วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คลินิกโรคจากการทำงาน ปี 2555 สถานการณ์สุขภาพความปลอดภัยแรงงานไทย

คลินิกโรคจากการทำงาน ปี 2555 

สถานการณ์สุขภาพความปลอดภัยแรงงานไทย

 

ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

การริเริ่มผลักดันแพทย์และคลินิกโรคจากการทำงาน เป็นข้อเสนอและเรียกร้องต่อรัฐบาลของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ในนามสมัชชาคนจนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 สถานการณ์ช่วงแรกๆ นั้น มีแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล จาก รพ.ราชวิถี ทำหน้าที่วินิจฉัยคนคนงานเพียงผู้เดียว

จนมาปัจจุบัน จากการเข้าร่วมฟังและร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการคลินิกโรคจากการทำงาน  2555 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 โดยมีท่านเผดิมชัย สะสมทรัพย์ มาเป็นประธานในพิธีกล่าวเปิด ได้กล่าวถึงภาพรวมว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมกับกระทรวงสาธารณสุขได้ทำสัญญาตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2548 ให้มีการดำเนินการคลินิกโรคจากการทำงาน แบ่งเป็นระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง โดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อดูแลลูกจ้างในการส่งเสริม ป้องกัน เฝ้าระวังและอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐด้านแรงงาน โดยเพิ่มศักยภาพกองทุนเงินทดแทนในการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงาน ซึ่งมี รพ.ในสังกัดที่สามารถขยายเพิ่มในปี 55 จำนวน 14 แห่ง จากเดิม 68 แห่ง รวมเป็น 82 แห่ง เพื่อให้สามารถดูแลลูกจ้างจำนวน 8.22ล้านคน ครอบคลุมสถานประกอบการ 338,270 แห่ง จากข้อมูลสถิติกองทุนเงินทดแทนปี 54 สามารถลดการประสบอันตรายกรณีหยุดงานเกิน 3 วันขึ้นไป ให้เหลือ 4.55 ต่อพันราย จากอันตราย 5.37 ต่อลูกจ้างพันรายในปี พ.ศ.2553

ในขณะที่ รศ.ดร.เฉลิมชัย ชัยกิติตภรณ์ ผู้ร่วมอภิปรายบนเวทีได้ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีผู้ใช้แรงงานประสบอันตรายจากการทำงานปีละ 250 ล้านคน เสียชีวิต 325,000 คน เป็นโรคจากการทำงาน 160 ล้านคน ทั้งนี้ จากการรายงานสถิติการประสบอันตรายของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนยังต่ำกว่าค่าประเมินการ นั่นคือความจำเป็นที่ทำให้คลินิกโรคจากการทำงานต้องได้รับการพัฒนาให้มีการวินิจฉัยโรคให้มากขึ้น ประกอบกับอนาคตอันใกล้ ไทยจะก้าวเข้าสู่เวทีอาเซียน ซึ่งจะมีการแข่งขันสูง จึงทำให้การพัฒนางานด้านนี้ใความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมางานอาชีวอนามัยของอาเซียนได้มีการตั้งเครือข่ายแล้ว เรียกว่า Asfan oshnet มีการแบ่งงาน โดยไทยรับเรื่องการพัฒนา มาเลเซียรับเรื่องมาตรฐาน ฟิลิปปินส์รับเรื่องฝึกอบรม อินโดนีเซียรับเรื่องวินิจฉัย สิงคโปร์รับเรื่องตรวจรักษา

สถานการณ์ที่ผ่านมา เกาหลีกับสิงคโปร์มีอัตราการวินิจฉัยโรคสูงมาก ขณะที่ จีน โรคซิริโคซิส ญี่ปุ่น นิวโมนิโคโอซิสมีแนวโน้มลดลง ไทยภาคเกษตรโรคจากสารเคมีสูง แต่กองทุนของเรายังไม่ได้ให้การคุ้มครอง ขณะที่เวียดนาม โรคซิลิโคซิสพบผลการวินิจฉัยสูง เพราะมี ILO เข้าไปช่วย รองลงมาคือโรคหูจากเสียงดัง และโรคบิสซิโนซิส  สิงค์โปรมีการตรวจสุขภาพวินิจฉัยชัดเจน การได้ยินจากเสียงดังแนวโน้วจึงลดลง เป็นเพราะผลการใช้กฎหมายเข้มงวดจริงจัง เกาหลียังมีโรคกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก เขาจึงเอาจริงจัง มีแพทย์เชี่ยวชาญมากขึ้น ตัวเลขผลการวินิจฉัยจึงสูงขึ้น กระทรวงแรงงานเรา ยังมีการรายงานต่ำกว่ามาตรฐานมาก แม้แนวโน้มโรคทางกายศาสตร์จะมากเหลือเกิน เพราะคนงานยกของหนักรีบเร่ง แต่โรคทั้งหมดสามารถป้องกันได้ ซึ่งเรามีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ที่ผลักดันให้ไทยรับอนุสัญญา 155 160 และ 187 เพื่อให้เราจะต้องทำงานส่งเสริมป้องกันให้เต็มที่   

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯมองว่า นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม กว่า 5 ทศวรรษ ยังขาดการเตรียมความพร้อมในการพัฒนา การให้ความรู้กับผู้ใช้แรงงานที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมควบคู่กันไป ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องทำงานกับเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือสารเคมีอันตรายที่นำเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต หรือระบบการทำงานที่รีบเร่ง เพื่อการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในด้านสุขภาพอนามัย เกิดการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานมีแนวโน้มสูงและทวีความรุนแรงขึ้นด้วย  จากสภาพปัญหาหลายๆ อย่าง การจ้างงานในราคาถูกเพื่อลดต้นทุน คนงานจึงต้องหารายได้ด้วยการทำโอที 12 ชม.ต่อ 6 วัน ต่อสัปดาห์ หรือ 80 ชม.ต่อสัปดาห์ ซึ่งในต่างประเทศเขาทำกันแค่ 35 ชม.ต่อสัปดาห์เท่านั้น

ประเทศในอาเซียนหลายประเทศมีเทคโนโลยีต่ำ แต่การแข่งขันสูง ยิ่งโดยเฉพาะในลาว เขมร เวียดนาม คนงานจึงขาดความมั่นคง เพราะลักษณะการจ้างงานมีการยืดหยุ่นสูง เน้นการจ้างเหมา เอางานกลับไปทำข้างนอก มีแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติซึ่งไม่มีสวัสดิการและกฎหมายคุ้มครอง ขาดความปลอดภัย การเจ็บป่วยด้วยโรคจากพิษภัยที่มองไม่เห็นต่างๆ และโรคที่สืบเนื่องจากการทำงานด้วยการเร่งการผลิต จนทำให้คนงานเป็นโรคโครงสร้างกระดูกจำนวนสูงสุด ทั้งยังมีปัญหาที่คนงานยังขาดความเข้าใจและการเข้าถึงสิทธิได้ยากเย็น

การศึกษาข้อมูลตัวเลขสถิติการเจ็บป่วย ประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิตหรือสูญหายจากการทำงาน หากมองย้อนหลังไป 9 ปี  (ตั้งแต่ปี 2545-2553) คนงานที่ได้สิทธิตามกฎหมายพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 (Workmen's Compensation Act) พบว่า

1.) จำนวนการประสบอันตรายรวม 9 ปี             1,706,779 คน 
2.) จำนวนผู้ประสบอันตรายเฉลี่ยปีละ                  189,642 คน 
3.) อัตราการประสบอันตรายเฉลี่ยปีละ 25 คน/ลูกจ้าง   1,000 คน 
4.) จำนวนผู้เสียชีวิตปีละ                                       791 คน 
5.) จำนวนผู้ทุพลภาพปีละ                                       13 คน
6.) จำนวนผู้สูญเสียอวัยวะบางส่วน                         3,194 คน
7.) จำนวนเงินทดแทนที่เบิกจ่ายเฉลี่ยปีละกว่า      1,500 ล้านบาท
8.) จำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยตกวันละ                             1.2 คน  

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานนี้  นอกจากจะส่งผมต่อสุขภาพกายใจของคนงานแล้วยังทำให้สูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ทั้งความสูญเสียที่เกิดขึ้นทางตรง และทางอ้อม คือทางด้านจิตใจ ซึ่งไทยยังไม่มีการประเมินค่าสูญเสียในด้านการดำรงชีวิตของแรงงาน หรือในเชิงคุณภาพชีวิตซึ่งไม่อาจประเมินค่าหรือทดแทนได้

แม้ในปี 2550 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายประชาชน จะผลักดันจนกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย บัญญัติในมาตรา 44 ว่า "คนทำงานย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันด้านความปลอดภัยและสวัสดิกาพในการทำงานหรือเมื่อพ้นสภาพการทำงาน" แต่สภาพความเป็นจริง คนงานยังไม่ได้รับการบริการด้านสุขภาพ และสิทธิตาม พรบ.เงินทดแทน พ.ศ.1537 * หรือแม้กระทรวงแรงงานจะผลักให้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ยกเรื่อง "สุขภาพความปลอดภัยให้เป็นวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยสุขภาพอนามัยดี" แต่รัฐก็ยังไม่มีการตั้งงบประมาณเรื่องนี้อย่างจริงจัง โยนให้เรื่องสุขภาพความปลอดภัยของคนงานอยู่ที่กระทรวงแรงงานอย่างเดียว ถึงแม้จะมีการตั้งคลินิกโรคขึ้นมามากมายถึง 82 แห่ง แต่ทำไมคนงานถึงยังเข้าไม่ถึงสิทธิ ซึ่งยังไม่รู้ว่าตัวเลขคนงานที่เจ็บป่วยประสบอันตราย เสียชีวิต ที่หายไปจากสถิติมีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้ก็มีปัจจัยหลายเรื่องดังนี้

(1)  ปัจจัยตัวลูกจ้าง
1.1  ปัญหาขาดความรู้ ความเข้าใจสิทธิประโยชน์เงินทดแทนที่พึงต้องได้รับตามกฎหมาย เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะวันหนึ่งๆ ต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 8-12 ชม

1.2 ปัญหาความไม่กล้าใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน เพราะกลัวว่า อาจถูกนายจ้างกลั่นแกล้ง หรือเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้  ไม่เข้าใจขั้นตอน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเวลาและการให้ข้อมูลในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนในแต่ละกรณี จึงทำให้สูญเสียสิทธิที่ควรได้โดยไม่จำเป็น

1.3 ลูกจ้างจำนวนมากได้รับค่าจ้างต่ำ แบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงในการเลี้ยงดูคู่สมรสหรือบิดามารดาและบุตรที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ทำให้ต้องจำยอมอดทนทำงานโอทีหลายชั่วโมงเป็นประจำต่อเนื่อง ภายใต้สภาวะแวดล้อมในการทำงานที่มีความเสี่ยงสูงจากความเหนื่อยล้าจึงทำให้ประสบอันตรายในการทำงานได้ง่าย

1.4 เมื่อคนงานหนึ่งคนเรียกร้องสิทธิ คนงานในสถานประกอบการ หรือบางสหภาพแรงงาน กลับมองว่า คนที่ป่วยที่ใช้สิทธิตามกฎหมายเป็นตัวเจ้าปัญหาจะทุบหม้อข้าวตัวเอง  

(2)  ปัจจัยด้านนายจ้าง
2.1  นายจ้างกลัวเสียภาพลักษณ์ของผู้ลงทุน ห่วงว่าถ้ามีข่าวคราวการประสบอุบัติเหตุ /เจ็บป่วยจากการทำงานจำนวนมาก อาจถูกลดคำสั่งซื้อ (ORDER) เพราะผิดกฎจรรยาบรรณทางการค้า (CODE OF CONDUCT) ในประเด็นการดูแลความปลอดภัยในการทำงานที่มีข้อตกลงกับคู่ค้าต่างประเทศ

2.2  นายจ้างส่วนหนึ่งไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลประสบอันตรายในการทำงานของลูกจ้างจำนวนมากในสถานประกอบการ เพราอาจกระทบต่อการถูกวินิจฉัยจากเจ้าหน้าที่เงินทดแทนให้ต้องจ่ายเงินสมทบอัตราใหม่มากขึ้นในอนาคต นายจ้างไม่แจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้างแก่เจ้าหน้าที่ภายใน 15 วันตามกฏหมาย เพื่อความสะดวกของลูกจ้างในการใช้สิทธิเงินทดแทน มีโทษแค่ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเป็นโทษที่น้อยมาก

2.3 นายจ้างบางส่วนมีเจตนาจะลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด เพื่อหวังผลกำไรสูงสุด โดยไม่ยอมลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร/อุปกรณ์การผลิตสินค้าให้มีความปลอดภัยในการทำงาน

2.4 นายจ้างบางราย ไม่ยอมรับการวินิจฉัยของแพทย์ ให้ลูกจ้างแจ้งการประสบอันตรายที่ไม่เนื่องจากการทำงานโดยให้ใช้ประกันสังคม หรือให้ไปหาแพทย์คนใหม่ ทำให้ลูกจ้างถึงสิทธิช้า หรือให้ใช้สิทธิประกันสุขภาพหมู่ซึ่งไม่ใช่จากการทำงาน จึงไม่มีสถิติการเจ็บป่วยประสบอันตรายในสถานประกอบการ หรือกลั่นแกล้ง เลิกจ้างลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงาน

2.5 นายจ้างไม่เขียนหรือกรอกข้อมูลถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยหรือการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนและเป็นผลให้ลูกจ้างถูกวินิจฉัยว่าการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานว่าไม่ได้เกิดเนื่องจากการทำงาน ถูกกองทุนปฎิเสธ

2.6 นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ไม่สนับสนุนดูแลความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบการชัดเจนจริงจัง หรือไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการความปลอดภัยฯ (คปอ.) ย่อมทำให้ลูกจ้างบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานได้ง่ายมากขึ้น

2.7  การตรวจสุขภาพประจำปีให้กับคนงาน ไม่ได้ตรวจตามปัจจัยเสี่ยง หรือเอ๊กซเรย์ฟิลม์เล็ก และไม่ใช่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ฯ ตรวจอย่างไรก็หาไม่เจอโรค  

(3)  ปัจจัยด้านหน่วยงานรัฐและผู้บังคับใช้กฎหมาย พ.รบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 
3.1  ยังขาดนโยบายเตรียมความพร้อมแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดการจ้างงานในสังคมอุตสาหกรรม

3.2 โครงการ Zero Accident จริงๆ เป็นนโยบายที่ดี แต่กับมีปัญหา เพราะทำให้สถานประกอบการปกปิดกรณีลูกจ้างประสบอันตราย หรือบ่ายเบี่ยงส่งเข้าประกันสังคม หรือกองทุนสุขภาพ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

3.3  พนักงานเจ้าหน้าที่ พื้นที่ ที่รับเรื่องร้องเรียน ไม่อำนวยความสะดวกรวดเร็วเพียงพอ บางครั้งบ่ายเบี่ยงให้ลูกจ้าง กลับไปแจ้งนายจ้างหรือให้ใช้สิทธิกองทุนประกันสังคม โดยลูกจ้างไม่เข้าใจ ไม่กล้าโต้แย้ง

3.4  เจ้าหน้าที่ไม่แนะนำให้ลูกจ้างเข้าใจหลักเกณฑ์วิธีการเข้าถึงสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีข้อมูลเอกสารหลายอย่าง และแพทย์ที่วินิจฉัยมาแจ้ง แก่เจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วน เพราะขาดประสบการณ์ในการทำงาน และหรือถูกกดดันจากฝ่ายนายจ้าง

3.5  กระบวนการวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์ ในหลายกรณีมีความล่าช้ามาก และลูกจ้างบางรายอาจ เสียชีวิตหรือพิการ หรือถูกไล่ออก ไม่สามารถอดทนรอคอยความเป็นธรรมจากคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่เงินทดแทน ต่อไปได้

3.6 หลักเกณฑ์เงื่อนไขที่จะได้รับค่ารักษาพยาบาลที่แบ่งเป็นวงเงินตามความจำเป็นเบื้องต้น กรณีเป็นโรคเรื้อรัง และกรณีต้องผ่าตัดใหญ่ มีปัญหากรณีที่ลูกจ้างบางรายต้องทำการรักษาพยาบาลต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือต้องรอการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่อเนื่องรวดเร็วได้

3.7  เจ้าหน้าที่ที่วินิจฉัย คณะกรรมการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์กองทุนเงินทดแทน ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1 ซึ่งเป็นผู้รักษา มีขั้นตอนการวินิจฉัยซ้ำ หรือกลับคำวินิจฉัยให้ลูกจ้าง ไม่เนื่องจากการทำงาน ทำให้แพทย์ผู้รักษาไม่อยากวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ทำให้ต้องอุทธรณ์ และต่อสู้คดีต้องใช้ระยะเวลานานถึง 3-4 ปี จึงจะได้เป็นข้อยุติ

3.8 บางกรณีที่ชนะคดีในการฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ คณะกรรมการอุทธรณ์ ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง แต่ก็ติดปัญหาในกรณีเรื่องการทดแทนสิทธิประโยชน์เนื่องจากขณะที่ป่วยและถูฏเลิกจ้าง หรือ ลาออกงานมาพักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ได้รักษาพยาบาลกับแพทย์อย่างต่อเนื่องเพราะถูกระงับสิทธิประกันสังคมในการรักษาพยาบาลตัวไปก่อนระหว่างที่รอผลคำวินิจฉัย ประกอบกับไม่มีเงินสำรองในการรักษาตัวก่อน จึงเป็นสาเหตุให้ไม่มีหลักฐานที่จะเบิกค่าทดแทนการขาดรายได้การหยุดงานตามความเห็นของแพทย์

3.9  คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน  ดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานความเจ็บป่วยของลูกจ้างค่อนข้างล่าช้า

3.11 ศักยภาพการตรวจวัดประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อมในการทำงานตามกฎหมายรัฐยังทำได้น้อย ตรวจได้เพียงปีละประมาณ 17,000 กว่าแห่ง จากสถานประกอบการกว่า 4 แสนแห่ง ด้วยข้อจำกัดทั้งบุคลากร และองค์ความรู้ 

(4)  ปัจจัยด้านแพทย์และสถานพยาบาล
4.1  แพทย์จำนวนมากขาดแคลนองค์ความรู้ด้านอาชีวเวชศาสตร์  ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน 

4.2  แพทย์บางรายจะไม่ยอมวินิจฉัยว่าลูกจ้างเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน  ถ้านายจ้างไม่อนุญาตหรือ  ยินยอมเห็นชอบด้วย  หรือ กลัวภาระตามมาภายหลังที่อาจต้องไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่หรือขึ้นศาลและเป็น

4.3  แพทย์บางราย ระบุในใบรับรองแพทย์ให้ลูกจ้างลาป่วยจำนวนน้อยเพียง 1-2 วัน  ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหยุดพักรักษาตัว  ทำให้ต้องไปหาหมอบ่อยครั้ง หรือ ลาหยุดงานกับนายจ้างบ่อยๆ

4.4  สถานพยาบาลจำนวนมาก  ไม่มีนโยบายบริหารจัดการที่คำนึงถึงอาชีวอนามัย  โดยสนับสนุนให้แพทย์เรียนรู้ด้านอาชีวเวชศาสตร์  และมีโอกาสทำงานด้านนี้ได้ก้าวหน้าต่อเนื่องในสถานพยาบาล  ทำให้ลูกจ้างต้องเดินทางไปแสวงหาแพทย์หลายคน ในหลายสถานพยาบาลเพื่อวินิจฉัยความเจ็บป่วยของตน

4.5 มีการจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปปัจจุบันมีกว่า 82 แห่ง แต่มาตรฐาน ยังมีความแตกต่าง

4.6 ต้องสนับสนุนคลินิกโรคจากการทำงาน ให้เกิดการวินิจฉัยโรคมากขึ้น และควรมีสิ่งจูงใจให้แพทย์พยาบาลทางด้านอาชีวเวชศาสตร์

(1) ข้อเสนอแนะต่อลูกจ้างและองค์กรลูกจ้าง
1.1 ต้องให้ความสำคัญและสนใจ การศึกษา การฝึกอบรม เพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง   

1.2 ต้องมีนโยบาย โครงสร้าง แผนงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานอย่างต่อเนื่องภายในองค์กรแรงงาน และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน (อาทิเช่น มีฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยในการทำงาน)

1.3 ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แผนงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมกับนายจ้าง / หน่วยงานภาครัฐ และร่วมปฏิบัติการ

1.4 ต้องสร้างเครือข่ายสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกันและกันในการแก้ไขปัญหากรณีการเจ็บป่วยด้วยโรคและการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง และการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม

(2) ข้อเสนอแนะต่อนายจ้างและองค์กรนายจ้าง
2.1 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และกฏหมายความปลอดภัยฯที่เกี่ยวข้อง

อาทิ ส่งใบ กท. 16) ต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิประโยชน์เงินทดแทน ภายใน 15 วัน เพื่อเจ้าหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยสิทธิประโยชน์เงินทดแทนเร็วขึ้น  และทำการแจ้งส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลอย่างรวดเร็ว

2.2 ต้องมีนโยบายและแผนงานงบประมาณด้านสุขภาพแลความปลอดภัยในการทำงาน และมีผู้บริหารที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานที่ชัดเจนในสถานประกอบการ (โดยไม่ใช่เป็นงานฝากของฝ่ายบุคคลหรือกรรมการผู้จัดการ/หัวหน้างาน) รวมทั้งต้องให้ลูกจ้างเข้าไปมีส่วนร่วม

2.4 ต้องเรียกประชุม คณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ของสถานประกอบกิจการ อย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามผลการประชุมโดยเร่งด่วน

2.5 ต้องส่งเสริมการทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับวิชาชีพ (จป.) อย่างจริงจัง  ไม่ควรให้ (จป.) ทำงานทุกอย่าง ที่ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ตนเอง 

(3) ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทน แพทย์ สถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงแรงงาน)
3.1 กระทรวงแรงงานต้องมีนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมสำรวจตรวจสอบการขึ้นทะเบียนของนายจ้างและลูกจ้าง โดยประสานข้อมูลกับอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัดอย่างต่อเนื่อง

3.2 ประกันสังคมต้องทำงานเชิงรุก ต้องมีการทำงานประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิประโยชน์กรณีต่างๆ แก่ลูกจ้างและนายจ้างอย่างทั่วถึง

3.3 เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนต้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในกรณีที่นายจ้างไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน หรือส่งล่าช้า

3.4 เจ้าหน้าที่ฝ่ายประโยชน์ทดแทน ต้องมีหลักการรับเรื่องและการยื่นเรื่อง แบบแจ้งการประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหายและคำร้องขอรับเงินทดแทนตาม พรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โดยเร็วไม่มีเงื่อนไข

3.5 ฝ่ายประโยชน์ทดแทน ควรรับเรื่องการยื่นใช้สิทธิ์ของลูกจ้างตามแบบแจ้งการประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหายและคำร้องขอรับเงินทดแทนตาม พรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และการกรอกข้อมูลข้อเท็จจริงควรสอบถามลูกจ้างอย่างละเอียดชัดเจน เพื่อสำหรับเป็นข้อมูลการประกอบคำวินิจฉัยพิสูจน์สิทธิประโยชน์เงินทดแทนไม่ควรเขียนรวบรัด(เพราะลูกจ้างไม่สามารถเขียนเองได้)

3.6 ให้มีการจัดทำเกณฑ์วินิจฉัยโรคจากการประกอบอาชีพที่เป็นมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับรวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.7 จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพรบ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่จะนำไปสู่การลดข้อจำกัดต่างๆ เหมาะสมกับสถานการณ์ของปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกฏหมายดังกล่าวใช้มากว่า 18 ปี โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาค

3.8 กระบวนการวินิจฉัยพิสูจน์สิทธิประโยชน์ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่วินิจฉัย อนุกรรมการหน่วย คณะกรรมการแพทย์กองทุนเงินทดแทน ในแต่ละขั้นตอนของการพิสูจน์สิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน ควรมีระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน เพราะที่ผ่านมาไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้

3.9 กระบวนการวินิจฉัยพิสูจน์สิทธิประโยชน์เงินทดแทนในชั้นการอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไม่ควรเกิน 30 วัน

3.10 กระบวนการวินิจฉัยพิสูจน์สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคและการประสบอันตรายจากการทำงาน ต้องมีการเชื่อมประสานกันระหว่าง ลูกจ้างที่ได้รับเจ็บป่วยด้วยโรคและประสบอันตรายจากการทำงาน องค์กรลูกจ้าง นายจ้าง สำนักงานกองทุนเงินทดแทน กองตรวจความปลอดภัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แพทย์ที่เชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม  โดยทำงานเชิงรุกต้องเข้าไปตรวจสอบในสถานประกอบการนั้นๆ โดยทันทีที่มีการเจ็บป่วยหรือการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างเกิดขึ้นทุกกรณี เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น และลดการสูญเสียในอนาคต แบบซ้ำซาก

3.11 เสนอให้มีการปรับปรุง อัตราค่ารักษาพยาบาล ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551 เสนอหลักการควรมีการปรับปรุงวงเงินค่ารักษาพยาบาลอย่างน้อย 5 ปีต่อครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลง

3.12 สำนักงานประกันสังคมจะพัฒนาประชาสัมพันธ์ระบบข้อมูลข่าวสารสนเทศให้เข้าถึงคนทำงานเข้าถึงคลินิกโรคจากการทำงาน ได้ง่ายและอย่างทั่วถึง

3.13 จะต้องมีแผนงานในการเพิ่มศักยภาพการตรวจวัดประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งด้าน เพิ่มอัตรากำลัง และมาตรฐานในการตรวจวัดประเมินความเสี่ยง

3.14 สร้างมาตรฐานของแพทย์  พยาบาล บุคลากร ด้านอาชีวอนามัย รวมทั้ง เกณฑ์วินิจฉัยโรคจากการทำงาน ให้เป็นมาตรฐานสากล และเป็นมาตรฐานในระดับเดียวกัน

3.13 มีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีแพทย์และพยาบาลอาชีวอนามัยอย่างเพียงพอ รองรับการดูแลลูกจ้างที่มาใช้บริการ อย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มแรงจูงใจให้มากกว่านี้

(4) ข้อเสนอต่อนโยบายรัฐบาล
4.1 ต้องมีนโยบายแผนงานแห่งชาติพัฒนาระบบงานอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้มีการผลิตบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอในระยะยาว การจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน การจัดบริการที่สามารถทำให้ลูกจ้าง นายจ้างเข้าถึงได้ง่าย

4.2 ต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาส่งเสริมป้องกันการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานเพื่อลดการสูญเสียในอนาคตของลูกจ้าง นายจ้างลดรายจ่ายการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

4.3 ต้องให้มีนโยบายส่งเสริมเรื่องตรวจสุขภาพลูกจ้าง ที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงในการทำงานตามกฎกระทรวงอย่างต่อเนื่องโดยลูกจ้างมีสิทธิเลือกแพทย์สถานพยาบาล.เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจของลูกจ้าง

4.4 รัฐบาลลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้

-      

ฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย  ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)
-       ฉบับที่ 161 ว่าด้วย การบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528)
-       ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)

4.5 ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยงานจากการฯ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษาที่ผลิต/อบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงาน ด้านอาชีวอนามัยฯ  เพื่อนำไปสู่ "วัฒนธรรมความปลอดภัย" ในการทำงาน

4.6 การบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง

4.7 ควรมีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นองค์กรมหาชน มีส่วนร่วม และบูรณาการ มาทำงานด้านการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับแรงงานไทยโดยมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โครงสร้างกรรมการต้องมาจากการสรรหา

http://prachatai.com/journal/2012/04/40008

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น