Share อยากเสียเหงื่อให้กีฬา...แต่กลับต้องเสียน้ำตาให้บริการฟิตเนส คนที่ไม่เคยใช้บริการ ฟิตเนส คลับ คงจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีข่าวการร้องเรียนของคนที่ใช้บริการออกมาอยู่ตลอดเวลา หรือถ้าใครลองเสิร์ชข้อมูลเรื่องฟิตเนสในอินเตอร์เน็ตก็จะพบว่า มีคนมาบอกเล่าปัญหาต่างๆ ที่ได้เจอจากการใช้บริการฟิตเนสเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดกับบรรดาฟิตเนส คลับชื่อดังที่เป็นแฟรนไชส์มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เรียกว่าสวนทางกับภาพลักษณ์ที่แสนจะหรูเลิศอลังการของความเป็นสถานบริการเพื่อสุขภาพราวฟ้ากับเหว ฉลาดซื้อเลยส่งทีมงานหน้าใส ไปนั่งฟังพนักงานขายหรือเซลล์ของฟิตเนส คลับ ชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ พร้อมๆ กับนึกชมตัวเองที่สามารถรอดพ้นจากพนักงานขายฝีมือขั้นเทพเหล่านั้นมาได้ เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับสถานบริการฟิตเนสปี 2554 จำนวน 32 เรื่อง แบ่งตามสถานบริการแต่ละแห่งได้ดังนี้ ทรู ฟิตเนส 14 เรื่อง แคลิฟอร์เนีย ว้าว 9 เรื่อง ฟิตเนส เฟิร์ส 7 เรื่อง อื่นๆ 2 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาเรื่องการขอยกเลิกสัญญา ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาถึง 29 เรื่องจากทั้งหมด 32 เรื่อง ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาคือ ถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางอื่นโดยไม่ขออนุญาต ปิดบริการไม่แจ้งล่วงหน้า และปัญหาด้านมาตรฐานการบริการ ที่มา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาของผู้บริโภคโดยตรง ก็เคยเก็บรวบรวมสถิติเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการฟิตเนสเอาไว้เมื่อปี 2548 - 2551 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากถึง 893 เรื่อง โดย แคลิฟอร์เนีย ว้าว นำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 576 เรื่อง ลองลงมาคือ ทรู ฟิตเนส 180 เรื่อง และ ฟิตเนส เฟิร์ส 74 เรื่อง ฟิตสมองก่อน ใช้ฟิตเนส ฟิตเนสเป็นบริการที่คนให้ความสนใจมาก เพราะฟิตเนส คลับ ต่างๆ จะมีบริการที่พร้อมสำหรับคนเมือง และมักตั้งอยู่ในย่านที่สะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะบรรดาฟิตเนส คลับที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นสาขามาจากต่างประเทศ จะมีบริการครบวงจร ตั้งแต่อุปกรณ์ออกกำลังกายแบบพื้นฐาน อย่าง ลู่วิ่งไฟฟ้า ที่ปั่นจักรยาน ไปจนถึงกิจกรรมพิเศษอื่นๆ อย่าง โยคะ เต้นรำ และอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ฉลาดซื้อสนับสนุนให้ทุกคนออกกำลังกาย เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์และจำเป็นกับชีวิต ซึ่งการเลือกที่จะใช้บริการ ฟิตเนส คลับ ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ภาพข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ อาจทำให้ผู้บริโภคหวั่นๆ ว่าตัวเองจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งหรือไม่ ที่ต้องปวดหัวจากบริการฟิตเนส ฉลาดซื้อได้ลองประมวลปัญหาที่เกิดจากการเข้าใช้บริการฟิตเนสแล้วพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ความไม่จริงใจของฟิตเนส คลับ ที่เน้นเพียงการเพิ่มยอดสมาชิก หนึ่งในเรื่องปวดสมองของผู้ได้รับความเสียหายที่ร้องเรียนเกี่ยวกับบริการฟิตเนส คือ เซลล์บอก อย่างแต่จริงๆ เป็นอีกอย่าง บรรดาคุณเซลล์ทั้งหลายจะเน้นอธิบายแต่ตัวเลขราคาค่าใช้จ่าย บริการที่จะได้ แต่ไม่ได้อธิบายถึงสิทธิการร้องขอเมื่อเกิดปัญหา รวมทั้งการสร้างสัญญาที่ผูกมัดมากเกินไป ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาในการใช้บริการ ตัวสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั่นเองที่เป็นตัวกดดันให้ผู้ใช้บริการที่เกิดปัญหาต้องออกไปร้องเรียนหน่อยงานต่างๆ และบางคนที่เจอปัญหาแล้วแต่ไม่ได้ไปร้องเรียน ก็ต้องกลายเป็นคนมีหนี้ มีภาระ ต้องยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อยุติปัญหา ทั้งที่ปัญหานั้นไม่ได้มาจากตัวผู้ที่ใช้บริการ 2. ผู้บริโภคใจไม่แข็งพอ เชื่อคนง่าย
ในฐานะผู้ใช้บริการ ก่อนจะทำสัญญาก็ต้องมีหน้าที่ด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในการทำสัญญาตกลงใช้บริการ ตัวเราเองก็ยินยอมที่จะเซ็นสัญญา การใช้บริการไม่ได้เกิดจากการบังคับขืนใจ (แต่อาจจะเกิดจากการถูกหว่านล้อมกดดัน) ทำให้เวลาที่ปัญหาเกิดขึ้น ฟิตเนส คลับ คู่กรณีจึงมักไม่ยินยอมจัดการในสิ่งที่เราร้องของไป เพราะเขาก็จะใช้ข้อได้เปรียบตรงที่เราได้ยินยอมทำสัญญากันไว้แล้ว ถือว่ารับรู้และยินยอมในเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้หากใครที่อยากจะไปสมัครใช้บริการที่ ฟิตเนส คลับ ไม่ว่าชื่อดังหรือไม่ดัง มีบริการที่ปั่นจักรยานเป็นร้อยตัวหรือไม่ถึงสิบตัวก็ตาม ต้องขอดูสัญญาก่อน ไม่งั้นไม่เซ็นชื่อ 3.ไม่ได้ศึกษาข้อมูลในสัญญาให้ดี
การใช้บริการฟิตเนสเป็นอะไรที่มากกว่าเซลล์บอก ดังนั้นต้องขอเอกสารมาศึกษาก่อน โดยไล่ตั้งแต่ ค่าบริการ วิธีการชำระเงิน บริการที่จะได้รับ เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ฯลฯ ต้องทำความเข้าใจให้ดี ให้ได้มากที่สุด ก่อนเซ็นสัญญา และที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาจากสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อตกลงที่มาจากคำพูดของพนักงานขาย เพราะหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาก็มาจาก การที่ตัวพนักงานขายมักจะเสนอโปรโมชั่นและเงื่อนไขสุดพิเศษ เรียกว่าดีจนไม่มีที่ติ ยิ่งพอมาเทียบกับราคา ก็ยากที่จะหักห้ามใจ แต่ถ้ามาดูในใบสัญญาก็จะไม่เจอข้อความที่บอกถึงสิทธิพิเศษอย่างที่พนักงานโม้ให้เราฟังก่อนเซ็นสัญญา เช่น เรื่องการขอยกเลิกสัญญา ที่ว่าถ้ามีปัญหาสามารถมาขอยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้เพราะในสัญญาจริงๆ ระบุว่าต้องเป็นสมาชิกไปอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งถ้าเลือกตัดสินใจจากการฟังแต่สิ่งที่ได้ยินจากพนักงานขายที่มาทำสัญญาเพียงอย่างเดียว ผู้ใช้บริการอย่างเราก็จะเข้าใจผิด พออยากจะขอยกเลิกสัญญาเข้าจริงๆ ก็ทำไม่ได้
ข้อควรสังเกตในสัญญาฟิตเนส
-เงื่อนไขในการยกเลิกสัญญา เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของคนที่ใช้บริการฟิตเนส ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฟิตเนสห่วงใยสุขภาพของเราเป็นอย่างมากหรือเปล่าไม่แน่ใจ ตอนสมัครก็คะยั้นคะยอเราสุดฤทธิ์ ว่าให้มาออกกำลังกายเถอะ มาดูแลสุขภาพกันเถอะ พอตอนจะขอยกเลิกสัญญาก็ไม่ยอม บอกว่าทำไม่ได้ต้องใช้บริการให้ครบตามระยะเวลาขั้นต่ำที่ทำสัญญากันเอาไว้ เพราะฉะนั้นก่อนจะเซ็นสัญญาอย่าลืมพิจารณาให้ดีๆ ว่าการขอยกเลิกสัญญาสามารถทำได้หรือไม่ ระยะขั้นต่ำของสัญญาคือเท่าไหร่ ถ้าหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถมาใช้บริการได้ต้องทำอย่างไรจึงจะยกเลิกสัญญาได้ แล้วเมื่อขอยกเลิกสัญญาแล้วมีเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ คืนได้หรือไม่อย่างไร -เงื่อนไขในการตัดเงินอัตโนมัติจากบัตรเครดิตเป็นค่าบริการรายเดือน การหักเงินผ่านบัตรเครดิต เป็นวิธีที่ฟิตเนสชื่อดังทุกแห่งเลือกใช้ในการเก็บค่าบริการกับผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคอาจมองว่าเป็นความสะดวก แต่ความจริงแล้วเป็นการการันตีให้กับผู้ให้บริการฟิตเนสว่า จะได้รับค่าบริการรายเดือนจากสมาชิกแน่นอน แม้สมาชิกคนนั้นอาจไม่ได้มาใช้บริการเลยสักครั้งในเดือนนั้นๆ สิ่งที่ผู้ใช้บริการควรรู้ก่อนเซ็นสัญญาคือ จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน และระยะเวลาที่ต้องจ่าย วันที่ทำการตัดยอดในแต่ละเดือน รวมทั้งค่าปรับที่เกิดจากการผิดนัดชำระ -ความรับผิดต่ออาการบาดเจ็บที่เกิดจากใช้บริการ อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แล้วถ้าหากเกิดขึ้นขณะที่ใช้บริการฟิตเนสล่ะ ดังนั้นให้ดูในสัญญาว่าเรามีสิทธิได้รับการดูแลหรือเรียกร้องอะไรได้หรือไม่ ถึงแม้ฟิตเนสที่เราไปใช้บริการจะดูปลอดภัยหรือน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม ส่วนใหญ่พนักงานขายมักอ้างว่า ทางฟิตเนสมีทั้งบุคลากรและเครื่องมืออย่างดีและมีคุณภาพสำหรับดูแลเรื่องนี้ แต่ถ้าดูในสัญญาส่วนใหญ่จะระบุไว้ว่า สมาชิกจะไม่เรียกร้องความรับผิดชอบใดๆ ต่อทางฟิตเนส กรณีเกิดความบาดเจ็บไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ ไม่ว่ากรณีใดๆ ขณะใช้บริการในฟิตเนส หรือแม้แต่อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้สมาชิกต้องรับประกันและรับรองตัวเองได้ว่า มีสุขภาพร่างกายที่พร้อมกับการออกกำลังกาย หรือได้ความเห็นชอบจากแพทย์มาแล้วก่อนที่จะมาใช้บริการของฟิตเนส -ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ปกติฟิตเนสส่วนใหญ่จะมีบริการตู้ล็อคเกอร์ไว้สำหรับเก็บสิ่งของต่างๆ ให้กับสมาชิก แต่เรื่องของหายในฟิตเนสก็เคยเกิดขึ้นจนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว ต้องดูให้ดีว่าฟิตเนสที่เราไปใช้บริการนั้นมีมาตรการในการดูแลทรัพย์สินของผู้ที่ไปใช้บริการอย่างไรบ้าง จะชดเชยเยียวยาแค่ไหน อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รับผิดชอบถ้าของหายไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อ "ฉลาดซื้อ" ถูกชวนให้ไปทดลองใช้บริการฟิตเนส -ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย เมื่อฉลาดซื้อได้รับโทรศัพท์จากฟิตเนสชื่อดังแห่งหนึ่งให้ไปทดลองใช้บริการฟรี เพราะทางฟิตเนสกำลังจะเปิดสาขาใหม่ จึงมีโปรโมชั่นดีๆ มานำเสนอเพียบ -พอไปถึงเราจึงได้รู้ว่า ที่บอกว่าให้มาทดลองใช้บริการฟรีนั้น ความจริงกลับไม่ได้ทดลองใช้บริการอะไรสักอย่าง เพราะพนักงานจะพาเราไปคุยเพื่อเปิดการขาย โดยจะถามเรื่องพฤติกรรมการออกกำลังกายของเรา มีการตรวจปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อของเราด้วย -หลังจากนั้นก็จะเอาโปรโมชั่นมาเสนอ ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยราคาที่สูงจนน่าตกใจ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาโดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษนู่นนี่ ซึ่งราคาที่เสนอมาถ้าเรายังไม่พอใจ พนักงานก็จะลดให้เราได้อีก เพราะว่าเราเป็นคนพิเศษเลยได้รับสิทธิพิเศษอีก แต่เป็นเงื่อนไขที่ต้องตกลงทำสัญญากันในวันนี้เท่านี้ ถ้ามาสมัครวันอื่นจะไม่ได้ราคานี้ -ตลอดระยะเวลาที่พนักงานนำเสนอเรื่องราคา เราไม่มีโอกาสได้เห็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น -แรกๆ พนักงานก็แสดงความห่วงใยสุขภาพของเราดี ที่อยากให้สมัครเพราะอยากให้มาออกกำลังกาย แต่พอเราเริ่มแสดงท่าทีว่าไม่สนใจสมัคร โดยให้เหตุผลไปว่ากลัวไม่มีเวลามาใช้บริการ สมัครไปแล้วอาจจะไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสีย พนักงานก็จะบอกในเชิงว่าให้สมัครทิ้งไว้ มีเวลาก็ค่อยมาเล่น ซึ่งถ้าคิดในแง่ของการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็ควรออกให้ได้สม่ำเสมอ การมาออกกำลังกายตามสะดวกอย่างที่พนักงานบอกคงไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ -เมื่อการเจรจาเพื่อให้สมัครสมาชิกดูแววแล้วจะไม่สำเร็จ พนักงานขายก็จะไปตามพนักงานมาอีกคน ซึ่งเป็นระดับตัวแม่ เพื่อเพิ่มระดับการเจรจา(กดดัน)ให้เข้มข้นขึ้นอีก -มาถึงตรงนี้การเจรจาเพื่อชักชวนของพนักงานขายเพื่อให้เราสมัครสมาชิกเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น พนักงานขายจะใช้คำพูดทั้งอ้อนวอน หว่านล้อม บางครั้งก็เริ่มใช้คำพูดที่ไม่ค่อยเหมาะสม อย่างการพูดเหน็บแนม ประชดประชัน ดูหมิ่น เมื่อเริ่มเห็นว่าเรามีท่าทีว่า ยังไงก็ไม่สมัครแน่ๆ -แม้จะแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สมัครสมาชิกแน่ๆ แต่การจะปลีกตัวออกมาก็แสนยากเย็น เพราะพนักงานขายต้องการให้เราตกลงทำสัญญาให้ได้(ทำยอด) โปรโมชั่นต่างๆ จะเพิ่มมาเรื่อยๆ ปรับราคาลงมาเรื่อยๆ พูดคุยกับเราไปเรื่อยหวังว่าเราจะใจอ่อน ซึ่งก็คงมีหลายคนที่ต้องจำยอมตกลงสมัครสมาชิกไป ไม่ใช่เพราะอยากใช้บริการ แต่เพราะอยากตัดความรำคาญมากกว่า หรือไม่ก็ใจอ่อนกับตัวเลขค่าบริการ จากระดับหมื่นเหลือแค่ไม่กี่พัน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าสมัครไปแล้วจะหาเวลามาใช้บริการได้หรือเปล่า วันนั้นฉลาดซื้อก็รอดตัวมาได้อย่างหวุดหวิด คำแนะนำง่ายๆ ที่อยากฝากไว้ก็คือ ถ้าไม่ได้มีความสนใจที่จะไปใช้บริการฟิตเนสตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริการเหล่านี้จะดีที่สุด ไม่ว่าจะคำชวนแบบไหน ให้ไปทดลองใช้บริการฟรี ได้บัตรส่วนลด หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะถ้าเผลอไปทดลองตามคำชวนล่ะก็ ไม่ปวดหัวก็ต้องปวดใจ และเผลอๆ อาจต้องเสียทรัพย์ทั้งๆ ที่ไม่อยากเสียด้วย --------------------------------------------------------------------
"ฟิตเนสเป็นบริการควบคุมสัญญา" ฟิตเนสที่ดีต้องมีอะไรบ้าง 1.สัญญาต้องเป็นข้อความภาษาไทย ขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร มีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว 2.เงื่อนไขในสัญญาต้องมีรายละเอียดของขนาดสถานที่ให้บริการ จำนวนและประเภทของอุปกรณ์การออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการให้บริการอื่นๆ ตามที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ 3.รายละเอียดแสดงอัตราค่าบริการ ค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้บริการ พร้อมทั้งวิธีการชำระและเงื่อนไขต่างๆ
4.วันเริ่มต้นและการสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 5.เงื่อนไขที่นำไปสู่การบอกยกเลิกสัญญา ต้องมีการแสดงข้อความเฉพาะที่ทำให้เห็นได้ชัดเจน โดยต้องใช้ตัวอักษรสีแดง สีดำ หรือตัวเอียง เพื่อสามารถเห็นได้ชัดกว่าข้อความทั่วไป 6.ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ตามเงื่อนไขต่อไปนี้ -ไม่มีอุปกรณ์หรือบริการตามที่บอกไว้ตามข้อตกลงในสัญญา หรืออุปกรณ์ชำรุดเสียหาย มีไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อผู้ใช้บริการ โดยไม่มีการหามาทดแทนหรือทดแทนด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่า -มีใบรับรองจากแพทย์ว่าไม่สามารถออกกำลังกายได้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ -ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการใช้บริการ อุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพชำรุด ผู้ดูแลฝึกสอนไม่มีความชำนาญ 7.การคืนเงินให้กับผู้บริโภคหลังยกเลิกสัญญา ผู้ให้บริการต้องคืนตามจำนวนเงินที่เหลือจากค่าสมาชิกหรือตามระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการ ภายใน 30 วัน หลังจากยกเลิกสัญญา 8.ผู้บริโภคมีสิทธิในการโอนสิทธิความเป็นสมาชิกตามสัญญาให้กับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากผู้ให้บริการ แต่ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้ให้บริการ 9.หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการในการต่อสัญญาใหม่หลังจากผู้บริโภคใช้บริการมาจนครบกำหนดสัญญา ผู้ให้บริการต้องทำหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ของการต่ออายุสมาชิกครั้งใหม่ 10.ห้ามกำหนดให้การต่ออายุสมาชิกเป็นไปแบบอัตโนมัติ
11.ห้ามกำหนดอายุสัญญาสมาชิกเกิน 1 ปี
12.ในสัญญาต้องห้ามมีข้อความที่แสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อผิดพลาดหรือเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ ทั้งเรื่องการผิดสัญญาของผู้ให้บริการ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย และทรัพย์สินสูญหาย ภายในสถานที่ที่ให้บริการ http://www.chaladsue.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1102:%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-132-%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AA&catid=89:2010-04-01-16-52-27&Itemid=227 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น