วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สำนักการโยธาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ต.ค. รพ. สมเด็จเจ้าพระยา สำนักการโยธาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่  3 ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม โดยการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นการสรุปผลการคัดเลือกแนวทาง ตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรวบรวมความคิดเห็นข้อเสนอแนะของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาความเหมาะสมทุกด้านอย่างรอบคอบ หลังจากที่มีการเลือกแนวเส้นทางของโครงการแล้ว จุดเริ่มต้นจากถนนลาดหญ้า ฝั่งธนบุรี บริเวณโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาไปยังถนนมหาพฤฒาราม ฝั่งพระนครและสิ้นสุดที่ถนนกรุงเกษม โดยในช่วงผ่านจุดตัดกับถนนพระราม 4 จะก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดโดยประชาชนที่เข้าร่วมในวันนี้แม้เป็นครั้งที่ 3 แล้วแต่ยังมีการแสดงความคิดเห็นว่า ทางบริษัทที่ปรึกษายังมีการปิดบังข้อมูลอยู่อีกมาก ไม่มีการแจ้งให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องทราบถึงโครงการดังกล่าว และเจ้าของโครงการอย่าง  กทม. ไม่มีการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งการให้ที่ปรึกษาดำเนินการเพียงลำพัง ในบางเรื่องไม่สามารถให้คำตอบในข้อสงสัยของประชาชนได้ อาทิ การแก้ปัญหาจราจรบนถนนมหาพฤฒาราม ถนนลาดหญ้า หลังมีการก่อสร้างสะพานว่าจะดำเนินการอย่างไร ทางลอดบริเวณวงเวียนใหญ่จะดำเนินการก่อสร้างจริงหรือไม่ ในขณะที่ประชาชนบางรายมองว่า การเพิ่มพื้นที่ของถนนหรือสะพานรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยลดการใช้ถนนน่าเหมาะสมกว่า 
     
ด้าน นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า ในโครงการนี้ยังต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 4 ก่อนที่จะสรุปผลและรวบรวมความเห็นทั้งหมดให้ กทม. พิจารณาว่าจะก่อสร้างหรือไม่ ก่อนส่งให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาและอนุมัติวงเงินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ไม่เกินกลางปี 2555.

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

70 ปี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 อ่านกฎหมายเก่านั่งคุยกับคณะนิติราษฎร์ (1)

 

70 ปี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 อ่านกฎหมายเก่านั่งคุยกับคณะนิติราษฎร์ (1)

ตอนที่ ในอ้อมอกคณะราษฎร

 

"ลักษณะสำคัญของ Enlightenment คือ การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชา โดยการเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา ทั้งนี้โดยที่ถือว่า "เหตุผลมีคุณค่าเท่าเทียมกับ "ความดี"

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ [1]

 

"ถ้าเห็นว่าเจ้าคณะไม่เป็นธรรมก็ให้ไปอยู่เสียที่อื่นจากจังหวัดนครนายกและมณฑลปราจีนบุรี"

แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 22 (2477), 
เรื่องคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของคณะสงฆ์และราษฎรจังหวัดนครนายก, น.14

 

"ถ้ามีใครสักคนโกรธใครมาก็ไม่รู้ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อคิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน ผมจะเดินไปบอกไปบอกกับคนๆ นั้นว่า ถ้าเกลียดพ่อไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ ..."

พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง 
กล่าวใน พิธีมอบรางวัล "นาฏราช" ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 16 พฤษภาคม 2553

 

000

เนื่องในโอกาสที่ ครบรอบ 1 ปี คณะนิติราษฎร์และ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายเพียงหยิบมือ ได้กระทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ใดทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ ใช้อำนาจของปัญญาเหตุผลนำเสนอการล้มล้างรัฐประหาร ด้วยข้อเสนอให้ผลจากการรัฐประหาร 2549 เสียเปล่า นอกจากเป็นคำประกาศที่อหังการ และยืนหยัดอยู่กับอำนาจอธิปไตยของราษฎรที่ถูกปล้นชิงเรื่อยมาแล้ว การจุดไฟกลางสายลมนี้ ยังถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยว่าทั้งเสียดแทงใจดำ ทั้งถูกอกถูกใจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด ความสำคัญของข้อเสนอหาได้อยู่ที่ความสมบูรณ์พร้อม และเป็นตัวแบบสำเร็จรูปที่จะทำให้เราหยุดยั้งรัฐประหารได้ชั่วกัลปาวสานไม่ แต่อยู่ที่พลังของมันได้เคลื่อนออกมาสู่ปริมณฑลสาธารณะแล้ว ทั้งยังลากให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนใจได้ลงสนามมาเป็นผู้เล่นกันอย่างอึกทึก ผู้เขียนมีความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำได้นอกจากการประกาศตัวสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ในหน้า Facebook แล้ว การเขียนบทความขึ้นมาสนองสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอ ก็คงจะช่วยกันต่อยอดแตกแขนงแนวคิด "โรลล์แบ็ค" ไปสู่สังคมที่ประชาธิปไตย ที่มีหลักการและโต้แย้งกันด้วยเหตุผล ไปสู่สังคมที่บรรลุนิติภาวะ ไปสู่การก้าวพ้นจากสังคมลูกแหง่ที่จำนนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระ พ่อ แม่ และผู้ใหญ่โดยไร้ซึ่งคำถาม

http://www.prachatai3.info/journal/2011/10/37394

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โจ กอร์ดอน สารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะเพิ่ม พิพากษา 9 พ.ย.54

โจ กอร์ดอน สารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะเพิ่ม พิพากษา 9 พ.ย.54

ผู้ต้องหาคดีเผยแพร่ The King Never Smiles ยอมให้การสารภาพหลังถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว 139 วัน กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริการ่วมรับฟังคดี

10 ตุลาคม 2554 ศาลอาญารัชดา มีการนัดพร้อมอัยการในฐานะโจทก์ จำเลยและทนายจำเลย ในคดี โจ (เลอพงษ์) กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน-ไทย ซึ่งถูกเจ้าพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตั้งข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยใช้นามแฝงว่า "สิน แซ่จิ้ว" พร้อมประกาศตนว่า กูไม่ใช่ฝุ่นใต้ฝ่าตีนบุคคลใด นอกจากนี้ยังบังอาจแปลหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามภายในราชอาณาจักร

นายโจ (เลอพงษ์) กอร์ดอน ได้ยอมรับสารภาพต่อหน้าบัลลังก์ ว่า  "ผมไม่ต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพ"  จากเดิมที่เขาให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 พ.ย.นี้ โดยสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยแล้วรายงานต่อศาลภายใน 20 วัน  ส่วนบรรยากาศในห้องพิจารณาคดี มี นางอลิซาเบท เอส แพรท กงสุลใหญ่และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหรัฐ นักศึกษาและผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ร่วมรับฟังด้วย

นายอานนท์ นำภา ทนายความให้สัมภาษณ์ว่า หลังคำพิพากษาของศาล จำเลยเตรียมจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนคำสั่งสืบเสาะนั้น โดยปกติศาลจะสั่งให้สืบเสาะในคดีทั่วไปที่เห็นว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและจะรอการลงโทษ แต่ไม่เคยเห็นคำสั่งดังกล่าวในคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 จึงหวังว่าในท้ายที่สุดอาจมีคำสั่งให้รอการลงโทษในคดีนี้เช่นกัน แม้ว่าคำสั่งนี้จะทำให้ช้าไปอีก 20 วัน

ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี ทนายและเพื่อนของจำเลยได้ยื่นประกันตัวจำเลย โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 700,000 บาท โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพของจำเลยทั้งโรคความดันโลหิตสูง และเก๊าต์ ทั้งนี้ การยื่นประกันตัวครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 10 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ใช้หลักทรัพย์เป็นที่ดินมูลค่า 1.9 ล้านบาท


ภาพของโจ กอร์ดอน (กลาง ถือเครื่องบันทึกเสียง)ในสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่องทองปาน  

สำหรับประวัติของโจ กอร์ดอนนั้น ใช้ชีวิตอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เกือบ 30 ปี มีความสามารถด้านศิลปะหลายอย่าง เช่น ถ่ายรูป วาดภาพ โดยเคยเปิดนิทรรศการภาพเขียนในประเทศสหรัฐอเมริกา  นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญการเล่นกีตาร์อะคูสติก เคยร่วมแต่งเพลงกับนักดนตรีเพื่อชีวีตชื่อดังของไทยอย่าง หงา คาราวาน และร่วมเป็นทีมงานในการผลิตภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตของชาวอีสานผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเรื่องเรื่อง ทองปาน  ซึ่งมี ไพจง ไหลสกุล ,รัศมี เผ่าเหลืองทอง, ยุทธนา มุกดาสนิทและ สุรชัย จันทิมาทร เป็นผู้กำกับ โดยภาพยนต์เรื่องนี้ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2519

โจ กอร์ดอน ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112, 116 ของประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งมาตรา 14 (3),(5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และไม่เคยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตลอดระยะเวลาของการถูกดำเนินคดี

 

หมายเหตุ:แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 13.00น. 10 ต.ค.54

http://www.prachatai3.info/journal/2011/10/37320

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Biomedical Engineering




จาก: Biomed.in.th <sarapukdee@gmail.com>
วันที่: 7 ตุลาคม 2554, 15:32
หัวเรื่อง: Biomedical Engineering
ถึง: 

Biomedical Engineering


รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2011

Posted: 05 Oct 2011 09:03 AM PDT

Nobel Prize in Physiology Medicine 2011 560x383 รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2011

บรูซ เอ.บิวท์เลอร์ (Bruce A. Beatler), จูลส์ เอ.ฮอฟฟ์มันน์ (Jules A. Hoffmann) และ ราล์ฟ เอ็ม.สไตน์มาน (Ralph M. Steinman) ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2011

รางวัลโนเบลในสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 2011 ได้ประกาศแล้ว (ดูปีย้อนหลังปี 2009  และ 2011)โดยคณะกรรมการได้ตัดสินให้นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน โดยรางวัลจะถูกแบ่งครึ่งเป็นสองส่วน

  • -ส่วนที่หนึ่งผู้ได้รับรางวัลคือ บรูซ เอ.บิวท์เลอร์ (Bruce A. Beatler) จากสหรัฐอเมริกา กับ จูลส์ เอ.ฮอฟฟ์มันน์ (Jules A. Hoffmann) จาก ลักเซมเบิร์ก(เกิด)/ ฝรั่งเศส(สัญชาติ) ด้วยผลงานร่วมกัน ในการค้นพบเกี่ยวกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบไม่มีจำเพาะ(Innate immunity)
  • -รางวัลในส่วนที่สอง คือ ราล์ฟ เอ็ม.สไตน์มาน (Ralph M. Steinman) จาก แคนาดา(เกิด) / สหรัฐอเมริกา (สถาบันที่สังกัด) ด้วยผลงาน การค้นพบเซลล์เดนไดรติก (dendritic cell) และบทบาทในระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ(Adaptive immunity)ของเซลล์ดังกล่าว
    ** ปัจจุบันเขาได้เสียชีวิตแล้ว ก่อนการประกาศผลรางวัลเพีียง 3 วัน แต่คณะกรรมการไม่ได้มีการเปลี่ยนคำตัดสินแต่อย่างใด เนื่องเพราะรางวัลโนเบลโดยปกติจะมอบให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น

การค้นพบของผู้ได้รับรางวัลทั้งสาม ทำให้เปิดทางสู่การเข้าใจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทั้งแบบ innate และ adaptive นำสู่การพัฒนาทางด้านการแพทย์มากมาย ในการรักษาการโรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง การอักเสบ ฯลฯ  ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ในการแพทย์ปัจจุบันอย่างมาก

med image press eng 560x791 รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2011

innate immunity and dendritic cell

ที่มา: http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/2011/press.html


You are subscribed to email updates from Biomed.in.th
To stop receiving these emails, you may unsubscribe now.
Email delivery powered by Google
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610




วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

เมื่อเวลา 19.30 วันที่ 5 ตุลาคม 2554 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อสหประชาชาติและตัวแทนจากรัฐบาลต่างๆ กว่า 50 ประเทศ ทั้งนี้ ทางข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ทำการถ่ายทอดสดการรายงานดังกล่าว ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถนนเพลินจิต

การรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ หรือกระบวนการยูพีอาร์ เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตั้งคำถามต่อประเทศที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 16 ประเทศของรอบเดือนตุลาคม 2554 ที่ต้องรายงานสถานการณ์สิทธิภายในประเทศต่อประชาคมนานาชาติ โดยใช้เวลารวมทั้งหมดสามชั่วโมง

ทางคณะผู้แทนไทย นำโดยเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน ได้รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยโดยรวมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมาก จะเห็นจากการที่สื่อไทยและต่างประเทศสามารถทำงานได้โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล และกล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปีที่แล้วว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการทำการเยียวยา และชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม

อังกฤษ-นอร์เวย์ ระบุ เคารพสถาบันได้ แต่อย่าจำกัดเสรีภาพการแสดงออก

ในเวทีดังกล่าว พบว่า ตัวแทนรัฐบาลจากเกือบ 20 ประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ได้แสดงความกังวลต่อประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และได้เสนอคำแนะนำต่อประเทศไทย ให้ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทางตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ กล่าวในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยว่า เห็นด้วยกับประเทศไทยที่ชี้ว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความเคารพ อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยควรจะสามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะทำผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับตัวแทนรัฐบาลนอร์เวย์ ที่แสดงความเป็นห่วงถึงจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่สูงขึ้นมาก และได้มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทย ควรทำให้กระบวนการยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ และควรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เหมาะสมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในฐานะที่นอร์เวย์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) นอร์เวย์เองก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดผู้ฟ้องไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ หรือต้องได้รับคำยินยอมจากพระมหากษัตริย์ก่อนเท่านั้น ทำให้ป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้

"เราขอแนะนำให้ประเทศไทย แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเราในประเด็นดังกล่าว [กับประเทศไทย]" ตัวแทนจากรัฐบาลนอร์เวย์ระบุ

ด้านรัฐบาลไทยแจง กำลังทบทวนกฎหมายหมิ่นฯ -พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

ด้านตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมไทย กล่าวรายงานต่อสภาสิทธิฯ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ มิได้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวควรมีการแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนและคัดกรองคดีความที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้หลายคดีถูกถอนข้อกล่าวหาไปแล้วเนื่องจากไม่มีมูลเหตุเพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังชี้แจงว่า ในขณะนี้ รัฐบาลได้ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในส่วนที่เป็นปัญหา โดยศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พร้อมทั้งกล่าวว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่มากเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวในสังคมไทยตอนนี้ จะถูกนำมาพิจารณาในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

ในประเด็นเรื่องพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ทางตัวแทนไทยได้ชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวมีการป้องกันการใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ดังจะเห็นจากข้อกำหนดที่ต้องขอหมายศาลก่อน เพื่อขออนุญาติก่อนทางตำรวจจะดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม เขาแจงว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณาการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริการให้อินเตอร์เน็ตมาให้ข้อเสนอแนะ

นานาชาติยังจับตาสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้

ด้านตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย และอีกหลายประเทศ ยังได้ยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทย ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมองว่า เป็นสาเหตุของการจับกุม คุมขัง และซ้อมทรมาน รวมถึงการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะมาตรา 17 ในพ.ร.ก ฉุกเฉิน ซึ่งหลายประเทศมองว่า เป็นการงดเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ทางรัฐบาลออสเตรีย กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงความยุติธรรม การงดเว้นโทษของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงปัญหาด้านสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิรูประบบยุติธรม และลงนามเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) รวมถึงอนุสัญญาป้องกันการบังคับคนให้สูญหายด้วย

ด้านสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้ตอบข้อเสนอแนะดังกล่าวว่า กฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นกฎหมายที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดการสถานการณ์ที่มีความรุนแรง ทั้งนี้ เขาชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากล และมิได้เป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ

"กฎหมายพิเศษดังกล่าวนี้ มิได้เป็นสิ่งที่จะเอามาใช้แทนกระบวนต่างๆ ตามกฎหมาย นอกจากนี้ มาตรา 17 ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็มิได้อนุญาตการงดเว้นโทษใดๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่น้อย เพราะพวกเขายังอยู่ภายใต้กฎหมายอาญา โปรดแน่ใจได้เลยว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย" สีหศักดิ์ย้ำ

ผู้สื่อข่าวเนชั่นชี้ 'สีหศักดิ์' ให้ข้อมูลเชิงบิดเบือน เกรงต่างชาติเข้าใจผิด

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น หนึ่งในวิทยากรในงาน ให้ความเห็นว่า ในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับว่าเป็นความสำเร็จ เนื่องจากมีราว 20 ประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับการใช้กฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่า สีหศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการรายงานสถานการณ์สิทธิ ได้พยายามให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง

"ท่านทูตบอกว่า ประเทศไทย สื่อมีเสรีภาพที่จะพูดเรื่องการเมือง ต้องถามว่าถ้าการเมืองไปโยงกับสถาบันปุ๊บ สื่อสามารถจะพูดได้หรือเปล่า ก็ชัดเจนว่าสื่อพูดไม่ได้ สื่อไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมที่จะตั้งคำถามหรือถกเรื่องเกี่ยวกับบทบาทเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทูตพูดในทำนองทำให้ชาวต่างชาติหรือสาธารณะเข้าใจผิดได้" ประวิตรกล่าว

นอกจากนี้ ประวิตรยังมองว่า ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ทำหน้าที่ได้อย่าง "น่าละอาย" และ "น่าผิดหวังอย่างยิ่ง" เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ยกประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มากล่าวในเวที ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปพูดเรื่องนี้ทั้งหมด หากแต่เพียงจำกัดอยู่เรื่องการสนับสนุนคณะกรรมการปรองดองฯ เท่านั้น

 ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังกับผู้สื่อข่าวว่า ในประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อ เขาหมายถึงสื่อสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและประเด็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ส่วนในเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เขากล่าวว่า ทางคณะผู้แทนไทยได้ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้ในทางที่ผิด และย้ำว่า เรื่องนี้ต้องนำมาพูดคุยกัน เพื่อนำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันในระดับชาติต่อไป

ตัวแทนนอร์เวย์กล่าวข้อเสนอแนะต่อทางการไทย ในเวทีตรวจสอบสถานการณ์สิทธิยูพีอาร์

http://www.prachatai3.info/journal/2011/10/37269