"ฟาวด์พอยต์"เว็บเพื่อสังคม ศูนย์ตามหา"ของหาย"ยุคไซเบอร์
ศักดิ์สกุล กุลละวณิชย์ / รายงาน
ณัฐพงศ์ เทียนดี เว็บมาสเตอร์ฟาวด์พอยต์ |
และสิ่งแรกที่ควรทำก็คือไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความหาเจ้าของ หรือลงบันทึกประจำวันแจ้งทรัพย์สินสูญหายไว้
จากนั้นส่วนมากคงได้แต่เฝ้ารอการติดต่อกลับ เฝ้าคิดว่ามีจะโอกาสได้ของคืนหรือไม่ หรือต้องออกตามหากันเอาเองตามยถากรรม
แต่ ณ ปัจจุบัน ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ในโลกแห่งอินเตอร์เน็ต ได้มีกลุ่มบุคคลคิดดีทำดี ลุกขึ้นมาสร้าง "พื้นที่" ที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการหาของส่งคืนให้กับเจ้าของ หรือการตามหาของที่สูญหายไป
เว็บไซต์ฟาวด์พอยต์ (www.foundpoint.com) เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์มาไม่ถึงครึ่งปี แต่มีจุดมุ่งหมายแน่วแน่ในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังทนทุกข์กับเรื่องนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ หรือแนวคิดการจัดทำเว็บที่ว่า "ของของใคร ใครก็รัก!"
"อยากให้ฟาวด์พอยต์เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นในการตามหาคน สัตว์ สิ่งของ ที่หายไป อยากให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ในยามที่ยากลำบาก และก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังตามหาอะไรก็ตาม" นายณัฐพงศ์ เทียนดี เว็บมาสเตอร์ฟาวด์พอยต์ เผยแรงบันดาลใจก่อตั้งเว็บเพื่อสังคม
ณัฐพงศ์ เล่าประวัติชีวิตย่อๆ ว่า เป็นบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ จากรั้วลาดกระบัง ที่หันเหมาทำงานด้านออกแบบสื่อเว็บไซต์ และมัลติมีเดีย ร่วมมือกันก่อร่างสร้างเว็บกับ ทิศา ปทุมวัน ในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ ศุภชัย ใจโต และรัชนียา เอมสาร รับผิดชอบเรื่องข้อมูล
โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเว็บฟาวด์พอยต์ขึ้นมานั้น ณัฐพงศ์ขยายความไว้ว่า
"ผมทำเว็บบล็อกมาประมาณ 5-6 ปีได้แล้ว เป็นบล็อกที่ค่อนข้างไร้สาระ คือให้คนเข้ามาอ่านเอาฮาอย่างเดียว พอทำเรื่องไร้สาระมากๆ เข้า วันหนึ่งก็เกิดอยากจะเป็นคนดีของสังคม เพราะไปถ่ายรูปงานรับปริญญาให้น้องชาย แล้วผมดันซุ่มซ่าม ทำเมมโมรี่การ์ดกล้องถ่ายภาพหล่นหาย
น้องผมเศร้ามากเพราะเสียดายรูปที่ถ่ายมาอย่างสวย ส่วนผมรู้สึกผิดสุดๆ ระหว่างคอตกกลับบ้านกันทั้งพี่ทั้งน้อง ผมเห็นคนเดินผ่านไปผ่านมาเยอะแยะ ก็คิดได้ว่า มันอาจจะมีคนสักคนหนึ่งที่กำลังเดินผ่านเราไปนี่แหละ ที่เป็นคนเก็บได้ แต่เขาจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นของเรา
ผมคิดว่าพื้นฐานทุกคน พอเก็บของได้แวบแรก ต้องคิดอย่างแรกเลยว่า ของนี่ของของใคร แล้วจะคืนเจ้าของยังไง ส่วนแว้บที่สองอาจจะเป็นแว้บ "มาร" ซึ่งอาจจะเป็นมารเพราะจำใจ หาเจ้าของไม่ได้เลยเก็บไว้เอง หรือเป็นมารเพราะใจตน เก็บไว้เป็นของตัวเองดีกว่า...จะคืนมันทำไม
ผมเลยคิดว่า ถ้ามีคำตอบให้กับแว้บแรก ว่าจะคืนเจ้าของยังไง และเขารู้ว่าต้องมาที่เว็บฟาวด์พอยต์ เขาก็อาจจะไม่คิดที่จะยึดไว้
ส่วนคนทำของหายจะกระตือรือร้นกว่าคนเจอของอยู่แล้ว และต้องลงประกาศหาของไปทั่วแน่นอน ในความคิดผม การกระจายประกาศในวงกว้างมันมีส่วนดีสำหรับข้อมูลบางประเภท แต่สำหรับเรื่องแบบนี้น่าจะมีศูนย์กลางที่รวมข้อมูลไว้จะดีกว่า เพราะจะทำให้หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น
1.กล้องฟิล์มของชาวต่างชาติ ที่ณัฐพงศ์เก็บได้และกลายเป็นแรงบันดาลใจก่อตั้งเว็บเพื่อสังคม foundpoint.com 2.ฟิล์มที่ณัฐพงศ์ล้างออกมาจากกล้องชาวต่างชาติ และนำมาลงประกาศหาเจ้าของในฟาวด์พอยต์ |
ส่วนแรงบันดาลใจอีกอันนึง ก็เป็นกรณีที่จำใจเก็บของเขามา เพราะไม่รู้จะไปคืนที่ไหน คือกล้องฟิล์มของชาวต่างชาติ ที่เก็บได้บนรถตุ๊กตุ๊กแถวปากคลองตลาดเมื่อสิบปีก่อน จนบัดนี้กล้องและฟิล์มที่ล้างเป็นภาพออกมาแล้วก็ยังนอนแอ้งแม้งอยู่บ้านผม
ส่วนสาวเจ้าของกล้องที่อยู่ในภาพถ่ายคงจะเสียดายและปลงตกไปแล้วว่า ชีวิตนี้คงไม่ได้กล้องและความประทับใจจากเมืองไทยคืนกลับไปเป็นแน่แท้ ไม่ต้องบรรยายความรู้สึกของเธอเหล่านั้นให้มากความครับ แค่คิดว่าเป็นเรา คงเสียใจแน่นอน"
สําหรับวิธีการใช้งานเว็บฟาวด์พอยต์นั้นเว็บมาสเตอร์ไฟแรง อธิบายว่าไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้งานง่ายๆ เพื่อให้เข้าถึงคนหมู่มาก
"ง่ายมากครับ พอเข้ามาในหน้าแรก ก็จะเจอหัวข้อใหญ่มากคือ "หา" กับ "เจอ"
ก็ตรงตัวเลย คือคุณกำลังตามหาอะไรก็ลงประกาศไว้ในหัวข้อ "หา" และคุณไปเจออะไรมาที่ไม่ใช่ของของคุณ แล้วต้องการจะมาตามหาเจ้าของที่นี่ก็ไปที่หัวข้อ "เจอ" ส่วนรายละเอียดการลงประกาศก็มีความหมายตามหัวข้อของมัน ผมตั้งใจให้มันเข้าใจง่ายที่สุด
นอกจากนั้นก็คือผมจะแยกวันที่ลงประกาศกับวันที่ของหายออกจากกัน เพราะบางคนทำของหายแล้วกว่าจะรู้ตัวก็ผ่านไปหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี เพิ่งจะมาลงประกาศ ระบบจะได้มีข้อมูลที่ถูกต้องเก็บไว้
และที่พิเศษก็คือฟังก์ชัน "หัวใจสีแดง" ที่อยู่ใต้หัวข้อประกาศ ซึ่งเป็นปุ่มที่เมื่อเจ้าของประกาศหาของหรือตามเจ้าของเจอแล้วจะมาทำการกดเพื่อยืนยันว่าประกาศนั้นๆ ได้เคลียร์แล้ว และทางฟาวด์พอยต์จะย้ายประกาศนั้นไปไว้ในหมวดหมู่ "หาเจอแล้ว"
ส่วนเสริมส่วนสุดท้ายคือ "แอดดิส" (add this) เป็นเครื่องมือกระจายข้อมูลประกาศของคุณออกไป โดยแชร์ไปยังโซเชี่ยล เน็ตเวิร์กต่างๆ ที่คุณมีแอ๊กเคานต์อยู่
ในแผนต่อไปผมคิดว่าจะพัฒนาระบบค้นหาภายในฟาวด์พอยต์ให้ดีขึ้น รวมถึงระบบปักหมุดประกาศแบบต่างๆ สำหรับประกาศที่ต้องการความช่วยเหลือ เร่งด่วน ฉุกเฉิน จะได้มาลงประกาศพิเศษไว้ตรงนั้น"
เว็บไซต์ที่มีเจตนาดีๆ เช่นนี้จะไม่เกิดประ โยชน์เลย หากไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งในส่วนนี้ ณัฐพงศ์ให้ความเห็นถึงตลอดช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เปิดหน้าเว็บในวันแรก ว่า
"เว็บเพิ่งเปิดได้ไม่นานครับ สัก 4-5 เดือน ก็เริ่มมีคนเข้ามาใช้บ้างแล้วครับ ผมพยายามประชาสัมพันธ์ไปในเว็บต่างๆ ที่พอจะรู้จักกัน เขาก็น่ารักมาก ช่วยประชาสัมพันธ์กันเต็มที่
ผมรู้สึกดีใจมากเวลามีคนมาลงประกาศใหม่ๆ เพราะรู้สึกว่าเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ใช่ดีใจที่มีคนทำของหายนะครับ โดยเฉพาะกับจำนวนตัวเลขของประกาศ "หาเจอแล้ว" ในด้านบนของเว็บ เวลามันเพิ่มจำนวนขึ้น ก็ถือเป็นกำลังใจของคนทำเว็บ และอีกทางหนึ่งก็เป็นการสร้างกำลังใจให้กับผู้ลงประกาศคนอื่นว่า มีคนหาของเจอแล้วจริงๆ งั้นเราเองก็มีหวังเหมือนกัน"
หน้าตาเว็บไซต์ฟาวด์พอยต์ |
ที่ผ่านมามีเรื่องราวน่าสนใจเกิดขึ้นในพื้นที่ของ "ฟาวด์พอยต์" มากมายหลายเรื่อง ซึ่งณัฐพงศ์หยิบยกบางแง่มุมมาเล่าให้ฟังว่า
"หลังจากปล่อยให้เว็บมันดำเนินไปของมันช่วงระยะหนึ่งซึ่งไม่นาน ผมเห็นคนที่ตามหาของที่ตัวเองทำหายหลายคนครับ แต่มีคนนึงที่ผมอ่านประกาศของเขาแล้วผมน้ำตาจะไหล นึกถึงประโยคที่ว่า "ของของใคร ใครก็รัก" ขึ้นมาทันทีเลย คือประกาศตามหาของหลายชิ้นที่ลืมไว้พร้อมกัน ประกอบด้วย หมวกการ์ตูนรูปอุนจิ เครื่องเกมพีเอสพี หูฟังสีเขียว กระเป๋าสะพาย บัตรนักศึกษา บัตรพนักงาน
พอคลิกเข้าไปแล้ว ยิ่งอยากให้เขาตามหาของให้เจอมากเลย เขาเขียนว่า หายบนรถแท็กซี่ ฝนตกแล้ววางกระเป๋าไว้เบาะหน้า เอาร่มมารับเพื่อน รู้ตัวอีกที ลืมของไว้ด้านหน้ารถเนี่ยล่ะครับ ไม่ได้เสียดายเงิน แต่เสียดายเพราะแต่ละอย่างค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ หาเก็บเงินจนได้ มันเห็นภาพไหม ผมนึกภาพถึงตอนที่เขาอดขนม หรือเก็บออมเงินเอาไว้ซื้อหมวก และเครื่องเกม ใครอาจจะมองว่าเป็นแค่หมวกบ๊องๆ เครื่องเกมไร้สาระ แต่ผมขอทวนประโยคนี้อีกทีที่ว่า "ของของใคร ใครก็รัก" ฝากไว้เป็นกำลังใจว่า ยังมีคนเข้าใจความรู้สึกและเอาใจช่วยอยู่นะครับ
สำหรับบางประกาศ เช่นประกาศหากระเป๋าสตางค์ มีบ่อยมาก บางประกาศกลายเป็นประกาศ "หาเจอแล้ว" เพราะมีพลเมืองดี ส่งบัตร และเอกสารภายในกระเป๋าคืนกลับมาให้เจ้าของตามที่อยู่ในบัตร
พอเจ้าของได้รับของคืน ก็มาโพสต์ข้อความไว้ในประกาศว่า ได้รับของคืนแล้วนะ ผมได้อ่านแล้วก็ปลื้มใจมาก เพราะนอกจากเขาจะได้ของคืนแล้ว ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนน่ารักและมีมารยาท เขาทำของหาย เขามาลงประกาศตามหา และพอมีคนมาคืนของให้เขา จะด้วยเพราะเข้ามาในฟาวด์พอยต์หรือไม่ก็ตาม เขาก็มากล่าวคำขอบคุณ ทั้งๆ ที่คนที่ส่งของคืนมาให้ จะได้อ่านข้อความขอบคุณของเขาหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เขาก็ยังให้เกียรติและแสดงความนับถือในน้ำใจกลับไปยังพลเมืองดีคนนั้น
สำหรับผม ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ยิ้มได้เลยจริงๆ"
อนาคตของ "ฟาวด์พอยต์" ณัฐพงศ์ตั้งความหวังถึงการได้ทำหน้าที่ในวงกว้างขึ้น หรือได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่เลี่ยงไม่ได้ของการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อช่วยเหลือผู้คน
"อนาคตผมอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เข้ามาใช้ฟาวด์พอยต์ อยากให้ จส.100 หรือร่วมด้วยช่วยกัน หรือสถานีตำรวจที่รับแจ้งความเกี่ยวกับของหาย คนหาย ฯลฯ เข้ามาใช้เว็บให้เป็นจริงเป็นจัง เพราะทุกวันนี้ฟังวิทยุมีเรื่องราวของหายบ่อยมากและแต่ละกรณีก็ใช้เวลาในการช่วยเหลือไม่ได้หมดในวันเดียว
ดังนั้น จึงมีข้อมูลคงค้างและต้องพักไว้ในที่ใดที่หนึ่ง ที่น่าจะเป็นฐานข้อมูลเปิด และเป็นที่เก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้ในทุกๆ วัน นั่นแหละครับที่อยากให้ฟาวด์พอยต์เข้าไปรองรับตรงจุดนั้น
อย่างทุกวันนี้ผมเห็นมีการรับซื้อของโจรหรือพวกขโมยของไปขายมากมาย ตัวอย่างกรณีพวกกล้อง เลนส์ หรือโทรศัพท์มือถือ ที่ทุกวันนี้มีคนใช้เพิ่มมากขึ้น มีคนทำหายหรือโดนขโมยเพิ่มมากขึ้น พวกขโมยพอได้ของไป ก็เอาไปปล่อยในตลาดมืดหรือโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายของออนไลน์ทำได้สะดวกง่ายดายยิ่งกว่าอ้าปากงับกล้วย
แล้วพวกเราเองนี่แหละ ที่วันใดวันหนึ่งอาจจะอยากซื้อกล้อง ซื้อเลนส์ ซื้อโทรศัพท์มือสอง จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นของโจรหรือเปล่า นี่ก็จะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ทางเว็บของเราจะเข้าไปช่วยกลั่นกรองตรงนี้ ถ้ามีประกาศของหายจากผู้ที่โดนขโมยของไป พร้อมหมายเลขประจำเครื่องที่ลงไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ ก่อนจะตัดสินใจซื้อของมือสองหรือซื้อของต่อจากใคร ก็ให้เข้ามาตรวจสอบของนั้นซะก่อนที่ฟาวด์พอยต์ ดอต คอม ว่าของสิ่งนั้นไม่ได้เป็นของที่ถูกลงประกาศว่าเป็นของหายอยู่ จะได้มั่นใจว่าไม่ได้ไปซื้อของโจร อันจะทำให้เกิดเรื่องเดือดร้อนตามมาได้
เป้าหมายสุดฝันของผม ผมอยากให้ฟาวด์พอยต์เป็นเหมือนกูเกิ้ล แต่อาจจะเป็น "google : lost and found" (ศูนย์กลางค้นหาของหาย) อะไรทำนองนั้นครับ" ณัฐพงศ์ ระบุ
ต่อข้อถามสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องรายรับ-รายจ่ายของเว็บ ณัฐพงศ์บอกตรงๆ ว่า
"ตอนนี้ไม่มีรายได้ครับ มีแต่รายจ่าย รายจ่ายก็มีแบบพื้นฐาน เหมือนที่เว็บอื่นๆ เขามีกัน คือค่าโฮสติ้ง, ค่าเขียนโปรแกรม, ค่าออกแบบ ซึ่งผมโชคดีที่มีเพื่อนพี่น้องน่ารักมาช่วยกันทำ บ้างก็ทำให้ฟรี บ้างก็คิดในราคาไม่แพง บางส่วนผมทำเองได้ผมก็ทำเอง รวมๆ แล้วพอรับไหว"
สุดท้ายแล้ว ตัวเว็บไซต์จะทำหน้าที่ได้ดีสมตามเป้าหมายเพียงใด คงไม่เท่ากับเจตนาในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน ที่ฟาวด์พอยต์ได้แสดงให้เราได้เห็นถึงแง่มุมดีๆ บนโลกไซเบอร์อันแสนวุ่นวายเช่นทุกวันนี้
"อยากให้คนเข้ามาใช้กันเยอะๆ ไม่ต้องรอให้ของหายหรอกแล้วค่อยมานั่งนึกดีๆ ผมว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิต คุณต้องเคยทำของหายบ้างแหละ ของอะไรก็ได้ ของที่หายไม่มีคำว่าของไร้สาระ ของรักของเรา เราก็อยากได้กลับคืนมาใช่ไหมครับ
นึกให้ดีๆ แล้วมาลงประกาศไว้ที่ฟาวด์พอยต์ บางทีอาจจะมีคนกำลังรอที่จะคืนของให้คุณ เหมือนที่ผมรอมาสิบปีแล้ว ที่จะคืนกล้องอันนั้นกลับไป และผมก็เชื่ออีกนั่นแหละว่า ถ้านึกให้ดี คุณอาจจะเคยเจอของที่ไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นใคร และอยากจะคืนใจจะขาด แต่ในที่สุด ของสิ่งนั้นก็ถูกซุกไว้ในซอกหลืบที่ไหนสักที่ในบ้านของคุณ อย่างไม่มีคุณค่าอะไร
เชื่อผมเถอะ มีคนรอที่จะได้ของสิ่งนั้นกลับคืนอย่างใจจดใจจ่อ และรอมานานเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้
เมื่อคุณนึกได้ เราก็ยินดีต้อนรับสู่ฟาวด์พอยต์!" ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
หน้า 21
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น