สภาฯจี้กทม.เร่งแก้ไขจราจรลั่นต้องพัฒนาระบบขนส่งด่วน
นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตประเวศ กล่าวถึงเรื่องการเร่งรัดดำเนินการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ว่า ตนพร้อมคณะได้ยื่นญัตติในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมสภากทม. เพื่อขอให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดการดำเนินงานโครงการต่างๆเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในปัจจุบัน เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นศูนย์รวมความเจริญในทุกด้านและมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีอัตราการขยายตัวของประชากรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้น จาก 10 ล้านคน ในปี 2540 เป็น 11 ล้านคน ในปี 2550 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคนในปี 2564 โดยเฉลี่ย 150,000 คน ซึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจำเป็นต้องมีการเดินทาง
จากสถิติ ปี 2530 มี จำนวน 12 ล้านเที่ยว(คน) ต่อวัน เพิ่มเป็น 15 ล้านเที่ยว(คน) ต่อวัน ในปี 2550 และคาดว่าจะเพิ่ม ขึ้นเป็น 26.4 ล้านเที่ยว(คน) ต่อวัน ในปี 2570 จะเห็นได้ว่าระบบขนส่งมวลชนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ประชาชนต้องนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ ขณะที่โครงข่ายก็ไม่เพียงพอ กทม.พัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบ แต่ยังมีความล่าช้า ดังนั้นจึงควรเร่งรัดดำเนินการ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชน ส่วนต่อขยายสายสีลม(ตากสิน-เพชรเกษม) สายพหลโยธิน(หมอชิต — สะพานใหม่) และสายสุขุมวิท (อ่อนนุช — แบริ่ง) โครงการพัฒนาระบบขนส่งรางเดี่ยว (Monorail) รวมทั้งการให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT)ด้วย นอกจากนี้มีสก.อีกหลายคนได้ให้ความเห็นผ่านการอภิปรายในญัตติฯดังกล่าว อาทิ การคิดระบบอัตราค่าโดยสารของ BTS , การปรับเส้นทางทบทวนระบบขนส่งรางเดี่ยว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นเส้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ดินแดง-มักกะสัน แทน, การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสถานี BTS สายสุขุมวิท (อ่อนนุช — แบริ่ง) ที่จะเปิดใช้ ช่วงเดือนสิงหาคม 2554 นี้ , โครงการรถไฟฟ้า BTS ย่านฝั่งธนบุรีข้ามมาฝั่งพระนคร ที่มีแต่การศึกษาแต่ไม่มีการปรับมาใช้ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการแก้ไขปัญหา ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายบริหาร ได้วางกรอบแผนงานไว้อย่างเป็นระบบชัดเจน มีความคืบหน้า แต่ที่ยังไม่ได้รายงานสู่สาธารณะนั้น เนื่องจากต้องการความชัดเจนจากหน่วยงานต่างๆก่อน จะที่จะสรุปลงไปเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนเรื่องการสร้างระบบขนส่งลอยฟ้านั้น ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์คงดำเนินการไม่ได้ กรุงเทพฯมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การที่เราจะสร้างระบบขนส่งต้องมีความเชื่อมโยงกัน อย่างเช่น โครงการโมโนเรล ที่จามจุรีสแควร์ เรามีการวางแผนสำคัญๆ เชื่อมจุดสำคัญๆ 4 จุดโดยรอบถึงแยกราชประสงค์ ส่วนเรื่องของ BRT คณะผู้บริหาร ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กทม.ขาดทุน สัดส่วนต้องพอดีทั้งผู้โดยสารและ ราคาตามเป้าหมายซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา โครงการ BRT จะเหมือน BTS ในช่วงต้นๆ จึงต้องดูกันอีกสักระยะ ส่วนเรื่องค่าโดยสารช่วงสายสุขุมวิท (อ่อนนุช — แบริ่ง) จะเริ่มที่ราคา 15 บาท ซึ่งต่ำกว่าระบบอื่นๆ และมีกำหนดเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 12 สิงหาคม 2554 นี้
--