วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักข่าวเริ่มมีปัญหากับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลออนไลน์

 

นักข่าวเริ่มมีปัญหากับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลออนไลน์

ผลการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสื่อใน 16 ประเทศ พบว่านักข่าวเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลในสังคมออนไลน์ และเริ่มหันกลับไปให้ความสำคัญกับวิธีการหาข่าวแบบเดิมๆก่อนที่สังคมออนไลน์จะเกิดขึ้น นั่นคือการออกไปสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นแหล่งข่าวมากขึ้น

การสำรวจครั้งนี้ Oriella PR Networkที่มีเครือข่ายสมาชิกอยู่ใน 23 ประเทศ เป็นผู้จัดทำขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใช้วิธีสัมภาษณ์ทางออนไลน์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ บล็อกเกอร์ จำนวน 613 คนใน16 ประเทศ คือ บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมณี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สเปน สวีเดน ไทย เวียดนาม อังกฤษ และอเมริกาโดยแต่ละประเทศจะมีนักข่าว 38 คนเป็นตัวแทนให้ข้อมูล

คำตอบของนักข่าวจากการสำรวจครั้งนี้ แตกต่างไปจากผลสำรวจปีที่แล้ว (2011)ที่พบว่าข้อมูลจำนวนมากที่ปรากฏบนสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะจากทวิตเตอร์เฟซบุ๊ค ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆถูกนักข่าวหยิบฉวยไปเป็นประเด็นในการประชุมกองบรรณาธิการ และบ่อยครั้งถูกนำไปขยายต่อเป็นรายงานข่าวของวันรุ่งขึ้น โดยแทบจะไม่มีการตรวจสอบใดๆ

ปี2012นี้ แม้นักข่าวมากกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าพวกเขายังคงใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาข้อมูลด้วย แต่ก็มีการอธิบายขยายความว่าพวกเขาจะพึ่งพิงสังคมออนไลน์เพียงในเรื่องของการมองหามุมใหม่ๆในการนำเสนอข่าว และจะใช้ข้อมูลจากบุคคลที่พวกเขารู้จักเป็นอย่างดีและน่าเชื่อถือเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักข่าวบอกว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธข้อมูลจากบุคคลที่ไม่รู้จักโดยสิ้นเชิง เพียงแต่จะเลือกใช้ประโยชน์ในกรณีที่บุคคลเหล่านี้อ้างอิงถึงบุคคลหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ขณะที่คนทำข่าวเริ่มระมัดระวังการใช้แหล่งข้อมูลจากสังคมออนไลน์มากขึ้นนั้น นักข่าวก็เลือกใช้สังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ค, micro-blogging เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานและสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองด้วย

ผลสำรวจพบว่านักข่าวที่สร้างตัวตนบนสังคมออนไลน์ด้วยการเป็นบล็อกเกอร์ (blogger) ไปด้วยนั้นมีมากที่สุดในรัสเซีย (72%) และอเมริกา (69%)

เรื่องการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์นี้ การสำรวจนี้พบว่าทางต้นสังกัดมักจะไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามใดๆสำหรับนักข่าว แต่ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างตัวนักข่าวเองกับต้นสังกัด เพราะนักข่าวที่มีแฟนคลับคอยติดตามเยอะๆนั้นทำให้ต้นสังกัดได้รับความสนใจไปด้วย

เมื่อถูกถามถึงผลกระทบโดยรวมทั้งในแง่บวกและแง่ลบของสื่อดิจิตอลต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน นักข่าวที่ตอบคำถามนี้ส่วนใหญ่จะมองในแง่บวกมากกว่า โดยเฉพาะนักข่าวในภูมิภาคเอเชีย คือนักข่าวไทย (58%) และนักข่าวเวียดนาม (82%) เชื่ออย่างยิ่งว่าการเติบโตของสื่อดิจิตอลทำให้การทำงานของพวกเขาพัฒนาขึ้น

ในด้านการแข่งขันเพื่อก้าวให้ทันโลกของการสื่อสารยุคดิจิตอล ซึ่งสำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องแข่งขันกันเปิดฉบับออนไลน์ แต่นักข่าวที่ให้ข้อมูลกับ Oriella PR Networkในแต่ละปีรวมทั้งการสำรวจปีล่าสุดนี้ยอมรับว่าเนื้อหาในฉบับออนไลน์ที่แตกต่างไปจากฉบับพิมพ์นั้น มีน้อยกว่า 20%

ทั้งนี้นักข่าวในบางประเทศ เช่นนักข่าวในประเทศนิวซีแลนด์ยังเชื่อว่าผู้อ่านกลุ่มใหญ่ของพวกเขาเป็นพวกที่ไม่ได้อยู่บนสังคมออนไลน์

เมื่อมีการถามถึงความเชื่อมั่นในการดำรงอยู่ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในสภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน พบว่าปี 2012 นี้ นักข่าวมีความหวังกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น โดยนักข่าวในเอเชียบราซิล และรัสเซีย มีความหวังต่ออนาคตขององค์กรมากกว่านักข่าวในยุโรปตะวันตก (ฝรั่งเศส เยอรมณี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน อังกฤษ) และอเมริกาเหนือ

ขณะที่ปีที่แล้ว (2011) มีนักข่าวเพียง 21 % ที่เชื่อว่าองค์กรที่ตัวเองสังกัดอาจจะต้องล้มเลิกกิจการไป แต่ปีนี้ นักข่าวเพียง 12% ที่เชื่อเช่นนั้น โดยนักข่าวที่มองสถานการณ์ทางธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์เลวร้ายสุดคือนักข่าวในยุโรป

ทั้งนักข่าวและธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดูจะคึกคักสุดอยู่ที่รัสเซีย จากผลการสำรวจพบว่านักข่าวในรัสเซียบอกว่าทั้งรายได้ของธุรกิจสื่อ ทั้งกลุ่มผู้อ่าน และกองบรรณาธิการมีขนาดใหญ่ขึ้น

ในการสำรวจครั้งนี้ มีคำตอบหนึ่งของนักข่าวที่อาจทำให้แวดวงประชาสัมพันธ์ต้องรีบปรับตัวขนานใหญ่ คือ คำตอบที่ว่าข้อมูลประเภทใบแถลงข่าวและอีเมล์จากกลุ่ม องค์กร บริษัทต่างๆนั้นกำลังจะตกยุคหลุดไปจากความสนใจของสื่อ นักข่าวยุคสื่อดิจิตอลต้องการข้อมูลที่มีสีสันมากไปกว่านี้ เช่น ข้อมูลในรูปของวีดีโอ, รูปภาพ, อินโฟกราฟิก ฯลฯ

สุภัตรา ภูมิประภาส
เรียบเรียงจาก HOW NEWS IS SOURCED AND MANAGED AROUND THE WORLD
http://www.oriellaprnetwork.com/research

1st MIO CAFE' : ข่าวนาซ่าขอใช้ฐานทัพไทย..เป๋ไหม ใครเป๋?

 

1st MIO CAFE' : ข่าวนาซ่าขอใช้ฐานทัพไทย..เป๋ไหม ใครเป๋?

 Download audio file (soon)

 

1st MIO CAFE'

ข่าวนาซ่าขอใช้ฐานทัพไทย..เป๋ไหม ใครเป๋?

3 มุมมอง จาก 3 คนข่าวในสนาม

ร่วมสนทนาโดย..

สิรินาถ สิริสุนทร
บรรณาธิการข่าวสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

จิตติมา บ้านสร้าง
บรรณาธิการแผนและยุทธศาสตร์ข่าว สถานีโทรทัศน์ Thai PBS

ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร
หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ชวนสนทนาโดย.. กมล สุกิน MIO Web Editor

พุธที่ 11 กรกฏาคม 2555 @MIO TERRACE (ระเบียง MIO)
ภายในสำนักงานนักเรียนคริสเตียน  ข้างโรงแรมเอเชีย สถานีรถไฟฟ้าราชเทวี

ติดตาม MIO CAFÉ ตอน 1 ฉบับเต็มเร็ว ๆ นี้

“ 80 ปี กับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ” โดย ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน

  " 80 ปี กับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย "
โดย ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน 
ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)
อดีตประธานรัฐสภา ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2535

นับแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปีพุทธศักราช 2475 เป็นต้นมาจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมาย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าสังคมแบบวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามแบบนานาอารยประเทศนั้น ยังมิได้ฝังหยั่งลึกในสังคมของประเทศไทยเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุทำให้ในหลายครั้งบ้านเมืองต้องเกิดภาวะวิกฤติ สังคมมีความแตกแยกและมิอาจที่จะนำหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองได้

เนื่องจากตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการทางการเมืองอย่างล่าช้า ถึงแม้ในช่วงประมาณ 15 ปีแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางของประชาธิปไตยเป็นลำดับ แต่ก็มาสะดุดเอาเมื่อมีการทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 และนับแต่นั้นเป็นต้นมาอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแทบจะไม่ได้ตกมาอยู่ในมือหรือเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเหตุที่มักจะมีกระบวนการที่พยายามสกัดกั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เรื่อยมา และส่งผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วงจรการทำรัฐประหาร การยึดอำนาจ ฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสุดท้ายก็มีการยึดอำนาจ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ตลอดระยะเวลา 80 ปี นั้น ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยมเป็นระยะเวลานาน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1) เกิดการรัฐประหาร จำนวน 11 ครั้ง เกิดกบฏ จำนวน 11 ครั้ง 
2) เกิดพรรคการเมืองมาแล้วมากกว่า 300 ชื่อ
3) มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จำนวน 28 คน 
4) จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วจำนวน 60 ชุด 
5) มีผู้นำทหารที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร ตั้งแต่ จอมพล ป. 

พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอก สุจินดา คราประยูร รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี "นอมินี" ฝ่ายพลเรือนหรือบุคคลภายนอกที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น เช่น นายควง อภัยวงศ์, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, นายอานันท์ ปันยารชุน และพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมแล้วสามารถอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า 50 ปี 

6) ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถอยู่ในตำแหน่งรวมกันไม่ถึง 30 ปี
7) มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 25 ครั้ง 
8) มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา รวม 28 คน มีสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 24 ชุด 
9) มีสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภานิติบัญญัติมาแล้ว จำนวนกว่า 11,100 คน โดยแบ่งเป็น
- ส.ส. จำนวน 7,973 คน
- ส.ว. จำนวน 1,700 คน โดยแบ่งเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 556 คน และมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 1,149 คน และ
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 1,500 คน

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น อาจกล่าวได้ว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จ คือ การที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น วิธีการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุด คือการยอมรับกันในหลักการเบื้องต้นก่อนว่า "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจะต้องเป็นของประชาชน" หากประชาชนตัดสินใจอย่างใด ต้องยอมรับในการตัดสินใจนั้น ตามหลักการที่ว่าเป็น "การปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน" และการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล โดยไม่ควรมีการพิจารณาโดยศาลเดียว และผู้พิพากษาตุลาการทุกคนต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระ และวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจโดยมีสูตรสำเร็จคือรัฐบาลบริหารประเทศโดยมีการทุจริตที่ยอมรับไม่ได้จึงทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสะดุดหรือหยุดชะงักลง สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปได้ไม่ไกล ข้อสำคัญบุคคลสำคัญของฝ่ายที่ยึดอำนาจกลับถูกกล่าวหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจนถูกยึดทรัพย์หลายคน

หลังจากที่ประเทศไทยต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองหลายครั้ง เกิดเหตุการณ์รัฐประหารและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง เกิดการไร้เสถียรภาพในการบริหารงานของรัฐบาล และมีการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ในที่สุดจึงได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการวางรากฐานธรรมาภิบาลของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่เป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รวมถึงขานรับแนวคิดเรื่อง " ธรรมาภิบาล " (Good Governance) โดยสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ได้มีเป้าหมายสำคัญที่จะวางรากฐานของสังคมให้เข้มแข็ง ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ โดยจัดตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ วางโครงสร้างทางการเมืองของไทยให้เข้มแข็ง โดยให้การจัดตั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพ พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ไปจนถึงการวางรากฐานธรรมาภิบาลการบริหารจัดการประเทศ และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งในประเทศไทยใหม่ โดยได้นำ "ระบบผสม" มาใช้ กล่าวคือ ใช้ระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วน โดยพรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอต่อประชาชนในวันสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเลือกพรรคการเมือง โดยถือหลัก " พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค " ผสมกับระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียว โดยแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเขตเล็ก มีผู้แทนได้เขตละหนึ่งคน ซึ่งระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วนนี้ผู้เขียนได้นำเสนอต่อสาธารณชนตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2530 และได้มีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เหตุผลสำคัญของระบบเลือกตั้งตามอัตราส่วนหรือระบบปาร์ตี้ลิสต์เนื่องจากต้องการป้องกันการทุจริตซื้อเสียง เพราะกำหนดให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งใหญ่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 42 ล้านเสียง จึงยากต่อการซื้อเสียง เหตุผลสำคัญประการที่สองได้แก่การบังคับให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมเสนอต่อประชาชน ถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ประชาชนจะเลือกพรรคอื่นเข้ามาแทน เหตุผลประการที่สามได้แก่โอกาสที่พรรคการเมืองจะมีความมั่นคง มีโอกาสบริหารงานอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาของประชาธิปไตยของไทยต้องสะดุดหยุดลงอีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยได้เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งอ้างสาเหตุความแตกแยกทางการเมืองในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารครั้งนี้ก็มิสามารถหยุดยั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองได้ แต่ได้ไปสร้างเงื่อนไขใหม่ให้กับการเมืองในประเทศไทย จนส่งผลกระทบไปถึงสถาบันการเมืองอื่น ๆ โดยเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 แล้ว มีจุดอ่อนหรือข้อด้อยหลายประการ เช่น ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากตัวแทนของประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 มุ่งแต่ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองและรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จนลืมหลักวิชาการและหลักกฎหมาย และที่สำคัญคือไม่ไว้วางใจในตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาโดยอ้างว่าได้เป็นผู้แทนเพราะการซื้อเสียงและดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ก็ได้กำหนดรายละเอียดไว้มาก จนทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปมีภารกิจและข้อผูกมัดว่าจะต้องทำอะไรมากมายทั้งที่เป็นแนวนโยบายที่กำหนดโดยคณะบุคคลบางคนไม่ได้กำหนดโดยประชาชน จึงทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานน้อย นอกจากนี้ การนำเอาฝ่ายตุลาการมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ โดยอำนาจ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ตามหลักการปกครองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเสียดุลและเอียงข้างฝ่ายตุลาการมากเกินไป

ทั้งนี้ เพราะหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องตีความเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างเคร่งครัด คือ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เปรียบเสมือนถนน 3 เลนที่ให้รถแต่ละคันต้องไม่วิ่งข้ามเลน ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเกี่ยวพันกันโดยความเห็นชอบจากเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำถูกหรือผิด ในระบบประชาธิปไตยผู้ที่จะตัดสินลงโทษ ยกย่อง หรือชมเชย คือประชาชน เราจะไปดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้ไม่ได้ เราจะต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนไม่มีความรู้เรื่องการเมือง ส่วนใหญ่ไม่เคยนั่งในสภา และไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง จึงมีแนวโน้มที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างสูง กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห ใช้คนไม่รู้จริงมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่รู้จริงแล้วยังไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ และขาดประสบการณ์ ที่สำคัญคือมีอคติกับนักการเมืองและประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะต้องผ่านเหตุการณ์ล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองหลายครั้งก็ตาม ก็อยากให้ประชาชนชาวไทยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในกระแสโลกปัจจุบัน เพราะเป็นการปกครองที่มีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อการคุ้มครองและรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมบ้านเมืองอย่างสงบสุข มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีการยอมรับในความแตกต่างทางความคิด โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ยุติธรรม และสันติธรรม และการที่ประเทศไทยในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศ และได้รับการยอมรับนับถือจากนานาประเทศ ก็ด้วยผลจากการที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคณะผู้บริหารประเทศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถึงแม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ปรากฏว่าประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวหน้าโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งการพัฒนาบ้านเมืองล้าหลังกว่าประเทศไทย 30-50 ปี ทั้งๆ ที่การปกครองประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ จึงกล่าวได้ว่าข้อยกเว้นนี้เพราะประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านไม่มี แต่วิธีการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ เช่น นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมายหรือองค์กรที่มีอยู่ เป็นต้น มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ

การที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ดีได้ จะต้องมุ่งเน้นให้ผู้แทน ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเลือกโดยประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ จะต้องทำหน้าที่โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง หรือกลุ่มที่สนับสนุนตนเองแต่เพียงเท่านั้น การที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งในการเลือกผู้แทนที่ดี และการตรวจสอบติดตามการทำงานของตัวแทนที่เลือกไปให้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์
ส่วนรวมรวมถึงการถอดถอนตัวแทนหรือผู้ปกครองที่ไม่ดีออกไปด้วย โดยองค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระซื่อสัตย์สุจริต และปราศจากอคติทั้งปวง

ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นโดยกฎหมายปรองดองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสาระสำคัญที่บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยได้ก็เพราะทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักกฎหมายเดียวกัน โดยกฎและกติกาที่ใช้บังคับต้องเป็นกฎและกติกาที่ยุติธรรม ผู้ใช้กฎหมายต้องใช้กฎหมายโดยปราศจากอคติทั้งปวง และการใช้กฎหมายต้องประกอบด้วยหลักเมตตาธรรม 

ประชาธิปไตยเริ่มต้นปี ที่ 81 ขอให้ยึดมั่นในหลักที่ว่า

- ความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด
- เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

วันที่ 24 มิถุนายน 2555

ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 27 ออกอากาศวันที่ 12 กรกฎาคม 2555

 ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 27
ออกอากาศวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 26.mp4
ออกอากาศวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 25.mp4
ออกอากาศวันที่ 28 มิถุนายน 2555

ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 26.mp4

part1.wmv
รายการปัญหาบ้านเมือง 15 ธันวาคม 2554 1/5
part2.wmv
รายการปัญหาบ้านเมือง 15 ธันวาคม 2554 2/5  part5.wmv
รายการปัญหาบ้านเมือง 15 ธันวาคม 2554 5/5 
ปัญหาบ้านเมือง ตอน คอ นธ ถอดสลักกฏหมายร้อน1 6

ปัญหาบ้านเมือง EP6 3 6
ปัญหาบ้านเมือง ตอน คอ นธ ถอดสลักกฏหมายร้อน3 6
ปัญหาบ้านเมือง ตอน คอ นธ ถอดสลักกฏหมายร้อน4 6
ปัญหาบ้านเมือง ตอน คอ นธ ถอดสลักกฏหมายร้อน5 6
ปัญหาบ้านเมือง ตอน คอ นธ ถอดสลักกฏหมายร้อน6 6

ปัญหาบ้านเมือง ตอน สสร ตัวแทนประชาชน1 5
ปัญหาบ้านเมือง ตอน สสร ตัวแทนประชาชน2 5
ปัญหาบ้านเมือง ตอน สสร ตัวแทนประชาชน3 5
ปัญหาบ้านเมือง ตอน สสร ตัวแทนประชาชน4 5
ปัญหาบ้านเมือง ตอน สสร ตัวแทนประชาชน5 5

ปัญหาบ้านเมือง ตอนรัฐธรรมนูญใหม่...แก้ไขปัญหาบ้านเมือง ออกอากาศ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ความยาว 50 นาที
ปัญหาบ้านเมือง ตอน มุมมองรัฐธรรมนูญใหม่ 1 2
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 12.avi
ปัญหาบ้านเมือง ตอน ถอดสลักปัญหาภาคใต้
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 22.mp4
ออกอากาศ วันที่ 7 มิถุนายน 2555

ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 23.mp4
ออกอากาศวันที่ 14 มิถุนายน 2555
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 24.mp4
ออกอากาศวันที่ 21 มิถุนายน 2555
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 25.mp4
ออกอากาศวันที่ 28 มิถุนายน 2555
ปัญหาบ้านเมือง ตอนที่ 26.mp4
ออกอากาศวันที่ 5 กรกฎาคม 2555



วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รายการปัญหาบ้านเมือง ออกอากาศวันที่ 15 ธันวาคม 2554

  รายการปัญหาบ้านเมือง ออกอากาศวันที่ 15 ธันวาคม 2554

ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้แสดงความคิดเห็นในรายการปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง NBT) ดำเนินรายการโดย อดิศักดิ์ ศรีสม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 โดยได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลที่เข้ามารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการ คอ.นธ. และแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษฯ ยังได้นำเสนอปัญหาที่ถือว่าเป็นปัญหาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

" เหตุผลในการรับหน้าที่ประธานประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริม
หลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ให้เหตุผลว่า เคยตั้งปณิธานไว้เมื่อตอนอายุครบ 60 ปี ว่าจะ "ทิ้งการเมือง แต่ไม่ทิ้งบ้านเมือง" ดังนั้น เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาและเป็นปัญหาที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "หลักนิติธรรมสากล" อย่างที่เป็นอยู่ในนานาอารยะประเทศที่เขาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไว้เมื่อเดือนเมษายน ปี 2550 ภายหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประมาณ 6 เดือน ว่า สถานการณ์บ้านเมืองในด้านต่าง ๆ ขณะนี้ 
หนักหนายิ่งกว่าช่วงก่อนการรัฐประหารมาก และสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ก็ส่อเค้าว่าจะรุนแรงจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ
1) ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2) คดีความที่กล่าวหาว่าหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง ปรากฏว่าอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ทั้ง ๆ ที่เป็น 1 ใน 4 เหตุผลของการยึดอำนาจ และ
3) การตรวจสอบทุจริตที่ไม่ยึดหลักนิติธรรม กล่าวคือ เมื่อตอนยึดอำนาจ คณะทหารและรัฐบาลบอกว่าจะปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งตามหลักนิติธรรมนั้น จะต้องถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง แต่การตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แล้วออกข่าวเกือบจะเรียกว่า 3 เวลาหลังอาหาร ว่าคนนั้นทุจริตเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยระบุชื่อชัดเจน แบบนี้ถือว่าขัดหลักนิติธรรม 
เพราะจะผิดหรือถูกยังพิสูจน์ไม่ได้ คนพิสูจน์คือ ศาล ไม่ใช่ คตส. และถ้าสุดท้ายเหตุการณ์กลับตาลปัตร เอาผิดไม่ได้เลย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ที่สำคัญก็คือ ไม่มีหลักนิติธรรมที่ไหนที่เอาฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์มาสอบสวนพิจารณาความผิดของคู่กรณี 
ขณะที่เรากำลังบอกว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักนิติรัฐ 
นิติธรรม แต่ถามจริง ๆ ว่าเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเราอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย 
แต่เราได้อำนาจมาโดยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเราจะไปเรียกร้องให้ประชาชนเป็นประชาธิปไตยได้หรือ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยเสียก่อน โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้นในที่สุดเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องกลับไปหาประชาชน แต่ตอนนี้เรากำลังหลงทาง กลายเป็นว่าความคิดของคนบางกลุ่มเหนือกว่าประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากของประเทศหรือเปล่า ถ้าเราเชื่อว่าความคิดนี้ถูก ก็ต้องเลิกเป็นประชาธิปไตย
อนาคตของประเทศจะล่มจม จะพัง หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าจะพังก็ประชาชนเขาเลือกที่จะพัง ทำไมเราไม่ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย ประชาชนอาจจะคิดถูกก็ได้ คิดผิดก็ได้ เราเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัดว่าเรารู้ดีกว่าประชาชน ถ้าเราจะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่าดูถูกประชาชน 
ระบบการเมืองทุกวันนี้มั่วไปหมด แม้แต่หลักการพื้นฐานที่สุดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทาง 3 สถาบันคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ปัจจุบันก็ดูจะถูกหลงลืมไป อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการจะไม่เข้ามา
ยุ่งเกี่ยว แต่เดี๋ยวนี้ต้องไปศึกษากันใหม่แล้ว ถนนสามเลนวิ่งกันมั่วหมด ทุกคนอยากมาวิ่งในเลนที่ไม่ใช่ของตัว โดยเฉพาะไม่ได้รับมอบฉันทะจากประชาชน วันหนึ่งมันจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เพราะการวิ่งรถผิดเลนคือ ต้นตอของปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน แล้วนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที เพราะเราไม่รู้จักว่าขอบเขตสิทธิหน้าที่ของเราอยู่ตรงไหน เขามีเส้นขีดไว้ เราข้ามเส้น ล้ำเส้นหรือเปล่า 
จากปัญหาการละเลยต่อหลักนิติธรรมดังกล่าว เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับ "หลักนิติธรรม" และต้องการที่จะส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาคและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล กับทั้งเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศอันจะนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นปกติสุข โดยการตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ขึ้นมาเพื่อดำเนินการศึกษาและเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่าง ๆ ต่อรัฐบาล ผมจึงเต็มใจที่จะรับหน้าที่นี้เพราะเห็นว่าเป็นการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้ การรับทำงานในครั้งนี้ของผมและของกรรมการที่ผมจะคัดเลือกและแต่งตั้งจะไม่รับประโยชน์ตอบแทนแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประชุม ตำแหน่งทางการเมือง หรือเงินค่าตอบแทน
ใด ๆ สถานที่ประชุมของคณะกรรมการก็ใช้ที่บ้านผมเอง ค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ผมในฐานะประธานก็รับผิดชอบหมด 

" คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) มีแนวทาง
ในการดำเนินงานอย่างไร คณะกรรมการชุดนี้มีเป้าหมายสุดท้ายคือต้องการช่วยเหลือ พันตำรวจโท ทักษิณฯ หรือไม่
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ได้ชี้แจงแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้จะเน้นการศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ และการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของสาธารณชนและภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างความตระหนักให้กับสังคมเกี่ยวกับหลักนิติธรรม และจะเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
ต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป
ในส่วนของรัฐธรรมนูญนั้น หากมีบทบัญญัติใดที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม คณะกรรมการก็จะเสนอแนะเพื่อให้มีการดำเนินแก้ไขต่อไป เช่น บทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ ที่บัญญัติให้การกระทำความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม หรือบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ที่บัญญัติให้การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แม้จะกระทำต่อไปในอนาคต ก็มีการรับการรับรองไว้ล่วงหน้าแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มิพักต้องคำนึงว่าการกระทำนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่มีกฎหมายของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่จะนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ แล้วก็เป็นการนิรโทษกรรมล่วงหน้า และในหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีความสับสนที่สุด กล่าวคือบางมาตราก็ให้ความเคารพนับถือในหลักนิติธรรมอย่างมาก แต่ในหลายมาตราก็ทำลายหลักนิติธรรมเสียเอง ซึ่งมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือปรับปรุงใหม่โดยวิถีทางประชาธิปไตย
การดำเนินงานของ คอ.นธ. จะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ซึ่งมีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน เพราะคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ต่างก็มีภารกิจที่แตกต่างกัน และการดำเนินงานของ คอ.นธ. จะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่น ๆ และภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือดำเนินการในเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คณะกรรมการ คอ.นธ.จะไม่ก้าวล่วงไปใช้อำนาจกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ แต่จะรายงานสรุปปัญหา และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ส่วนการปฏิบัติใด ๆ ให้เป็นรูปธรรมจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวที่จะพิจารณาดำเนินการ
คณะกรรมการจะเผยแพร่การทำงานในรูปแบบการให้ความรู้แก่ประชาชน และบุคคลทุกฝ่ายให้มีความเข้าใจในหลักนิติธรรมที่ยอมรับนับถือทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวจะมีการจัดทำเอกสารเป็น 2 ฉบับ กล่าวคือ ฉบับสำหรับประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไปอ่าน และฉบับสำหรับนักศึกษาวิชากฎหมายหรือนักวิชาการด้านกฎหมายอ่าน ผลงานและการดำเนินงานของคณะกรรมการจะมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน โดยเฉพาะทางโทรทัศน์นั้น จะมีรายการโทรทัศน์ของ คอ.นธ. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง NBT) ทุกสัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในปัญหาความยุติธรรม ความไม่เสมอภาค การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การปฏิบัติต่อประชาชนโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณา เพื่อสรุปการแก้ปัญหาที่ชอบด้วยหลัก "นิติธรรม และหลักยุติธรรม" ที่แท้จริง เพื่อทุกองค์กรอาจยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นแนวทางแก่คณาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมาย และผู้ใช้วิชาชีพทางกฎหมายอีกด้วย 
คณะกรรมการจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปถามปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมายังคณะกรรมการ โดยเปิดตู้ไปรษณีย์รับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงด้วย ( ตู้ไปรษณีย์ 1010 สวนพลู กรุงเทพฯ 10121) โดยมีกรรมการหนึ่งคนเป็นประธานคณะทำงานรับฟังปัญหาของประชาชน โดยจะมีข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่อประธานกรรมการ 
นอกจากนี้ จะได้พิจารณาและเสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติเพื่อให้สมกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระราชทานแก่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ว่า "โลกนี้มีความวุ่นวายพอแล้วขอให้รัฐบาลทำให้ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อย เป็นที่อยู่ที่สบายในโลก" และนี่คือปณิธานของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) 
ผมขอยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่ง และจะไม่
รับใช้หรือตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเป็นอันขาด ในทางกลับกันมีแต่รัฐบาลที่จะเป็นเครื่องมือของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะหากคณะกรรมการได้พิจารณาศึกษาและมีข้อเสนอเรื่องใดก็จะเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาดำเนินการ ผมจะไม่ยอมทรยศต่อวิชาชีพ ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต่อประชาชนชาวไทยเป็นอันขาด 
" ปัญหาชาวบ้าน กรณีเจ้าพนักงานจราจรเรียกรับเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ได้นำเสนอกรณีตัวอย่างสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมในสังคมไทยในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ กรณีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวนกว่า 18 ล้านคนทั่วประเทศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าพนักงานจราจร เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่า มีเจ้าพนักงานจราจรตั้งด่านเพื่อรีดไถเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยการกล่าวหาหรือตั้งข้อหาด้านจราจรที่ไม่เป็นธรรม มีการยึดใบอนุญาตขับขี่ ยึดกุญแจรถ และมีการเรียกเงินอีกด้วย ซึ่งปัญหานี้บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นความทุกข์ของประชาชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กว่า 18 ล้านคัน ซึ่งปัญหาที่อาจจะมองว่าเล็ก ๆ เช่นนี้อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษฯ ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และแนวทางแก้ไขไว้โดยสังเขป ดังนี้
1. ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ได้ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับคดีความผิดจราจรไว้อย่างกว้างขวาง ทั้งความผิดที่ร้ายแรงและความผิดที่ไม่ร้ายแรง ทำให้เกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในทางที่มิชอบหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งทำให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจในทางที่มิชอบเกิดการเรียกสินบนเพื่อมิให้มีการดำเนินคดีทางศาลได้ แม้ในทางปฏิบัติการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดนั้น จะเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กรมตำรวจ) ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 และเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ซึ่งได้กำหนดเป็นแนวทางหรือยี่ต๊อกไว้ เช่น ฐานนำรถที่ไม่มั่นคงแข็งแรงอาจเกิดอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสีย สุขภาพอนามัย มาใช้ในทางเดินรถ ตามกฎหมายกำหนดว่า ปรับไม่เกิน 500 บาท ข้อกำหนด กำหนดว่า ปรับ 200 บาท หรือฐานนำรถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ กฎหมายกำหนดว่า ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ข้อกำหนด กำหนดว่า ปรับ 300 บาท อย่างนี้เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อหาหรือฐานความผิดและอัตราโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบกับอัตราการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งกำหนดไว้ 58 ข้อหานั้น มีความเห็นว่ายังเป็นอัตราการเปรียบเทียบปรับที่มีจำนวนเงินสูงเกินไป เพราะความผิดเกี่ยวกับจราจรบางฐานความผิดเป็นเพียงความผิดเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น ควรลดอัตราในการเปรียบเทียบปรับให้มีจำนวนเริ่มต้นที่ 100 บาท ก็น่าจะเป็นการเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับความผิดบางฐาน เช่น ไม่เดินบนทางเท้าหรือไหล่ทางเมื่อทางนั้นมีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถ หรือความผิดฐานเดินข้ามทางนอกทางข้ามเมื่อมีทางข้ามอยู่ภายในระยะ 100 เมตร 
ควรกำหนดให้มีการว่ากล่าวตักเตือนก็น่าจะเป็นการเพียงพอ
2. ปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการในการชำระค่าปรับ การที่พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ได้กำหนดให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งเลือกชำระค่าปรับย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
(1) ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ 
ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือสถานที่ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวัน เวลา ที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือ
(2) ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งโดยการส่งธนาณัติ หรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สั่งจ่ายให้แก่อธิบดีพร้อมด้วยสำเนาใบสั่งไปยังสถานที่ และภายในวัน เวลา ที่ระบุไว้ในใบสั่ง 
และกำหนดให้กรณีผู้ได้รับใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร ไม่ปฏิบัติตาม (1) หรือ (2) ดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท อีกข้อหาหนึ่ง นั้น 
ในประเด็นนี้ มีความเห็นว่าช่องทางหรือวิธีการในการชำระค่าปรับดังกล่าวในทางปฏิบัติยังมีความไม่สะดวกและทำให้เสียเวลาแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้กระทำความผิดมักจะมีการติดสินบนหรือจ่ายเงินเพื่อแลกกับการไม่ต้องได้รับใบสั่งจากเจ้าพนักงานจราจรหรือถูกดำเนินคดี อันนำมาสู่ปัญหาการเรียกรับเงินของเจ้าพนักงานและการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน 
ดังนั้น ควรเพิ่มช่องทางหรือวิธีการในการชำระค่าปรับจราจรให้มากขึ้นและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการดังกล่าวต้องพยายามลดขั้นตอนหรือช่องทางที่อาจจะทำให้เกิดการต่อรองเพื่อเรียกเงินหรือการจ่ายเงินสินบน รวมทั้งต้องสามารถจำกัดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานจราจรให้มากที่สุด เช่น การกำหนดให้ชำระค่าปรับจราจรได้ตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ หรือตามเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น
3. ปัญหาเกี่ยวกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ในทางที่มิชอบหรือไม่เป็นธรรม
ต่อผู้กระทำผิด เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่า มีเจ้าพนักงานจราจรตั้ง
ด่านเพื่อจับกุมหรือรีดไถเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ การจับกุมมีเป็นลักษณะการจ้องจับผิด หรือหวังผลประโยชน์ตอบแทน จับกุมในข้อหาที่มีผู้ฝ่าฝืนไม่ได้กระทำผิดชัดแจ้ง หรือเป็นการเรียกให้หยุดรถเพื่อที่จะหาความผิดจับกุม หรือโดยการกล่าวหาหรือตั้งข้อหาด้านจราจรที่ไม่เป็นธรรม มีการยึดใบอนุญาตขับขี่ ยึดกุญแจรถ หรือยึดรถ และมีการเรียกเงินอีกด้วย 
ในประเด็นนี้คิดว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานจราจรต้องกระทำเช่นนี้อาจเพราะมีความเดือดร้อนในการดำรงชีพเนื่องจากเงินเดือนน้อย หรืออาจเป็นไปได้ว่าผู้บังคับบัญชามีนโยบายว่าจะต้องหาเงินรายได้จากค่าปรับให้ได้มากที่สุดในแต่ละเดือน หรือมีแรงจูงใจจากความต้องการได้รับเงินจัดสรรเงินรางวัลสำหรับเจ้าหน้าที่จราจรผู้จับกุมและสนับสนุน ตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีฯ และระเบียบกระทรวงการคลังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินจัดสรร 3 ขั้นตอน กล่าวคือ 
ขั้นตอนที่ 1 แบ่งเงินค่าปรับออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับจะนำส่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนที่สอง อีกครึ่งหนึ่งจะนำมาคิดคำนวณใหม่โดยตั้งฐานแบบร้อยละอีกสองชั้น
ขั้นตอนที่ 2 นำเงินที่เหลือครึ่งหนึ่งของค่าปรับมาคิดหักเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 5 เปอร์เซ็นต์ หักนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนที่สอง จัดสรรเป็นเงินรางวัลผู้จับกุมและผู้สนับสนุนตามขั้นตอนที่ 3 
ขั้นตอนที่ 3 นำเงินที่เหลือจากการหัก 5 เปอร์เซ็นต์ มาจัดสรรสำหรับเป็นรางวัลผู้จับกุมและผู้สนับสนุนงานจราจร ในอัตรา 60 : 40 กล่าวคือ ผู้จับกุมจะได้ส่วนแบ่งในอัตราร้อยละ 60 ส่วนผู้สนับสนุนจะได้ร้อยละ 40 
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานจราจรควรเคร่งครัดและบังคับบัญชาให้มีการถือปฏิบัติตามหนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 0609. (อก.) 43 / 24123 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2541 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานด้านจราจร และหนังสือกองบังคับการตำรวจจราจร ที่ 0609. (จร.) 66 / 7488 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2541 เรื่อง ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายในการจับกุม และการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับจราจร อย่างจริงจัง ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ไว้เช่น ผู้จับกุมต้องอยู่ในจุดหรือตำแหน่งที่เปิดเผย เห็นได้ชัดเจน ไม่แอบแฝง ซ่อนเร้น การแสดงตัวต้องแสดงตัวอย่างเปิดเผยให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจน การดักจับโดยอำพรางหรือซุ่มดักจับควรให้ยกเลิกวิธีการดังกล่าวโดยเด็ดขาด ห้ามยึดกุญแจรถโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งนี้ การจับกุมต้องไม่เป็นลักษณะการจ้องจับผิด หรือหวังผลประโยชน์ตอบแทน ควรจับกุมในข้อหาที่มีผู้ฝ่าฝืนได้กระทำผิดชัดแจ้งแล้ว ไม่เป็นการเรียกรถเพื่อที่จะหาความผิดจับกุม และการจับกุมจะต้องทำอย่างเสมอภาคกัน ห้ามนำผู้ถูกจับกุมเข้าไปในตู้ยามหรือตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรเพื่อพูดคุยหรือเขียนใบสั่งโดยเด็ดขาด 
ควรเขียนใบสั่ง หรือแจ้งข้อหาในการจับกุมให้ชัดเจน หรือมอบให้ผู้ขับขี่โดยเร็ว เป็นต้น 
ในช่วงท้ายรายการ ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะปกครองโดยหลักนิติธรรมได้นั้นกฎหมายจะต้องไม่ขัดกลับหลักนิติธรรมเสียเอง นอกจากนี้แล้วผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม คำว่าด้วยความยุติธรรมคือปราศจากอคติทั้งปวง ถ้าใช้กฎหมายโดยมีอคติแล้วความยุติธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ และความยุติธรรมจะมีสองมาตรฐานไม่ได้ คนทุกคนต้องเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรม สรุปคือการปกครองประเทศต้องปกครองโดยหลักนิติธรรมและตามทำนองครองธรรม อะไรที่มีความรู้สึกว่าไม่เป็นไปตามทำนองครองธรรมอันนั้นถือว่าผิดหลักนิติธรรมแล้ว เมื่อผิดแล้วใครเสียหาย ประชาชนเป็นผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อน ส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความทุกข์ ซึ่งความทุกข์ของประชาชนก็คือความทุกข์ของแผ่นดิน ทั้งนี้ ในฐานะที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ "คอ.นธ." จะพยายามสลายหรือคลายความทุกข์ของประชาชนเท่าที่จะทำได้ เพราะถือว่าเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน.

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

'บีทีเอส' ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้ ผู้สูงอายุขึ้นรถไฟฟ้าลดครึ่งราคา เฉพาะนอกเวลาเร่งด่วน - วันหยุด

 

'บีทีเอส' ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้ ผู้สูงอายุขึ้นรถไฟฟ้าลดครึ่งราคา เฉพาะนอกเวลาเร่งด่วน - วันหยุด

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2555 เวลา 07:20 น.

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า  

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2555 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะมอบส่วนลดให้กับผู้สูงอายุ  ด้วยการออกบัตรพิเศษ  ซึ่งเป็นบัตรแรบบิทประเภทเติมเงินสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมทั้งส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งสายสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสายสีลมช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่    รวม 30 สถานี โดยจะได้รับส่วนลด 50% จากอัตราค่าโดยสารปกติในวันหยุดราชการ และเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. และช่วงนอกเวลาเร่งด่วนในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และเวลา 20.00- 24.00 น. ซึ่งช่วงเวลาที่กำหนดนี้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้บริการระบบขนส่งมวลชนในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน เพื่อความสะดวกและปลอดภัย โดยจะทดลองเป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2555 ถึง 30 มิ.ย. 2556 จากนั้นจะทำการประเมินผลร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไปในอนาคต

บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุนี้จะเป็นบัตรประเภทเติมเงินเท่านั้น ไม่สามารถซื้อ หรือเติมเที่ยวเดินทางได้   ผู้ใช้บัตรจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหากเจ้าหน้าที่ร้องขอเพื่อตรวจสอบ โดยจะเริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2555 เป็นต้นไปที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี  จะมีค่าธรรมเนียมในการออกบัตร 50 บาท ค่ามัดจำบัตร 50 บาท (ได้รับคืนเมื่อเลิกใช้บัตร) โดยมูลค่าการเติมเงินเริ่มต้นขั้นต่ำ 100 บาท จนถึง 4,000 บาท  ทั้งนี้เพื่อสิทธิพิเศษสำหรับผู้โดยสารที่มีบัตรบีทีเอสสมาร์ทพาสเดิมอยู่แล้ว และมีความประสงค์จะเปลี่ยนเป็นบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกบัตร 50 บาท โดยจะชำระเฉพาะค่ามัดจำบัตร 50 บาท อย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้โปรโมชั่นพิเศษ สำหรับผู้โดยสารที่นำบัตรบีทีเอสใบเดิมมาเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นบัตรสมาร์ทพาสประเภทใด จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 เช่นกันสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ฮอตไลน์บีทีเอส 0-2617-6000.

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข่าวสั้นบันเทิง: The MozART GROUP วงคลาสสิกชวนหัวจากโปแลนด์

 

ข่าวสั้นบันเทิง: The MozART GROUP วงคลาสสิกชวนหัวจากโปแลนด์

พวกเขาจัดประเภทตัวเองว่าเป็นวงคาบาเรต์/ วงดนตรี( เครื่องสาย)ชวนหัว โดยเกิดจากการรวมตัวของนักดนตรี 4 คนเมื่อพ.ศ. 2538 สมาชิกประกอบด้วย Filip Jaślar – ไวโอลิน, Michał Sikorski- ไวโอลิน, Paweł Kowaluk- วิโอลา, และ Bolek Błaszczyk - เชลโล ทั้งหมดจบการศึกษาด้านดนตรีจากสถาบันดนตรีแห่งวอซอว์

หน้าเว็บของพวกเขาบอกไว้ว่า

"เราดำรงอยู่แม้ในคอนเสิร์ตฮอลอันเขร่งขรึม แม้ในความน่าเบื่อหน่ายของชีวิตนักดนตรีคลาสสิก

แม้ท่ามกลางความคลั่งไคล้ของผู้หลงรักในดนตรีคลาสสิก หรือแม้ในท่ามกลางบรรดาแฟนเพลงขาร็อก แร็พหรือป๊อปที่หวาดกลัวต่อเพลงคลาสสิกก็ตามที

เราปฏิบัติต่อเทวีแห่งศิลป์ด้วยตลกเสียดสี และมั่นใจว่าเธอย่อมไม่ต่อต้านต่อสิ่งที่เราทำ"

วงดนตรี (เครื่องสาย) ชวนหัววงนี้ได้รับรางวัลระดับประเทศของโปแลนด์หลายครั้ง.....แน่นอน เราไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับโปแลนด์มากนัก (เหมือนที่เราก็ไม่ค่อยรู้อะไรๆ อีกหลายอย่างในโลกนี้นั่นแหละ!) และความข้อนี้ก็น่าจะเป็นที่รู้อยู่แก่ใจของชาวโปแลนด์อย่างน้อยก็คนนึง ความเห็นยอดนิยมท้ายคลิปนี้ โพสต์โดย olimp60 ตัดพ้อชะตากรรมของอัจฉริยบุคคลในโปแลนด์ยุคปัจจุบันว่า

"โปแลนด์ ประเทศของฉันนั้นมีบุคลากรที่น่าอัศจรรย์มากมาย ทั้งนักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา ฯลฯ แต่ทำไมโลกถึงไม่รู้จักพวกเขาน่ะเรอะ? ก็เพราะเรามีนักการเมืองปัญญาอ่อนอยู่ในรัฐบาลไงล่ะ" อย่างไรก็ตามผู้โพสต์อาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปนิด เพราะคิวการแสดงของ MozART Group ขณะนี้มีทั่วโลก ทั้งในมอสโคว ปารีส แคลิฟอร์เนีย ฯลฯ และคิวยาวเหยียดไปถึงปลายปีหน้าแล้ว

ดนตรีของพวกเขาไม่เหมาะแก่การรับฟังเพียงอย่างเดียว แต่ควรดูไปพร้อมกันด้วย แล้วคุณจะทึ่งทั้งต่อความสามารถของนักแสดงและ อ้อ...เสียงปรบมืออันมีระเบียบของชาวโปแลนด์ด้วย 

ติดตามผลงานของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mozartgroup.org/