วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

"บี-เน็ต"ยกมาตรฐานโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา


"บี-เน็ต"ยกมาตรฐานร.ร.พระ


สทศ.จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนาครั้งแรกของประเทศ

บี–เน็ต

แค่เห็นชื่อหลายคนอาจจะงง เพราะเท่าที่เคยเห็นกันจนคุ้นตา และพูดกันติดปากก็มีแค่ โอ–เน็ต คือ แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เอ–เน็ต คือแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง ส่วนสายอาชีวศึกษาก็มี วี–เน็ต คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติทางอาชีวศึกษา ขณะที่ เอ็น–เน็ต คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน

ทีมข่าวศาสนา ขอยืนยันว่า บี-เน็ต มีจริงๆ ไม่ได้เขียนผิดเพี้ยนแต่ประการใด ทั้งต่อจากนี้ไปแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะวงการศึกษาของคณะสงฆ์คงต้องให้ความสำคัญกับ บี-เน็ต อย่างยิ่งด้วย เพราะเป็นสิ่งใหม่ในวงการศึกษาของคณะสงฆ์สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2555 นี้

บี–เน็ต คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา (Buddhism National Education Test : B–NET)

เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในวิชาพุทธประวัติ และธรรมวินัย วิชาศาสนปฏิบัติ และวิชาภาษาบาลี โดยมี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เป็นผู้จัดสอบ และมี สำนักงานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 1–12 ทำหน้าที่เป็นศูนย์สอบ

วัตถุประสงค์ในการจัดสอบ บี-เน็ต คือ 
1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 
2. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา 
3. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ และ 
4. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษา

การสอบ บี–เน็ต จะมีขึ้นในครั้งแรก ในวันที่ 16 ก.พ. 2556 โดยเป็นการจัดสอบให้กับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับชั้น ม.3 และ ม.6 ทั่วประเทศ
พระราชวรมุนี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กล่าวว่า การสอบ บี-เน็ต เป็นการประเมินคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งปกติโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จะต้องมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอ-เน็ต ระดับช่วงชั้นใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อประเมินมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นโรงเรียนเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสอบวิชาเฉพาะเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เพื่อให้การประเมินคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มีตัวชี้วัดที่ตรงกับรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม

พระราชวรมุนี

พระราชวรมุนี

"นักเรียนทุกคนจะต้องเข้าสอบ บี-เน็ต เพราะจะมีผลต่อการจบการศึกษา และจะเกิดผลดีต่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแน่นอน สิ่งที่จะเห็นได้ชัดที่สุดคือ จะทำให้ทราบคุณภาพ มาตรฐานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาในแต่ละโรงเรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลไปยังการประเมินคุณภาพจาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. ด้วย" พระราชวรมุนี ย้ำถึงข้อดีของการสอบ บี-เน็ต ที่กำลังจะเริ่มสอบครั้งแรกในปีการศึกษา 2555 นี้

ขณะที่ นายวิโรจน์ อุ่นทรัพย์ ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยืนยันเช่นกันว่า การสอบ บี-เน็ต เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในภาพรวมของการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งผลจากการสอบ บี-เน็ต จะส่งผลต่อการประเมินคุณภาพจากทาง สมศ.ด้วย

ทีมข่าวศาสนา มองว่า การจัดสอบ บี-เน็ต เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพราะนอกจากจะส่งผลกับตัวนักเรียน ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการจบการศึกษา โดยหากนักเรียนคนใดไม่เข้าสอบ บี-เน็ต ก็จะส่งผลให้ไม่จบการศึกษา

ที่สำคัญกว่านั้น คือ คะแนนของการสอบ บี–เน็ต จะส่งผลในภาพรวมของทั้งโรงเรียนซึ่งจะถูกใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการประเมินคุณภาพของทาง สมศ. นั่นหมายความว่า หากโรงเรียนใดมีผลการสอบ บี–เน็ต ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แสดงว่ามีการจัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน

ผลที่ตามมา คือ เมื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โรงเรียนใดไม่ผ่านการประเมินคุณภาพจากทาง สมศ. ย่อมหมายถึง มีการจัดการเรียนการสอนที่ด้อยคุณภาพ ในวิชาพุทธประวัติ และธรรมวินัย วิชาศาสนปฏิบัติ และวิชาภาษาบาลี

และคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาซึ่งมี สมเด็จพระวันรัต เป็นประธาน มีสิทธิ์เสนอรายชื่อโรงเรียนนั้นไปยัง มหาเถรสมาคม (มส.) ให้พิจารณายุบโรงเรียนได้

เราจึงเชื่อว่า บี–เน็ต จะเป็นหนึ่งในแรงกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพราะคงไม่มีโรงเรียนใดอยากจะถูก มส. สั่งยุบ เนื่องจากมีการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพอย่างแน่นอน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้วคงจะทำให้ถูกตราหน้าว่าเป็น "โรงเรียนพระ" ที่ไร้คุณภาพ ส่วนคนที่ "เสียชื่อ" และ "เสียหน้า" มากที่สุด คงหนีไม่พ้นคณะผู้บริหารโรงเรียน !!!


ทีมข่าวศาสนา

โดย: ทีมข่าวศาสนา

13 พฤศจิกายน 2555, 05:15 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น