วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เปิดใจเจ้าของป้าย ทำไมต้อง "FREE SOMYOT" บนสแตนด์บอลประเพณี?!

เปิดใจเจ้าของป้าย ทำไมต้อง "FREE SOMYOT" บนสแตนด์บอลประเพณี?!

วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 18:30:00 น.

  





ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข
 


ภาพจากเพจ Chulalongkorn Community for the People (CCP)
 

สัมภาษณ์ โดย หฤษฎ์ มหาทน

 


งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ปีนี้ นอกจากมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษร บนอัฒจรรย์ ซึ่งได้รับความสนใจ อย่างต่อเนื่องทุกปีแล้ว ปีนี้ยังปรากฎป้ายผ้าสีดำผืนใหญ่ พร้อมข้อความ "Free Somyot"  บนอัฒจรรย์ ฝั่งกลาง ที่ไม่ใช่อัฒจรรย์แปรอักษร  แต่เป็นฝั่งที่เปิดให้นิสิตนักศึกษาทั้ง 2 ฝ่าย และคนทั่วไป เข้าชม

 

"มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์ เจ้าของป้าย "Free Somyot" ซึ่ง จัดทำโดย 

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และ กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน 

ในกิจกรรมชื่อ "เสียดายคุณสมยศไม่ได้ไปงานบอล" โดยได้พูดคุยกับตัวแทนกลุ่มประกอบด้วย นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข  หรือ "ไท" นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 3 บุตรชาย "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"  นายปิยวัจน์ 

สัตยพานิช หรือ "ปั้น" นิติศาสตร์ ปี 2 นางสาววรุณกาญจน์ มนตรีโพธิ์ หรือ "ใบตอง" นิติศาสตร์ ปี 1 นายพรนภัส ยืนนาน หรือ "กั๊ก" คณะสังคมสงเคราะห์ฯ ปี 1

 

 

@ การเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 2 ก.พ. มีที่มาอย่างไร 

 

ปั้น – เนื่องจาก คุณสมยศ ถูกพิพากษา จำคุก 11 ปี เรารู้สึก เป็นเหตุการณ์ 

ที่เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับนักโทษ ที่โดยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 112 เราต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้พวกเขาถูกเมินเฉย 

จากสังคม เพราะสังคม อาจจะไม่ทราบว่า เขาไม่ได้รับการประกันตัว และ

มีระบบที่ไม่เป็นธรรมจึงต้องรณรงค์แคมเปญที่โดนๆ เข้าถึงคนหมู่มากได้ 

 

 

@ ทำไม เลือกรณรงค์ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ด้วย

 

กั๊ก – งานบอลประเพณี เป็นประเพณีที่ดีงาม มีคนมาเข้าร่วมเยอะ และเป็นจุดสนใจของสังคม แต่ว่านักศึกษาที่มาเข้าร่วมและผู้ที่สนใจงานบอล ไม่ค่อยมีใครรู้จัก "สมยศ" และไม่ได้สนใจ ปัญหาจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราจึงต้องการสื่อให้สังคมรู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้  จากนั้น ได้ประชุมกัน ว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้ นี่คือที่มาของการสร้างแคมเปญนี้ขึ้น


ไท – มีบางกระแสบอกว่า งานบอลต้องเตะบอล แล้วทำไมต้องมาเรียกร้องทางการเมือง ผมอยากถามกลับไปว่า เวลามีเชียร์ลีดเดอร์ แต่งตัวสวยๆ ก็ไม่เห็นเกี่ยวกับการเชียร์ฟุตบอล เพราะถ้ามาเชียร์ฟุตบอล สามารถแต่งตัวยังไงก็ได้  การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมืองก็เหมือนกัน มันเกี่ยวข้องกับ การเตะฟุตบอลหรือเปล่า ถ้ากิจกรรมเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานบอลได้  แล้วทำไม การเรียกร้องทางการเมือง ของพวกเรา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในงานบอล

 

 

@ พอใจกับผลที่ออกมาหรือไม่

 

ใบตอง – สำหรับผลที่ได้มา คิดว่าดีในแง่ การเรียกความสนใจจากนักศึกษา 

อย่างน้อย ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า คุณสมยศเป็นใคร แต่ว่า ผลตอบรับด้านลบ

ก็มี เช่น มีการป้ายสี ว่าเราเป็นเสื้อแดง และ มีการเบี่ยงประเด็นว่า เราสู้เพื่อคนคนเดียวหรือเปล่า

 

 

@ แล้วคิดว่า ตัวเองเป็น คนเสื้อแดง หรือเปล่า 

 

ใบตอง - กลุ่มเราซึ่งจัดกิจกรรมในงานบอลเมื่อวันที่ 2  ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวกันของนิสิตจุฬาฯ และ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมและการเมือง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

 

@มีใครสนับสนุนด้วยหรือไม่ 

 

ใบตอง - เราไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากใคร อย่างผ้าผืนสีดำ ที่ขึ้นข้อความ  "Free Somyot" พวกเราซื้อกันมาเองจากเยาวราช แต่ได้รับการช่วยเหลือ จากพี่จิตรา (จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานคนงาน try arm และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์) รวมถึง พี่ๆ จาก try arm ช่วยเย็บผ้าให้ 

 

 

@ ทำไม คุณจิตรา และ กลุ่ม try arm จึงมาช่วยสนับสนุน โดยการเย็บผ้า

 

ใบตอง - พี่จิตรา กับคุณสมยศ รู้จักกันมาก่อน เนื่องจากคุณสมยศเคยเคลื่อนไหวเรื่องร้องความเป็นธรรม เรื่องแรงงาน 

 

 

@ อยากจะชี้แจงเกี่ยวกับข่าวที่ออกมามีความคลาดเคลื่อนก่อนหน้านี้ อย่างไร

 

ไท – ผมเข้าใจว่า ข่าวที่สื่อลงไปแบบนั้น เป็นเรื่องปกติของสื่อ ซึ่งปัจจุบัน 

ผมมองว่าสื่อในไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ก็ต้องมีการเลือกข้างที่ชัดเจน อย่างเช่น การเลือกใช้ถ้อยคำ เมื่อมีข้อเท็จจริงขึ้นมาอย่างหนึ่ง สื่อก็เลือกใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไป ตามแนวคิดของสื่อ ที่ออกมาแต่ละสำนัก บางสื่อ ก็เป็นกระบอกเสียง ซึ่งก็มีทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล 

 

ขอชี้แจง เช่น เรื่อง ความเข้าใจผิด ว่า เราได้รับเงิน จากคนแดนไกล จากดูไบ ซึ่งถ้าหากดูการทำกิจกรรมของเรา จะเห็นได้ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอะไรมากมาย  ไม่ได้ใช้คนเยอะ และถ้าได้เงินจากดูไบจริง คงมีคนมาร่วมเป็นล้านคน 

แต่พวกเราเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ การชูป้ายผ้า ใช้เงินรวมกันไม่ถึงหมื่นด้วยซ้ำ 

ไม่มีความจำเป็นอะไร ที่จะต้องได้รับความสนับสนุนจากคนแดนไกล 

 

ส่วนเราจะเป็นเสื้อแดง หรือไม่นั้น ถ้ามองในแง่แนวคิด เราก็มีส่วนที่คิดตรงกับเสื้อแดง เรื่องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ปี 2553 หรือ ผู้ต้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  แต่ว่า เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดง อย่างที่ชี้แจงไปแล้วว่า เราเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษา 

 

ส่วนเรื่อง ความเข้าใจของสื่อ ก็เกิดขึ้นได้ แต่ต้องชี้แจง ว่า ไม่ได้ 

เป็นอย่างที่สื่อ นำเสนอ ทั้งหมด 

นอกจากนั้น อยากชี้แจงถึงกระแสที่โจมตีเราว่าเป็นการช่วยให้คนคนหนึ่งให้พ้นผิดหรือเปล่า และ ถ้าไม่ทำผิดตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องติดคุกอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเรียกร้อง ซึ่ง ผมอยากจะชี้แจงว่า ขอให้มองมุมกลับ ถ้าเราเห็นกฎหมายหนึ่ง ที่ไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่าง เช่น คนไทยก็หัวเราะเยาะ เกาหลีเหนือ ที่บังคับให้ต้องเคารพท่านผู้นำตลอดเวลา 

 

สมมุติว่า ถ้ามีคนเกาหลีเหนือ ที่อยู่ในสภาพกฎหมายแบบนี้ แล้วคิดว่า 

กฎหมาย ไม่เป็นธรรม จึงไม่เคารพท่านผู้นำ ส่งผลให้ถูกจับ ถ้าเราเห็นว่า

เหตุการณ์นี้ ไม่เป็นธรรม เรายังจะพูด อีกหรือเปล่าว่า ถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย

ก็ไม่ถูกจับ

คนไทย หัวเราะคนเกาหลีเหนือ บอกว่า กฎหมาย เกาหลีเหนือ 

เป็นเผด็จการและไม่เป็นธรรม แต่พอมาถึงบ้านเรา ทำไมไม่พูดแบบนั้นบ้าง 

 

พวกเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีสิทธิที่จะคิดว่า อะไรเป็นธรรม หรือไม่เป็นธรรม 

มีสิทธิ ที่จะชี้แจงให้สังคมเข้าใจ ซึ่ง ผมเห็นว่า สังคมควรจะเปิดพื้นที่ 

ให้คนที่เห็นต่าง ได้ออกมาชี้แจงแสดงความเห็น  

 

 

@สาเหตุที่คุณสมยศ ไม่เลือกวิธีการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ 

เพราะอะไร

 

ใบตอง - การที่คุณสมยศ ไม่ถวายฎีกาและจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

เพื่อเป็นการยืนยันว่า คุณสมยศ เป็นผู้บริสุทธิ์ และ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ถูกต้อง 

 

ไท - ถ้ายอมรับสารภาพ และถวายฎีกา อาจจะทำให้คนคนหนึ่ง ได้ออกมาจากคุกเร็วขึ้น แต่ว่า เราไม่อาจทำให้สังคม เห็นว่า กฎหมายมีปัญหาอย่างไร ปัญหานี้ 

ไม่ใช่ เพิ่งเกิดตอนคุณสมยศ มารับโทษ  แต่เป็นเรื่องที่มีมาก่อน ทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ซึ่งก็แย่ไปอีก มีตัวอย่าง เช่น คดี เชอรี่แอน ซึ่ง คนที่ถูกลงโทษ ก็ตายในคุกก่อน จึงมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

 

ส่วนสิทธิการประกันตัว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกละเลย และเริ่มได้รับการสนใจมากขึ้น หลังจากมีกรณี คุณสมยศ เป็นตัวอย่างหนึ่ง

 

การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ได้แสดงให้เห็น ความไม่ธรรมหลายอย่าง เช่น การล่ามโซ่ตรวนผู้ต้องหา ก็ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อย่างชัดเจน

 

 

@ ต่อสู้เพื่อให้ปล่อยตัวคุณสมยศคนเดียวเท่านั้น หรือ ต้องการให้เปลี่ยนแปลง กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

 

ไท - ถ้าเราจะสู้เพื่อให้ปล่อยตัวคุณสมยศ เพียงคนเดียว ก็มีหลายวิธี 

แต่ถ้าจะต่อสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรม ต้องใช้ระยะเวลา ผมตอบคำถามแทนพ่อ

ไม่ได้ แต่คุณสมยศ ได้ตัดสินใจไว้แล้วว่าจะสู้เพื่อสิ่งนี้ และได้เลือกวิธีการต่อสู้

ของเขาไว้แล้ว ซึ่ง คนที่สู้ตามมาทีหลัง ก็ได้สู้ตามแนวทางที่คุณสมยศตั้งไว้

 

 

@ จะเคลื่อนไหว อะไรต่อไปในอนาคต 

 

กั๊ก - ต้องตกลงภายในกลุ่มอีกที ว่าต้องทำอะไร แต่ผมคิดว่า ต้องมีแน่นอน 

จะมีจนกว่า ข้อเสนอของกลุ่ม 29 มกราฯ จะได้รับการตอบสนอง

 

ใบตอง – จะเน้น การให้ความรู้ ให้ข้อมูล เกี่ยวกับนักโทษการเมือง 

รวมถึงคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยจะเน้น ไปที่กลุ่มนักศึกษา และคนที่อยู่แวดวงเดียวกัน ให้เข้าใจมากขึ้น และหันมาสนใจมากขึ้น 


                             http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359890097&grpid=01&catid=03

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น