ว่าไปแล้วการมาแคชเมียร์ในช่วงฤดูมรสุมที่ไม่มีหิมะให้เห็น ให้ได้จับต้อง แต่มีฝนตกโปรยปรายเข้ามาแทนที่ก็เป็นความสวยงามไปอีกแบบ อย่างไรก็ตามถ้าให้เลือกเชื่อว่าคนไทยร้อยทั้งร้อยย่อมจะเลือกแคชเมียร์ในยามที่หิมะปกคลุมเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อทั้งกุลมาร์ค โซนามาร์คและพาฮาลแกม มากกว่า ก็แหม…บ้านเราเป็นเมืองร้อนไม่มีหิมะนี่นา ไหนๆ เสียเงินไปแล้วก็ต้องให้คุ้มค่าที่สุด ขอถ่ายรูปกับภูเขาหิมะ ได้มีโอกาสสัมผัสหิมะสักหน่อยก็ยังดี…. จริงมั้ย
"ตำรวจ-ทหาร"คุมทั้งในและนอกเมือง
ทั้งนี้โปรแกรมท่องเที่ยวแคชเมียร์นั้นมีสูตรที่เหมือนกันแทบทุกบริษัททัวร์คือ การไปนอนบ้านเรือ(Boat House)ในทะเลสาบดาลหรือนาร์กิ้น ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไปไม่ถึงแคชเมียร์ แล้วก็ต้องไปกุลมาร์ค (Gulmarg) โซนามาร์คและพาฮาลแกม ซึ่งแต่ละแห่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไป แต่กว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นต้องนั่งรถนานเป็นชั่วโมงๆ ขึ้นอยู่กับว่าฝนตกถนนลื่นหรือไม่ จราจรติดขัดหรือเปล่า ผ่านจุดตรวจทหาร-ตำรวจ กี่จุด หรือจะผ่านขบวนฝูงแกะ ฝูงแพะ หรือฝูงควายมากน้อยแค่ไหน ดีแต่ว่าบ้านเมืองเขาแตกต่างจากบ้านเราค่อนข้างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ บ้านเรือน หรือวิถีชีวิตผู้คน เลยไม่เบื่อเวลานั่งรถนาน ซึ่งถ้าไปไม่กี่คนอาจจะใช้รถจี๊ป ถ้าไปกันสัก 5-7 คน จะใช้รถโตโยต้ารุ่นอินโนวา
บางพื้นที่บางจุดในเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านยังเห็นทหารถือปืน และยังมีรถทหารตระเวนไปมา ทำเอานักท่องเที่ยวไทยเป็นงงและตั้งคำถามกันว่า….ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่มีชายแดนติดกันสงบแน่หรือ
วันที่ลูกทัวร์ของนิสโก้แทรเวลไปยังกุลมาร์คซึ่งห่างจากเมืองศรีนาคาร์ไปเกือบ60 กิโลนั้น เราแวะพักเข้าปั๊มกลางทาง ด้านข้างเป็นทุ่งนาเหลืองอร่ามและมีเพิงเล็กๆจำนวนมาก พอเด็กๆตัวดำๆหน้าตามอมแมมทั้งหญิงและชายเห็นรถนักท่องเที่ยวมาก็เข้ามาขอโน้นขอนี่ ก่อนกลับหลายคนเลยหยิบขนมไปแจกตามสไตล์คนไทยที่ขี้สงสาร
เด็กพวกนี้ติดตามพ่อแม่มาจากแคว้นราชาสถาน เป็นพวกคนจนที่มารับจ้างทำนาทำไรที่แคชเมียร์ แต่พอหน้าหนาวพวกนี้ก็จะอพยพกลับ เป็นการมาขายแรงงานนั่นเอง
แวะเที่ยวสวนแอปเปิ้ล
กุลมาร์คในหน้าร้อนกับหน้าหนาวบรรยากาศแตกต่างกันเยอะมาก ถ้าเป็นหน้าร้อนบริเวณที่เราไปจะเขาทำเป็นสนามกอล์ฟ 18 หลุม ที่อยู่สูงที่สุดในโลก โดยสูง 2,730 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทัวร์ทุกแห่งจะพานักท่องเที่ยวขึ้นกระเช้าลอยฟ้า เคเบิลคาร์หรือที่นั่นรียกว่ากอนโดลา ซึ่งมีทั้งเฟส1 และ 2 แต่ส่วนใหญ่ถ้าไปตอนหน้าหนาวที่มีหิมะแค่ขึ้นเฟส1 ก็เจอแล้ว ตรงนั้นทางทัวร์จะให้เวลานานเป็นชั่วโมงสามารถถ่ายรูปได้อย่างจุใจ แต่ขอบอกไปตอนเดือนกันยายนที่ไม่มีหิมะ ดูภูเขาสูงที่นี่ยังไงก็สวยสู้ตอนมีหิมะปกคลุมไม่ได้
จากจุดจอดรถเพื่อไปยังเคเบิ้ลคาร์นั้นไกลเป็นกิโล ทำเอาพวกผู้สูงอายุบ่นกันเป็นแถวเพราะไม่นึกว่าจะต้องเดินจนเมื่อยขนาดนี้ แถมเป็นทางขึ้นเขาด้วย บางคนถึงกับออกปากว่ารู้แบบนี้ยอมเสียเงินขี่ม้าดีกว่า
อย่างไรก็ตามโชคดีอย่างหนึ่งของการมาเที่ยงกุลมาร์คตอนนี้คือ นักท่องเที่ยวบางตา ฉะนั้นการรอคิวเพื่อจะขึ้นเคเบิลคาร์จึงไม่นานนัก ระหว่างที่นั่งในเคเบิลคาร์ใช้เวลา10 กว่านาทีเห็นจะได้ บางช่วงจะเห็นหมู่บ้านยิปซีอยู่ข้างล่างกำลังเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ คนพวกนี้จะอพยพไปอยู่ที่เมืองจัมมูในช่วงฤดูหนาว และจะกลับมาอยู่อาศัยที่นี่เฉพาะในช่วงฤดูร้อน
|
ขากลับจากกุลมาร์คไปยังเมืองศรีนาคาร์"คุณมินท์มันตา พานทอง" เจ้าของนิสโก้ฯจัดให้คณะทัวร์แวะสวนแอปเปิ้ลของ"คุณนาซีร์ อาหมัด ปาลา" อายุ 28 ปี สวนแห่งนี้มีพื้นที่เกือบ 8 เอเคอร์(1เอเคอร์เท่ากับ 2ไร่ครึ่ง) ปลูกทั้งแอปเปิ้ล สเตรอเบอรี่ และลูกแพร์ ซึ่งตามเส้นทางนี้มีหลายสวนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตร โดยเก็บค่าเข้าสวนคนละ 10 รูปีคิดเป็นเงินไทยตก 7 บาท ถือว่าไม่แพงเลย แต่ถ้าใครอยากเด็ดแอปเปิ้ลจากต้นมารับประทานเสียลูกละ 50 รูปี ปรากฎว่ามีนักท่องเที่ยวยอมควักกระเป๋าจ่ายกันเยอะ เพราะคิดว่าไหนๆก็มาแหล่งปลูกแอปเปิ้ลที่อร่อยที่สุดในอินเดียแล้วต้องลองชิมจากต้นเสียหน่อย พร้อมกับถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเก็บไว้เป็นหลักฐานอวดใครต่อใคร แต่สำหรับทัวร์ไทยกลุ่มนี้ที่อายุเลยเลข4 -6 ไปแล้วไม่มีใครใช้บริการนี้เลย
เหยียบถิ่นปลูกหญ้าฝรั่น
วันรุ่งขึ้นมีโปรแกรมไปพาฮาลแกม (Pahalgam) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองศรีนาคาร์ ไปทางทิศตะวันออกเกือบร้อยกิโล ที่นี่เป็นแหล่งปิกนิกยอดนิยมของชาวแคชเมียร์และนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ซึ่งล้วนประทับใจกับทิวทัศน์สวยงามของเทือกเขาหิมาลัยที่ยามนี้มองไปไกลๆจะเห็นเป็นสีฟ้าคราม ถ้าอยู่ใกล้ก็จะเห็นเป็นภูเขาเขียวขจี บางช่วงสายน้ำที่เกิดจากหิมะละลายไหลผ่าน เป็นภาพที่งดงามยิ่งนัก
ก่อนจะไปถึงยังจุดหมาย ทางนิสโก้ฯจัดให้ลูกทัวร์ไปดูแหล่งปลูกหญ้าฝรั่น ซึ่งที่นี่เป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มองไปไกลสูดลูกหูลูกตา ตอนที่ไปนั้นเกษตรกรกำลังนำเมล็ดเพาะในดิน บางคนยังขอมาปลูกในเมืองไทย
ดอกหญ้าฝรั่นสีม่วงสดสวย |
แม้พวกเราจะไม่ได้เห็นต้นหญ้าฝรั่นที่แพงแสนแพงเท่ากับราคาทองคำ(1 กรัมขาย 200รูปี) แต่ก็มีโอกาสแวะร้านขายที่มีรูปต้นและดอกโชว์ไว้ เป็นดอกสีม่วงสดสวยมาก ที่แพงเพราะต้นหนึ่งเขานำเกสรสีแดงสดของมันที่มีต้นหนึ่งแค่3 เส้นมาอบแห้ง สามารถทานเป็นพวกชาหรือผสมกับอาหาร บ้างก็ผสมกับเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย ซึ่งหญ้าเฝรั่นนี้มีสรรพคุณที่ทำให้สมองดี ผิวพรรณดี และแม้จะแพงอย่างไรแต่ลูกทัวร์ของนิสโก้ฯก็ซื้อกันมาด้วยความเชื่อที่ว่าสมุนไพรอินเดียชนิดนี้คงจะดีจริงดังว่า บางคนซื้อไปฝากญาติผู้ใหญ่ แต่บางคนไม่กล้าซื้อเพราะราคาแพงแสนแพงนั่นเอง อีกทั้งยังมองว่าเหมือนดอกคำฝอยบ้านเรา ฉะนั้นกลับไปกินดอกคำฝอยสมุนไพรของเมืองเหนือดีกว่า ไม่แพงด้วย
นักท่องเที่ยวทั้งอินเดียและต่างชาตินั้น หากไปพาฮาลแกม จะมีกิจกรรมให้ทำให้ดูหลายอย่าง อย่างเช่น การตกปลาเทราต์ และขี่ม้าชมวิว นอกจากนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของทุกปี จีผู้แสวงบุญชาวฮินดูจำนวนมากจะมาประกอบพิธีกรรมยาตราเพื่อไปสักการะถ้ำอัมรนาถอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือเป็นที่ประทับของพระศิวะ เทศกาลนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม Amarnath Yatra
รีสอร์ทเต็มเมือง
สำหรับคณะของเราทุกคนสมัครใจขี้ม้าชมวิวทิวทัศน์แม้ฝนจะต้องโปรยปรายถึงขั้นต้องหยิบร่มและใส่เสื้อกันฝนกันก็ตาม ระหว่างทางจะเห็นต้นวอลนัต เห็นป้ายรีสอร์ทน้อยใหญ่เต็มไปหมดสมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมจริงๆ
ต้องบอกว่าวิวที่นี่สวยคนละแบบกับกุลมาร์ค ทั้งยังได้ผ่านเข้าไปในชุมชนที่ดูแล้วน่าอยู่มาก เพราะมีแม่น้ำลำธารไหลผ่าน เมื่อถึงจุดแวะลองเอามือลงไปจุ่มปรากฏว่าน้ำเย็นมาก นักข่าวบางคนอุตส่าห์นำขวดพลาสติกไปเก็บน้ำนี้กลับเมืองไทย ไม่รู้จะไปอวดเพื่อนฝูงหรือจะนำไปทำน้ำมนต์หรือเปล่า
ขากลับก็ได้ไปสวนแอปเปิ้ลอีกสวน เป็นของคุณ ลุง HAJIAB AZIZ KHANDAYอายุ 65ปี และลูกชายIMTIYGZ AHMAD KHANDAY อยู่ที่หมู่บ้าน HUGAM ซึ่งไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด คุณลุงปลูกมาเป็นรุ่นทึ่7 แล้ว ตอนนี้มีลูกชายและลูกสะใภ้ช่วยกันดูแล ไม่ได้จ้างแรงงานเพิ่ม แกบอกปลูกแอปเปิ้ลยังไงๆก็ต้องใช้สารเคมีไม่อย่างนั้นถูกแมลงกินเสียหายและลูกจะเล็กไม่ได้ขนาด แต่ก่อนจะเก็บผล 1 เดือนนั้น แกจะเลิกฉีด ช่วงที่ไปนั้นแกเพิ่งเด็ดมากองกำลังจะบรรจุใส่กล่องไปขาย โดยขายกิโลละ 50 รูปี ถ้าขายเป็นลูกๆละ 10 รูปี
ลูกทัวร์ต่างสนุกสนานกันไปใหญ่เพราะสองข้างทางเป็นสวนแอปเปิ้ลทั้งนั้น เลยถ่ายรูปและซื้อแอปเปิ้ลกันอย่างจุใจ บางคนซื้อกลับกรุงเทพมาเป็นกล่อง แต่เกือบจะมาไม่ถึงสนามบินสุวรรณภูมิเพราะน้ำหนักเกินไม่สามารถโหลดใต้ท้องเครื่องได้ ต้องหิ้วขึ้นบนเครื่องแทน
เลี้ยงผึ้งบนภูเขา
และแล้วอีกวันก็ถึงคิวไป "โซนามาร์ค" ซึ่งอยู่ห่างจากศรีนาคาถึง 90 กิโล เรียกว่านั่งรถหลายชั่วโมงเลย เพราะตามเส้นทางผ่านฝูงแกะฝูงแพะหลายขบวน และแถมฝนตกอีกต่างหาก โซนามาร์คนั้นได้ชื่อว่า เป็นประตูสู่เมืองลาดักห์ ในอดีตเส้นทางนี้เป็นเส้นทางสายไหม ระหว่างทางจะพบป่าวอลนัทต้นขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายมากมาย เห็นภูเขาสูงใหญ่ที่มีรูปร่างสวยงามแปลกตา ทัวร์บางคณะอาจจัดให้ขี่ม้า แต่พอดีคณะเราขี่ม้าไปแล้วที่พาฮาลแกม เลยใช้วิธีนั่งรถชมวิวและจอดถ่ายรูปเป็นจุดๆ ซึ่งถ้าเป็นหน้าหนาวจะเห็นวิวภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนและมีลำธารน้ำแข็งที่ธรรมชาติเสกสรรปั้นแต่งอย่างลงตัว เหมือนภาพวาดอย่างไรอย่างนั้น
กล่องเลี้ยงผึ้ง
ด้วยความที่รถนักข่าวขอแยกจากคณะทัวร์ตอนขากลับ พวกเราเลยมีเวลาเจาะถ่ายรูปสะดวกขึ้น ที่น่าตื่นเต้นก็คือ เจอบ้านที่เลี้ยงผึ้ง ซึ่งพวกเราเป็นงงกันมากไม่นึกว่าบนภูเขาสูงแบบนี้จะมีการเลี้ยงผึ้งแบบทำกล่องหั้นอยู่เสร็จสรรพ แต่ก็ไม่มีเวลาคุยอะไรกันมาก เพราะมัวแต่ถ่ายรูปอย่างเดียว เนื่องจากตัวสาวเจ้าของบ้านสวยมาก เจ้าหนุ่น้องชายก็หล่อ เลยจับโพสต์ท่าถ่ายรูปอยู่เป็นนาน จะคุยอะไรกันก็ไม่รู้เรื่องเพราะเธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เลยได้แค่ซื้อน้ำผึ้งมาหลายกระปุก เพราะคิดว่าน้ำผึ้งที่นี่น่าจะบริสุทธิ์จริงๆ เธอขายกระปุกละ 150 รูปี คิดง่ายๆก็100 บาท
หนุ่มๆต่างลงความเห็นว่าอนงค์นางนี้สวยสมเป็นสาวแคชเมียร์จริงๆ ผู้ประกาศข่าวกรมประชาสัมพันธ์หนุ่มโสดอย่าง"คุณจำรัส เซ็นนิล" ถึงกับพูดติดตลกว่าอยากสมัครขอเป็นคนเลี้ยงผึ้งบ้านนี้ แต่ก็ยังไม่วายสงสัยว่าสวยแบบนี้น่าจะมีเจ้าของแล้วแน่เลย
ขากลับลูกทัวร์นิสโก้ฯแฮปปี้กันสุดๆเพราะนอกจากทางทัวร์จะจอดรถให้ช็อปปิ้งระหว่างทางที่เป็นร้านขายพวกวอลนัต หญ้าฝรั่นและอัลมอนต์แล้ว ยังได้แวะตลาดซื้อของตามใจชอบไม่ว่าจะเป็นทับทิมกิโลละ 150 รูปี หรือน้ำผึ้ง และผ้าพันคอที่สาวๆอยากได้
กลับมาถึงที่พัก "บ้านเรือ" ที่จะได้นอนเป็นคืนสุดท้าย พวกเราต่างหมดแรง เพราะใช้พลังงานกันเต็มที่ พร้อมกับเงินในกระเป๋าที่หมดลงตามไปด้วย แต่บางคนลั่นวาจาไว้แล้วว่าจะขอเก็บเงินอีกสักพักเพื่อจะมาเยือนแคชเมียร์ในยามหิมะโปรยปราย
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1317540313&grpid=01&catid=09&subcatid=0901
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น