วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“เปาว์ ศรีประเสริฐสุข”คนที่กองทัพเรือสหรัฐรุมจีบ บ.ในญี่ปุ่น-ยุโรปรุมทึ้ง เขาคือใคร?

 

"เปาว์ ศรีประเสริฐสุข"คนที่กองทัพเรือสหรัฐรุมจีบ บ.ในญี่ปุ่น-ยุโรปรุมทึ้ง เขาคือใคร?

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:00:46 น.

Share35




 

หากเอ่ยชื่อ"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข"ด๊อกเตอร์หนุ่มวัย 37 ปี 
 
หลายคนอาจจะบอกว่า เป็นใครกัน ?

 

แต่ที่แน่ ๆ ผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ของดร.หนุ่มได้รับการฮือฮา และยอมรับไปทั่วโลก

 

แม้แต่กองทัพเรือสหรัฐอเมริกายังเชิญไปขอคำแนะนำเรื่องการป้องกันการก่อการร้าย

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ด้านระบบรักษาความปลอดภัยต้องการดึงตัวไปทำงานด้วย

 

บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นต่างรุมทึ้งให้ทำงานวิจัย

 

หลายคนคงอยากรู้จักแล้วว่า เขาเป็นใครกัน และปัจจุบันทำอะไรอยู่ที่ไหน ?

 

 

เขาเป็นลูกชายคนเดียวของคุณ"รุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข"อดีตข้าราชการตงฉิน ใจซื่อ มือสะอาด มากความสามารถ  เคยดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการบินพาณิชย์ อดีตประธานบอร์ดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ผู้โด่งดังในสมัยคุณนุกุล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

แม้วันนี้ท่านจะลาจากโลกนี้ไปหลายปี  แต่ท่านได้เพาะบ่มต้นกล้าที่เรียกว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น"เลยทีเดียว 

 

 

"ผศ.ดร.เปาว์"ลูกชายคนเดียวของท่าน และถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทย

 

 

วันนี้"ผศ.ดร.เปาว์"ได้มาเปิดใจให้"มติชนออนไลน"ได้พูดคุยถึงผลงานวิจัยที่โด่งดัง และ ความเป็นมาเป็นไปที่ไปอยู่ญี่ปุ่น และการก้าวเข้ามาช่วยเหลือคนไทยในเวลานี้อย่างไร


 

@ช่วยเล่าประวัติตัวเองคร่าว ๆ

 

ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทางญี่ปุ่น อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่ลาดกระบังก็จบจากญี่ปุ่น ก็ชอบเทคโนโลยี และวัฒนธรรม เป็นการท้าทายไปเรียนประเทศที่เราไม่รู้ภาษา ตอนนั้นได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ซึ่งเป็นอธิการบดีตอนนั้น ท่านก็กรุณาเขียนจดหมายรับรองผม และให้คำแนะนำหลาย ๆ อย่าง จนผมได้มีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ

 

 

ต้องขอบคุณทางบ้านคุณพ่อ คุณแม่ที่ช่วยสนับสนุนด้วย ผมไม่ได้เป็นคนเก่งอะไร แต่ผมโชคดีมากกว่า ที่มีคนให้โอกาส มีหลายคนเก่งกว่าผม แต่อาจจะไม่มีโอกาส พอผมจบปริญญาโทที่บ้านสนับสนุนให้ผมเรียนต่อปริญญาเอกต่อ และหลังเรียนจบมีโอกาส ทางมหาวิทยาลัยชวนให้ทำงานต่อ

 

 

ตอนนี้ผมทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ สอนปริญญาโท และปริญญาเอก ตอนนี้ผมรับผิดชอบ 2 วิชา คือ ข้อมูลพื้นฐาน(Data  Base) และการจำลองสถานการณ์ (simulation) เป็นหัวข้อที่ผมทำวิทยานิพนธ์

 

 

@"วาเซดะ"ถือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นทางด้านไหน

 

ด้านการเมือง ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ เพราะมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลายคนที่จบจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ รวมถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็จบจากมหาวิทยาลัยวาเซดะเหมือนกัน

 

 

@ผลงานวิจัยที่ได้รับความสนใจจากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นศึกษาเกี่ยวกับอะไร

 

ผมทำเกี่ยวกับเรื่องของสังคมเครือข่าย หรือเรื่อง Social Network ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยดังเท่าไหร่ ตอนนั้นมีทฤษฎหนึ่งเรียกว่า Small-world Network เป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นว่า "โลกมันแคบ" เช่น เราไปเที่ยวในต่างประเทศ แล้วบังเอิญไปพบเพื่อนสมัยเรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะพูดประโยค "โลกแคบจังเลย" หรือ "The world is so small " "โลกแคบ" เพราะเครือข่าย( Network) ของการเชื่อมต่อดีขึ้น เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีไอซีที อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือทำให้โลกเราแคบขึ้น


 

@ช่วยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน


 

เริ่มจากปี 2004 มีบริษัท MMG อยู่ในเครือของบริษัท เดนท์สุ บริษัทตัวแทนโฆษณาใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีสำนักงานใหญ่อยู่เมืองโตเกียว มีโครงการ Super Advertisement ขึ้นมาร่วมกับมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ เขาให้ผมไปช่วยทำ

 

 

หัวข้อที่ MMG อยากทำ คือ จะสร้างโมเดลวิเคราะห์การแพร่หลายของข้อมูล  โดย MMG ต้องการดูการไหลของข้อมูลทางด้านโฆษณา  เช่น โฆษณาที่ออกทางสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ด้วยเทคโนโลยีไอซีทีก้าวหน้า ข้อมูลไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในการไหลของข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่มีโมเดลในการวิเคราะห์ข้อมูลว่า จะไหลไปอย่างไร และสามารถทำอย่างไรให้แพร่หลายได้เร็วขึ้น

เช่น ผมได้รับข้อมูลจากทีวีนำไปบอกต่อเพื่อนคนหนึ่ง  เพื่อนคนนั้นนำไปบอกต่อคนที่บ้าน การไหลของข้อมูลจะไหลเพิ่มไปเรื่อย ๆ

 

 

ตอนนั้นสิ่งที่ทำเป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์ (Mathematic)ขึ้นมา มีการใช้พารามิเตอร์ (parameter) ยกตัวอย่าง ถ้าเปลี่ยนพารามิเตอร์ตัวนี้ การแพร่ของข้อมูลจะลดลง หรือถ้าเปลี่ยนพารามิเตอร์ตัวนี้ข้อมูลจะเพิ่มขึ้น  นี่คือ งานวิจัยขั้นแรกที่ทำ


 

@หลังจากนั้นวิจัยเจาะลึกไปอย่างไร


 

โมเดลที่ทำกับบริษัท MMG ยังไม่ได้ไปเน้นส่วนที่เป็นสังคมเครือข่าย หรือ Social Network มากนัก ผมกับศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ จึงขยายผลลัพธ์จากงานวิจัยเดิมไปเจาะจงตรง Social Network มากขึ้น

งานวิจัยหัวข้อนี้มีนักวิจัยทั่วโลกสนใจทำ  แต่ส่วนใหญ่โมเดลที่ทั่วโลกใช้ จะไปใช้โมเดลการแพร่กระจายของไวรัส แต่ถ้าใช้สูตรตัวเลขการแพร่กระจายของไวรัส  มันไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในโลกการไหลของข้อมูลได้ 

 

 

พวกผมจึงศึกษาพฤติกรรมมนุษย์( Human behavior) ในการแพร่หลายของข้อมูล พร้อมกับสร้างสูตรโมเดลตัวเลขใหม่ขึ้นมา สูตรตัวนี้สามารถไปใช้อธิบายปรากฎการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นบน Social Network

 

@คำว่า Social Network ที่กล่าวเหมือนหรือต่างกันสังคมออนไลน์ตอนนี้

 

คำว่า Social Network ของผม ไม่ได้หมายถึง Social Network ในโลกดิจิตอล แต่หมายถึง Social Network ในโลกของอนาล็อคด้วย บางคนไม่ได้เชื่อมกับโลกดิจิตอลตลอดเวลา บางคนไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์อย่างเดียว อาจจะมีเครื่องมือในการสื่อสาร อาจจะปากต่อปาก

 

 

พอทำเสร็จแล้ว ตอนแรกไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ จะมีคนที่มาสนใจพวกบริษัทโฆษณา บริษัทพวกมีเดีย เพราะว่า ตอนผมนำ Apply โมเดลนี้ไป นอกจากการวิเคราะห์เรื่องการแพร่หลายของข้อมูลแล้ว เอาไปวิเคราะห์การแพร่หลายของข้อมูลที่ผิดกฎหมาย(illegal content) ด้วย ว่าเราสามารถหยุดการแพร่กระจายของข้อมูลเหล่านี้ โดยกำจัดคนควบคุมตัวแพร่กระจายนี้ได้อย่างไร จำลองการทำงาน(simulation) ขึ้นมา ทำเป็นวิทยานิพนธ์ตอนเรียนจบ

หลังจากนั้นไปทำงานที่ศูนย์วิจัยด้านไอทีของประเทศญี่ปุ่น (National Institute of Informatics (Nll) ที่โตเกียว ไปทำเรื่องอี-เลิร์นนิ่ง

 

ในระหว่างที่ทำงานที่ NII ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)ของประเทศไทย ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาได้เห็นวิทยานิพนธ์และแสดงความสนใจ เพราะว่าทางกองทัพเรือของสหรัฐมีบางโครงการต้องการวิเคราะห์

 

เช่น ในแต่ละหมู่บ้านที่มีผู้ก่อการร้าย (TERRORISTS) แฝงตัวอยู่ จะมีคนที่คอยควบคุมหรือมีข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้าย ทางกองทัพเรือสหรัฐสนใจโมเดลที่ผมศึกษา เพราะว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ทางกองทัพเรือสหรัฐจึงได้เชิญผมไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

 

 

เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมาทางบริษัท AGT International ทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบการรักษาความปลอดภัยในบ้าน มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  บริษัทนี้เปิดมา 5 ปีแล้วแต่เติบโตเร็วมาก มีสาขาที่จีน และสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ทางบริษัทกำลังจะสร้างศูนย์วิจัยที่ประเทศเยอรมนี โดยบริษัทกำลังหาวิธีการ"ป้องกันผู้ก่อการร้าย" ทำให้ทางบริษัทมั่นใจวิทยานิพนธ์ของผมว่า สามารถนำไปใช้ได้จริง และติดต่อมาจะให้ผมไปทำงานด้วย แต่ผมปฏิเสธไปแล้วไม่อยากไป

 

 

@โมเดลที่ทำขึ้นมาสามารถหยุดยั้งการก่อการร้ายเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

 

อุปกรณ์ที่ผมทำบนการจำลองสถานการณ์  แต่ถ้าเราสามารถหาการไหลของข้อมูล เส้นทางไหนที่ดีที่สุด ที่ทำให้การแพร่กระจายหรือการไหลของข้อมูลที่ดีที่สุด คือ การกระจายข้อมูลไม่ใช่ทีเดียว กระจายออกไปได้หมด มันจะค่อย ๆ ไหลออกไป ถ้าเราไปหยุดตัวจุดการไหลของข้อมูลที่ดีที่สุด ก็สามารถลดความเร็วในการแพร่หลายของข้อมูลได้

มันมีโมเดลตัวหนึ่ง เป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์ (Mathematic)  แต่ผมยังไม่ได้ทดลองปฏิบัติจริง คือ ถ้าเราปรับพารามิเตอร์บางตัวให้ไปเปลี่ยนหรือบล๊อก

 

 

ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นโลกของไวรัส สามารถควบคุมการเชื่อมต่อในระบบเครือข่ายของคนที่กระจายไม่ให้ไปไหนได้  เราก็จะสามารถควบคุมการแพร่กระจายของข้อมูลนั้นได้ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ 100% อาจจะลดเวลาหรือถ่วงเวลาไว้ได้ ทำให้ข้อมูลไม่แพร่หลาย ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

 

 

@ใช้ทางด้านความมั่นคง ทางด้านธุรกิจก็ใช้ได้ ธุรกิจโฆษณาจะได้ประโยชน์อย่างไร
 
ในแง่การประชาสัมพันธ์ข้อมูล ทุกอย่างที่ผมนำเสนอเป็นตัวเลขสูตรทางคณิตศาสตร์ บริษัทโฆษณาอาจจะทำแบบสอบถาม เช่น ถ้าเราช่วงนี้โฆษณาเป็นอย่างไร แคมเปญเป็นอย่างไรเราก็จะสามารถหาค่าประเมินของตัวพารามิเตอร์บางตัวได้ แล้วนำตัวเลขตัวนี้ไปใส่ในตัวพารามิเตอร์ในสูตรแล้วปิด หากเราเพิ่มพารามิเตอร์ตัวนี้ ข้อมูลจะไหลเร็วขึ้น และทราบได้ว่า หากเราเพิ่มตัวนี้ข้อมูลจะแพร่หลายไปเร็วขึ้น หรือหากเราลดตัวนี้ ข้อมูลจะแพร่หลายได้ช้าลง

 

 

@ทุกวันนี้การศึกษาเรื่อง Social Network ในมหาวิทยาลัยมีความก้าวหน้าไปมากน้อย

 

 

ตอนนี้ได้รับความสนใจมาก ตอนที่ผมทำยังไม่ได้รับความสนใจเท่ากับตอนนี้ อย่างที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังทำการศึกษาอย่างที่ผมเคยทำ แต่เขามีบริษัทใหญ่ให้การสนับสนุนดีกว่า เช่น Twitter แต่ไอเดีย และผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์ของผมตีพิมพ์ก่อน

 

 

@มองว่าการใช้ Social Network ในสังคมไทยเป็นอย่างไร

 

พูดตามตรงผมไม่ได้ใช้  Social Network มากนัก คือ เทคโนโลยีมันดี แต่ไม่ได้ใช้จนเป็นยาเสพติด เราเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นจริง ๆ เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของเราถือว่าดี แต่ว่า บางอย่างที่ผมเห็นเป็นเรื่องไร้สาระมากกว่า

ยิ่งข้อมูลมาก มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล เช่น  สมมุติผมไป Post ว่า ตอนนี้ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหว คนต่างประเทศดูอาจจะเชื่อก็ได้ เรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ผมว่า ปัญหามันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ใน Social Network ถ้าเราไม่คิดถึงในเรื่องของการควบคุมในเรื่องของความเชื่อถือของข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่นักวิจัยหลาย ๆ คนมองตรงจุดนี้ แต่ยังหาทางออกไม่ได้

 

 

@หากรัฐเข้าไปควบคุมจะเป็นการไปแทรกแซงเสรีภาพการไหลเวียนของข้อมูล

 

แต่บางอย่างจำเป็นต้องทำ ถ้ามีผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น เรื่องของความมั่นคง ในความคิดเห็นของผมเรื่องบางอย่างเราต้องมองผลกระทบต่อภาพรวม ไม่ใช่มองเรื่องเสรีภาพอย่างเดียว เสรีภาพบางอย่างมันไม่ถูก ไม่ผิด แต่ถ้าทำแล้วส่วนรวมมีผลกระทบก็ควรทำ

 

ยกตัวอย่าง ปีที่แล้วญี่ปุ่นมีสึนามิ หากผู้คนแตกตื่นแล้วไปปล่อยข้อมูลผิด ๆ  ผลเสียจะมากกว่า ของบางอย่างควรควบคุมกันบ้าง ถึงแม้จะมีเสรีภาพในการสื่อสาร ถ้าผลลัพธ์มันออกมาแย่ ถ้าคุณเป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร ถ้าเป็นผมยอมเลือกที่จะโดนว่า โดนไล่ออก ถ้าหากสามารถควบคุมไม่ให้การสูญเสียมันเกิดมากขึ้น

 

 

@จริง ๆ มีวิธีการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตถ้าอันตรายต่อสังคม

 

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีการบล๊อก ผมเป็นนักวิเคราะห์มากกว่า แต่โมเดลที่ผมคิดค้นหากนำไปใช้งานได้จริงในเรื่องการตัดเส้นทางการไหลของข้อมูลที่ดีที่สุด ผมว่ามันไม่น่ายาก ยกตัวอย่างข้อมูลมันไหลแพร่กระจายบนเฟสบุ๊ค ผมไม่ใช่เจ้าของ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จะไปสั่งให้เขาหยุดได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน คุยกับหน่วยงานของรัฐบาลถึงเส้นทางเครือข่ายการไหลของข้อมูลเส้นนั้น นักวิจัยคนหนึ่งจะไม่สามารถทำได้ต้องทำงานเป็นทีม ส่วน ผมรับหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผมจะเน้นเรื่องนี้ ส่วนเรื่องเทคโนโลยีการควบคุมป้องกันความปลอดภัยต้องให้อีกคนทำ

 

 

@ระบบ Social Networkมีทั้งด้านบวก และด้านลบ

 

บางคนบอกเป็นเสรีภาพในการสื่อสาร แต่บางอย่างต้องรู้ คนใช้ต้องนำไปใช้อย่างถูกต้อง สร้างสรรค์จะได้ผลดีมากกว่า อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีมันดีอยู่แล้ว เพียงแต่คนจะนำไปใช้แบบไหน

 

@บ้านเราพบปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านสังคมออนไลน์มาก ถ้าให้คิดถึงเครื่องมือในการสกัดจะทำได้อย่างไรบ้าง

การจะหยุดข้อมูล หากจะให้มนุษย์มานั่งคอยตรวจสอบคงไม่ไหว เพราะข้อมูลมากมายมหาศาล ต้องมี Filter หรือText Mining หรือเรียกว่า Data Mining ต้องมีพวก Intelligent Program ค่อยวิเคราะห์ว่า ข้อมูลตรงจุดไหนที่โอกาสจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โปรแกรมนี้หาเจอเราจะรู้ว่าจุดไหนโหนดไหนกำลังหมิ่นอยู่ ก็ปิดโหนดนั้น แต่ไม่ใช่ปิดทั้งโหนด เช่น เฟสบุ๊คเสิร์ฟเวอร์อยู่ที่อเมริกาก็ต้องไปติดต่อไปว่า ผู้ใช้คนนี้กำลังหมิ่น 
แต่ต้องหาให้พบก่อน  เมื่อหาพบติดต่อผู้ดูแลเว็ป และสั่งให้หยุด อันนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

 

@แต่ตอนนี้ปัญหาที่พบคือ ปิดที่นี่ไปเปิดอีกทีใหม่ แก้ปัญหาได้หรือไม่

 

ถ้าจับตัวได้ก็แก้ต้นตอได้ แต่หากจับไม่ได้ต้องตามแก้ไขไปเรื่อย ก็ไม่ง่าย เพราะว่า เน็ตเวิร์คเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก แต่ละจุดเพิ่มมากขึ้น การหยุดข้อมูลยากมาก ยังหาจุดทางออกที่เป็นจุดสุดท้ายไม่ได้ ยังอยู่ระหว่างการทำสถานการณ์จำลอง บางไอเดียต้องทำเป็นสัปดาห์เป็นเดือน เพราะข้อมูลมีจำนวนมาก

 

@งานวิจัยนี้สามารถใช้การป้องกันด้านความมั่นคงได้ดีมาก

ทุกอย่างทำบนสถานการณ์จำลอง ผมก็พยายามจะพิสูจน์ด้านข้อมูลให้ได้มากที่สุด แต่จะนำไปใช้จริงได้ผลมากน้อยเพียงใด ยังไม่ทราบ ผมอยู่ในห้องแลป มหาวิทยาลัยเสียอย่างหนึ่ง ชข้อมูลหลายอย่างอยู่ข้างนอก บางอย่างเป็นความลับขอได้ยากมาก

 

@มีโครงการความร่วมมือกับประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่  

 

ตอนนี้มีโครงการความร่วมมือทางการศึกษา ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) มากับคณะศาสตราจารย์อีก 3 คน เป็นคนค่อยช่วยเหลือประสานงาน

 

 

@ทำงานที่มหาวิทยาลัยวาเซดะมากี่ปี 
2 ปี ก่อนหน้านั้นอยู่ที่ศูนย์วิจัยมา 1 ปี แต่คิดว่าปีหน้าจะไม่ต่อสัญญาจะกลับบ้าน อยากกลับเมืองไทย


 

@จะกลับมาทำงานอะไร

อย่างที่บอกผมไม่ได้เก่งอะไร แต่ผมโชคดีมากกว่า อยากทำงานที่ให้โอกาสเด็กคนอื่นบ้าง ที่คอยสนับสนุนเรื่องการ

วิจัย เรื่องทุนการศึกษา

 

@คิดว่าระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่เมืองไทยกับมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นต่างกันมากหรือไม่

 

ผมไม่ทราบว่าที่มหาวิทยาลัยอื่นเป็นอย่างไร แต่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ เด็กๆ ที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอกต้องคิดเอง แต่หากคิดไม่ได้ พวกผมพร้อมจะมีหัวข้อให้ทำ แต่มาครั้งแรกต้องเอาหัวข้อของคุณก่อน แต่ต้องเป็นหัวข้อที่ดูแลได้ ไม่ใช่หลุดโลกไปที่ผมดูแลไม่ได้ ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะจะมีกฎของอาจารย์ว่า ต้องให้นักศึกษามีสิทธิ์สภาพในการคิด ไม่ใช่ว่า บังคับว่า คุณต้องทำที่อาจารย์ต้องการให้ทำ

 

@อยู่ญี่ปุ่นมาหลายปีช่วยวิเคราะห์ระบบการศึกษาของไทยเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น

 

ต้องให้คิดเอง แต่ต้องมีคนคอยควบคุมการคิด ให้คำแนะนำ แต่ไม่ใช่สั่ง 1+1 เท่ากับ 2 ต้องให้มีอิสรภาพในการคิด แต่ต้องคอยควบคุมไม่ให้ออกนอกหลู่นอกทาง นักเรียนบางคนบอกให้เขาคิดเอง เขามาปรึกษาผม เด็กบอกไม่รู้จะทำอะไร เขาไม่รู้จุดมุ่งหมายว่าจะทำอะไร ก็รู้แล้วว่า เด็กเริ่มมีปัญหายังคิดเองไม่เป็น ยังได้รับการศึกษาแบบสั่งให้ทำ ตรงจุดนั้นต้องค่อย ๆ ให้คำแนะนำไปทีละขั้นตอน แล้วค่อยติดตามดูความคืบหน้า หากยังหลุดออกนอกทางก็เข้าไปช่วยอีก

 

@การเรียนของญี่ปุ่นมีการแข่งขันกันสูงเหมือนบ้านเราหรือไม่

มีการแข่งขันกันสูงมาก เหมือนการสอบเอ็นทรานซ์ในบ้านเรา ญี่ปุ่นเน้นเรื่องการทำงาน ญี่ปุ่นตอนสอบปริญญาตรีจะเครียดมาก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว จะปล่อยเกรด เพราะจุดมุ่งหมายคือ เรียนจบไปทำงาน ไม่ต้องการเป็นหนึ่งทางด้านนักวิชาการในภาพรวม แต่มีบางคนต้องการเป็นหนึ่งทางด้านวิชาการ เรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก

ซึ่งจุดนี้ผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นถ้าได้ทำงานแล้วถือว่า ชีวิตเขาจบแล้ว เพราะบริษัท ญี่ปุ่นไม่ค่อยไล่พนักงานออก ต่อให้คุณทำอะไรไม่ดี  ก็จะได้ทำงานไปเรื่อย ๆ เขาจึงสนใจไปหางานทำมากกว่า นี่คือจุดที่ผมว่า เขาควรจะปรับปรุง

 

แต่ในเรื่องนักศึกษาที่ตั้งใจ อย่างมหาวิทยาลัยวาเซดะ หากนักศึกษาคนไหนตั้งใจจะให้การสนับสนุนมาก จะให้ทุน ให้โอกาส ซื้ออุปกรณ์ให้ทดลอง จะซื้อให้หมดไม่เคยขี้เหนียว แต่หากนักเรียนคนไหนไม่ตั้งใจ ให้แค่เรียนจบได้เกรด 2 นิด ๆ พอแล้ว เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางมหาวิทยาลัยวาเซดะไม่เคยขี้เหนียวขอซื้ออุปกรณ์อะไร หรือต้องการทำวิจัยอะไร ออกทุนให้หมด

 

@ถือเป็นคนไทยคนแรกที่มาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ

ใช่ครับ เป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมต้องขอบคุณทางด้านคุณพ่อ คุณแม่ที่คอยสนับสนุน ไม่อย่างนั้นคงไม่มีโอกาสอย่างนี้  "โอกาส"มีเงินก็ไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้น ผมจึงอยากให้โอกาสคนอื่นบ้าง 

 

 

เรื่องโดย:กฤษณา ไพฑูรย์


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1334586702&grpid=01&catid=02&subcatid=0200

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น