม่มีใครเอา ร่างกายนี้แหละที่ใครต่อใครแย่งกันเพื่อหวังครอบครอง บัดนี้หาค่าอันใดมิได้ ทุกอย่างมันช่างฝันแปรไม่แน่นอนอะไรเช่นนี้"

ปัสสะ จิตตะกะตัง พิมพัง
อรุกายัง สะมุสสิตัง
อาตุรัง พะหุสังกัปปัง
ยัสสะ นัตถิ ธุวัง ฐิติ

จงดูร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
เต็มไปด้วยแผล สร้างขึ้นด้วยกระดูก
เต็มไปด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
หาความยั่งยืนถาวรมิได้

ตรัสจบพลางชำเลืองสายพระเนตรมายังภิกษุหนุ่มผู้ต้องศรกามเทพที่ยืนเจี๋ยมเจี้ยมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์

ศรรักที่ปักอกเธอได้ถูกถอนออกแล้ว เธอได้ฟื้นตื่นจากความลุ่มหลงงมงายในบัดดล

เห็นหรือยังครับ โสเภณีที่คลุกคลีอยู่ในทะเลตัณหายังช่วยให้พระบรรลุธรรมได้

ตําแหน่งโสเภณี แม้ว่าจะมีเกียรติยศถึงขนาดเรียกว่า ผู้ทำเมืองให้งามหรือผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติขนาดเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงแต่งตั้งก็ตาม แต่นั่นเข้าใจว่าคงจะเป็นสมัยแรกๆ เท่านั้น ต่อมาคงไม่มีใครคิดว่าเป็นเกียรติยศอีก ทั้งพระราชาก็คงมิได้ตั้งอีกต่อไปแล้ว

เพราะปรากฏว่าโสเภณีได้เพิ่มจำนวนขึ้นมามากมาย ตั้งสำนักหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน มีเจ้าสำนักหรือ "คุณแม่" คอยควบคุมกิจการค้า คอยฝึกคอยเทรนเทคนิคและศิลปะการทำมาหาเลี้ยงชีพให้แก่คุณเธอผู้เป็นลูกเล้า

เมื่อมีสำนัก มีแม่เล้า โสเภณีก็ต้องมีแมงดาด้วยแหงๆ ไม่งั้นใครจะเป็นมือเป็นตีนให้คุณแม่ท่าน แต่ในตำราผมยังอ่านไม่พบว่ามีพูดถึงแมงดาหรือบทบาทของแมงดาเลย

ที่ผมว่าชื่อเสียงโสเภณีเริ่มตกต่ำ และคุณเธอได้ผุดขึ้นราวดอกเห็ดถึงขั้นหากินกันเป็นสำนักนี้ สันนิษฐานเอาจากชื่อที่เรียกคุณเธอพวกนี้แหละครับ มันบอกความหมายแฝงอยู่ในตัว

เดิมเขาเรียกว่า นครโสเภณี แปลว่า สตรีทำเมืองให้งาม ชื่อนี้เป็นชื่อดั้งเดิม ผู้มีสิทธิ์เป็นนครโสเภณีจะต้องผ่านการคัดเลือก และได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดิน แสดงว่าคนเป็นนครโสเภณีต้องมีไม่มาก เมืองหนึ่งอาจมีเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น

เผลอๆ คุณเธออาจมีเงินเดือนกินซะด้วยสิ เป็นข้าราชการผู้ทำงานให้แก่รัฐคนหนึ่งเหมือนกันนี่ครับ

ต่อมาคนมักเรียกคุณเธอพวกนี้ว่า "คณิกา" คำนี้บ่งบอกว่ามีการหากินเป็นพรรคเป็นพวกเป็นสำนักแน่ๆ คณิกา มาจากคำว่า คณะ ซึ่งแปลว่าหมู่ กลุ่ม พวก คณิกา ก็ต้องแปลว่า ผู้หากินเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นพวก ตั้ง "สำนัก" หากินเป็นการถาวร เรียกกันสมัยนี้ว่า "ซ่อง"

มีสำนัก ก็ต้องมีเจ้าสำนัก และผู้คุมสำนัก เป็นธรรมดา

หากินกันเป็นล่ำเป็นสันจนร่ำรวย คนที่รวยกว่าใครก็เห็นจะเป็น "คุณแม่"

คุณแม่บางคนแก่เฒ่าขึ้นมาแล้ว นึกถึงพระศาสนาตามประสาชาวพุทธ จึงเจียดเงินที่ได้จาก "มังสพาณิชย์ (แปลว่า ขายเนื้อ ครับ)" ของเธอมาสร้างวัดสร้างวาไว้เป็นอนุสรณ์ก็มี

หยั่งยายแฟง แกตั้งสำนักทำมาค้าขายของแกจนร่ำรวยแล้วเอาเงินมาสร้างวัดตั้งชื่อเสียโก้เก๋ว่า วัดคณิกาผล (แปลว่าวัดที่สร้างจากผลประโยชน์ของอีตัวหรือวัดอีตัว)

สร้างวัดเสร็จแล้ว ยายแฟงก็ทำบุญฉลอง นิมนต์สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง มาเทศน์ฉลอง สมเด็จท่านเป็นคนพูดตรงๆ ท่านบอกยายแฟงว่า ถึงยายจะสร้างเอาวัดวาใหญ่โต ยายก็ไม่ได้บุญเท่าไหร่หรอก เพราะเงินที่ยายเอามาสร้างมิได้หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของยายเอง แต่ไปรีดไปไถคุณเธอมา คนควรจะได้บุญมากควรจะเป็นพวกคุณเธอลูกๆ ของยายมากกว่า

ว่ากันว่า แรกๆ ยายแฟงแกโมโหสมเด็จโตมาก แต่ครั้นนั่งคิดนอนคิดถึงเหตุผลแล้วก็เห็นด้วยกับสมเด็จ

ชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ป๊อปปูลาร์พอๆ กับสองชื่อแรกคือ "เวสิยา" ชื่อนี้ท่านอธิบายไว้สามความหมาย ทั้งสามความหมายก็บ่งบอกว่าเป็นชื่อที่เรียกกันในยุคหลัง คือยุคที่คุณเธอตั้งซ่องหากินแล้ว

ความหมายแรกว่า ผู้ที่สวยงามมาก ความหมายที่สองแปลว่า ผู้ที่ชายต้องไปหา อันนี้ชัดแจ๋วอยู่แล้ว เวลาเกิด "กามรดี" (ก็ "เซี่ยน" น่ะคุณก็) ขึ้นมา ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ แม้กระทั่งพวกที่ "งั่ก" ก็ยังไม่เว้น ก็ต้องไปหา ไปที่ไหนก็ไปที่สำนักพวกคุณเธอนั่นเอง

ความหมายสุดท้ายแปลว่า ผู้อยู่ตามตรอก ตามซอกซอย ความหมายนี้อาจตีความได้สองนัย คือสำนักของคุณเธอตั้งอยู่ตามซอย หรือตรอก ทำเลที่เหมาะ เช่น แถวๆ บางขุนพรหมอะไรอย่างนี้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงว่า คุณเธอตอนนี้ได้ตกต่ำถึงขนาดแล้ว ไม่ได้หากินอยู่ตามตึกรามบ้านช่อง แต่เร่ดักเหยื่ออยู่ตามซอกซอย ประเภท "ไก่หลง" อย่างนั้นก็อาจเป็นได้

เวสิยา (นางที่หากินตามตรอก ตามซอย) นี้ ไทยเราเรียกเพี้ยนเป็น "แพศยา" ดูจะเป็นชื่อที่เรียกด้วยความเหยียดหยามมาก แสดงว่าอาชีพของคุณเธอไม่ได้รับการยกย่อง หรือมีเกียรติอีกต่อไป

อีกชื่อหนึ่ง ไม่มีเรียกในตำราบาลี สันสกฤต หรอกครับ แต่คนไทยเราเรียกกัน คือ "กะหรี่" เรียกด้วยความเหยียดหยาม เช่นเดียวกับ "แพศยา" ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรผมไม่ทราบ ลองนึกดูว่ามันจะมีเค้าเพี้ยนมาจากคำบาลีเหมือนชื่อแพศยาก็นึกไม่ออก แต่เพื่อนผมคนหนึ่งแกบอกว่า คำนี้เป็นภาษามลายูหรือชวาอะไรนี่แหละ ผมก็จำไม่ถนัด แปลว่าหม้อ แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าไอ้หม้อนี่มันมาเกี่ยวข้องกับคุณเธอพวกนี้อย่างไร

และงงเต็กไปกว่านั้น ก็ตรงที่เวลาไอ้หนุ่มๆ ไปเที่ยวกะหรี่กัน ไหงเขาเรียกว่าไป "ตีหม้อ" ก็ไม่รู้เหมือนกัน

คนแก่วัดหยั่งผมนี่ ตามภาษาชาวบ้านไม่ค่อยจะทัน เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งมักจะปรากฏพระสงฆ์องค์เจ้าท่าน "ปล่อยไก่" หรือ "จุดไต้ตำตอ" อยู่เสมอๆ เพราะไอ้การตามภาษาชาวบ้านเขาไม่ทันนี่แหละ

เล่ากันว่า พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน พูดถึงการฟังเทศน์ของคนว่า บางคนตั้งอกตั้งใจฟัง บางคนไม่ค่อยตั้งใจฟัง ฟังไปคุยไปหรือสัปหงกไป

"ศาสนิกชนที่ฟังเทศน์มีอยู่สองจำพวก คือ พวกหม้อหงายพวกหนึ่ง พวกหม้อคว่ำอีกพวกหนึ่ง พวกหม้อหงายย่อมฟังเข้าใจดี ได้รับประโยชน์จากการฟัง ส่วนพวกหม้อคว่ำนี่สิใช้ไม่ได้"

ว่าแล้วท่านก็หันไปทางสีกาสาวคนหนึ่ง ซึ่งนั่งตั้งอกตั้งใจฟังอยู่ข้างๆ ธรรมาสน์

"อย่างโยมคนหนึ่ง หม้อหงาย ดีมาก ตั้งอกตั้งใจฟังธรรมดี ย่อมได้รับความรู้และซาบซึ้งในรสพระธรรม อันจักนำมาซึ่งความสุขความเจริญในชีวิตแน่นอน..."

ลงจากศาลา สีกาเธอฉงนนัก "เอ พระคุณเจ้ารู้ยังไงนะ หม้อเราหงาย"

ความจริงถ้าพระคุณท่านพูดซะให้เต็มรูปว่า หม้อน้ำก็จะไม่เกิดปัญหาการเข้าใจผิดเลย และเป็นการเทศน์ที่เห็นภาพพจน์ดีมาก คนที่ฟังไปสัปหงกไปไม่ต่างอะไรกับหม้อน้ำที่คว่ำไว้ ถึงฝนจะตกลงมาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางที่หม้อน้ำจะเต็มได้ ส่วนผู้ที่ตั้งอกตั้งใจฟังเปรียบเทียบหม้อน้ำที่หงายไว้ย่อมเต็มด้วยน้ำที่หยดไหลลงมาแน่นอน

ในยุคสมัยที่โสเภณีเธอขยายกิจการหากินอย่างกว้างขวางนั้น พุทธศาสนาก็ได้แพร่หลายเป็นที่นับถือของคนทั่วไปเช่นกัน จำนวนพระสงฆ์มีมากขึ้น คุณเธอหลายคนหันมานับถือพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตรและฟังธรรมจากพระสงฆ์เป็นประจำนอกเหนือจากขายเนื้อสดหาเลี้ยงชีพ

แรกๆ พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ว่าอะไร ทรงถือว่าพุทธธรรมทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือโสเภณี เวลาโสเภณีนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้าน จึงมิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์ ทั้งไม่ห้ามสาวกของพระองค์ด้วย แต่ต่อมามักเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นบ่อย โสเภณีที่มิได้เลื่อมใสศาสนาที่แท้จริง เห็นพระรูปหล่อบางองค์ ชักเลื่อมใสไปในทางอื่น ไม่ใช่เลื่อมใสในทางธรรม ก็ได้ช่องนิมนต์พระคุณเจ้าไปฉันที่บ้าน

แรกๆ ก็ฉันข้างล่าง ไปๆ ก็นิมนต์ไปฉันข้างบน ท้ายที่สุดมิได้ฉันแต่ข้าวได้ฉันอย่างอื่นด้วย ถึงศีลวิบัติฉิบหายจากสมณเพศก็มีมาก

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไว้ว่า สำนักโสเภณีเป็นอโคจร คือเป็นสถานที่ที่พระไม่ควรไป ถ้าจะไปจริงๆ ต้องไปเป็นงานเป็นการ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันไปเป็นเพื่อน และไปในเรื่องบุญเรื่องกุศลจริงๆ

เรื่องหญิงแพศยาตกหลุมรักภิกษุรูปหล่อ แล้วใช้อุบายสึกเธอนี้ มีพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในตำราทางศาสนาอย่างเช่นในหนังสืออรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียแต่งไว้เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ มีพูดถึงพระรูปงามองค์หนึ่งชื่อ สุนทรสมุทร มีชีวิตอยู่สมัยพระพุทธเจ้า ถูกโสเภณีนางหนึ่งนิมนต์ให้ไปฉันข้าวที่บ้าน วันแรกฉันข้างล่าง วันที่สองก่อนพระมาเธอสั่งให้เด็กทำเสียงอึกทึกครึกโครม พอพระมาถึงก็นิมนต์ท่านขึ้นข้างบนอ้างว่าหนวกหูเด็กเหลือเกิน ขึ้นไปฉันข้างบนเถอะ พอขึ้นข้างบนเธอก็ปิดประตูลั่นดาลจะปล้ำเอาดื้อๆ

สุนทรสมุทรกำลังจะเสียท่าอยู่พอดี พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณวิถี ทรงแผ่รังสีวาบเข้าไปยังห้อง ปรากฏพระองค์ดังหนึ่งอยู่ต่อหน้าสาวกผู้เคราะห์ร้าย ตรัสสอนธรรมสั้นๆ หนึ่งบท สาวกเธอได้ฟังพระดำรัส ก็พิจารณาตามจนเห็นแจ้งสว่างโพลงขึ้นมาทันที คือได้บรรลุอรหันต์ในทันใด

เสร็จแล้วก็กระโดดผลุงเหาะหนีเอาตัวรอดไปอย่างหวุดหวิด

เรื่องนี้จะฟังเอาเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ก็ได้ ผู้เป็นอรหันต์บางท่านมีฤทธิ์เหาะได้ เป็นสิ่งเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่ถ้าจะฟังเป็นเรื่องธรรมดา ก็อาจตีความได้ว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงมาปรากฏองค์ต่อหน้าเธอในทันใด ก็เท่ากับตอนที่กำลังจะเข้าตาจนนั้น สุนทรสมุทรเธอนึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาทันที ในทำนองเดียวกันกับนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่เรากำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน นั่นแหละเป็นของธรรมดา และที่เหาะเอาตัวรอดไปได้ ก็อาจตีความว่า เธอได้รวบรวมกำลังครั้งสุดท้ายกระโดดลงจากบ้านวิ่งหนีจีวรปลิวไปเลยก็ได้ แล้วแต่ใครถนัดจะตีความอย่างไร

สมัยผมบวชเณรอายุประมาณ ๑๔ ปี ผมเข้าสอบแปลบาลีประโยค ๓ ที่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ข้อสอบให้แปลบาลีเป็นไทย ออกเรื่องพระสุนทรสมุทรนี้พอดี ปีนั้นอาจารย์มิได้สอนเรื่องนี้ พอข้อสอบออกมา กลัวลูกศิษย์จะแปลไม่ได้ ท่านเดินเวียนไปเวียนมา พอผ่านโต๊ะผม ท่านก็กระซิบว่า "มะนัง เกือบ" แล้วก็ผ่านเลยไป ผมเองไม่ทราบว่าท่านพูดอะไร ก็ไม่ได้สนใจเขียนข้อสอบจนจบแล้วส่งกรรมการ

เรื่องของเรื่องมันมีข้อความภาษาบาลีอยู่ประโยคหนึ่งว่า "มนํ นฏฺโฐ สุนฺทรสมุทฺโท" แปลเป็นไทยว่า "พระสุนทรสมุทรเกือบฉิบหาย" ท่านอาจารย์กลัวผมจะแปลคำว่า มนํ ว่าใจ (เพราะ มนํ แปลว่าใจก็ได้ แต่ในที่นี้แปลอย่างนั้นไม่ได้) จึงอุตส่าห์หลบกรรมการคุมสอบมากระซิบบอก

สอบเสร็จเจอหน้าท่าน ท่านซักว่าที่บอกว่า "มะนัง เกือบ" นั้นเอาตามรึเปล่า

"เปล่า" ผมตอบ

"แล้วเธอแปลยังไง" อาจารย์เป็นห่วง

"แปลว่า ฉิบหายแหงๆ" ผมบอก "ผมมั่นใจ ว่าแปลถูก"

"ทำไมถึงมั่นใจยังงั้น"

"ก็อาจารย์คิดดูสิครับ ขนาดถูกกะหรี่ปิดประตูปล้ำ ยังจะให้แปลว่าเกือบฉิบหายหรือ หยั่งงี้ต้องฉิบหายแหงๆ ซิ"

อาจารย์สั่นศีรษะ

และแล้วปีนั้นผมก็สอบได้เป็นมหา นับว่าสอบได้เพราะโสเภณีแท้ๆ


หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์
โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก