วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รายการปัญหาบ้านเมือง ออกอากาศวันที่ 15 ธันวาคม 2554

  รายการปัญหาบ้านเมือง ออกอากาศวันที่ 15 ธันวาคม 2554

ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้แสดงความคิดเห็นในรายการปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง NBT) ดำเนินรายการโดย อดิศักดิ์ ศรีสม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 โดยได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลที่เข้ามารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการ คอ.นธ. และแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษฯ ยังได้นำเสนอปัญหาที่ถือว่าเป็นปัญหาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

" เหตุผลในการรับหน้าที่ประธานประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริม
หลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ให้เหตุผลว่า เคยตั้งปณิธานไว้เมื่อตอนอายุครบ 60 ปี ว่าจะ "ทิ้งการเมือง แต่ไม่ทิ้งบ้านเมือง" ดังนั้น เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาและเป็นปัญหาที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "หลักนิติธรรมสากล" อย่างที่เป็นอยู่ในนานาอารยะประเทศที่เขาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไว้เมื่อเดือนเมษายน ปี 2550 ภายหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประมาณ 6 เดือน ว่า สถานการณ์บ้านเมืองในด้านต่าง ๆ ขณะนี้ 
หนักหนายิ่งกว่าช่วงก่อนการรัฐประหารมาก และสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ก็ส่อเค้าว่าจะรุนแรงจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ
1) ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2) คดีความที่กล่าวหาว่าหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง ปรากฏว่าอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ทั้ง ๆ ที่เป็น 1 ใน 4 เหตุผลของการยึดอำนาจ และ
3) การตรวจสอบทุจริตที่ไม่ยึดหลักนิติธรรม กล่าวคือ เมื่อตอนยึดอำนาจ คณะทหารและรัฐบาลบอกว่าจะปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งตามหลักนิติธรรมนั้น จะต้องถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง แต่การตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แล้วออกข่าวเกือบจะเรียกว่า 3 เวลาหลังอาหาร ว่าคนนั้นทุจริตเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยระบุชื่อชัดเจน แบบนี้ถือว่าขัดหลักนิติธรรม 
เพราะจะผิดหรือถูกยังพิสูจน์ไม่ได้ คนพิสูจน์คือ ศาล ไม่ใช่ คตส. และถ้าสุดท้ายเหตุการณ์กลับตาลปัตร เอาผิดไม่ได้เลย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ที่สำคัญก็คือ ไม่มีหลักนิติธรรมที่ไหนที่เอาฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์มาสอบสวนพิจารณาความผิดของคู่กรณี 
ขณะที่เรากำลังบอกว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักนิติรัฐ 
นิติธรรม แต่ถามจริง ๆ ว่าเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเราอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย 
แต่เราได้อำนาจมาโดยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเราจะไปเรียกร้องให้ประชาชนเป็นประชาธิปไตยได้หรือ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยเสียก่อน โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้นในที่สุดเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องกลับไปหาประชาชน แต่ตอนนี้เรากำลังหลงทาง กลายเป็นว่าความคิดของคนบางกลุ่มเหนือกว่าประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากของประเทศหรือเปล่า ถ้าเราเชื่อว่าความคิดนี้ถูก ก็ต้องเลิกเป็นประชาธิปไตย
อนาคตของประเทศจะล่มจม จะพัง หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าจะพังก็ประชาชนเขาเลือกที่จะพัง ทำไมเราไม่ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย ประชาชนอาจจะคิดถูกก็ได้ คิดผิดก็ได้ เราเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัดว่าเรารู้ดีกว่าประชาชน ถ้าเราจะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่าดูถูกประชาชน 
ระบบการเมืองทุกวันนี้มั่วไปหมด แม้แต่หลักการพื้นฐานที่สุดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทาง 3 สถาบันคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ปัจจุบันก็ดูจะถูกหลงลืมไป อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการจะไม่เข้ามา
ยุ่งเกี่ยว แต่เดี๋ยวนี้ต้องไปศึกษากันใหม่แล้ว ถนนสามเลนวิ่งกันมั่วหมด ทุกคนอยากมาวิ่งในเลนที่ไม่ใช่ของตัว โดยเฉพาะไม่ได้รับมอบฉันทะจากประชาชน วันหนึ่งมันจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เพราะการวิ่งรถผิดเลนคือ ต้นตอของปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน แล้วนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที เพราะเราไม่รู้จักว่าขอบเขตสิทธิหน้าที่ของเราอยู่ตรงไหน เขามีเส้นขีดไว้ เราข้ามเส้น ล้ำเส้นหรือเปล่า 
จากปัญหาการละเลยต่อหลักนิติธรรมดังกล่าว เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับ "หลักนิติธรรม" และต้องการที่จะส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาคและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล กับทั้งเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศอันจะนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นปกติสุข โดยการตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ขึ้นมาเพื่อดำเนินการศึกษาและเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่าง ๆ ต่อรัฐบาล ผมจึงเต็มใจที่จะรับหน้าที่นี้เพราะเห็นว่าเป็นการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้ การรับทำงานในครั้งนี้ของผมและของกรรมการที่ผมจะคัดเลือกและแต่งตั้งจะไม่รับประโยชน์ตอบแทนแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประชุม ตำแหน่งทางการเมือง หรือเงินค่าตอบแทน
ใด ๆ สถานที่ประชุมของคณะกรรมการก็ใช้ที่บ้านผมเอง ค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ผมในฐานะประธานก็รับผิดชอบหมด 

" คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) มีแนวทาง
ในการดำเนินงานอย่างไร คณะกรรมการชุดนี้มีเป้าหมายสุดท้ายคือต้องการช่วยเหลือ พันตำรวจโท ทักษิณฯ หรือไม่
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ได้ชี้แจงแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้จะเน้นการศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ และการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของสาธารณชนและภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างความตระหนักให้กับสังคมเกี่ยวกับหลักนิติธรรม และจะเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
ต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป
ในส่วนของรัฐธรรมนูญนั้น หากมีบทบัญญัติใดที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม คณะกรรมการก็จะเสนอแนะเพื่อให้มีการดำเนินแก้ไขต่อไป เช่น บทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ ที่บัญญัติให้การกระทำความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม หรือบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ที่บัญญัติให้การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แม้จะกระทำต่อไปในอนาคต ก็มีการรับการรับรองไว้ล่วงหน้าแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มิพักต้องคำนึงว่าการกระทำนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่มีกฎหมายของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่จะนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ แล้วก็เป็นการนิรโทษกรรมล่วงหน้า และในหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีความสับสนที่สุด กล่าวคือบางมาตราก็ให้ความเคารพนับถือในหลักนิติธรรมอย่างมาก แต่ในหลายมาตราก็ทำลายหลักนิติธรรมเสียเอง ซึ่งมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือปรับปรุงใหม่โดยวิถีทางประชาธิปไตย
การดำเนินงานของ คอ.นธ. จะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ซึ่งมีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน เพราะคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ต่างก็มีภารกิจที่แตกต่างกัน และการดำเนินงานของ คอ.นธ. จะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่น ๆ และภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือดำเนินการในเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คณะกรรมการ คอ.นธ.จะไม่ก้าวล่วงไปใช้อำนาจกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ แต่จะรายงานสรุปปัญหา และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ส่วนการปฏิบัติใด ๆ ให้เป็นรูปธรรมจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวที่จะพิจารณาดำเนินการ
คณะกรรมการจะเผยแพร่การทำงานในรูปแบบการให้ความรู้แก่ประชาชน และบุคคลทุกฝ่ายให้มีความเข้าใจในหลักนิติธรรมที่ยอมรับนับถือทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวจะมีการจัดทำเอกสารเป็น 2 ฉบับ กล่าวคือ ฉบับสำหรับประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไปอ่าน และฉบับสำหรับนักศึกษาวิชากฎหมายหรือนักวิชาการด้านกฎหมายอ่าน ผลงานและการดำเนินงานของคณะกรรมการจะมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน โดยเฉพาะทางโทรทัศน์นั้น จะมีรายการโทรทัศน์ของ คอ.นธ. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง NBT) ทุกสัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในปัญหาความยุติธรรม ความไม่เสมอภาค การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การปฏิบัติต่อประชาชนโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณา เพื่อสรุปการแก้ปัญหาที่ชอบด้วยหลัก "นิติธรรม และหลักยุติธรรม" ที่แท้จริง เพื่อทุกองค์กรอาจยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นแนวทางแก่คณาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมาย และผู้ใช้วิชาชีพทางกฎหมายอีกด้วย 
คณะกรรมการจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปถามปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมายังคณะกรรมการ โดยเปิดตู้ไปรษณีย์รับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงด้วย ( ตู้ไปรษณีย์ 1010 สวนพลู กรุงเทพฯ 10121) โดยมีกรรมการหนึ่งคนเป็นประธานคณะทำงานรับฟังปัญหาของประชาชน โดยจะมีข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่อประธานกรรมการ 
นอกจากนี้ จะได้พิจารณาและเสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติเพื่อให้สมกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระราชทานแก่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ว่า "โลกนี้มีความวุ่นวายพอแล้วขอให้รัฐบาลทำให้ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อย เป็นที่อยู่ที่สบายในโลก" และนี่คือปณิธานของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) 
ผมขอยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่ง และจะไม่
รับใช้หรือตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเป็นอันขาด ในทางกลับกันมีแต่รัฐบาลที่จะเป็นเครื่องมือของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะหากคณะกรรมการได้พิจารณาศึกษาและมีข้อเสนอเรื่องใดก็จะเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาดำเนินการ ผมจะไม่ยอมทรยศต่อวิชาชีพ ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต่อประชาชนชาวไทยเป็นอันขาด 
" ปัญหาชาวบ้าน กรณีเจ้าพนักงานจราจรเรียกรับเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ได้นำเสนอกรณีตัวอย่างสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมในสังคมไทยในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ กรณีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวนกว่า 18 ล้านคนทั่วประเทศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าพนักงานจราจร เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่า มีเจ้าพนักงานจราจรตั้งด่านเพื่อรีดไถเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยการกล่าวหาหรือตั้งข้อหาด้านจราจรที่ไม่เป็นธรรม มีการยึดใบอนุญาตขับขี่ ยึดกุญแจรถ และมีการเรียกเงินอีกด้วย ซึ่งปัญหานี้บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นความทุกข์ของประชาชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กว่า 18 ล้านคัน ซึ่งปัญหาที่อาจจะมองว่าเล็ก ๆ เช่นนี้อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษฯ ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และแนวทางแก้ไขไว้โดยสังเขป ดังนี้
1. ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ได้ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับคดีความผิดจราจรไว้อย่างกว้างขวาง ทั้งความผิดที่ร้ายแรงและความผิดที่ไม่ร้ายแรง ทำให้เกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในทางที่มิชอบหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งทำให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจในทางที่มิชอบเกิดการเรียกสินบนเพื่อมิให้มีการดำเนินคดีทางศาลได้ แม้ในทางปฏิบัติการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดนั้น จะเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กรมตำรวจ) ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 และเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ซึ่งได้กำหนดเป็นแนวทางหรือยี่ต๊อกไว้ เช่น ฐานนำรถที่ไม่มั่นคงแข็งแรงอาจเกิดอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสีย สุขภาพอนามัย มาใช้ในทางเดินรถ ตามกฎหมายกำหนดว่า ปรับไม่เกิน 500 บาท ข้อกำหนด กำหนดว่า ปรับ 200 บาท หรือฐานนำรถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ กฎหมายกำหนดว่า ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ข้อกำหนด กำหนดว่า ปรับ 300 บาท อย่างนี้เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อหาหรือฐานความผิดและอัตราโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบกับอัตราการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งกำหนดไว้ 58 ข้อหานั้น มีความเห็นว่ายังเป็นอัตราการเปรียบเทียบปรับที่มีจำนวนเงินสูงเกินไป เพราะความผิดเกี่ยวกับจราจรบางฐานความผิดเป็นเพียงความผิดเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น ควรลดอัตราในการเปรียบเทียบปรับให้มีจำนวนเริ่มต้นที่ 100 บาท ก็น่าจะเป็นการเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับความผิดบางฐาน เช่น ไม่เดินบนทางเท้าหรือไหล่ทางเมื่อทางนั้นมีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถ หรือความผิดฐานเดินข้ามทางนอกทางข้ามเมื่อมีทางข้ามอยู่ภายในระยะ 100 เมตร 
ควรกำหนดให้มีการว่ากล่าวตักเตือนก็น่าจะเป็นการเพียงพอ
2. ปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการในการชำระค่าปรับ การที่พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ได้กำหนดให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งเลือกชำระค่าปรับย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
(1) ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ 
ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือสถานที่ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวัน เวลา ที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือ
(2) ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งโดยการส่งธนาณัติ หรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สั่งจ่ายให้แก่อธิบดีพร้อมด้วยสำเนาใบสั่งไปยังสถานที่ และภายในวัน เวลา ที่ระบุไว้ในใบสั่ง 
และกำหนดให้กรณีผู้ได้รับใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร ไม่ปฏิบัติตาม (1) หรือ (2) ดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท อีกข้อหาหนึ่ง นั้น 
ในประเด็นนี้ มีความเห็นว่าช่องทางหรือวิธีการในการชำระค่าปรับดังกล่าวในทางปฏิบัติยังมีความไม่สะดวกและทำให้เสียเวลาแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้กระทำความผิดมักจะมีการติดสินบนหรือจ่ายเงินเพื่อแลกกับการไม่ต้องได้รับใบสั่งจากเจ้าพนักงานจราจรหรือถูกดำเนินคดี อันนำมาสู่ปัญหาการเรียกรับเงินของเจ้าพนักงานและการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน 
ดังนั้น ควรเพิ่มช่องทางหรือวิธีการในการชำระค่าปรับจราจรให้มากขึ้นและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการดังกล่าวต้องพยายามลดขั้นตอนหรือช่องทางที่อาจจะทำให้เกิดการต่อรองเพื่อเรียกเงินหรือการจ่ายเงินสินบน รวมทั้งต้องสามารถจำกัดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานจราจรให้มากที่สุด เช่น การกำหนดให้ชำระค่าปรับจราจรได้ตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ หรือตามเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น
3. ปัญหาเกี่ยวกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ในทางที่มิชอบหรือไม่เป็นธรรม
ต่อผู้กระทำผิด เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่า มีเจ้าพนักงานจราจรตั้ง
ด่านเพื่อจับกุมหรือรีดไถเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ การจับกุมมีเป็นลักษณะการจ้องจับผิด หรือหวังผลประโยชน์ตอบแทน จับกุมในข้อหาที่มีผู้ฝ่าฝืนไม่ได้กระทำผิดชัดแจ้ง หรือเป็นการเรียกให้หยุดรถเพื่อที่จะหาความผิดจับกุม หรือโดยการกล่าวหาหรือตั้งข้อหาด้านจราจรที่ไม่เป็นธรรม มีการยึดใบอนุญาตขับขี่ ยึดกุญแจรถ หรือยึดรถ และมีการเรียกเงินอีกด้วย 
ในประเด็นนี้คิดว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานจราจรต้องกระทำเช่นนี้อาจเพราะมีความเดือดร้อนในการดำรงชีพเนื่องจากเงินเดือนน้อย หรืออาจเป็นไปได้ว่าผู้บังคับบัญชามีนโยบายว่าจะต้องหาเงินรายได้จากค่าปรับให้ได้มากที่สุดในแต่ละเดือน หรือมีแรงจูงใจจากความต้องการได้รับเงินจัดสรรเงินรางวัลสำหรับเจ้าหน้าที่จราจรผู้จับกุมและสนับสนุน ตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีฯ และระเบียบกระทรวงการคลังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินจัดสรร 3 ขั้นตอน กล่าวคือ 
ขั้นตอนที่ 1 แบ่งเงินค่าปรับออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับจะนำส่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนที่สอง อีกครึ่งหนึ่งจะนำมาคิดคำนวณใหม่โดยตั้งฐานแบบร้อยละอีกสองชั้น
ขั้นตอนที่ 2 นำเงินที่เหลือครึ่งหนึ่งของค่าปรับมาคิดหักเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 5 เปอร์เซ็นต์ หักนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนที่สอง จัดสรรเป็นเงินรางวัลผู้จับกุมและผู้สนับสนุนตามขั้นตอนที่ 3 
ขั้นตอนที่ 3 นำเงินที่เหลือจากการหัก 5 เปอร์เซ็นต์ มาจัดสรรสำหรับเป็นรางวัลผู้จับกุมและผู้สนับสนุนงานจราจร ในอัตรา 60 : 40 กล่าวคือ ผู้จับกุมจะได้ส่วนแบ่งในอัตราร้อยละ 60 ส่วนผู้สนับสนุนจะได้ร้อยละ 40 
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานจราจรควรเคร่งครัดและบังคับบัญชาให้มีการถือปฏิบัติตามหนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 0609. (อก.) 43 / 24123 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2541 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานด้านจราจร และหนังสือกองบังคับการตำรวจจราจร ที่ 0609. (จร.) 66 / 7488 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2541 เรื่อง ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายในการจับกุม และการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับจราจร อย่างจริงจัง ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ไว้เช่น ผู้จับกุมต้องอยู่ในจุดหรือตำแหน่งที่เปิดเผย เห็นได้ชัดเจน ไม่แอบแฝง ซ่อนเร้น การแสดงตัวต้องแสดงตัวอย่างเปิดเผยให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจน การดักจับโดยอำพรางหรือซุ่มดักจับควรให้ยกเลิกวิธีการดังกล่าวโดยเด็ดขาด ห้ามยึดกุญแจรถโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งนี้ การจับกุมต้องไม่เป็นลักษณะการจ้องจับผิด หรือหวังผลประโยชน์ตอบแทน ควรจับกุมในข้อหาที่มีผู้ฝ่าฝืนได้กระทำผิดชัดแจ้งแล้ว ไม่เป็นการเรียกรถเพื่อที่จะหาความผิดจับกุม และการจับกุมจะต้องทำอย่างเสมอภาคกัน ห้ามนำผู้ถูกจับกุมเข้าไปในตู้ยามหรือตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรเพื่อพูดคุยหรือเขียนใบสั่งโดยเด็ดขาด 
ควรเขียนใบสั่ง หรือแจ้งข้อหาในการจับกุมให้ชัดเจน หรือมอบให้ผู้ขับขี่โดยเร็ว เป็นต้น 
ในช่วงท้ายรายการ ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะปกครองโดยหลักนิติธรรมได้นั้นกฎหมายจะต้องไม่ขัดกลับหลักนิติธรรมเสียเอง นอกจากนี้แล้วผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม คำว่าด้วยความยุติธรรมคือปราศจากอคติทั้งปวง ถ้าใช้กฎหมายโดยมีอคติแล้วความยุติธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ และความยุติธรรมจะมีสองมาตรฐานไม่ได้ คนทุกคนต้องเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรม สรุปคือการปกครองประเทศต้องปกครองโดยหลักนิติธรรมและตามทำนองครองธรรม อะไรที่มีความรู้สึกว่าไม่เป็นไปตามทำนองครองธรรมอันนั้นถือว่าผิดหลักนิติธรรมแล้ว เมื่อผิดแล้วใครเสียหาย ประชาชนเป็นผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อน ส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความทุกข์ ซึ่งความทุกข์ของประชาชนก็คือความทุกข์ของแผ่นดิน ทั้งนี้ ในฐานะที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ "คอ.นธ." จะพยายามสลายหรือคลายความทุกข์ของประชาชนเท่าที่จะทำได้ เพราะถือว่าเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น