พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ กับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ
จาก กรณีที่คุณแม่ล้มก้นกระแทกพื้น ทำให้กระดูกข้อต่อสะโพกหัก ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเต็มข้อ หลังผ่าตัดกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและเสียชีวิตไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเป็นเวลาที่ผมได้เรียนรู้ถึงคำว่า "จรรยาบรรณ" ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์บางคนเป็นอย่างดี เดิมทีเดียวผมไม่เคยคิดว่าการกระทำที่เป็นการทุจริต ทำทุกอย่างเพื่อที่จะปกปิดความผิดของตนเองจะเกิดขึ้นในวิชาชีพนี้เหมือนกับ สังคมอื่นๆ เมื่อเกิดเหตุขึ้นใหม่ๆ ผมเป็นคนที่อยู่ข้างหมอ อยู่ข้างโรงพยาบาล คอยรับอารมณ์ความรุนแรงจากพ่อ น้องๆ และบรรดาญาติๆทางแม่ ด้วยบุคลิกส่วนตัวผมเป็นประนีประนอม โดยให้เหตุผลว่ามันเกิดขึ้นได้ หมอเขาคงไม่ได้แกล้งหรืออยากให้แม่เป็นแบบนี้หรอก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับคำอธิบายให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุที่ไม่พึง ประสงค์นี้เลย ได้รับคำอธิบายถึงโรคที่เกิดขึ้นภายหลังเท่านั้นว่าอาการหนักแค่ไหน แต่ความสงสัยในใจผมก็มีเหมือนกับทุกคน จึงคิดว่าให้ผ่านงานศพแม่ไปเสียก่อนค่อยกลับไปถามทางโรงพยาบาลและหมอที่ รักษาแม่ แต่พอถึงเวลากลับได้รับคำตอบที่ทำให้ผมยิ่งคาใจขึ้นไปอีก "ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคนไข้สมองฝ่อ" เป็นคำพูดจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ
เมื่อผมได้รับ คำชี้แจงจากทางโรงพยาบาลแล้ว ก็ไม่คิดว่าจะทำอะไรต่อ เพราะไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลย ทั้งๆที่ยังคาใจ ทำได้อย่างเดียวคือ ทำใจรับสภาพว่าแม่ได้จากพวกเราไปก่อนเวลาอันควร แต่ก็ต้องขอบใจน้องชายผมที่ไม่ยอมแพ้ กลับเดินหน้าร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุข จนกระทรวงฯรับเรื่องและส่งเรื่องต่อมาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เมื่อถึงตอนนี้ผมก็คิดว่าจะให้น้องทำเรื่องนี้เพียงลำพังได้อย่างไร ผมเองก็พอที่จะรู้เรื่องระบบราชการและการตรวจสอบ จึงเข้ามาติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอเอกสารเวชระเบียนก่อน แต่ดูเหมือนว่าในการมาขอเวชระเบียนนี้กลับทำให้ผมมีพลังในการตรวจสอบเรื่อง มากขึ้น เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเลย โรงพยาบาลบอกให้รอ รอ แล้วก็รอ จนเวลาผ่านไป 1 เดือน 2 เดือน ผมจึงต้องออกอุบายว่า ทางบริษัทประกันชีวิตต้องการเวชระเบียนเพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายที่จะต้อง จ่ายสินไหมกรณีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือไม่.......ได้ผล โรงพยาบาลได้สำเนาเวชระเบียนจำนวน 20 หน้าให้พร้อมคุณหมอศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ คุณหมอเจ้าของไข้ก็ได้ออกใบรับรองแพทย์ให้อีก 2 ฉบับ มีข้อความตรงกัน ใบหนึ่งส่งให้บริษัทประกันชีวิต อีกใบหนึ่งผมเก็บเอาไว้ เนื้อหาโดยสรุปคือ เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เมื่อได้เอกสารเวชระเบียนมาแล้วปัญหาต่อไปคือ อ่านไม่เป็น ไม่เข้าใจ มันบอกอะไรบ้าง ทำให้ต้องหาคนช่วยอ่านให้ จะมีใครอ่านได้นอกจากคุณหมอท่านอื่นๆที่ไม่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์นี้ ผมจึงนำเอกสารที่ได้นี้ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อขอให้คุณหมอได้ช่วยดูให้ แต่ทุกที่ที่ไป กลับไม่มีใครยินดีดูให้เลยสักที่เดียวแม้จะบอกว่ายินดีเสียค่าใช้จ่ายก็ตาม ........จะยอมแพ้หรือ "ไม่" เป็นคำถามและคำตอบในใจที่เกิดขึ้นของผม มันมีอีกทางหนึ่งคือ ต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง จากประสบการณ์ในการหาข้อมูลทางวิชาการเพื่อนำมาใช้ประกอบการสอนนักศึกษาของ ผม ผมเชื่อว่าคงจะหาข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีแม่ของผมได้จากทาง อินเตอร์เนต จึงมุ่งมั่นที่จะค้นข้อมูลทุกเวลาที่ว่างจากงานสอนและทุกคืนหลังอาหารเย็น จนง่วงหลับไปกับโต๊ะทำงานที่บ้านในตอนดึก เป็นแบบนี้ทุกวัน ทุกวัน จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาเกือบสองปีเต็ม ผมเริ่มที่จะรู้ถึงกระบวนการทางการแพทย์บ้างแล้ว ถึงจะเพียงน้อยนิด แต่ก็เริ่มที่จะรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลของเอกสารที่มีอยู่ในมือ ประกอบกับภายหลังก็ได้เวชระเบียนใหม่อีกชุดหนึ่ง จากการติดตามทวงถามที่นานแสนนาน ถึงจะไม่แน่ใจว่าเอกสารที่ได้มาภายหลังนั้นเป็นเอกสารที่เป็นข้อมูลจริงๆจาก การรักษาแม่ก็ตาม ในชุดที่สองที่ได้มามีเอกสารที่ไม่มีในชุดแรกหลายรายการซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น เอกสารเวชระเบียนที่สำคัญทั้งสิ้น และก็เป็นเอกสารที่มีปัญหาจากการตรวจสอบของผมเองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเป็นแบบนี้ผมจะทำอย่างไรดีในเมื่อทางโรงพยาบาลและหมอไม่แสดงความรับผิด ชอบชีวิตแม่ ที่ต้องเสียไปจากการกระทำที่ตอนนี้ผมเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมแล้วว่า ทั้งประมาท เลินเล่อ ไม่ใส่ใจอย่างร้ายแรง เรื่องที่ร้องเรียนไปที่หน่วยงานภาครัฐก็ไม่มีคำตอบ ตอนนั้นเวลาก็ผ่านไปแล้วปีเศษ จึงตัดสินใจฟ้องแพ่งเป็นคดีผู้บริโภค ฟ้องคดีแพ่งเดิมไม่ได้เสียแล้วเพราะหมดอายุความ
เมื่อฟ้องคดี แล้ว สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้พบและผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็คือ คำให้การของจำเลย (หมอผ่าตัดเจ้าของไข้) กลับให้การต่อศาลว่า แม่ของผมเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวของแม่เอง ไม่ได้เป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนหรือโดยตรงจากการผ่าตัด วันที่ได้คำให้การนี้เป็นวันที่ศาลนัดพิจารณา ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทางกองการประกอบโรคศิลปะ ได้นัดให้ไปให้ข้อมูลการร้องเรียน ทำไมต้องเป็นวันเดียวกันด้วยทั้งๆที่รอมาตั้งปีกว่าแล้ว กลับมานัดตรงกับศาลนัดอีก แต่ไม่เป็นไร โชคดีที่ศาลท่านใช้เวลาไม่มาก พอเสร็จจากศาลแล้วก็รีบขับรถตรงไปที่กองการประกอบโรคศิลปะทันที โชคดีที่มาทัน เมื่อได้เวลาก็ถูกเชิญเข้าไปในห้องประชุมที่มีคณะกรรมการเต็มห้อง ผมไม่รู้ว่าใครคือใคร มารู้ภายหลังจากสื่อต่างๆที่กำลังเสนอข่าวเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.....และรูปของท่านเหล่านั้นในเวปไซด์หน่วยงานของท่านเอง
ใน การให้ข้อมูลที่กองการประกอบโรคศิลปะนี้ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถามประเด็นที่ร้องเรียน ผมตอบ หลายครั้งถูกตัดบทไปจึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่ เมื่อเห็นเช่นนี้สุดท้ายผมจึงได้บอกกับคณะกรรมการว่า ผมมีเวชระเบียน 2 ชุด ได้มาคนละเวลา ในนี้มีเอกสารเท็จอยู่หลายรายการโดยเฉพาะรายงานพยาบาลที่เท็จอย่างชัดเจน แล้วผมถามผู้ดำเนินรายการว่า ผมกลับได้หรือยัง เขาตอบว่า "กลับได้" ทั้งๆที่ไม่พยายามซักผมเลยว่าตรงไหนบ้างที่ผมว่าเท็จ ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาข้อร้องเรียน แต่ผมก็ไม่ใส่ใจแล้ว กลับบ้านด้วยความหดหู่ คิดไปว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะดูแลประชาชนให้เต็มที่ เพราะเงินเดือนที่เขาเหล่านั้นได้ก็มาจากภาษีของประชาชนนั่นเอง
เมื่อ กลับมาถึงบ้านก็เอาคำให้การของหมอ(จำเลยในคดีผู้บริโภค) มาอ่าน ก็ยิ่งมีอารมณ์โกรธยิ่งขึ้น คิดว่าใบรับรองแพทย์ที่เขาเองเคยออกให้นั้นมันไม่มีความหมายเลยหรือ เคยบอกว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด พอถูกฟ้องร้องก็มาให้การใหม่ว่า ไม่ได้เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเสียแล้ว แต่กลับไปโทษแม่ โทษคนตายไปแล้วว่าเกิดจากโรคประจำตัวของแม่เอง แล้วทำไมถึงไม่บอกและอธิบายให้ผมและญาติคนอื่นๆแบบนี้บ้างตอนเกิดเหตุ .............แล้วแบบนี้จะเชื่อข้อมูลอันไหนแน่ เมื่อคนที่ประกอบวิชาชีพที่ผมเคยนับถือมาก นับถือแบบไม่ต้องมีข้อสงสัยเลยในเรื่องจริยธรรมคุณธรรม แต่ตอนนี้กลับตรงกันข้าม เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแล้วไม่ต้องพูดถึง ผมเห็นว่าการทำและประกาศใช้เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์ ตรงไหนเลยกับกรณีของแม่ผม เพราะถ้าเขาเหล่านั้นพึงนำเอาจรรยาบรรณวิชาชีพมาเป็นวิถีปฏิบัติอย่างเคร่ง ครัดแล้ว ก็คงไม่มีการดึงเวลาที่จะให้เอกสารเวชระเบียนเพื่อตรวจสอบ คงไม่มีการทำเอกสารเวชระเบียนอันเป็นเท็จเพื่อปกปิดความผิดพลาดของตนเอง คงไม่มีการออกใบรับรองอันเป็นเท็จหรือการให้การต่อศาลอันเป็นเท็จ (เพราะจะต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใดเท็จแน่)
ตอนนี้ผม มองเห็นประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับนี้อย่างเต็มที่ เสียดายครับ น่าจะมีกฏหมายดีๆฉบับนี้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในกรณีของแม่ผม ผมจะได้ไม่ต้องมารับรู้ถึงความพิกลพิการของหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบข้อ เท็จจริงจากการร้องเรียน ไม่ต้องมารับรู้ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรจากคนกลุ่มหนึ่งในวิชาชีพอัน ทรงเกียรติ เป็นเหตุให้กระทบกับความศรัทธาที่เคยมีให้แต่เดิม ผมไม่รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครบ้างในสังคมไทย แต่จากกระแสการฟ้องร้องและร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ แบบนี้ ผมคงไม่ใช่ตัวคนเดียวหรอกที่คิดแบบนี้
--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php
http://www.etcommission.go.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น