วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

รายงาน ศปช.: (1) ชำแหละ คอป.และองค์กรอิสระ ความไม่คืบหน้าหลังโศกนาฏกรรมราชประสงค์ Mon, 2011-06-27 23:52

 

รายงาน ศปช.: (1) ชำแหละ คอป.และองค์กรอิสระ ความไม่คืบหน้าหลังโศกนาฏกรรมราชประสงค์

 *ประชาไทเรียบเรียงจาก เวทีอภิปรายเรื่อง "1 ปี เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 53 ความยุติธรรมที่หายไป" 
จัดโดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 54 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2553โดยมี คณิต ณ นคร เป็นประธาน  จากนั้นให้มีการสรรหากรรมการ

โดยออกระเบียบสำนักนายกฯ มารองรับ 3 ภารกิจ คือ 1.ตรวจสอบและค้นหาความจริง รวมถึงรากเหง้าปัญหาความขัดแย้ง 2.เยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 3.วางมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งและป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดในอนาคต

กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุด 16 ก.ค.2555 โดยต้องจัดทำรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน 

ในการนี้ คอป. ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 5 ชุด ที่สำคัญมากคืออนุฯ ชุดค้นหาความจริง มี สมชาย หอมลออ เป็นประธาน ทำงานจนถึงเดือนเม.ย.54 เพิ่งจะออกรายงานมา 1 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลักการแนวคิด คอป. การดำเนินการเบื้องต้นอย่างไรบ้าง แต่ไม่มีการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าได้ทราบอะไรบ้าง  

นอกจากนี้ ระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.54 คอป.ได้จัดรับฟังความคิดเห็น หรือ "hearing" ถึง 12 ครั้ง มีการเชิญหน่วยงานและส่วนต่างๆ มาให้ข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลใดปรากฏออกมาสู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ

แม้ยังไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต คอป.ระบุเพียงสั้นๆ ในรายงานว่า มีอย่างน้อย 13 ราย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้ตรงกับดีเอสไอ และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เขาได้พูดถึงปัญหาในการไม่มีอำนาจเรียกบุคคลที่มีอำนาจมาให้ข้อมูล, ขาดการคุ้มครองความปลอดภัยบุคคลที่มาให้ข้อมูล, การที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากบางฝ่าย

จากการติดตามการทำงานก็เห็นด้วยกับการวิเคราะห์อุปสรรคดังที่ คอป.ระบุมา แต่ก็เห็นปัญหาอีกบางประการซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากคือ

กรอบคิดและกรอบการทำงานใหญ่ของ คอป. มุ่งเน้นความปรองดองมากกว่าความยุติธรรม ทำให้มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่ คอป.จะหลีกเลี่ยงการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อชี้ถูกชี้ผิดว่าใครต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

และเมื่อมุ่งเน้นความปรองดอง เราจึงได้ยินคำพูด เช่นคำพูดของสมชาย หอมลออ ที่พูดทำนองว่า ความผิดพลาดทุกฝ่ายเห็นว่ามี แต่มันต้องให้สังคมรู้ว่ามันมีที่มาอย่างไร มีผลอย่างไร อาจไม่ได้เกิดจากเจตนาร้ายของใครคนใดคนหนึ่งแต่มันคือตรรกะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่เป็นการให้สัมภาษณ์ที่คลุมเครือ ประมาณว่าไม่มีใครตั้งใจ ไม่มีใครถูกใครผิด แต่เกิดจากภววิสัยอะไรบางอย่าง

จากการสังเกตการณ์เวทีรับฟังข้อมูลน่าสนใจว่า เวทีครั้งหนึ่งที่คุยเรื่องกรณีวัดปทุมวนาราม หลังเสร็จเวที พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องกมนเกด พยาบาลที่เสียชีวิตในวัด พยายามโต้แย้งกับทหารว่าทหารฆ่าลูกของเธอ ปรากฏว่าสมชาย หอมลออ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมฯ พยายามตัดบทและว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่เป็นเรื่องของเหตุการณ์  สถานการณ์ และถามคุณพะเยาว์ว่า "เข้าใจหรือยัง"ท่าทีอย่างนี้ไม่น่าเป็นท่าทีที่เราจะสามารถคาดหวังได้ว่าจะค้นหาข้อเท็จริงไปสู่ควมยุติธรรมได้ในบั้นปลาย

และจากการสังเกตเวทีรับฟังข้อเท็จจริง มีประเด็นที่มีปัญหา เช่น ดูเหมือนเป็นเวทีเปิด แต่โดยกระบวนการคัดเลือกคนเชิญมันกลายเป็นเวทีปิด ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้ว่ามีการพูดถึงเรื่องที่พวกเขาเกี่ยวข้อง และคนที่ คอป.เชิญจำนวนมากก็มักไม่ใช่บุคคลที่สำคัญ หรือมีข้อมูลโต้แย้งกับอีกฝ่ายหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ คอป.จำนวนมากเป็นข้าราชการ หลายเวทีพยายามตั้งคำถามทั้งกับผู้สูญเสียเองว่า เห็นชายชุดดำไหม พยายามหาชายชุดดำให้ได้ เป็นข้อสังเกตที่เห็น

การดำเนินงานที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการแสวงหาความยุติธรรมที่สำคัญอีกอันคือ การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอและตำรวจ

จุดเริ่มต้นของการดำเนินการของดีเอสไอเกิดจากครรภ์ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยตรง เพราะ ศอฉ.เป็นผู้ริเริ่ม เห็นว่ามีการกระทำผิดทางอาญาและกระทบความมั่นคงของประเทศ หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย.จึงเห็นควรให้คดีที่เกี่ยวข้องเป็นคดีพิเศษ มอบหมายให้สุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ.และรองนายกฯ และประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้นำเสนอที่ประชุมในเรื่องนี้

หลังจากนั้นคณะกรรมการประชุมที่ราบ 11 สุดท้ายให้คดีความผิดทางอาญา การก่อการร้าย การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางการ ในช่วงปลายปี 2552 เป็นต้นไป ไม่มีปลายปิด ให้ยกเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ

จากนั้นเดือนสิงหาคม ที่ประชุม ศอฉ.ยังมีมติให้ดีเอสไอจัดตั้งชุดสืบสวนกรณีผู้เสียชีวิต 10 เม.ย.-21 พ.ค.53 ในแต่ละราย โดยนำรายงานการชันสูตรพลิกศพ และหลักฐานทางนิติวิทยาต่างๆ มาเป็นหลักฐานในการประกอบสำนวน และรายงานผลดำเนินการให้ ศอฉ.ทราบภายใน 60 วัน

หากเราเชื่อว่าความสูญเสีย การเสียชีวิตและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ระหว่างนั้นมี ศอฉ.เกี่ยวข้องด้วย ในทางกลับกันหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการสืบสวนสอบสวนกลับดำเนินการภายใต้การควบคุมกำกับของ ศอฉ. และอธิบดีดีเอสไอเองก็นั่งเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ.ด้วย ผลมันจึงออกมาอย่างที่เห็น

มติของ ศอฉ.และคณะกรรมการคดีพิเศษดังกล่าวออกมาแล้ว ตำรวจได้เข้าไปดำเนินการตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องที่ ก็ต้องมอบสำนวนการสอบสวนคดีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมให้ดีเอสไอสอบต่อทั้งหมด แม้ว่าจะมีญาติผู้เสียชีวิตไปแจ้งความไว้ ณ ท้องที่ใด ทุกกรณีจะถูกโอนมารวมไว้ที่ดีเอสไอทั้งหมดจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน คดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ครอบคลุม 89 ราย ความคืบหน้าล่าสุด คือ กลางเดือน พ.ย.53 ธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกมาแถลงเรื่อยๆ จนถึงต้นม.ค.54 สรุปความได้ว่า เมื่อสืบสวนไปได้ระยะหนึ่งแล้วก็แบ่งคดีเป็น 3 กลุ่ม คือ  

1. กลุ่มที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าเป็นการกระทำของ นปช.และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง มี 8 คดีรวมผู้เสียชีวิต 12 รายส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ

2.คดีที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน "เข้าข่ายน่าเชื่อ" ว่ามีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ดังนั้น ดีเอสไอจึงส่งใน 8 คดี (13 ราย) นี้กลับไปยังพนักงานสอบสวนในท้องที่อีกครั้งหนึ่งเพื่อดำเนินการเก็บพยานหลักฐานในท้องที่ที่พบศพอีกครั้ง เพื่อดำเนินการการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 150 (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ต่อในตอนหน้า โดย สาวตรี สุขศรี นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) 

3.คดีที่ยังไม่มีข้อยุติว่าการเสียชีวิตเกิดจากกลุ่มใด มีทั้งสิ้น 18 คดี รวม 60 ราย ธาริตบอกว่าจะเร่งทยอยแถลงข่าวเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อมีการติดตามจากสถานทูตญี่ปุ่น และนักข่าวต่างประเทศ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

ขณะเดียวกันน่าสนใจว่า คดีกลุ่มที่สอง "การตายจากเจ้าหน้าที่" เมื่อส่งกลับไปยังตำรวจท้องที่แล้ว มีแนวโน้มว่าตำรวจอาจจะกลับข้อสรุปของดีเอสไอ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ( รอง ผบช.น.) ให้สัมภาษณ์ราวเดือนมีนา-เมษา ในทำนองว่า พยานหลักฐานอ่อน ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าการตายเกิดจากเจ้าหน้าที่ และพูดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดแสดงตัวว่า "เป็นคนทำให้ประชาชนเสียชีวิต"

นอกจากนี้กลไกที่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ยังมีส่วนของวุฒิสภา โดยมีการตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองขึ้นมา เรียกฝ่ายต่างๆ มาให้ข้อมูลเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่มีรายงานอะไรออกมา ล่าสุด ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์ จะปราศรัยที่ราชประสงค์ กมธ.ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงปรามว่า ไม่อยากให้แต่ละฝ่ายนำเรื่อง 91 ศพมาโจมตีกันในทางการเมือง พร้อมให้ข้อมูลว่าทุกฝ่ายมีส่วนรับผิดชอบกับการเสียชีวิต รวมทั้งฝ่ายรัฐด้วย

อีกองค์กรหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการหาข้อเท็จจริงด้วย คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังเหตุการณ์ ในเดือน มิ.ย.53 กสม. ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้น 3 ชุด ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวช้องกับการชุมนุม กำหนดเวลาเบื้องต้นว่าต้องเสร็จแล้วเสร็จเมื่อไร จนปัจจุบันเลยเวลาแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานใดๆ สู่สาธารณะ

นี่เป็นภาพของกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงภายในประเทศ ซึ่งแทบจะไม่มีความก้าวหน้าใดๆ แต่ในความไม่ก้าวหน้า มีข้อเท็จจริงเบื้องต้นหลายอย่างที่เป็นที่ยุติแล้ว น่าเสียดายว่า แกนนำรัฐบาล หรือพรรคประชาธิปัตย์นั้นกลับยังพูดเหมือนเดิม

ในกรณีผู้บาดเจ็บ ยอดตัวเลขที่รายงาน คอป.รายงานว่า 1,885 ราย แบ่งเป็น จนท.รัฐ 542 ราย นอกนั้นเป็นพลเรือน อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บโดยเฉพาะจากอาวุธสงครามจำนวนมากได้แจ้งความกับตำรวจ  แต่เท่าที่ทราบความคืบหน้าการสืบสวนเรียกได้ว่าไม่มีความคืบหน้าเลย และไม่เห็นดีเอสไอมากระตือรือร้อนในกรณีนี้ยกเว้นผู้บาดเจ็บที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 

เนื่องจากข้อมูลผู้บาดเจ็บไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่จากข้อเท็จจริงที่เราติดตาม จำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน ผู้บาดเจ็บได้รับเงินเยียวยาจากบางหน่วยงาน แต่มีจำนวนมากที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือ เราพบว่า ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งได้เสียชีวิตลงหลังเหตุการณ์ด้วย เราไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไรแน่ แต่ที่แน่ๆ ศพที่ 92 ที่เราพูดกันก็ตัวอย่างหนึ่งของผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์หลังจากได้รับแก๊สน้ำตา แต่โชคดีที่เสียชีวิตหลังเหตุการณ์เพียงวันเดียว จึงถูกนับรวมไว้ด้วย ล่าสุด ที่เราทราบและไม่ยังถูกนับรวมคือ มีผู้ชุมนุมจากขอนแก่น มาร่วมชุมนุมแล้วได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาเหมือนกันและเพิ่งจะเสียชีวิตไป โดยผู้ใกล้ชิดระบุว่าหลังได้รับแก๊สน้ำตาก็มีปัญหาระบบปอดและเข้ารับการรักษาพยาบาลหลายครั้ง แม้ว่าแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นอาการปอดอักเสบ นี่เป็นตัวอย่างว่าอาจมีกรณีที่อาจต้องนับเป็นการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมด้วย ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน

กรณีเรื่องคนหาย จากการติดตาม 1 ปีที่ผ่านมา เราพบว่ามีรายชื่อของบุคคลจำนวนหนึ่งที่เชื่อได้ว่าอาจจะสูญหายจากการสลายการชุมนุมด้วย อย่างน้อยในมือของ ศปช. มี 5 ราย

หลังเหตุการณ์หน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องคนหายมีอยู่หน่วยงานเดียว คือ ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมารับหน้าที่นี้ เนื่องจากเมื่อญาติผู้สูญหายมาติดต่อกับ ศอฉ.ทาง ศอฉ.ก็โยนมาให้มูลนิธิกระจกเงา ประกอบกับมูลนิธินี้เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องติดตามคนหายมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขณะนั้น สมบัติ บุญงามอนงค์ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิอยู่ด้วย

หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ศูนย์ข้อมูลคนหายมีการเปิดเผยข้อมูลเป็นระยะว่ามีกี่ราย มีการตรวจสอบแล้วเหลือกี่ราย ที่สำคัญ ทางมูลนิธิได้มีการเสนอกับภาครัฐว่าให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องคนหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเสนอว่าให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เอ็นจีโอ และตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ให้มีหน้าที่รับแจ้งเรื่องคนหายโดยเฉพาะ กระทั่งปัจจุบัน กลางมีนาคมที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลคนหายก็ปิดตัวลงไป ตอนนี้ไม่มีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาติดตามกรณีคนหายเลย ข้อมูลที่ ศปช.ได้ ส่วนหนึ่งก็ได้รับส่งทอดมากจากศูนย์ข้อมูลคนหายฯ นั้นเอง

http://prachatai.com/journal/2011/06/35721

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น